วิเคราะห์กรณี “ชุดไปรเวต” ที่โรงเรียนดัง คุณค่าของคนอยู่ “ข้างใน” ส่วน “เครื่องแบบ” ถอดออกได้!

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง เมื่อโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ประกาศให้นักเรียนสามารถแต่งชุดไปรเวตมาเรียนหนังสือได้ทุกวันอังคาร

หลังผู้บริหารศึกษาข้อมูล-ความเป็นไปได้มานานกว่า 10 ปี โดยมีผลวิจัยของต่างประเทศที่ชี้ชัดว่าการใส่ชุดไปรเวตจะช่วยให้เด็กลดแรงกดดันและกล้าแสดงออกมากขึ้น มารองรับ

แต่เมื่อแนวปฏิบัติของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ เริ่มใช้ได้เพียงสัปดาห์เดียว ก็มีกระแสสังคมทั้งจากโลกโซเชียลและการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโทรทัศน์ ซึ่งตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของเรื่องดังกล่าว

บางคนมองแนวปฏิบัตินี้ว่าเป็นเรื่องที่ดี ช่วยสร้างความหลากหลายให้แก่เด็ก
ส่วนอีกฝั่งมองว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นการต่อต้านกฎระเบียบที่ยึดถือกันมาหลายสิบปี อีกทั้งชุดนักเรียนยังเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทยอยู่แล้ว และเป็นสิ่งที่บ่งบอกสถานะบุคคลได้เป็นอย่างดี

ทีมงานเพจเฟซบุ๊ก FEED หนึ่งในสื่อออนไลน์ของเครือมติชนมีโอกาสพูดคุยกับ “ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวิวาทะ “ชุดนักเรียน vs. ชุดไปรเวต”

ซึ่งกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนที่สะท้อนให้เห็น “ขีดจำกัด” หรือ “เพดาน” ในการยอมรับความเห็นต่างของสังคมไทย

: “ชุดไปรเวต” คือทางเลือกใหม่ที่ช่วยสร้างความหลากหลาย?

เรื่องของเครื่องแบบ จริงๆ เป็นประเด็นถกเถียงมานานแล้ว ในอดีต เครื่องแบบนักเรียนมีเอาไว้เพื่อจำแนกว่าเด็กคนไหนไปโรงเรียน คนไหนเข้าไม่ถึงโรงเรียน ก็จะมีความพยายามส่งคนไปติดตาม มีสารวัตรนักเรียนไปอยู่ตามที่สาธารณะ ดูว่าเด็กคนไหนหนีเรียน ไม่ได้ไปโรงเรียน เครื่องแบบก็เลยกลายเป็นเหมือนสิ่งที่คอยจะการันตีว่าเด็กคนนั้นไปถึงโรงเรียนแล้วหรือยัง

แต่นานวันเข้า เครื่องแบบมันกลายเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจ กลายเป็นเรื่องของการสร้างความเป็นอัตลักษณ์ร่วม คือการมีอัตลักษณ์ร่วม ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่ดีนะ แต่ว่าการบังคับให้ต้องใส่เครื่องแบบอยู่ตลอดเวลาทุกวัน โดยที่ทำลายความหลากหลายไป ก็อาจเป็นสิ่งที่สังคมต้องตั้งคำถามใช่ไหม?

แล้วโรงเรียนจำนวนมากตอนนี้ เขาก็ไม่ได้มีแค่เครื่องแบบนักเรียนอย่างเดียว เขาก็มีชุดพละ มีชุดประจำท้องถิ่น มีอะไรของเขาใช่ไหมครับ คือจริงๆ ความหลากหลายของเครื่องแบบในโรงเรียนตอนนี้ เป็นสิ่งที่ควรจะต้องพูดคุยถกเถียงกัน

: การแต่งชุดไปรเวตไปโรงเรียนคือความเหลื่อมล้ำ?

