นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เสรีภาพและจินตนาการใหม่

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมเชื่อว่า ไม่ว่าใครก็ควรมีเสรีภาพที่จะพูดว่า “คนอีสานไม่รักในหลวง” แม้ผมจะเห็นว่าคำพูดเช่นนี้เป็นการเหมารวมที่กว้างเกินไป และก่อให้เกิดอคติต่อคนอีสาน ซึ่งต้องทนรับอคติอีกหลายเรื่องจากคนในภาคอื่นอยู่แล้ว ซ้ำร้ายยังเป็นอคติที่อาจนำไปสู่การถูกละเมิดทั้งจากรัฐและบุคคลได้ง่ายด้วย

แม้กระนั้น เขาก็ควรมีเสรีภาพจะพูด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ปลดปล่อยความคิดเห็นที่ฉลาดลึกซึ้ง กับความคิดเห็นที่ไร้ข้อมูลและตื้นเขิน ปลดปล่อยความงามสง่าน่าเคารพกับความกักขฬะหยาบช้าลามกออกมาพร้อมกัน แม้กระนั้น เสรีภาพก็มีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ต้องปรับตัวให้ทันกับความเสื่อมสลายที่กำลังเกาะกุมสังคมนั้นอย่างหนาแน่นขึ้นทุกที

ไม่เฉพาะแต่มีเสรีภาพจากการกำกับควบคุมของรัฐเท่านั้น แต่ต้องมีเสรีภาพจากการถูกละเมิดด้วยวาจาหรือกายจากผู้มีความคิดเห็นแตกต่างในสังคมด้วย

 

ในบรรยากาศของเสรีภาพ คงจะมีคนอีกมากที่จะตอบโต้ชี้แจงความเห็นเช่นนี้อย่างมีเหตุผลและข้อมูล มากกว่าการ “ตรา” คุณค่าของถ้อยแถลง เช่น “เหมารวม”, “ดูถูกคนอีสาน”, หรือในบางกรณีที่ส่อไปทางละเมิดทางกายต่อผู้พูดโดยตรง เช่น “กระทืบ, เตะ, ถีบ จนถึงตบหน้า”

แต่อย่างที่กล่าวข้างต้น เสรีภาพในการแสดงออกปลดปล่อยทั้งความขาวกระจ่างและความดำมืดออกมาพร้อมกัน ผมก็ยังเห็นว่าผู้ตอบโต้ด้วยวิธีเช่นนี้ควรมีเสรีภาพที่จะทำได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การตอบโต้เช่นนี้ย่อมเป็นผลให้ผู้ที่มีความคิดเห็นทำนองนี้อีกมากไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตนออกมา

ผมเชื่อว่า นอกจากคุณคนที่พูดถึงคนอีสานเช่นนั้นแล้ว ยังมีคนไทยอีกมากที่มีความคิดเห็นอย่างเดียวกับเธอ อย่าลืมว่าไม่นานมานี้เอง อีสานเป็นศูนย์กลางใหญ่สุดของกองกำลังติดอาวุธ พคท. ก่อนหน้านั้น ส.ส.อีสานคือแกนหลักของพรรคสหชีพที่สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ การประท้วงรัฐใหญ่สุดของชาวบ้านมาจากอีสาน ฯลฯ แม้ว่าความเคลื่อนไหวทั้งหมดเหล่านี้ ไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ แต่ก็ถูกฝ่ายทหารที่ยึดอำนาจสร้างเรื่องให้กลายเป็นการต่อต้านพระมหากษัตริย์ และเมืองไทยตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร อย่างออกหน้าหรืออย่างซ่อนเงื่อนเกือบตลอดมาหลัง 2490 จะแปลกอะไรที่คนอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่คนอีสานอีกมากจะมีทัศนคติว่าคนอีสานไม่ “รักในหลวง”

คุณผู้หญิงที่ทะลุกลางปล้องขึ้นมาก่อนคนนั้น คงไม่โดดเดี่ยว คงมีคนอื่นซึ่งมีทัศนะต่อคนอีสานแบบเดียวกับเธอ ออกมาเสนอข้อมูลและเหตุผลนานาชนิด เพื่อพิสูจน์ทัศนะของเธอและของตนเอง ฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับทัศนะเช่นนี้ ก็คงต้องค้นหาและคิดถึงข้อมูลและเหตุผลอีกมาก เพื่อชี้ให้เห็นว่าทัศนะดังกล่าวตั้งอยู่บนภาพลวงตาที่ฝ่ายอำนาจสร้างขึ้น เพื่อปราบศัตรูทางการเมืองของตนเอง

