จัตวา กลิ่นสุนทร : 65 ปี สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ “จุดเริ่มต้น”

“สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” แรกกำเนิดเป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายก (Tabloid Size) ปกหน้าเป็น 2 สี “ฟ้า+ดำ” เนื้อในพิมพ์ขาว-ดำทั้งเล่ม ตามสไตล์ของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในประเทศอังกฤษ ซึ่งศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านชื่นชอบ

ส่วนจำนวนหน้าและราคาหน้าปกกลับจำไม่ได้แน่ชัด แต่คิดว่าไม่เกิน 3 บาท เนื่องจากว่าหนังสือพิมพ์รายวันขณะนั้นราคา .50 บาท-1 บาทเท่านั้น

กล่าวไปแล้วในฉบับก่อนว่ามีคุณประหยัด ศ.นาคะนาท เป็นบรรณาธิการ รวมทั้งยอดฝีมือทั้งหลายซึ่งก็ได้เอ่ยบ้างแล้วเช่นกัน อาทิ คุณประมูล อุณหธูป นามปากกา “อุษณา เพลิงธรรม” เจ้าของผลงานจำนวนมาก เฉพาะที่โด่งดังอย่างยิ่งและกระทั่งได้ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ อย่างเช่น “จัน ดารา” ช่วยหนุนส่งผู้กำกับฯ ให้ดังระเบิด ดารามีชื่อเสียงยิ่งขึ้นในอาชีพบันเทิงยืนหยัดมาจนกระทั่งทุกวันนี้

คุณประมูล อุณหธูป (เสียชีวิต) เป็นผู้คัดเลือก “เรื่องสั้น” ของนักเขียนให้ได้ลงตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และหลายคนได้กลายเป็นนักเขียน นักประพันธ์ ที่มีชื่อเสียงต่อไปไม่น้อยเลยทีเดียว

จำได้แม่นยำเพราะเป็นอาจารย์ เป็นพี่ที่เคารพรักใกล้ตัวมากๆ เช่น “สุวรรณี สุคนธา” (สุคนเที่ยง)-(เสียชีวิต) นอกจากท่านจะผลักดันเรื่องผลงานให้ได้ปรากฏต่อสายตาผู้อ่านในสนามสำคัญแห่งนี้แล้ว ยังตั้งนามสกุลว่า “สุคนธา” ให้ด้วย

ต่อมาท่านได้มารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารรายเดือน “ชาวกรุง” (ปิดตัวเองไปนานมากแล้ว) ก่อนจะพ่ายแพ้เรื่องสุขภาพต้องทำงานอยู่กับบ้าน แล้วจากไปด้วยวัยอันสมควร

ส่วน (พี่) “นพพร บุณยฤทธิ์” (เสียชีวิต) เริ่มต้นจากนักข่าว ก็ได้มีโอกาสทิ้งผลงานไว้ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ จำนวนไม่น้อย

ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นบรรณาธิการ “สยามรัฐรายวัน” ในราวปี พ.ศ.2514

 

บอกแล้วว่าชอบที่จะเขียนเรื่องราวแต่หนหลังในค่าย “สยามรัฐ” ด้วยความทรงจำเก่าๆ โดยไม่ต้องเรียงลำดับเวลาอย่างเคร่งครัด เพราะขี้เกียจการค้นคว้าหาข้อมูลมาเขียนเพราะมันไม่ได้อารมณ์ เมื่อเวลาเดินทางมาถึงปีที่ชีวิตหักเหมีโอกาสได้เข้ามาร่วมงานกับสยามรัฐ จึงใช้ตัวเองเป็นตัวเดินเรื่องเก็บเรื่องราวมาเล่าขาน

เมื่อได้พบกับ “รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) ศิลปินแห่งชาติ (สาขาวรรณศิลป์) ในเวลาต่อมา ขณะนั้น “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร” เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกาแล้วพร้อมกับเกิดหนังสือขนาดกระเป๋า (Pocket- Book) ชุดที่เขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แสวงหาข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา ชื่อ “ใต้ถุนป่าคอนกรีต”

ยอดฝีมือเหล่านี้เป็นผู้ช่วยกันปั้น ช่วยกันสร้างให้ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และกลายเป็นหนังสือ “ฉบับเบ่ง” สมชื่อจริงๆ หากแต่ว่าจะไม่ค่อยเข้มเรื่อง “เศรษฐกิจ-การเมือง” สักเท่าไร เน้นหนักเรื่องสั้น เรื่องยาว สารคดี และคอลัมน์หยิกแกมหยอกแสบๆ คันๆ

