ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 มกราคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ดนตรี |
ผู้เขียน | วารี วิไล |
เผยแพร่ |
เพลงการเมืองของบ้านเรา ล่าสุดที่สร้างประวัติการณ์ คือ “ประเทศกูมี” วิพากษ์การเมืองและสังคมประเทศไทยอย่างถึงกึ๋น
หยิบยกปรากฏการณ์ต่างๆ กล่าวถึง และใช้ฉากจากเหตุการณ์สังหารประชาชนจาก 6 ตุลาฯ 2519 มาประกอบ
ตอนแรกมีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองโดดใส่ ทำท่าจะเอาเรื่อง ก่อนจะถอยทัพไป
ยอดวิวเช็กเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ไปที่ 52 ล้านวิวแล้ว
และคงจะไม่หยุดง่ายๆ ตราบเท่าที่เรายังอยู่ในภาวะ “ประเทศกูมี” กัน
เรียกเสียงฮือฮาล่าสุดคือ ศุ บุญเลี้ยง ศิลปินแนวป๊อป-ฟีลกู๊ด ที่อยู่ยงในวงการมานาน
ศุ บุญเลี้ยง ศิลปินและนักเขียน ปล่อยเพลง “ก๊อก ก๊อก ก๊อก” ออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ผ่านเฟซบุ๊กของ “กะทิกะลาคอมปานี”
โดยมีข้อความในเฟซบุ๊กว่า เต็มเพลงมาให้ชมแล้วตามสัญญา งานนี้ถือเป็นการได้เริ่มต้นความตั้งใจ ที่อยากได้เห็น อยากได้ฟัง
ผู้หญิงร้องเพลงที่ไม่ใช่แค่เพลงรักอกหักบ้าง
ขอเชิญรับฟัง ให้ครึกครื้นกันเถิด ^^
และต่อมา ศุ บุญเลี้ยง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ศุ บุญเลี้ยง เกี่ยวกับเพลงดังกล่าวว่า แม้จะชอบภูเขา ทะเล สายลม แสงแดด แต่ในขณะที่สังคมเคลื่อนไหวไปกับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง วันเด็ก วันครู เราหยั่งรู้และรับเรื่องราวเข้ามาในจิตใจ แบบไม่ต้องมีใครมาบังคับ
วันเด็กก็อยากแต่งเพลงวันเด็ก วันครูก็อยากแต่งเพลงไหว้ครู วันวาเลนไทน์ อาจจะแต่งเพลงบุญบั้งไฟ ก็ย่อมได้
การเมืองถูกทำให้มองเป็นเรื่องร้ายแรง น่าเบื่อหน่าย แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แทนที่เราจะเชื่อตามคนบอกว่า อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เรากลับเปิดหู เปิดใจ หันหน้าเข้าหามัน มองให้เห็นว่า การเมืองก็เหมือนทุกๆ เรื่อง มีคนดีคนเลวปะปน มีคุณมหันต์ มีโทษอนันต์
การเมืองก็เหมือนปลา มีคาว มีก้าง กินไม่ดีอาจติดคอ แต่ในเมื่อปลามีประโยชน์ เราก็ควรหาวิธีจับ วิธีตก และวิธีกิน อยู่ร่วมกับปลานานาชนิด
เพลง #ก๊อกก๊อกก๊อก แต่งขึ้นมาด้วยอยากให้คนรุ่นใหม่เห็นการเมืองเป็นเรื่องที่มีสีสัน เห็นการเลือกตั้งเป็นกิจวัตรที่ควรมี ควรทำ สม่ำเสมอ
ด้วยอยากเห็นและอยากสร้างมุมมองที่มีสีสันต่อการเมือง และการเลือกตั้ง
จึงนำเสนอให้คนรุ่นใหม่ๆ อายุยังน้อย เป็นคนร้องเต้นและบอกเล่าผ่านการเรียบเรียงดนตรีที่มีสีสัน มีบรรยากาศครึกครื้น เป็นเจตนาของศิลปินกลุ่มหนึ่ง ที่มีต่อบ้านเกิดเมืองนอน
ขอบคุณ รถไฟดนตรี ที่อนุญาตให้หยิบยืมบางช่วงบางตอนของเพลงประตูใจ มาใส่ประดับเพลง
ขอบคุณ สาว สาว สาว ที่มาเข้าฝัน คืนนั้นเห็นพวกเธอแห่กลองยาวผ่านหน้าบ้านเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนออกมาเลือกตั้ง
สำหรับตัวเพลงนี้ ลองหาฟังกันได้ในเฟซบุ๊ก ในยูทูบก็มีโพสต์ไว้
ผู้ร้องเป็น “ทริโอ” สาวน้อย 3 คน คือ ต้นหลิว ปิ่น และเพลงขวัญ
ก็อย่างที่ “ศุ” ระบุว่า หยิบยืมไอเดียบางตอนจากเพลง “ก๊อก ก๊อก ก๊อก ประตูใจ” ของวงสาวสาวสาว
เนื้อหาและทำนองเพลง สนุกสนานสดใส ในแบบเพลงเดิม แต่เนื้อหาเปลี่ยนจากตามหา “ความรัก” เป็นการตามหา – ทวงคืน “ประชาธิปไตย-การเลือกตั้ง” ที่หายไปแบบนิ่มๆ หวานๆ
ไม่ได้มีการวิพากษ์ว่า หายไปได้ยังไง หายไปเพราะใคร และที่หายไป ทำให้เจ๊งกันไปวินาศขนาดไหน
ก็ต้องถือว่า เป็นเพลงฟังง่ายๆ เนื้อหาไม่แสลงใจใครมากเกินไป
เป็นสัญญาณดีจากศิลปินไทย ที่ทำเพลงดีๆ มีเนื้อหาสร้างสรรค์ในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่
ร่วม “ทวงถาม” ที่สะท้อนเจตนาดีต่อสังคมและบ้านเกิดเมืองนอนให้ฟังกัน