วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/ ตัวพิมพ์ : หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (1) หนังสือพิมพ์ : จากคณะสู่ค่าย

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ตัวพิมพ์ : หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (1)

หนังสือพิมพ์ : จากคณะสู่ค่าย

 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้จะมีสื่อใหม่หลายอย่าง เช่น ภาพยนตร์ แผ่นเสียง วิทยุ โทรทัศน์

แต่สิ่งพิมพ์ซึ่งเข้ามาสู่สยามได้ราวร้อยปีแล้ว ยังคงเป็น “สื่อหลัก” ของสังคม และพัฒนาตนเองด้วยการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็น “แพลตฟอร์มใหม่” ทั้งในแง่เนื้อหา การผลิต และสายส่ง

ก่อนสงคราม การรวมตัวกันเป็น “คณะ” ของกลุ่มนักเขียนและนักข่าวเป็นไปแบบหลวมๆ แต่หลังสงคราม มีการรวมตัวกันในฐานะ “ค่ายหนังสือพิมพ์” ซึ่งหมายถึงการสังกัดกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองต่างๆ อย่างแน่นอนมากขึ้น หนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับมีค่ายการเมืองที่สังกัดอย่างชัดเจน เช่น ค่ายสี่เสาหรือค่ายราชครู ซึ่งหมายถึงฝ่ายทหารหรือตำรวจ

ค่ายที่เติบโตมากที่สุดของช่วงนี้คือ ไทยพณิชยการ ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2489 เจ้าของคือนายอารีย์ ลีวีระ ผู้รวบรวมทุนซื้อกิจการโรงพิมพ์ของบริษัทไทยพณิชยการ ของพระยาปรีชานุสาสน์ และมีสำนักงานอยู่ที่ถนนสีลม สำนักพิมพ์นี้ออกหนังสือพิมพ์รายวัน เช่น สยามนิกร และพิมพ์ไทย มีนิตยสารในเครืออีกหลายฉบับ

ในการนี้ พิมพ์ไทยได้สร้างสิ่งใหม่ของวงการ เช่น ออก “กรอบเช้า” หรือวางตลาดตอนเช้าฉบับแรก, แต่งตั้งผู้สื่อข่าวต่างจังหวัด (ข.ต.ว.) และให้นักข่าวใช้ชวเลขจดข่าว

ในเวลาไม่กี่ปี ไทยพณิชยการกลายเป็นค่ายหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ค่ายอื่นๆ เช่น สยามรัฐ เดลินิวส์ ข่าวภาพ The Bangkok Post สตรีสาร และบางกอก ซึ่งจะกลายเป็นหนังสือพิมพ์ใหญ่ในช่วงต่อไปก็เริ่มต้นขึ้นในช่วงนี้

สยามรัฐซึ่งออกเผยแพร่ฉบับแรกในปี พ.ศ.2493 และมีสำนักงานอยู่ที่ถนนราชดำเนินใน เป็นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งแสดงบทบาทเสรีนิยมสลับกับอนุรักษนิยม และมีลีลาในการประท้วงรัฐบาล

เช่น เมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึกภายหลังกบฏแมนฮัตตัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช งดเขียนคอลัมน์และบทความทั้งหมด ลดจำนวนหน้า และเนื้อข่าวบริเวณใดที่ถูกตัดข้อความก็จะเว้นช่องว่างเพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าถูกตัดข้อความ

จนกระทั่งรัฐบาลเลิกเซ็นเซอร์และเลิกกฎอัยการศึกแล้ว หนังสือพิมพ์จึงเลิกประท้วงและกลับสู่วิธีการนำเสนอในรูปแบบเดิม

ในขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์และนิตยสารเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น แต่ก็มี “ดราม่า” หรือเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของผู้อ่าน

แม้แต่พิมพ์ไทยซึ่งมีชื่อเสียงจากการออกความเห็นทางการเมือง ในระยะหลังก็หันมาเน้นข่าวอาชญากรรมมากขึ้น

สิ่งพิมพ์มุ่งไปสู่การเป็นสินค้า ส่วนผู้อ่านมุ่งไปสู่การมีบทบาทเป็นผู้บริโภคมากขึ้น

 

หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นยุคกำเนิดของสำนักพิมพ์ใหม่ หนังสือที่เติบโตเร็วคือตำรา ความรู้ แต่ที่รุ่งเรืองมากกว่าคือประเภทบันเทิงเริงรมย์ นิยายในรูปหนังสือปกอ่อนราคาถูก หรือที่ต่อมาถูกเรียกว่านิยายน้ำเน่า เช่น บ้านทรายทอง ขายดีจนกลายเป็นละครเวที ส่วนนิยายชุดสามเกลอ ของ ป. อินทรปาลิต เข้าสู่ยุคที่โด่งดังที่สุด

เพลินจิตต์ ซึ่งก่อนสงครามเรียกตัวเองว่าคณะ แต่หลังสงครามเปลี่ยนฐานะมาเป็น “สำนักพิมพ์จำหน่าย” ได้ผลิตนิยายในรูปหนังสือปกอ่อนออกมาสู่ตลาดและขายดีมาก