การถกเถียงประเด็นนี้อย่างมีเสรีภาพแท้จริง และโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดชนะขาด อาจนำไปสู่การทำความเข้าใจความจริงที่ถูกสร้างขึ้นของทั้งสองฝ่าย ความเข้าใจตรงนี้มีความสำคัญ เพราะจะทำให้เราทุกฝ่ายเริ่ม “รื้อสร้าง” ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นจำนวนมากในสังคมไทย อันเป็นหนทางที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากการครอบงำได้

พูดอย่างนี้แล้ว ก็อาจทำให้บางคนคิดว่า เสรีภาพมีประโยชน์เฉพาะคนมีความรู้เท่านั้น เพราะคนอย่าง คุณสมรักษ์ คำสิงห์ จะเข้ามาร่วมถกเถียงได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ทัศนะเช่นนี้กระทบต่อคนอย่างคุณสมรักษ์โดยตรง

ผมคิดว่าการถกเถียงในสังคมต้องการมากกว่าความรู้ความสามารถในการประมวลข้อมูลกว้างขวาง เพื่อใช้เหตุผลนำไปสู่ข้อสรุปเชิงนามธรรมที่ครอบคลุมปรากฏการณ์ประเภทเดียวกันได้เพียงอย่างเดียว แม้แต่เมื่อคนอย่างคุณสมรักษ์เพียงแต่รำพันความปวดร้าว และความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ได้ฟังทัศนะเช่นนี้ ก็ช่วยทำให้ข้อถกเถียงซึ่งเป็นวิชาการสักเพียงใดก็ตาม เกิดแง่มุมของชีวิตเลือดเนื้อที่เป็นจริง ข้อถกเถียงใดๆ ในโลก หากไม่ยืนอยู่บนอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นจริงของมนุษย์ ก็ล้วนไร้ความหมายทั้งสิ้น

หากไม่มีวรรณศิลป์ของ ชาลส์ ดิกเกนส์ ที่ทำให้เราร่วมรู้สึกไปกับโลกอันดำมืดของคนเล็กคนน้อยภายใต้ระบบทุน ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสังคมนิยมทั้งหมดก็ไร้ความหมาย

 

เสรีภาพสมบูรณ์ในการถกเถียงเรื่องดังกล่าว แม้อาจไม่เปลี่ยนใจผู้ที่มีความคิดเห็นว่าคนอีสานไม่รักในหลวง แต่ก็เกิดผลสองอย่างที่ผมคิดว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศไทย หนึ่งก็คือแม้ไม่เปลี่ยนความคิดเห็น คนเหล่านั้นก็จะมองเห็นว่า ความเชื่อของตนนั้นเป็นจริงในบางเงื่อนไข วิธีคิดถึงความจริงอย่างมีเงื่อนไขนั้นสำคัญอย่างมากแก่คนไทย เพราะในระบบการศึกษาไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน มัวแต่ใส่ใจกับความจริงที่ปราศจากเงื่อนไข (อันนำไปสู่เผด็จการของคนดีในปัจจุบัน) อันเป็นเหตุให้วิธีคิดแบบไทยนั้นไม่ค่อยมีพลังในการเผชิญกับความซับซ้อนต่างๆ ของโลกปัจจุบัน