ตอนนี้เราเอาเรื่องเครื่องแบบมาโยงกับเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ แต่คุณมีเครื่องแบบใส่ ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ เพราะความเหลื่อมล้ำมันเกี่ยวกับเรื่องฐานะ เรื่องของความพร้อมด้านเศรษฐกิจ

ต่อให้ซื้อเครื่องแบบเดียวกัน เนื้อผ้าก็แตกต่างกัน นาฬิกาข้อมือก็แตกต่างกัน วัตถุข้าวของที่ติดตัวมาโรงเรียนก็แตกต่างกัน

การที่โรงเรียนแห่งหนึ่งจะมีแนวปฏิบัติอยากลองดูว่าจะทำให้เด็กมีแรงจูงใจมาโรงเรียน มีความสุขในการมาโรงเรียนมากขึ้น ด้วยการลองหากติกาและข้อตกลงร่วมกัน จึงเป็นสิ่งที่สังคมน่าจะต้องให้คุณค่ากับมัน แล้วก็ชวนกันถกเถียงถึงความเป็นไปได้ ในการที่มันจะเกิดขึ้นกับโรงเรียนอื่นในบริบทอื่นๆ

เพราะเคสนี้มันเป็นโรงเรียนเอกชนใช่ไหมครับ พอเป็นข่าวออกมา คนก็จะไปเพ่งเล็งว่าเขาเป็นโรงเรียนที่มีฐานะร่ำรวยถึงทำได้ จริงๆ โรงเรียนทั่วไปก็ควรจะมีวันแบบนี้ ที่เด็กสามารถเลือกแต่งตัวได้เอง

: กรณีศึกษาเรื่องชุดไปรเวตในโรงเรียนต่างประเทศ?

หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นประเทศซึ่งมีวินัยสูง แต่ในระดับชั้นประถมศึกษา เขาอนุญาตให้เด็กแต่งตัวอิสระได้ เพราะเขาต้องการให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ให้เด็กสามารถเลือกว่าอยากจะนำเสนอตัวเองยังไง จะแต่งตัวยังไงที่บ่งบอกความเป็นตัวเขา ห้องเรียนมันควรจะมีความหลากหลายของอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน

พอเป็นข่าว (กรณีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ) เราก็เห็นนักเรียนในโรงเรียนเขาก็แต่งตัวกันมาแบบไม่ได้หลุดโลก ไม่ได้แต่งตัวด้วยแบรนด์เนมทั้งตัว เขาก็แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่เขาใช้ในชีวิตประจำวันนั่นแหละ

บางทีสังคมก็คิดไปไกลกว่าสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น หรือบางท่านก็กังวลว่ามันจะไปทำลายคุณค่าเดิมที่ตัวเองยึดมั่นเอาไว้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกมันต้องไปข้างหน้า

แล้วโรงเรียนเองก็พยายามปรับตัวให้ทันสมัย ผู้บริหารก็ค่อนข้างเปิดรับความคิดเห็นของครู ของเด็ก แล้วมันก็เป็นช่วงเวลาการทดลอง หนึ่งสัปดาห์มีหนึ่งวันที่เด็กสามารถแต่งตัวอิสระได้ เด็กก็จะได้ลองและได้ฝึกแต่งตัวให้เหมาะสมกับบรรยากาศของการมาโรงเรียนในบริบทที่ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน มันจะช่วยให้เขารู้จักการนำเสนอตัวเขาเองได้ด้วย

: ชุดนักเรียนกับคุณค่า “ความเป็นไทย” ที่สั่งสมมายาวนาน?

ต้องยอมรับแหละ ถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐ มันมีระเบียบบางอย่างที่มีร่วมกันอยู่ พร้อมทั้งถูกทำให้กลายเป็นข้อตกลงร่วมระดับกระทรวงขึ้นมา เพื่อจะให้เป็นระดับมาตรฐานร่วมกัน

แต่ตอนนี้มันก็เกิดคำถามว่าจริงๆ แล้ว วิถีปฏิบัติของแต่ละโรงเรียน ซึ่งแต่ละที่อยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน ต้องใช้กฎเดียวกันจริงหรือเปล่า?