แต่การ์ตูนนั้นต้องบอกว่าเป็นที่ 1 ทีเดียว เพราะท่านเป็นมือรางวัลระดับโลก คือคุณ “ประยูร จรรยาวงษ์”

 

เมื่อ “นพพร บุณยฤทธิ์” ก้าวสู่ตำแหน่งบรรณาธิการสยามรัฐรายวัน แทนคุณประจวบ ทองอุไร จึงถูกโยกไปเป็นบรรณาธิการสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ซึ่งเวลานั้นดูเหมือนว่ายอดฝีมือทั้งหลายเริ่มร่วงโรยหดหาย ไม่ก็พยายามที่จะบินออกสู่โลกกว้าง เป็นนักเขียนอิสระ เป็นเจ้าของกิจการ ฯลฯ

จากปี พ.ศ.2497-2514 (17 ปี) ความรุ่งเรืองโด่งดังของสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เปลี่ยนแปลงถดถอย อาจเป็นเพราะวงการหนังสือรายสัปดาห์นโยบาย “เศรษฐกิจ-การเมือง” ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก นอกจากฉบับที่เสนอเรื่องของสารคดีและนวนิยายเรื่องยาวอย่างเต็มพิกัดที่ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยยอดจำหน่ายมากกว่า

แต่สยามรัฐรายวันกลับมาฮึกเหิมด้วยทีมงานซึ่งค่อนข้างแข็งขัน ขยับขยายเปิดแนวทางซึ่งไม่ค่อยจะให้ความสำคัญมากนักมาก่อน เช่น ด้านข่าว เพราะเน้นคอลัมน์อันหนักแน่นเรื่อง “การเมือง” โดยมีจุดขายอยู่ที่ปราชญ์ของแผ่นดินอย่างศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช พร้อมนักเขียนระดับมืออาชีพไม่กี่คน

เมื่อเพิ่มพูนเนื้อหาของข่าว แม้จะเป็นหนังสือออกจำหน่ายตอนบ่ายโดยออกวางตลาดก่อนเที่ยงของทุกวัน เรื่องหลากหลายของบันเทิง กีฬา เศรษฐกิจ และวิเคราะห์ข่าวการเมือง มันจึงหนักแน่นน่าจับต้องมากขึ้นกว่าเดิม

มีการเปลี่ยนแปลงการจัดหน้า การพิมพ์คุณภาพดีขึ้นกว่าที่เป็นมา ได้ข่าวเจาะ ภาพ (แอบถ่าย) เด็ดๆ เดี่ยวๆ ก่อนฉบับอื่น

อย่างเช่น “กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร” ซึ่งนายทหาร-ตำรวจ (ใหญ่) ขนเอาอาวุธ และพาหนะ (เฮลิคอปเตอร์) ของทางราชการเข้าไปพักผ่อน “ล่าสัตว์” หาความสุข ฯลฯ จนกระทั่งได้กลายเป็นเรื่องยาวยืดเยื้อ

เมื่อ (อดีต) อธิบดีกรมป่าไม้ท่านทราบข่าว จึงพานักข่าว ช่างภาพ “สยามรัฐ” ติดตามเข้าไปแอบถ่าย และเสนอข่าว ก่อนที่เฮลิคอปเตอร์ขนซากสัตว์กลับมาจะเกิดอุบัติเหตุตกลง ขากระทิงกระเด็นกระดอนเท่ากับเป็นการประจานตัวเองไปเรียบร้อย

จากกรณีดังกล่าวบานปลายสู่เหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค-14 ตุลาคม 2516” ยอดขายหนังสือพิมพ์สยามรัฐพุ่งขึ้นจนไม่สามารถออกจำหน่ายได้ทันเวลาเพราะขีดความสามารถของแท่นพิมพ์ค่อนข้างจำกัด ช่วงวันที่ 12-13-(14)-15-16 ตุลาคม พ.ศ.2516 จึงพิมพ์กันได้แค่กรอบเดียวแล้วช่วยกันออกมายืนขายตรงหน้าโรงพิมพ์สยามรัฐ ริมถนนราชดำเนิน

ผู้คนซึ่งเดินกันขวักไขว่ผ่านไปมามากมาย โดยสายส่งได้รับหนังสือออกไปไม่ทันขายด้วยซ้ำ พิมพ์กรอบเดียวขายเพียง 1 บาทขายดิบขายดี

