มนัส สัตยารักษ์ : เรื่องสั้นที่ไม่ได้เขียนด้วยปืน

ในงานของนักเขียนงานหนึ่ง เพื่อนนักเขียนรุ่นน้องซึ่งคุ้นเคยและนับถือผมมานานได้แนะนำให้นักเขียนร่วมสมัยใหม่ที่กำลังดังระเบิดคนหนึ่ง “รู้จักพี่มนัสสิ” โดยลืมไปว่าผมไม่ได้เป็นนักเขียนมานานแล้ว เป็นได้เพียงนักเขียนโบราณ หรืออย่างมากก็กำลังจะกลับมาเป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่ยังมีไอเดียค้างคาอยู่ในความคิดเท่านั้น

แม้จะเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมกว้างใหญ่ แต่ก็เกิดอาการประดักประเดิดไปตามๆ กันทั้ง 3 คน เพราะนักเขียนดังออกอาการงุนงงทำนองว่า “ใครง่ะ…มนัส?…” ทำให้ผมซึ่งตระหนักในสถานะของตัวเองดีรู้สึกเขินจนต้อง คลี่คลายบรรยากาศอึดอัดด้วยการพูดว่า

“ไม่เป็นไรครับ ผมรู้จักคุณก็แล้วกัน” – จบ (ฮา)

ผมพยายามย้อนรำลึกไปในอดีตว่าผมวางมือจากการเขียนไปแต่เมื่อไร ด้วยเหตุผลอะไร แต่ก็นึกไม่ออก คนที่ทักถามจนผมต้องหาคำตอบอย่างจริงจังก็คือ “พนมเทียน” ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ซึ่งถามผมในวันหนึ่งของเดือนกันยายน พ.ศ.2558 ว่า

“เขียนหนังสือดี ทำไมถึงหยุดเขียน”

ผมหยุดคิดครู่หนึ่งก่อนตอบไปอย่างไม่มั่นใจเท่าไรนัก “ผมคงหลงทางครับ-พี่”

เป็นคำตอบที่ถูกต้องส่วนหนึ่ง เพราะเมื่อวางมือจากการเขียน ผมก็ห่างไปแม้กระทั่งการอ่าน ก็เหมือนกับการเล่นดนตรี พอเลิกเล่นผมก็ขายแซ็กโซโฟนให้พี่ชายไป หลังจากนั้นก็ห่างหายไปแม้กระทั่งการฟังเพลง

มันเหมือนกับเดินมาไกลสุดแล้ว เสร็จงานแล้ว สุดทางแล้ว ทางนี้ตันแล้ว

ผมกลับมาเดินในเส้นทางเก่าคือเป็นตำรวจ ซึ่งเป็นทางที่วกวน ขรุขระและยาวไกล (สำหรับผม) เส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ผู้บังคับบัญชาบางคนชั่วร้ายจนยากที่จะยอมรับนับถือได้ แต่โดยพื้นฐานแล้วผมก็มี “ลูกฮึด”จากความเป็นนักเรียนนายร้อย จึงเดินไปในเส้นทางนี้

จนเวลาผ่านไปจึงคิดได้ว่า คำตอบต่อคำถามของ “พนมเทียน” ถูกต้องเพียงส่วนหนึ่ง ที่จริงแล้วคนเรายังมีทางเดินให้เลือกอีกหลายทาง ไม่จำเป็นต้องเลือกเดินไปในทางที่ทำให้หลง

อ่านสัมภาษณ์ จำลอง ฝั่งชลจิตร นักเขียนเรื่องสั้น ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ตั้งหัวข้อหรือประเด็นนำเรื่องไว้น่าสนใจ

“ในวันที่นักอ่านพากันหายเข้าไปในโลกโซเชียล แต่จำลองยังเขียนเรื่องสั้นเล่มใหม่ ทั้งยังพิมพ์เองอีก?” เป็นหัวข้อที่กระทบใจและเตะตาอย่างมากในยุคที่คนไม่อ่านหนังสือกระดาษกันแล้ว

คำตอบของจำลองน่าสนใจจนผม -ซึ่งกำลังกลับมาเขียนและพิมพ์ขายเองอีกครั้ง- ต้องสำเนาบางคำตอบเก็บไว้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ…

จำลองบอกว่า “นักอ่านก็คือนักอ่าน แม้ว่าจะหายไปในโลกโซเชียล ใช้เวลาไปกับโลกโซเชียล แต่นักอ่านก็ไม่แตกต่างจากนักเขียน คือเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหว…ฯลฯ นักอ่านที่แท้จริงยังใฝ่หาหนังสือดีๆ สั่งซื้อหนังสือดีๆ หรือซื้อหนังสือที่ตัวเองสนใจมาอ่าน…”

