คำ ผกา : โถ ชีวิต

คำ ผกา

ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย

ในภาคเหนือตอนบนอย่างเชียงใหม่ เชียงราย ทุกๆ ฤดูร้อนก็ประสบปัญหาที่เรียกว่าปัญหาหมอกควัน อันนำมาสู่คำอธิบายว่า ชาวบ้านเผาป่า เผาใบไม้ ชาวบ้านอยากได้เห็ดถอบ

จากนั้นกระบวนการแก้ปัญหาก็เน้นหนักไปที่การสร้างสำนึกให้ประชาชนเลิกเผาขยะ เลิกเผาใบไม้ ไปจนถึงเลิก “เผาป่า”

ซึ่งคนในเมืองทั้งหลายก็เข้าใจว่าชาวบ้านโง่ มักง่าย เผาป่า แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว การเผาป่าก็มีทั้งการเผาป่าที่ “ถูกสุขลักษณะ” กับการเผาป่าแบบผิดๆ

เช่น การเผาป่าอย่างถูกต้อง เป็นส่วนหนึ่งของการทำไร่ การเผาป่าที่ถูกต้องเกิดขึ้นเพื่อให้เมล็ดพืชบางชนิดแตกออกและผลิต้นใหม่ได้ การเผาป่าที่ถูกต้องยังทำเพื่อให้เกิดหญ้าอ่อนขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารสัตว์ป่า การเผาป่าที่จัดทำขึ้นมาเพื่อป้องกันไฟไหม้ป่าที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ การชิงเผาป่า (อย่างถูกต้อง) เสียก่อน ก็เพื่อป้องกันไฟไหม้ป่านั่นเอง

กระนั้นก็เป็นเวลายาวนานหลายปีที่ “ชาวบ้าน” กลายเป็นแพะรับบาปเรื่องฝุ่นพิษ ปัญหาหมอกควันของภาคเหนือ อันมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ โดยที่ไม่มีใครพูดถึงผลกระทบจากการทำเกษตรแปลงใหญ่ อย่างการทำไร่ข้าวโพดอันกินพื้นที่กว้างขวางทั้งในลาว เมียนมา รวมถึงในภาคเหนือของไทย ที่ต้องมีการเผาป่าอันเป็นหนึ่งในวงจรของการปลูกข้าวโพด

จาก ‘หมอกควัน’ ถึง ‘อาหารเรา’

เมื่อมาเจอตอข้าวโพด ถามว่าปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษในภาคเหนือจะได้รับการแก้ไขไหม คำตอบก็คงอึมครึม แล้วทางหน่วยงานราชการก็พุ่งเป้าไปที่ชาวบ้าน ชาวไร่รายเล็กๆ หรือคนเก็บเห็ด หาของป่าว่า คนพวกนี้แหละเผาป่า คนพวกนี้ชอบเผาขยะ เผาใบไม้ ลามปามมาถึงหมูปิ้ง หมูกระทะ

ปัญหาฝุ่นพิษของภาคเหนือเกิดในฤดูแล้งช่วงเดือนเมษายน และไม่กี่ปีมานี้ ปัญหาฝุ่นพิษก็บังเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานครด้วย

ไม่ได้เกิดอย่างธรรมดา แต่เกิดขึ้นอยากหนักที่สุด วิกฤตถึงขั้นค่า pm 2.5 ในบางพื้นที่พุ่งขึ้นไปถึงเลขสามร้อยกว่าๆ

อันชวนให้คิดว่า พวกเราจะพากันตายด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด เด็กจะสมองเสื่อมไปกันหมดเป็นแน่แท้

แต่ที่น่ากังวลกว่าฝุ่นพิษคือความเฉยเมยของส่วนราชการและภาครัฐทั้งหมด นั่นคือ นอกจากออกมาเตือนๆ แบบเสียไม่ได้ ออกมาฉีดน้ำแล้ว ฉันไม่เห็นเลยว่ามีมาตรการอะไรที่ชัดเจน จริงจัง และดูเหมือนพยายามจะทำให้มันเป็นเรื่องไม่ร้ายแรงเสียด้วยซ้ำ

บนท้องถนนเรายังเห็นคนเดิน คนขี่มอเตอร์ไซค์ เห็นคนทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างปกติมาก ทั้งๆ ที่ค่าฝุ่นพิษขนาดนี้ ทางราชการต้องแจ้งเตือนภัยอย่างซีเรียสแล้ว โดยเฉพาะเขตที่ค่าเกินสามร้อย เพราะมันหมายถึงชีวิต!

หลายคนอาจจะบอกว่า เฮ้ย เตือนภัยไปแรงๆ คนก็แตกตื่น ไม่ต้องทำมาหากินกัน แล้วถ้าไม่ออกจากบ้านจะทำงานยังไง จะเอาอะไรกิน?

