คุยกับทูตมาเลเซีย กับความเสี่ยงที่สุดของชีวิต-ครอบครัว ในเหตุการณ์ระทึก! ทิ้งระเบิดอิรักไล่ซัดดัม

คุยกับทูต ดาโต๊ะโจจี แซมูเอล สองเพื่อนบ้านไทย-มาเลย์ ต้นแบบอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข (1)

ในช่วงเวลามากกว่า 25 ปีที่ร่วมงานกับกระทรวงต่างประเทศมาเลเซีย

ดาโต๊ะโจจี แซมูเอล (Dato” Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตประเทศมาเลเซียซึ่งมาประจำประเทศไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีก่อนได้ดำรงตำแหน่งสำคัญมาแล้วทั้งในประเทศแคนาดา อิรัก ตุรกี ออสเตรีย และคิวบา

รวมถึงสำนักงานใหญ่ กระทรวงต่างประเทศมาเลเซีย นครปุตราจายา

และด้วยหน้าที่การงานทำให้เดินทางเข้ามาประเทศไทยหลายครั้ง โดยส่วนใหญ่เข้าร่วมการประชุมในวาระสำคัญต่างๆ

“มาเลเซียมีสถานทูตทุกประเทศในอาเซียน ดังนั้น ผมจึงเป็นเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยเท่านั้น โดยมีวาระสามหรือสี่ปี”

“เหตุที่ผมสนใจทำงานในกระทรวงต่างประเทศ สืบเนื่องมาจากตอนเรียนมหาวิทยาลัยได้เลือกหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาซึ่งมีข้อกำหนดอย่างหนึ่งคือ ต้องเรียนภาษาต่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเวลานั้นมีภาษาตากาล็อกของประเทศฟิลิปปินส์ ภาษาไทย และภาษาพม่า จะมีความยากง่ายอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่เราจำเป็นต้องเลือก ผมต้องการเลือกภาษาตากาล็อกหรือภาษาไทย แต่มีผู้ลงเรียนเต็มหมดแล้ว เพราะผมลงทะเบียนเข้าเรียนช้า”

“ดังนั้น ผมจึงต้องเรียนภาษาพม่า”

“นอกจากต้องเลือกเรียนภาษาใดภาษาหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ทุกๆ ปีเรายังต้องไปทัศนศึกษายังประเทศใดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเกิดมีความสนใจในด้านกิจการต่างประเทศ”

“ขณะที่กำลังศึกษาชั้นปีที่สามในมหาวิทยาลัย ผมไปประเทศฟิลิปปินส์ ภายหลังจึงจัดทริปไปเมียนมาและเรียนภาษาเป็นเวลา 2 ปี จนผมสามารถพูดภาษาพม่าหรือภาษาเมียนมาได้ มาถึงตอนนี้ก็ผ่านมานานแล้วไม่มีโอกาสได้ฝึกฝน แต่จากการที่เดินทางไปต่างประเทศ ได้พบปะรู้จักผู้คนมากหน้าหลายตาในดินแดนใหม่ๆ ทำให้เกิดความสนใจใคร่เรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางที่ผมจะสามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ ผมจึงตัดสินใจเข้าร่วมงานในกระทรวงต่างประเทศ”

“พอถึงปี ค.ศ.1995 ก็ได้รับมอบหมายให้ไปประจำในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา ซึ่งใครๆ ก็สนใจอยากจะไป ช่วงที่ผมไปนั้นอากาศหนาวมาก ผมอยู่ที่นั่น 2 ปีครึ่ง”

“หลังจากนั้น ประหนึ่งหมุนตัวกลับ 180 องศา ผมย้ายไปประจำอิรักเป็นประเทศต่อไปเมื่อปี ค.ศ.1998 ในเวลานั้นไม่มีใครต้องการไปอิรัก ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามอ่าวครั้งแรก (First Gulf War) เมื่อซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ยังอยู่ในอำนาจและประเทศอิรักตกอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรของสหประชาชาติ ผมและครอบครัวอยู่ที่อิรักระหว่างมีระเบิดลง”