ส่วนในประเด็นที่ถามว่าทำไมถึงยังพิมพ์เอง จำลองมีคำตอบที่ดีเช่นกัน

“ความสำคัญของการเขียน นอกจากเป็นความท้าทายส่วนตัวแล้ว งานเขียนเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยของชาติ”

แม้จะมีนักอ่านแฟนประจำอยู่ประมาณ 1,000 คน แต่จำลองก็ถือว่ามาก และเมื่อจัดพิมพ์ นักอ่านแฟนประจำบางส่วนก็สั่งจองล่วงหน้า… การพิมพ์เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการเขียน พิมพ์ จำหน่ายและเสพ… การพิมพ์เองเป็นการต่ออายุนักเขียน

เช้าวันเสาร์ที่ 5 มกราคม ผมรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาราวตี 4 อย่างเคย งานแรกที่ทำคือคว้า iPad ขึ้นมา ติดตามข่าวพายุ “ปาบึก” ถล่มจังหวัดภาคใต้-บ้านเกิด

จนเวลาผ่าน 08.00 น.ไปแล้ว ท้องฟ้ากรุงเทพฯ ยังมืดเกือบสนิท เฟซบุ๊กพาผมย้อนไปถึงเหตุการณ์และบรรยากาศของมหาวาตภัย “แหลมตะลุมพุก” (22 ตุลาคม 2505) ผมเป็น ผบ.มว. สภ.อ.ระโนด จ.สงขลา อยู่ถัดไปจากแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

เมื่อทาง สภ.อ.ระโนด รับแจ้งมีผู้พบศพริมทะเลทางฝั่งอ่าวไทย ผมต้องทำหน้าที่ร้อยเวร เดินทางด้วยเท้าไปสอบสวนและชันสูตรพลิกศพ

ประสบการณ์ในวันมืดมัวและหม่นหมองนั้น ทำให้เขียนเรื่องสั้น “แหลมตะลุมพุก” มาถึงวันนี้อดนึกเข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่า น่าจะมีบรรณาธิการที่ไหนสักฉบับนำมาตีพิมพ์ซ้ำ แต่ในความเป็นจริงยุคเฟื่องฟูของ “เรื่องสั้น” ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่มีใครเขาพิมพ์เรื่องสั้นกันแล้ว นอกจาก “มติชนสุดสัปดาห์” กับ “พิมพ์เอง-ขายเอง” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วาตภัยปาบึกก็ทำให้โลกโซเชียลพูดถึงมหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก แล้วบางมุมก็พูดถึงเรื่องสั้น “แหลมตะลุมพุก”

ชุติพงศ์ ปะทาเส พูดถึงในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” (ความทรงจำผ่านเรื่องสั้น) เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 โดยอ้างข้อมูลจาก สถาพร ศรีสัจจัง ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 14 กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542

ความจริงแล้ว “เรื่องสั้น” ยังไม่ตายหรือยังไม่เผา เพียงแต่หมดลมหายใจแล้วถูกฝังเก็บไว้ในฮวงซุ้ย ฮวงซุ้ยที่มีสิงโตหินเฝ้าอยู่ในทำเลที่ปลอดภัยของโซเชียล เจ้าของเรื่องสั้นที่วางมืออย่างผมยังไม่รู้เลย จนกระทั่งพายุปาบึกทำให้เข้าไปค้นพบในโลกโซเชียล

ผมหยิบแฟ้มเรื่องสั้นที่ยังไม่ได้รวมเล่มตีพิมพ์มาปัดฝุ่น เป็นเรื่องสั้นที่ไม่ได้เขียนด้วยปืน ตั้งชื่อไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุ (ก่อนปี 2540) ว่า “กระสุนนัดสุดท้าย”

พบต้นฉบับที่ยังเขียนไม่เสร็จ เรื่องเริ่มต้นว่า

…”ครู อย่าให้พลาดตรงนี้นะ” เขาใช้นิ้วกลางเคาะตรงหว่างคิ้วของตัวเอง เบิ่งตาทั้งสองข้างเพื่อสบตากับคนที่เขาเรียกว่า “ครู” อย่างไม่ลดละ พยายามกลั้วเสียงหัวเราะเจือไปกับคำพูดด้วย

“โป้งเดียว-วิบไปเลย ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่ทรมาน”

คนที่ถูกเรียกว่าครูสบตาด้วยท่าทีเฉยเมย ไม่ตอบโต้เหมือนไม่สนใจ ทำทีเหมือนไม่เข้าใจคำพูดและภาษามือของอีกฝ่าย… ฯลฯ

แอบหวังว่าจะเป็นเรื่องสั้นที่ถูกเก็บรักษาไว้ในฮวงซุ้ยโซเชียลอีกเรื่องหนึ่ง