ซึ่งก็ถูกแล้วที่เราจะต้องทำให้คนตระหนักว่า เฮ้ยยย อากาศเป็นพิษขนาดนี้ เราออกไปทำงานไม่ได้ ดังนั้น รัฐต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว แรงกดดันให้ภาครัฐทำงานก็จะมากขึ้น

แทนที่จะมึนๆ ไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร มันอันตรายขนาดนั้นจริงหรือเปล่า

มหันตภัยของฝุ่นพิษ ไม่เหมือนน้ำท่วม แผ่นดินไหว เพราะมันคือภาวะตายผ่อนส่ง หรือเป็นผลกระทบทางสุขภาพระยะยาว ที่กว่าจะรู้ก็อาจจะสายเกินไป

แต่ในประเทศที่รัฐบาลมีความห่วงใย จริงใจ และเห็นหัวประชาชน จะต้องออกมายอมรับความจริงว่า นี่คือวิกฤต

ต้องประกาศเตือนภัย และต้องบอกประชาชนอย่างจริงจังว่า ถ้าไม่จำเป็น กิจกรรมนอกบ้าน กลางแจ้ง ต้องงดโดยสิ้นเชิง เช่น การเดินเล่น การออกกำลังกาย

ส่วนใครที่จำเป็นต้องมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยที่กรองฝุ่นได้

และทางราชการควรจะแจกฟรีให้ประชาชนเสียด้วยซ้ำ

หรืออย่างน้อย พนักงานของ กทม. เช่น คนกวาดถนน ที่พวกเขาไม่มีทางเลือกนอกจากต้องมาสูดฝุ่นนี้เข้าไป ทาง กทม.ควรมีหน้ากากคุณภาพดีให้พวกเขาสวมใส่ในขณะทำงาน และควรบังคับใส่ด้วยในฐานะเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัย เหมือนการบังคับสวมหมวกนิรภัยในไซต์งานก่อสร้าง

อันดับแรก ทางราชการต้องออกมายอมรับภาวะวิกฤตนี้ ประกาศแจ้งเตือนภาวะอันตรายอย่างจริงจังที่สุด

ลำดับถัดมาต้องทำอะไร?

ฝุ่นพิษใน กทม.ไม่ได้เกิดจากการเผาป่าทำไร่ข้าวโพด และไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรากินหมูกระทะมากไปแน่ๆ

และหากใครอยู่กรุงเทพฯ ช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลปีใหม่จะพบว่า ค่า pm 2.5 อยู่ในระดับหกสิบกว่าๆ ทุกวัน เป็นค่าที่ปลอดภัย และอากาศค่อนข้างดีทีเดียว

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีสภาพย่ำแย่ ขึ้นเป็นสีส้ม สีแดง เกือบทั้งหมด

เหตุที่อากาศดีขึ้นคงไม่ใช่เพราะคนต่างจังหวัดกลับบ้านนอกกันหมด เมืองกรุงจึงศิวิไลซ์

แต่เป็นเพราะปริมาณรถราบนถนนลดลงเกือบครึ่ง

นึกออกไหม คนอาจจะไม่ได้ออกนอกกรุงเทพฯ กันเท่าไหร่ แต่ไม่มีความจำเป็นที่คนจะต้องออกจากบ้านไปทำงาน ไปเรียนหนังสือพร้อมๆ กันทั้งหมด

ที่สำคัญ วันหยุดยาว การก่อสร้างทั้งปวงหยุดหมด ระหว่างที่ฉันชื่นมื่นกับอากาศที่ดีอย่างเหลือเชื่อในช่วงวันหยุดยาว

ก็ได้ตั้งข้อสมมุติฐานเอาไว้อย่างนี้คือ หากอยากลดมลพิษทางอากาศนี้ ต้องโฟกัสไปที่สองเรื่องใหญ่ๆ คือ

ไอเสียจากรถ

และฝุ่นมลพิษจากการก่อสร้างขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ

ไม่รู้ว่ามีใครสงสัยเหมือนฉันบ้างว่า ในเมืองกรุงของเรานั้น ทำไมรถปูน รถบรรทุกขนาดใหญ่สามารถวิ่งได้ทุกเวลา

ชั่วโมงเร่งด่วนบนถนนอย่างสุขุมวิท มีรถปูนวิ่งเข้าไซต์งานก่อสร้างเป็นว่าเล่น

ไม่มีกฎหมายจำกัดเวลาของการวิ่งรถบางประเภทเลยหรือ?

หลายคนอาจจะเถียงว่า อ้าว ก็มีการก่อสร้างจะให้ทำอย่างไร?

ฉันก็ต้องตอบว่า การก่อสร้างตึกขนาดใหญ่ โครงการขนาดใหญ่ ของเล้านายทุนเศรษฐี มหาเศรษฐีทั้งหลายเหล่านั้น จะมาใช้ต้นทุนทางสุขภาพกาย สุขภาพจิตของประชาชนคนเดินดินทุกๆ คนในเมืองไม่ได้

การที่คุณต้องพบกับข้อจำกัดทางเวลาบางอย่าง

เช่น การกำหนดเวลาเข้าของรถปูน รถบรรทุกต่างๆ ที่อาจทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างของคุณสูงขึ้นเป็นต้นทุนของคุณ!