ประธานาธิบดีคลินตันได้ลงนามใน “การใช้กำลังปลดปล่อยอิรัก” (Iraq Liberation Act) การลงนามครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากยูเอ็นในการตรวจสอบอาวุธของอิรัก หนึ่งเดือนหลังจากนั้น สหรัฐและอังกฤษก็ได้เริ่มการรณรงค์ด้วยการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ (bombardment campaign) มีอิรักเป็นเป้าหมาย ระหว่างวันที่ 16-19 ธันวาคม ค.ศ.1998 หรือที่เรียกกันว่า ยุทธการจิ้งจอกทะเลทราย (Operation Desert Fox)

โดยอ้างว่าการทิ้งระเบิดครั้งนี้มีเหตุผลอันชอบธรรม ในการกดดันและขับไล่รัฐบาลของซัดดัม และทำลายโครงการสร้างอาวุธเคมี ชีวภาพ และ นิวเคลียร์

เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐคาดว่าการทิ้งระเบิดครั้งนี้จะทำให้อำนาจของซัดดัมอ่อนแอลง

“ในเวลานั้นมีผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติไปอยู่ที่นั่นเพื่อทำการตรวจสอบ แต่ก็ผิดหวัง เพราะได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลซัดดัม” ท่านทูตโจจี แซมูเอล เล่าถึงเหตุการณ์ระทึกขวัญต่อไปว่า

“ผมทำงานที่สถานทูตมาเลเซียในกรุงแบกแดด เราพักอยู่ใกล้กับสถานที่ที่ถูกระเบิด เมื่อเริ่มมีการทิ้งระเบิด เราได้เห็น เราได้ยินเสียงระเบิดที่ดังสนั่นหวั่นไหว เราได้รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนภายในสถานทูต หลังคาบ้าน อาคารส่วนใหญ่จะกองแบนราบอยู่ตรงนั้น”

“ผมจำได้ว่า ได้เห็นขีปนาวุธร่อนนำวิถีระยะไกล ความเร็วต่ำกว่าเสียง (Tomahawk) จากทีวีดาวเทียม และเมื่อผมขึ้นไปที่ดาดฟ้าของอาคารสถานทูตเพื่อสังเกตการณ์ ก็ได้เห็นแสงสว่างในท้องฟ้ากว้างไกลที่เกิดจากการระเบิด”

“นับเป็นประสบการณ์ของการเรียนรู้อย่างหนึ่งในสภาวะที่ยากลำบาก ผมเชื่อว่าหากความท้าทายใดๆ จะเกิดขึ้นอีก เราก็จะสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ในที่สุด ภรรยาผมไม่เคยหวาดกลัว เธอคอยดูแลลูกๆ ของเราเป็นอย่างดี และผมถือว่าเป็นภาระหน้าที่ของนักการทูต แม้ว่าจะเป็นความท้าทายอย่างมากที่สุดก็ตาม ในวันรุ่งขึ้นเราอพยพครอบครัวทั้งหมดออกจากสถานทูต เหลือแต่บุคลากรสำคัญที่ยังคงกลับไปประจำที่นั่นซึ่งรวมทั้งตัวผมด้วย”

“ในคืนแรก ลูกระเบิดลงหลังเที่ยงคืน เราได้รับการเตือนล่วงหน้าเพียงครึ่งชั่วโมง จึงพากันไปพักที่เซฟเฮาส์และเข้าไปเก็บข้าวของในวันต่อมา ไม่มีชาวมาเลย์เสียชีวิต และผมยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพราะทราบมาว่าเหล่านักการทูตไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมาย พวกเขากำหนดเป้าหมายที่กลุ่มอื่น เป็นความโชคดีสำหรับเรา เพราะเขาทิ้งระเบิดเฉพาะสถานที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ เช่น กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ”