ในช่วงต่อมาสำนักพิมพ์นี้ยังได้ริเริ่มพิมพ์นิยายจีนกำลังภายในซึ่งก็ขายดีเช่นกัน

นอกจากนั้น ยังมีหนังสือพิมพ์รายวันและวารสารรายสัปดาห์ในค่ายอีกนับสิบฉบับ นักเขียนชื่อดัง เช่น ป. อินทรปาลิต, เลียว ศรีเสวก, พนมเทียน และนักเขียนอีกหลายคน ทำงานหน้าที่ทั้งกองบรรณาธิการและนักเขียนประจำ

สำนักพิมพ์ใหญ่ที่จะมีบทบาทในช่วงต่อไป เช่น ไทยวัฒนาพานิช และคุรุสภา รวมทั้งเขษมบรรณกิจ ผดุงศึกษา โอเดียนสโตร์ แพร่พิทยา ฯลฯ ก็ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงนี้

ไทยพณิชยการขยายตัวจนกลายเป็นอาณาจักรสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่ มีการริเริ่มใช้ผู้สื่อข่าวต่างจังหวัดและตั้งตัวแทนจำหน่ายหรือเอเย่นต์ทั่วประเทศ

พิมพ์ไทยให้ความสำคัญกับตลาดต่างจังหวัด หรือทำให้สิ่งพิมพ์ไปถึงมือคนอ่านมากขึ้น

ค่ายและสำนักพิมพ์อื่นๆ ได้สร้างระบบสายส่งขึ้นมาเช่นเดียวกัน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สื่อใหม่ เช่น “ข่าวภาพ” และ “เสียงอ่างทอง” นำไปพัฒนา และในที่สุดก็ก้าวขึ้นมาแทนที่ในรูปของหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ในช่วงต่อไป

 

การพิมพ์ : จากกรุงเทพฯ สู่ต่างจังหวัด

 

เรื่องของการพิมพ์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งใช้แท่นพิมพ์แบบฉับแกะ ปรากฏในนิยายหลายเล่ม เช่น “แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย” ของศรีบูรพา หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งลงในนิตยสารปิยมิตร ราวปี พ.ศ.2498 พูดถึงเซ้ง เพื่อนของจันทา โนนดินแดง ผู้เป็นลูกจีนที่เกิดในสยาม ซึ่งเมื่อโตเป็นหนุ่มได้กลายเป็นนักหนังสือพิมพ์

ศรีบูรพาเริ่มต้นบทที่สอง ขณะที่เซ้งอยู่ในสำนักงานและโรงพิมพ์ของ “ประชามติ” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในกรุงเทพฯ

และข่าวด่วนที่เขากำลังรอคอยคือข่าวกรณีตั้งบรรดาศักดิ์ของรัฐบาล :

“ขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายสามโมงครึ่งแล้ว ข่าวทุกชิ้นที่จะพิมพ์ในวันนั้นได้ผ่านจากห้องข่าวไปแบอยู่บนเคสเบื้องหน้าช่างเรียงหมดแล้ว และใบปรู๊ฟยาวสำหรับที่จะใช้เข้าหน้าก็ถูกส่งทยอยไปที่โต๊ะหัวหน้าข่าว พร้อมด้วยแป้งเปียกหนึ่งห่อสำหรับใช้ปะปรู๊ฟยาวในการเข้าหน้า และหัวหน้าข่าวก็สำรวจดูหัวข่าวสำคัญๆ เตรียมการเข้าหน้า เพื่อที่หนังสือพิมพ์จะได้ออกสู่ตลาดภายในหกโมงเย็น งานเขียนประจำของเซ้งเสร็จแล้ว เขากำลังตรวจปรู๊ฟและเตรียมต้นฉบับหน้าของหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น

ทันใดนั้น เขาได้ยินใครคนหนึ่งในห้องข่าวร้อง “ไชโย” ด้วยเสียงแหลม ต่อมาก็มีเสียงพูดจากันด้วยความตื่นเต้นระคนกับเฮฮา หลังจากนั้นหัวหน้าข่าวได้เดินอย่างรวดเร็ว ผ่านหน้าห้องเขาไปและตรงไปทางห้องบรรณาธิการ ภายในเวลาไม่เกินสองนาที เขากลับออกมา และคราวนี้ เขาวิ่งผ่านห้องเซ้ง และร้องตะโกนลงไปยังห้องเรียงชั้นล่าง “รอข่าวด่วน!”

นิยายได้บรรยายระบบการทำงานในโรงพิมพ์ไว้อย่างละเอียด แม้จะเป็นเรื่องของการพิมพ์ในช่วงก่อนสงคราม

แต่ก็สะท้อนให้เห็นสถานภาพของหนังสือพิมพ์ไทยและบทบาทของแท่นพิมพ์ฉับแกระในช่วงหลังสงครามได้ดี