
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 มกราคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
การเล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างสองพื้นที่สองหอศิลป์ของนิทรรศการ This page is intentionally left blank ของปรัชญา พิณทองนั้น ก็เชื่อมโยงไปถึงองค์ประกอบส่วนที่สามในนิทรรศการ ที่เป็นแท่งคอนกรีตกั้นที่จอดรถหลากสีสัน จำนวน 8 แท่ง ที่วางเรียงรายอยู่บนพื้นหอศิลป์
ซึ่งเจ้าแท่งคอนกรีตเหล่านี้ เดิมทีในอดีตเคยถูกใช้เป็นที่กั้นที่จอดรถ ของลานจอดรถ 123 ปาร์กกิ้ง ที่เคยตั้งอยู่บนพื้นที่ที่กลายเป็นหอศิลป์ บางกอก ซิตี้ซิตี้ ในปัจจุบันนี่เอง

“สมัยก่อนตอนเรามาเรียนภาษาเยอรมันที่สถาบันเกอเธ่ หรือมาทำวีซ่าที่สถานทูตเยอรมัน เราก็มาจอดรถที่นี่ ลองนึกดูเล่นๆ ว่าถ้าดึงผนังหอศิลป์ทั้งหมดออก พื้นที่นี้ก็จะกลับกลายไปเป็นที่จอดรถเหมือนเดิม เราเลยเปิดประตูห้องแสดงงานให้อากาศและแสงสว่างข้างนอกเข้ามา และเพื่อให้มองเห็นที่จอดรถข้างนอกได้ด้วย เราตั้งคำถามว่า ถ้าที่จอดรถเป็นแก่นสารของการมีอยู่และเป็นโครงสร้างหลักของพื้นที่แห่งนี้ก่อนที่หอศิลป์จะมาถึง ถ้าอย่างนั้นหน้าที่ของมันในฐานะที่จอดรถนั้นเป็นสิ่งที่กำลังค้ำจุนศิลปะอยู่หรือเปล่า?”
ดูเผินๆ เหมือนแท่งคอนกรีตเหล่านี้ถูกศิลปินจงใจแต่งแต้มเติมสีทับกันหลายชั้นเพื่อให้มีความสวยงามสมเป็นวัตถุทางศิลปะ
แต่ความเป็นจริง สีสันบนแท่งคอนกรีตเป็นสีดั้งเดิมของมันอยู่แล้ว ปรัชญาแค่เก็บพวกมันมาโดยไม่ได้ทำอะไรนอกจากขัดล้างทำความสะอาด
โดยเขากล่าวว่า
“เดิมทีสีบนแท่งคอนกรีตพวกนี้ถูกทาเพื่อบ่งบอกว่าที่ตรงนั้นเป็นที่จอดรถของใคร พอเปลี่ยนคนจอดมันก็จะถูกทาสีใหม่ ทั้งสีเขียว แดง เหลือง ม่วง ทับลงไปในแท่งเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า แท่งคอนกรีตพวกนี้เองก็ถูกโยนทิ้งไว้ในที่ที่เหมือนสุสานที่เขาเอาขยะไปกองรวมอยู่ตรงนั้น มันเป็นหลักฐานของสิ่งที่หลงเหลือจากการที่ถูกทิ้ง ถูกวางไว้ห่างจากสายตาและความต้องการ เราก็แค่ไปเอามันกลับมาวางในที่ที่มันเคยอยู่เท่านั้นเอง”
สิ่งที่น่าสนุกเกี่ยวกับงานชุดนี้ก็คือ ตำแหน่งการวางแท่งคอนกรีตเหล่านี้จะถูกขยับปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบต่างๆ ทุกวัน ไปจนจบการแสดงงาน โดยรูปแบบอันแปรผันที่ว่านี้สัมพันธ์ไปกับขนาดของพื้นที่ในห้องแสดงงานที่สามารถจอดรถได้ 8 คันพอดิบพอดี

ดูๆ ไปก็อดคิดไม่ได้ว่าผลงานในนิทรรศการนี้ของปรัชญานั้นมีส่วนผสมที่ทำให้นึกไปถึงกระแสเคลื่อนไหวอันหลากหลายในประวัติศาสตร์ศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นผลงานสมุดบันทึก และแท่งคอนกรีตที่เป็นการหยิบเอาสิ่งของสำเร็จรูปมาทำเป็นงานศิลปะ แบบเดียวกับงานแบบเรดดี้เมด (Readymades) ตัวแท่งคอนกรีตเองก็มีสีสันอันฉูดฉาดเปี่ยมอารมณ์แบบศิลปะนามธรรม (Abstract art) และมีรูปทรงเรขาคณิตซ้ำๆ อันเรียบง่ายธรรมดา มีความเป็นวัสดุอุตสาหกรรมแบบมินิมอลลิสม์ (Minimalism) หรือกระบวนการทาสีผนังห้องแสดงงานที่มีความคล้ายคลึงกับงานศิลปะคอนเซ็ปช่วล (Conceptual art)
และลักษณะร่วมเหล่านี้ก็ถูกสะท้อนออกมาในองค์ประกอบส่วนสุดท้ายในนิทรรศการ ที่อยู่ในรูปของชุดปึกการ์ดกระดาษร้อยห่วงบรรจุคำศัพท์และคำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับกระแสเคลื่อนไหวและแนวคิดทางศิลปะต่างๆ ให้คนได้หยิบมาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ หรือไปค้นคว้าต่อได้ ซึ่งธนาวิภัณฑารักษ์ของนิทรรศการกล่าวว่า