เพราะขณะนั้นจำได้ว่าราคาหนังสือพิมพ์รายวันน่าจะแค่ 1.50 บาท

 

เป็นที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ เช่น การ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” ถนนราชดำเนินเส้นนี้เป็นเส้นทางที่ทหารจะขนรถถัง กำลังทหาร (ประชาชนคนแห่มาดูด้วย) ออกมาเพราะมีสถานที่สำคัญๆ ที่ทำการของรัฐบาล เช่น กรมประชาสัมพันธ์ และอะไรต่อมิอะไร ฯลฯ ที่มีความจำเป็นต้องเข้าทำการควบคุม

เมื่อมีการนัดรวมตัวกันมาชุมนุมประท้วง ต่อต้าน ขับไล่ “รัฐบาลเผด็จการทหาร” ส่วนใหญ่จะใช้สถานที่คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ บริเวณทุ่งพระเมรุ ท้องสนามหลวง

เพราะฉะนั้น ถนนราชดำเนินนอก กลาง และใน ล้วนเป็นเส้นทางที่ต้องวิ่งผ่านไป-มา เป็นสถานที่เกิดเหตุทุกที ทุกครั้งไป จนพวกเราชาว “สยามรัฐ” (ซึ่งได้พบเห็น อยู่ในเหตุการณ์ตลอดมา) สมัครใจเรียกกันว่า “ทางเสือผ่าน”

สยามรัฐรายวันเป็นหนังสือกรอบบ่าย ไม่ค่อยเน้นข่าวเพราะออกวางแผงไม่ทันฉบับอื่นๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น การ “ปฏิวัติ” ขึ้นในช่วงบ่ายถึงมืดค่ำดึกดื่น เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับในประเทศไทยจะเสนอข่าวการปฏิวัติกันโดยพร้อมเพรียง แต่ “สยามรัฐ” ออกวางตลาดสายเพราะเป็นหนังสือพิมพ์กรอบบ่าย เพราะฉะนั้น จะต้องเอาชนะเขาในวันรุ่งขึ้นจากการเจาะลึกลงไป อย่างเช่นว่า การปฏิวัติครั้งนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังความเป็นมาอย่างไร? ใครเป็นต้นเหตุ ใช้แหล่งเงินทุนจากที่ไหน? ของใคร

คอลัมนิสต์ระดับฝีมือมีชื่อเสียง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะเป็นแม่เหล็ก เป็นจุดขายสำคัญตลอดมา เมื่อส่วนประกอบอื่นๆ ได้รับการปรับปรุงขึ้น ยอดขายจึงขยับขึ้นอย่างน่าพอใจในปี พ.ศ.นั้น และยืนระยะยาวเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2519 ซึ่งเกิดเหตุการณ์อันเศร้าสลดในบ้านเมืองของเรากระจายไปทั่วโลก

คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเองโดยฝ่ายหนึ่ง (นิสิต นักศึกษา) ถูกกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์ญวน”

 

เราเกือบลืม “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” กันไปเสียสนิท ผู้บริหารขณะนั้นไม่ทราบว่าท่านคิดอย่างไร เปลี่ยนแปลงหนังสือ “ฉบับเบ่ง” ให้หดตัวลง (เบ่งไม่ออก) กลายเป็นหนังสือไม่มีปก เหลือเพียงไม่กี่หน้าขนาดแท็บลอยด์ ไซซ์ (Tabloid Size) นัยว่าเป็นการตอบสนองความชอบพอของท่านเจ้าของผู้ให้กำเนิด แต่ในสายตาคนทำหนังสือมันคือการตกต่ำ จำไม่ได้ว่ายอดจำหน่ายเหลือเท่าไรในขณะที่ราคาไม่ถึง 3 บาท

ผมกำลังเพลิดเพลินสนุกสนานอยู่กับสยามรัฐรายวัน ตัดสินใจเสนอตัวเองเพื่อจัดหาเชื้อเชิญชักชวนทีมงานเข้าปรับปรุงเปลี่ยนแปลง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” อีกครั้งหนึ่ง จากปี พ.ศ.2497 เปลี่ยนแปลงถดถอยลงจนไม่มีหน้าปกเมื่อ พ.ศ.2514 และอีก 5-6 ปีต่อมาได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นหน้าปก 4 สี เพิ่มราคาเป็น 4 บาทในปี พ.ศ.2519

มีเรื่องต้องบอกกล่าวเล่าขานกันต่อ เพราะ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” มีอายุยาวนานถึง 65 ปี