“เรื่องที่น่าสนใจคือ ลูกสาวสองคนของผมซึ่งตอนนั้นคนโตอายุเพียง 5 ขวบ และคนเล็กอายุ 3 ขวบ กลับมีความเคยชินและสามารถเตรียมพร้อมต่อเหตุการณ์นี้ คนน้องจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่คนพี่นั้นสามารถจดจำและรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไป เพราะมีระเบิดลงต่อมาอีกสามคืน จากนั้นก็หยุด เนื่องจากบรรลุเป้าหมายแล้ว”

“นี่คือความท้าทายที่สุดสำหรับชีวิตครอบครัวนักการทูตของผม”

“อย่างไรก็ตาม แม้อิรักจะเป็นประเทศที่มีปัญหามากมาย แต่ในความเป็นจริง อิรักเป็นประเทศที่ปลอดภัยจริงๆ เพราะในเวลานั้น ซัดดัม ฮุสเซน เป็นประธานาธิบดีอิรัก ปกครองประเทศด้วยการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้น ความปลอดภัยจึงมีสูงมาก และเราไม่มีปัญหาในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ”

“ปัจจุบันมาเลเซียไม่มีสถานทูตที่อิรัก ผมจำได้ว่าในช่วงที่ผมไปประจำที่นั่น ประเทศไทยก็ไม่มีเอกอัครราชทูต นอกจากนี้ การมีเขตห้ามบินในพรมแดนอิรัก (Iraqi no-fly zones) ทำให้เราต้องไปประเทศจอร์แดนหากต้องการทำธุรกรรมทางธนาคาร ซึ่งเป็นความท้าทายอีกเรื่องหนึ่ง คือต้องเดินทางโดยรถไปตามถนนไกลถึงหนึ่งพันกิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 13 ชั่วโมง”

“เมื่อปี ค.ศ.2011-2014 ผมรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตครั้งแรกและไปประจำประเทศคิวบา ซึ่งเป็นช่วงที่คิวบากำลังประสบกับความยากลำบากเนื่องจากถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา เมื่อไปตลาดและไม่สามารถค้นหารายการอาหารหรือรายการอื่นๆ ตามที่ต้องการได้ แค่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ก็จะไม่มีการอดอาหาร เพราะอย่างไรก็ตาม อาหารยังเป็นสิ่งที่สามารถหาได้ เพียงแต่อาจไม่ได้สิ่งที่ต้องการมากที่สุดเท่านั้น”

มาเลเซียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบา ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในทะเลแคริบเบียนเมื่อปี ค.ศ.1975 โดยทั้งสองประเทศนี้อยู่ในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM : Non-Aligned Movement), กลุ่ม 77 (Group of 77) และสหประชาชาติ (UN)

“หลายคนมีความเข้าใจว่าคิวบาไม่ปลอดภัย ในความเป็นจริงคิวบาเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยมากเพราะประเทศขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ คุณจะได้กลับไปสู่โลกยุคเก่าเมื่อ 50 ปีก่อน แม้จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 20-25 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวมักจะไปที่ฮาวานา ผู้คนที่นี่ชอบการเต้นรำและสูบซิการ์ที่มีกลิ่นหอมของใบยา คิวบาเป็นหนึ่งในประเทศที่ผมเคยไปประจำ ผมจึงมักจะแนะนำให้ทุกคนหาโอกาสไปเยือนและเข้าถึงวัฒนธรรมของชาวคิวบา”

ท่านทูตดาโต๊ะโจจี แซมูเอล ให้ความเห็นว่า

“อย่างไรก็ตาม ภารกิจในอิรักจัดเป็นความท้าทายมากที่สุด แต่ก็น่าสนใจที่สุด ผมเชื่อว่างานทุกตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ต่างมีเสน่ห์ที่น่าสนใจในตัวของมันเองทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่จะมีความสามารถมองเห็นหรือไม่ รวมถึงการรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างกันด้วย”

“ประสบการณ์ที่ผมได้รับจากการไปประจำยังต่างแดน ได้สอนผมมากมาย ผมยังจดจำรำลึกและให้ความสำคัญกับประสบการณ์เหล่านั้นตลอดมาตราบเท่าทุกวันนี้”