แล้วก็วัฒนธรรมทุกๆ อย่างมันถูกสร้างโดยคนใช่ไหม? เพราะฉะนั้น มันเปลี่ยนแปลงได้ ปรับตัวกับโลกยุคใหม่ได้

ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว เด็กๆ เขาดูแลตัวเองเป็น เลือกเสื้อผ้าให้ตัวเองได้อย่างเหมาะสม

บางทีผู้ใหญ่ก็รีบห่วง รีบตัดสินใจ เพราะไปยึดแนวปฏิบัติเดิม ค่านิยมเดิม วัฒนธรรมเดิม แล้วพอเราไปยึดเอาไว้ ก็คือเราไม่ยอมให้โลกหมุนไปข้างหน้า เราพยายามชะลอมัน ซึ่งจริงๆ แล้ว เด็กๆ เขากำลังไปกับโลกยุคใหม่ที่มันเปลี่ยนแปลงเร็วอยู่

: ชุดนักเรียนกับอดีตที่ทรงคุณค่า (ของบางคน)?

อย่าทำให้เรื่องที่ควรจะปกติเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะว่าตอนเราเป็นวัยรุ่น เราก็อยากจะดื้อกับผู้ใหญ่ เราตั้งคำถามกับกฎกติกาของสังคมใช่ไหม?

แต่พอวันหนึ่งเราเป็นผู้ใหญ่ เราถูกทำให้เชื่อในเรื่องกฎกติกาบางอย่างร่วมกันแล้ว เราก็จะเผลอกลับมาเอากฎนั้นมาครอบวัยรุ่น นั่นก็คือลูกหลานเราเอง

ตอนนี้มีศิษย์เก่าจำนวนมาก (กำลังต่อต้านแนวปฏิบัติเรื่องชุดไปรเวต) คำถามคือตอนเขาเป็นเด็กนักเรียน เขาเคยเอาเสื้อออกนอกกางเกงหรือเปล่า? เคยแต่งตัวผิดระเบียบหรือเปล่า? ผมว่าเด็กผู้ชายทุกคนก็เคยทำ

แต่พอวันหนึ่ง โรงเรียนจะมีการเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เคยทำในสมัยอดีต กลายเป็นว่าเขาโดดออกมาปกป้องแนวปฏิบัตินั้นซะเอง แล้วเขาก็ลืมไปว่าตอนเขาเป็นเด็กวัยรุ่น เขาคิดยังไง แล้วเขาก็เอาสิ่งนั้นมาตัดสินสิ่งที่เด็กๆ กำลังเลือกทางเลือกนี้อยู่

: “ชุดไปรเวต” คือแสงสว่างของความก้าวหน้าในการศึกษาไทย?

มันก็เป็นแสงวาบหนึ่งขึ้นมาที่ชวนตั้งคำถาม ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่โรงเรียนจะมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องเล็ก เรื่องน้อย เรื่องชีวิตประจำวันของเขาด้วยตัวเองได้?

และถ้ามันเป็นเรื่องที่เป็นสัญญาณบอกว่านี่คือโอกาสที่ทำให้ผู้ใหญ่-เด็กคุยกัน ครู นักเรียน ผู้บริหารคุยกัน ผู้ปกครองโอเคด้วย มันก็เป็นสัญญาณบวก ว่าโรงเรียนมีความเป็นชุมชนเดียวกัน

เราไม่ควรจะเอามัน (เครื่องแบบนักเรียน) มากลายเป็นกรอบของชีวิต แล้วก็ไปผูกทุกคนกับเครื่องแบบนั้นตลอดเวลา เพราะมันเป็นไปไม่ได้

คุณค่าของคนมันอยู่ในตัวข้างใน ความรักสถาบัน ความผูกพันกับสถาบัน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันอยู่ในตัวคนข้างใน

ส่วนเครื่องแบบมันถอดออกได้