และสองถกเถียงกันอย่างเปิดเผยด้วยเสรีภาพสมบูรณ์ ทำให้ทั้งสังคมสำนึกได้เองว่า รักหรือไม่รักในหลวง ไม่ใช่อาชญากรรม (ผมขอย้ำว่าทั้งรักและไม่รักนะครับ เพราะผมเคยพบนักวิชาการฝรั่งเศสท่านหนึ่งในวันที่ 14 กรกฎาคม ซึ่งรำพันว่า เขาไม่อาจอยู่ในฝรั่งเศสในวันดังกล่าวได้ เพราะเป็นวันซึ่งในที่สุดแล้ว คนฝรั่งเศสก็จับพระเจ้าแผ่นดินไปประหาร – เรื่องมันผ่านไปเกือบ 300 ปีแล้ว – แต่เขาก็เป็นนักวิชาการที่ได้รับความเคารพนับถือทางวิชาการในฝรั่งเศสอย่างดี) สำนึกเช่นนี้มีความสำคัญแก่ประเทศไทย นอกจากช่วยให้คนอีกมากไม่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดี ม.112 แล้ว ยังทำให้คนไทยอยู่ร่วมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างยั่งยืนขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องหลั่งไหลเข้าสู่สังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ผู้ดี” ไทยพูดย้ำมาตลอดว่า เสรีภาพเป็นสิ่งอันตราย จะมีจะใช้ก็ต้องระมัดระวัง เพราะมันทำลายระเบียบของสังคม จนทำให้สังคมล่มสลายลงในที่สุด คำโฆษณานี้มีส่วนจริงอยู่ด้วย เสรีภาพสั่นคลอนระเบียบของสังคมแน่ แต่ไม่จำเป็นว่าระเบียบนั้นจะต้องพังครืนลงมาทั้งหมด ตรงกันข้าม ระเบียบมักจะปรับตัวอย่างชาญฉลาด เพื่อรักษาตัวให้อยู่รอดสืบมาในสังคม อย่างเดียวกับที่มันเคยปรับตัวมาเป็นพันปีแล้ว และยังอยู่รอดสืบมาจนถึงทุกวันนี้ได้

และตรงกันข้ามอีกเช่นกัน ระเบียบสังคมไทยที่เพิ่งปรับตัวใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อสัก 100 กว่าปีมานี้ ตกมาถึงปัจจุบัน มีปัญหามากขึ้นเพราะไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความพยายามจะปรับตัวหลายครั้งหลายหนไม่บรรลุผลมากนัก เพราะกระทำกันภายใต้การลิดรอนเสรีภาพอย่างหนัก ทำให้ปัญหาที่สังคมต้องเผชิญอยู่ยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นทุกที จนมันอาจพังครืนได้

 

นักรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง (Duncan McCargo, “Things Fall Apart? Thailand’s Post-Colonial Politics” ในหนังสือแจกในงานฌาปนกิจศพคุณพ่อของอาจารย์ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ) กล่าวว่า รัฐรวมศูนย์แบบอาณานิคมภายใน ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของระบบปกครองที่รัฐอาณานิคมทั้งหลาย รวมทั้งไทยใช้นั้น มาบัดนี้ได้ก่อปัญหาให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก เพราะมีการแข็งข้อลักษณะต่างๆ ที่รัฐไม่อาจใช้กำลังปราบปรามได้อย่างที่เคยเสียแล้ว ถ้าประเทศไทยในฐานะรัฐอันหนึ่งอันเดียวอย่างที่เรารู้จักทุกวันนี้จะคงอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนระบบปกครองให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

การใช้กองทัพเข้ามารวบอำนาจรวมศูนย์ไว้เด็ดขาดภายใต้เผด็จการทหาร จะรักษาระบบปกครองแบบเก่าต่อไปได้หรือไม่ ผมก็ขอเตือนให้นึกถึงความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่าง ในสามปีภายใต้เผด็จการ คสช. มีสัญญาณอะไรที่ส่อว่าเหตุการณ์จะดีขึ้นหรือ

ไม่ใช่แต่ระบบปกครอง อะไรต่อมิอะไรในเมืองไทยก็ต้องการจินตนาการใหม่ เพื่อหาทางออกที่เป็นไปได้ที่สุดไปทุกอย่าง

จะปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้นเทียมบ่าเทียมไหล่กับประเทศเพื่อนบ้านละหรือ แค่อัดเงินลงไปมากขึ้น หรือขยายการศึกษาภาคบังคับ ก็ไม่ช่วยอะไรเสียแล้ว แต่ต้องกลับมาคิดมาฝันกันใหม่ตั้งแต่ต้น นับตั้งแต่ว่าการศึกษาคืออะไรกันแน่, ปริญญาและประกาศนียบัตรหรือ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยควรมีบทบาทอย่างไรในโลกยุคปัจจุบัน, ที่เรียกว่าการสอนคืออะไร, ฯลฯ

