วงค์ ตาวัน : “คนดี” เมากัญชา

วงค์ ตาวัน

การปลดล็อกกัญชาและกระท่อมให้สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และใช้รักษาโรคภายใต้การควบคุมและดูแลทางการแพทย์ได้เป็นกระแสที่มาแรงในสังคมไทยช่วงระยะนี้ จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้มีมติเห็นชอบในวาระ 3 ผ่านร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ที่มีสาระสนองเรื่องกัญชา-กระท่อมดังกล่าวโดยตรง

ความที่วันซึ่ง พ.ร.บ.กัญชาผ่าน สนช.สำเร็จเสร็จสิ้นดังกล่าว ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม 2561

“องค์กรภาคประชาชนที่ติดตามศึกษาเรื่องนี้มาตลอดได้ให้ข้อสรุปว่า เรื่องนี้แทนที่จะเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน แต่กลับกลายเป็นของขวัญวันคริสต์มาสแก่บริษัทยาข้ามชาติเสียมากกว่า!!”

ช่วยกระตุกให้ทั่วทั้งสังคมหันมาสนใจในรายละเอียดว่า พ.ร.บ.ปลดล็อกกัญชา-กระท่อมฉบับนี้ มีปมประเด็นที่มีปัญหามากกว่าจะเกิดประโยชน์หรือไม่ อย่างไร

เป็นคำถามที่น่าสนใจค้นหาอย่างยิ่ง

ถ้าหากติดตามข้อมูลข้อเสนอแนะขององค์กรภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิชีววิถีไบโอไทย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอช) สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัน หรือกลุ่มองค์กรด้านเกษตรต่างๆ

จะพบว่าได้มีการทักท้วงในประเด็น หากคำขอสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำนวน 10 สิทธิบัตรยังไม่ถูกยกเลิก หากสิทธิบัตรของต่างชาติได้รับการจดทะเบียน

“บริษัทยาของต่างชาติจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนายาจากกัญชา ทั้งจากการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาจากกัญชาในประเทศไทย แทนที่จะเป็นประชาชนในประเทศซึ่งได้เคยพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกัญชาเป็นยารักษาโรคมาอย่างยาวนาน”

แต่ดูเหมือนภาครัฐเองกลับไม่มีความชัดเจนในข้อเรียกร้องนี้

แถม สนช.กลุ่มหนึ่งก็เร่งผลักดัน พ.ร.บ.ปลดล็อกกัญชาและกระท่อมดังกล่าวออกมาอย่างรวดเร็วสายฟ้าแลบ

ดังนั้น แรงต่อต้านจากฝ่ายที่หวั่นเกรงในด้านผลประโยชน์ของบริษัทยาต่างชาติ จึงพากันออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก หลัง สนช.ผ่าน พ.ร.บ.นี้ออกมา

“แต่ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวภายใน สนช.เอง ในการนำเสนอข้อมูลให้กับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.โดยตรง!”

ทั้งในด้านสาระของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ยังพบว่ามีช่องโหว่ และมีเสียงคัดค้านจากองค์กรภาคประชาชน

ทั้งในแง่ความแปลกประหลาดของขั้นตอนการผลักดันกฎหมายภายใน สนช.เอง

จึงเกิดทางออกที่สำคัญ นั่นคือ จะมีการชะลอ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับปลดล็อกกัญชาและกระท่อมนี้เอาไว้ก่อน

ขณะที่ใน สนช.เองกำลังพิจารณากฎหมายยาเสพติดฉบับที่ครอบคลุมสมบูรณ์แบบกว่า ซึ่งเริ่มต้นทำมาก่อนหน้านี้แล้ว

เมื่อกฎหมายหลักฉบับนี้ผ่านการพิจารณาเสร็จสิ้น 3 วาระ มีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้ พ.ร.บ.กัญชาเจ้าปัญหาสิ้นสภาพไปโดยปริยาย

เป็นอันว่า หลังจาก พ.ร.บ.ปลดล็อกกัญชาผ่านความเห็นชอบในวาระ 3 จาก สนช.แล้ว จากนั้นกระบวนการผลักดันเพื่อประกาศเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้กลับสะดุดลง ตอนนี้ค้างเติ่งอยู่ในมือนายพรเพชร วิชิตชลชัย

เมื่อมีข้อมูลอีกด้านว่า ในชั้น สนช.เองก็กำลังพิจารณา”ประมวลกฎหมายยาเสพติด” จำนวน 3 ฉบับ อยู่ในการพิจารณาวาระ 2 หรือชั้นกรรมาธิการปรับแก้ไขร่างเดิมที่รัฐบาลส่งมาอยู่ โดยเป็นการพิจารณาลักษณะปฏิรูปกฎหมาย ควบรวมกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดในประเทศไทยที่มีอยู่ 7 ฉบับ ทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกัน

“ประธาน สนช.จึงเห็นควรให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.กัญชาไว้พลางๆ ก่อน เพื่อรอบทสรุปการพิจารณาประมวลกฎหมายยาเสพติด”

โดยเมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักมีผลบังคับใช้ ก็จะส่งผลให้กฎหมายยาเสพติดที่มีอยู่เดิมถูกยกเลิกไป หนึ่งในนั้นก็คือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ที่นำมาแก้ไขปรับปรุงใหม่กลายเป็น พ.ร.บ.กัญชานี้ด้วย

ในทางปฏิบัติแสดงให้เห็นปัญหาภายใน สนช. ที่ปล่อยให้กฎหมายย่อย แซงคิวกฎหมายใหญ่ ที่รู้ทั้งรู้ว่าจะออกมาในไม่ช้า และจะส่งผลให้กฎหมายย่อย หมดสภาพไปในที่สุด

“ทั้งที่กระบวนการของผู้รับผิดชอบวาระใน สนช.เอง น่าจะรู้ว่ามี”ประมวลกฎหมายยาเสพติด”ค้างอยู่!”

