มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส/ การแปรเปลี่ยนของบ้านเมือง

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

การแปรเปลี่ยนของบ้านเมือง

 

ช่วงเวลาไม่ถึงร้อยปี ที่มีความพยายามสร้างกระแสชาตินิยมตามคติตะวันตก จึงเริ่มเรียกขานดินแดนแห่งนี้ว่า ประเทศไทย

เช่นเดียวกับให้คำว่า คนไทย หมายรวมถึงผู้คนที่พำนักในพื้นที่ ประกอบด้วย คนพื้นถิ่น ทั้งสยามหรือเสียม เขมร มอญ พม่า ไท ลาว ฯลฯ และคนต่างถิ่น ทั้งจีน แขก แขกขาว ฝรั่ง ฯลฯ รวมทั้งการผสมปนเปออกลูกออกหลาน จนไม่รู้จักเรียกขานอย่างไร

ด้วยทำเลตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ผู้คนจึงสั่งสมประสบการณ์มาแต่อดีต สร้างบ้านและสร้างเมืองต่อเนื่องกันมา อาศัยวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่และแรงงานด้วยกันเอง เพื่อป้องกันภัยจากธรรมชาติ สัตว์ร้าย และกองกำลังของชนกลุ่มอื่น

เกิดเป็นองค์ความรู้ในการก่อสร้าง และแบบแผนทางสถาปัตยกรรม ที่เป็นไปตามสภาพที่ตั้ง สภาพแวดล้อม และช่วงเวลา จนกลายมาเป็นอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่

ไม่ว่าจะเป็นเรือนล้านนา บ้านริมน้ำ หรือกระท่อมชาวเล

ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน ที่ชื่อนั้นบ่งชี้ถึงสองอารยธรรมโบราณคืออินเดียกับจีน ที่แผ่อิทธิพลมาในพื้นที่ ผ่านการผสมผสานคติความเชื่อ ผีเจ้าดั้งเดิม กับศาสนาพุทธและพราหมณ์ เข้ากับวิธีดำเนินชีวิตแบบขงจื้อ เกิดเป็นวิถีพุทธที่แปลกต่างออกไป

โดยเฉพาะการนำผีบ้านผีเรือนและเจ้าที่เข้าไว้ในพิธีสงฆ์

พร้อมกับการบูชาเทพเทวดาองค์ต่างๆ ในด้านการปกครอง จากเดิมที่เรียกขานผู้นำว่าพ่อ เช่น พ่อขุนรามคำแหง มาเป็น พระเจ้าแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ และพระรามาธิบดีที่หนึ่ง

 

ส่วนรูปแบบสถาปัตยกรรมของศาสนสถานและพระราชฐาน ได้พัฒนาขึ้นมาจากแบบแผนสถาปัตยกรรมเจดีย์อิฐของพุกามในพม่า และปราสาทหินของขอมในเขมร โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบและขนาดให้เหมาะกับวัสดุก่อสร้าง แรงงาน และกำลังไพร่พล จนเกิดเป็นแบบแผนเฉพาะขึ้นมา ปรากฏเป็นพระเจดีย์ พระปรางค์ มณฑป วิหาร และอุโบสถ ที่เห็นในปัจจุบัน

รวมทั้งวัด เจดีย์ และวัง ที่ตกทอดมาจากอดีต กลายเป็นมรดกสถาปัตยกรรม ที่ได้รับการอนุรักษ์ ในฐานะโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ และอาคารอนุรักษ์ โดยมีสถาปนิกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงเพียรสร้างงานสถาปัตยกรรมไทย ที่ยึดแบบแผนจากอดีต แต่สร้างด้วยวัสดุและเทคโนโลยีปัจจุบัน

เมื่อครั้งที่ประเทศมหาอำนาจในยุโรปออกล่าหาเมืองขึ้นในภูมิภาคนี้ เริ่มจากโปรตุเกส และสเปน ตามด้วยดัตช์ อังกฤษ และฝรั่งเศส จนถึงอเมริกา เริ่มจากการเผยแผ่ศาสนา การเสาะหาทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่น ไม้สัก เครื่องเทศ ดีบุก เป็นต้น และการขยายตลาดกระจายผลิตผลอุตสาหกรรม อย่างเช่น ผ้า แก้ว เครื่องเรือน เครื่องจักรกล เป็นต้นนั้น

มาเป็นการสร้างเครือข่ายทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ

ประเทศไทยแม้จะรอดพ้นจากการเข้าครอบครองโดยตรง

แต่สภาวะคุกคามดังกล่าวก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างมาก

 

หลายปีที่ผ่านมา หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทบวง กรม สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล กิจการสาธารณูปโภค ต่างเฉลิมฉลองวาระครบร้อยกว่าปีแห่งการสถาปนา ด้วยกิจการเหล่านั้นล้วนเพิ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระปรีชาสามารถปรับเปลี่ยนสยามประเทศให้สอดคล้องกับกระแสโลกตะวันตกในเวลานั้น

รวมถึงการเกษตรแผนใหม่ พร้อมทั้งระบบชลประทานและจัดรูปที่ดิน การพัฒนาบ้านเมืองสมัยใหม่ จากชุมชนริมน้ำ เป็นชุมชนบก โดยการสร้างถนน สะพาน ทางรถไฟ ประปา ไฟฟ้า สุขาภิบาล ฯลฯ รวมทั้งการสื่อสาร วิทยุ โทรศัพท์ ไปรษณีย์โทรเลข

รวมทั้งการก่อสร้างพระราชฐาน โรงเรียน ไปจนถึงอาคารบ้านเรือน โดยในตอนแรกมีการว่าจ้างสถาปนิกชาติต่างๆ จากยุโรป ได้แก่ อิตาเลียน ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ ฯลฯ และการนำเข้าวัสดุก่อสร้างและเทคโนโลยี ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เหล็ก กระจก กระเบื้องใยหิน หินอ่อน ฯลฯ

ส่งผลให้บ้านเมืองแปรเปลี่ยนไปอย่างมาก ด้วยมาจากแบบแผนสถาปัตยกรรมตะวันตกที่หลากหลาย จากฝีมือช่างที่มาจากทั่วสารทิศ ผนวกกับการปรับให้เข้ากับสภาพพื้นที่ อย่างเช่น หลังคาทรงชัน ระเบียงรอบอาคาร ใต้ถุนสูง เป็นต้น

ครั้นเมื่อคนไทยมีโอกาสไปเรียนการสร้างบ้านและการสร้างเมืองในต่างประเทศ เมื่อกลับมาก็เปิดโรงเรียนสอนออกแบบก่อสร้าง ในขณะที่สถาปัตยกรรมในตะวันตกกำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

สถาปนิกไทยในเวลานั้นจึงรับรูปแบบสถาปัตยกรรมและเมืองที่เรียบง่ายตรงไปตรงมา ผสมผสานกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม เช่น กระจก เหล็ก เป็นต้น

เกิดเป็นสถาปัตยกรรมยุคใหม่ ที่ยังคงเหลืออยู่ไม่น้อยในปัจจุบัน