“ตัวการ์ดคำศัพท์นี้ก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นข้อเขียนประกอบนิทรรศการนั่นแหละ เพียงแต่เราไม่เขียนเป็นบทความอธิบายอะไรยืดยาว แต่จะใส่คำศัพท์และคำอธิบายสั้นๆ ที่เราเลือกมาจากในเว็บไซต์ของหอศิลป์ Tate Modern ให้ผู้ชมอ่าน เพราะงานในนิทรรศการนี้มันอาจจะสร้างความเหวอสำหรับผู้ชมจำนวนหนึ่ง เพราะพอเข้ามาในห้องแล้ว เห็นของอยู่จำนวนน้อยนิดแค่นี้ แล้วงานส่วนหนึ่งก็ยังเป็นการทาสีขาวบนผนัง ซึ่งก็เป็นสีขาวอยู่แล้วอีก เราก็เลยอยากจะให้แผนที่เขาคร่าวๆ เพื่อไม่ปล่อยให้เขาหลงทาง และเพื่อให้ปะติดปะต่อกับสิ่งที่เห็น และชักชวนให้ตั้งคำถาม เพราะเรารู้สึกว่าต้องเกิดคำถามขึ้นอย่างแน่นอน ว่าอะไรแบบนี้ก็เป็นศิลปะได้เหรอ”
“เราก็เลยยกคำถามขึ้นมาว่า แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้ศิลปะเป็นศิลปะ? มันมีเงื่อนไขอะไรบ้าง? ถ้าเขาอ่านการ์ดนี้จนหมดก็คิดว่าเขาอาจจะพอมองออก ว่างานที่อาจจะดูประหลาดสำหรับเขาเนี่ย เอาเข้าจริงๆ มันมีคนทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ในจุดต่างๆ ของประวัติศาสตร์ศิลปะ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา จนถึง 21 งานของปรัชญาสามารถปักหมุดเข้าไปได้ในจุดต่างๆ เหล่านี้”
“แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนที่เป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่ของเมืองไทยอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ของพื้นที่ทางศิลปะในไทย ที่เราพูดผ่านหอศิลป์เจ้าฟ้า โดยตั้งต้นจากสมุดบันทึกของหอศิลป์นั่นแหละ”
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการในนิทรรศการนี้ก็คือ องค์ประกอบต่างๆ ในนิทรรศการที่กล่าวมานั้น ไม่ได้ถูกแยกเป็นผลงานแต่ละชิ้นโดดๆ หากแต่ทั้งหมดถูกหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นงานชิ้นเดียว (แม้แต่การเข้าไปทาสีในห้องแสดงงานของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เองก็ตาม)
หรือแม้แต่บัตรเชิญของงานที่อยู่ในรูปของกระดาษขาวขนาดโปสเตอร์พับสี่ทบ เมื่อคลี่ออกมาจะมีรอยพับแบ่งกระดาษเป็น 16 ช่อง ก็สะท้อนถึงการกั้นแบ่งพื้นของห้องแสดงงานด้วยคอนกรีตกั้นที่จอดรถ
อีกทั้งบนหน้ากระดาษที่นอกจากจะมีตัวหนังสือชื่อนิทรรศการแล้ว ยังมีตัวหนังสือพิมพ์ว่า “สีขาว กับ เงาของกระดาษ” “white shadow” และ “รอยพับ กับ เส้นตรง” “line and fold” อยู่ด้วย การบรรยายลักษณะทางกายภาพของวัตถุที่มองเห็นด้วยตาออกมาเป็นภาษาเขียนเช่นนี้ ก็สอดคล้องกับการตั้งคำถามกับลักษณะการเหลื่อมซ้อนของการมองและการอ่าน ที่ปรากฏอยู่ในความหมายของชื่อนิทรรศการได้เป็นอย่างดี
นอกจากผลงานศิลปะดังที่กล่าวมาแล้ว ในช่วงการแสดงนิทรรศการยังมีโปรแกรมสาธารณะและกิจกรรมต่างๆ อาทิ
การบรรยาย “Archive Fever : A Freudian Impression (Jacques Derrida, 1995/1996)” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 16 ธันวาคม 2561
กิจกรรมภาคสนามและงานเขียนเชิงทดลอง “ลาก-เส้น-ต่อ-จุด” เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป, หอศิลป์ พีระศรี และบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ในวันที่ 22 ธันวาคม 2561

กิจกรรมชวนอ่าน “An Archival Impulse (Hal Foster, 2004)” โดย ดร.สายัณห์ แดงกลม ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กับนักอ่าน 12 คน ในวันที่ 19 มกราคม (ปิดรับสมัครแล้ว)
กิจกรรมสนทนากับศิลปินและภัณฑารักษ์ ดำเนินรายการโดย กรมธรณ์ สฤทธิบูรณ์ และการเปิดตัวสูจิบัตรนิทรรศการและสิ่งพิมพ์จากกิจกรรม “ลาก-เส้น-ต่อ-จุด” ในวันที่ 27 มกราคม 2562 เวลา 14:00-17:00 น.
นิทรรศการ This page is intentionally left blank จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง) ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2561 – 27 มกราคม 2562 แกลเลอรี่เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13:00-19:00 น.
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่