ตำแหน่งของวัฒนธรรมราชสำนักในวัฒนธรรมไทย ควรเป็นหลักและแกนกลางของทั้งหมด หรือควรเป็นหนึ่งในความหลากหลายทั้งทางชนชั้นและชาติพันธุ์ในสังคมไทย, รัฐควรมีอำนาจในการกำกับวัฒนธรรมของพลเมืองแน่หรือ, ทำไมชาติจึงต้องมีวัฒนธรรมประจำชาติ, หากมี มันเกิดขึ้นเองตามธรรมดาหรือเพราะถูกสร้างขึ้น, ฯลฯ

 

คิดไปเถิดครับ ไม่ว่าจะแตะเรื่องอะไรในสังคมไทย ก็ล้วนจำเป็นต้องมีจินตนาการใหม่ทั้งสิ้น เพราะที่เป็นอยู่มันไม่ตอบสนองต่อเงื่อนไขที่เป็นจริงในสังคมเสียแล้ว เช่นเรามีกองทัพที่ใหญ่มากในช่วงเวลาที่มองไปทางไหนก็ไม่เห็นข้าศึกของชาติ ทำให้กองทัพคิดว่าเป็นงานของตนในการจัดการความสงบภายใน แต่กองทัพก็ไม่ได้ถูกฝึกให้ทำอย่างนั้นเป็น ทำให้ต้องสร้างข้าศึกจากคนภายในขึ้นจำนวนมาก เพื่อให้กองทัพสามารถใช้วิธีการที่กองทัพทำเป็นกับคนเหล่านั้นได้

เรามีสวนสาธารณะที่กั้นรั้วไว้ไม่ให้คนเข้า มีขนส่งทางรางที่ไม่เชื่อมต่อกัน มีถนนไว้ให้รถติดเป็นแพ มีคนอ่านหนังสือออกจำนวนมากที่ไม่มีอะไรให้อ่าน มีเครื่องบินโดยสารไว้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ฯลฯ สังคมไทยตกอยู่ในสภาพที่แก้ไขอะไรไม่ได้ นอกจากใช้ความเด็ดขาดรุนแรงห้ามปราม คนไทยทุกคนจึงเหมือนเด็กในโรงเรียนดัดสันดาน ไม่รู้จักว่าแรงจูงใจคืออะไร เพราะไม่เคยพบ รู้จักแต่การถูกลงโทษ เพราะทำผิดระเบียบ แต่ไม่รู้ว่าระเบียบนั้นมีไว้ทำไม นอกจากเพื่อให้ตนสยบยอมให้เห็น

ไม่มีอะไรสำคัญแก่สังคมไทยในปัจจุบันยิ่งไปกว่าจินตนาการใหม่

จินตนาการใหม่เกิดมีชีวิตขึ้นได้ ก็เพราะมีเสรีภาพให้หายใจ และเพาะเลี้ยง แน่นอนเสรีภาพอาจทำให้เกิดการฝ่าฝืนระเบียบ และความวุ่นวายชั่วครั้ง แต่ความวุ่นวายนั้นจะไม่สูญเปล่าหากสังคมมีเสรีภาพ เพราะทุกฝ่ายจะจินตนาการถึงระเบียบใหม่ ที่ไม่ต้องใช้กำลังบังคับมากนัก และตอบสนองต่อความจำเป็นในชีวิตของแต่ละคนมากกว่า การทำตามระเบียบจึงให้ผลตอบแทน – ทั้งทางวัตถุและจิตใจ – มากกว่าการฝ่าฝืนระเบียบ

ในสังคมที่อนุญาตให้มีเสรีภาพได้ในวงจำกัดของคนส่วนน้อย ยากที่จะเกิดจินตนาการใหม่ ถึงเกิดมีขึ้น ก็หาได้แก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ไม่ คงไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างว่า จินตนาการใหม่ต่อนโยบายสาธารณะด้านต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้เผด็จการ คสช. ตอบปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้หรือไม่ เพียงไร ไม่ว่าจะเป็นการทวงคืนผืนป่า, เขตเศรษฐกิจพิเศษ, ความปรองดอง, ฯลฯ