แต่ในช่วงโค้งสุดท้ายที่ สนช.มีกฎหมายเข้าพิจารณามาก และท่ามกลางกระแสเรียกร้องปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ของภาคประชาชน จู่ๆ มี สนช.จำนวนหนึ่งร่วมเสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชาดังกล่าว ใช้เวลาเพียง 2 เดือน ยกร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาแซงคิวประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่พิจารณากันมานานกว่า 2 ปีเศษในชั้น สนช.

นอกเหนือจากความซ้ำซ้อนของกระบวนการร่างกฎหมายแล้ว อีกประเด็นก็คือ เนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.กัญชา เมื่อศึกษาในรายละเอียดจะพบว่า บางช่วงบางตอนที่เขียนอย่างไม่รัดกุม อาจจะเอื้อต่อการคลายล็อก “ฝิ่น” พ่วงไปกับ “กัญชาและกระท่อม” อีกด้วย

“รวมทั้งมีการเพิ่มสาระสำคัญ “นิรโทษกรรมย้อนหลัง” ให้กับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการครอบครองกัญชาเพื่อศึกษาวิจัย ก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับ เท่ากับนิรโทษฯ ให้กับผู้ที่ครอบครองเริ่มงานวิจัยไปก่อนกฎหมายมีผลบังคับ”

สอดรับกับคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่ในระบบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่เรียกร้องให้เพิกถอนกันมาตลอด แต่กระทรวงพาณิชย์ยังนิ่งเฉย

ในขณะที่ยังไม่เพิกถอนคำขอสิทธิบัตรออกจากระบบ ก็ปล่อยให้มีการผลักดันกฎหมาย ที่หากมีผลแล้วก็จะเกิดผลได้กับบริษัทต่างชาติเจ้าของคำขอสิทธิบัตรเหล่านั้นหรือไม่

อีกทั้งเวลานี้ ทั้งภาครัฐหรือภาคเอกชนไทยไม่มีผลวิจัยเป็นของตัวเองแต่อย่างใด เมื่อกฎหมายคลายล็อกมีผล ก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีในการทำผลวิจัยขึ้นมาเพื่อประกอบการขออนุญาตใช้ในทางการแพทย์

จึงเสียเปรียบบริษัทต่างชาติ ที่มีผลวิจัยรองรับอยู่แล้ว!?!

เมื่อมีทางออกที่ดีคือ เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลบังคับ จะส่งผลให้ พ.ร.บ.กัญชา-กระท่อม ฉบับที่ สนช.เพิ่งทำคลอดไปจะสิ้นสภาพไปโดยปริยาย แต่อดสงสัยกันไม่ได้ว่า การเร่งรีบผลักดันร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กระท่อม โดยพิจารณาเพียงแค่ 2 เดือนมีผลบังคับใช้ จะเท่ากับเป็นการเปิดช่องอะไรให้กับใครหรือไม่

“แม้แต่องค์การเภสัชกรรมที่กำลังตระเตรียมการในเรื่องนี้ ยังอาจจะหมดโอกาสไปด้วย เพราะมีคำขอสิทธิบัตรของบริษัทนอกต่างชาติรออยู่ในระบบ”

แน่นอนว่าการปลดล็อกกัญชา-กระท่อมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นความหวังของสังคมไทย แต่ถ้าไม่รอบคอบ หรือทำแล้วไปเข้าทางต่างชาติ เช่นนี้สมควรหรือไม่

ก็จะเป็นดังข้อสังเกตของไบโอไทยที่ว่า หากสิทธิบัตรของต่างชาติได้รับการจดทะเบียน บริษัทยาของต่างชาติจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนายาจากกัญชา ทั้งจากการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาจากกัญชาในประเทศไทย แทนที่จะเป็นประชาชนในประเทศซึ่งได้เคยพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกัญชาเป็นยารักษาโรคมาอย่างยาวนาน

“วันนี้จึงเต็มไปด้วยข้อเปรียบเปรยด้วยความห่วงใยที่ว่า อย่าเตะหมูเข้าปากหมา อย่าเล่นกล อย่าเป็นการเสียค่าโง่!!”

ทั้งยังเป็นอีกกรณีที่สังคมเริ่มตั้งข้อสังเกตและเริ่มสอดส่อง กลุ่มคนที่เอ่ยอ้างว่าเป็นกลุ่มคนดี เกลียดนักการเมืองขี้โกง ลงเอยคือเกลียดระบบเลือกตั้งและประชาธิปไตยนั้น

จริงแล้วควรเชื่อใน “คน” หรือ “ระบบ” มากกว่า

ระบบไหนกันแน่ที่ตรวจสอบได้มากกว่า และรักษาผลประโยชน์ของสังคมไทยได้มากกว่ากัน!