เป็นต้นทุนที่เอกชนต้องแบกรับ

ทุนสูงก็บวกราคาห้องในคอนโดฯ อะไรเข้าไป แต่นี่กลายเป็นว่า ก่อสร้างกันตามสบายได้ทุกโมงยาม มาเพิ่มปริมาณรถบนถนนโดยไม่จำเป็น

แถมยังมาสร้างมลพิษทางอากาศเบียดบังสุขภาพของเพื่อนร่วมสังคมผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในกำไรขาดทุนในโครงการก่อสร้างเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย

แล้วก็เป็นอย่างที่คิด พอสิ้นสุดวันหยุดยาว ทุกอย่างเปิดทำการอีกครั้ง ค่าผงฝุ่นพิษก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ คิดอย่างง่ายที่สุด มาตรการระยะสั้นเร่งด่วนที่ควรทำในระดับ กทม. คือ ต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะลดปริมาณรถบนถนนลง

และทำอย่างไรจะให้การก่อสร้างขนาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนน้อยลง

มาตรการฉุกเฉินระยะสั้น อาจต้องทำตั้งแต่ให้รถส่วนตัววิ่งสลับเลขทะเบียนเลขคู่เลขคี่อย่างที่ต่างประเทศทำ ซึ่งหลายคนคิดว่าต้องถูกด่าอย่างหนักแน่นอน

แต่ถ้าประชาชนรู้ว่าปัญหานี้มันร้ายแรงแค่ไหน ก็ต้องยอมที่จะให้ความร่วมมือ

เพราะมันคือสุขภาพของเราเอง

และมาตรการนี้ใช้เฉพาะช่วงที่วิกฤตเท่านั้น พร้อมกันนั้นก็ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยราชการ บริษัท ห้างร้าน โรงเรียน ให้สลับวันหยุดและเวลาการเข้างาน ออกงาน โดยไม่จำเป็นต้องตรงกันทั้งหมด

เช่น จากที่เคยทำจันทร์-ศุกร์ ก็อาจต้องเปลี่ยนเป็นอาทิตย์ถึงพฤหัสฯ อีกแผนกทำเสาร์ถึงพุธ

อีกแผนกทำศุกร์ถึงอังคาร และอาจต้องเหลื่อมเวลาการเข้างานได้ตั้งแต่เก้าโมง สิบโมง ไปจนถึงเริ่มเที่ยง แล้วขยับเวลาตามออกไป เพื่อไม่ให้ทุกคนต้องเอารถออกจากบ้านมาทำงานพร้อมๆ กัน

ส่วนโรงเรียนทั้งหลายควรให้สมัครใจว่า จะมาหรือไม่มาโรงเรียนก็ได้ในช่วงนี้ โดยเฉพาะเด็กอนุบาล ประถม

ส่วนการก่อสร้างขนาดใหญ่ ทางราชการต้องขอความร่วมมือให้ลดวันและชั่วโมงการก่อสร้าง

และฉันยังฝันต่ออีกว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างต้องรับประกันค่าแรงขั้นต่ำและจ่ายค่าชั่วโมงการทำงานให้คนงานโดยไม่หักตามเวลางานที่ลดลงด้วย

เพราะนี่เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม

และคนงานที่เป็นคนจนที่สุดไม่ควรต้องมาได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

ต่อจากนั้น บริษัทก่อสร้างมีหน้าที่ไปกดดันรัฐบาลว่า การที่เขา “ช่วย” สังคมด้วยการหยุดงานก่อสร้างกี่วันๆ เพื่อลดมลพิษ ควรเป็นเครดิตที่เอาไปลดภาษีได้

และรถขนปูน ขนดิน รถบรรทุกขนาดใหญ่ ต้องจำกัดเวลาการวิ่งบนถนนในเมือง

ในช่วงวิกฤตที่สุดปีละ 2 เดือน ควรทำมาตรการเร่งด่วนแบบนี้ให้ได้ ไม่ใช่มาบอกว่า มีคนขายหมูกระทะ หรือมีคนเผาหญ้า – ฮัลโหล ที่ กทม.น่ะ ใครเผาหญ้า ใครเผาข้าวหลามเหรอ?

ส่วนมาตรการระยะยาวนั้นเป็นความฝันกลางฤดูฝนมากๆ คือ กระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาค จัดระบบขนส่งมวลชน

ซื้อรถเมล์ใหม่มาบริการประชาชน เอารถแบบไม่มีควันดำ นั่งสบาย สร้างทางเดิน ทางเท้าที่กว้างขวาง ปลอดภัย ทำทางเดิน ทางจักรยานริมคลอง สร้างทางเลือกการเดินทางในถนนสายเล็กที่เป็นตรอกซอกซอย ลดภาระการขึ้นไปอยู่บนถนนหลัก

ฝัน ฝันไปถึงชาติหน้าตอนผีตากผ้าอ้อมโน่นแหละ

ถุยส์ ชีวิต