บทวิเคราะห์ : แนวโน้มสภาวะภูมิอากาศจากรายงานของออสเตรเลีย

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ก่อนพูดถึงรายงาน “ถ้อยแถลงว่าด้วยสภาวะภูมิอากาศ” (State of The Climate) ของออสเตรเลียฉบับล่าสุดประจำปี 2561 ขอแชร์ประสบการณ์การปั่นจักรยานที่สนามเจริญสุขมงคลจิต ในพื้นที่ของสนามบินสุวรรณภูมิซะหน่อย

เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตั้งใจไปปั่นจักรยานที่สนามเจริญสุขฯ สูดออกซิเจนให้เต็มๆ ปอดสักวัน

เมื่อไปถึงสนาม ปรากฏว่ารถขนจักรยานพากันมาจนแน่นเอี๊ยดแทบไม่มีที่ว่าง ทั้งๆ ที่ลานจอดใหญ่โตกว้างขวางมาก

ระหว่างปั่นสองล้อเข้าสนามซึ่งปรับปรุงใหม่ดูอลังการงานสร้าง ได้เห็นนักปั่นทุกเพศทุกวัยนับร้อยคน

รถจักรยานมีทุกชนิด ระดับไฮเอนด์ คันเป็นแสน เป็นหมื่น หรือจักรยานพับได้ เล็กจิ๋วก็มีมา

นักปั่นบางคนพาลูกเล็กๆ ใส่ท้ายจักรยานปั่นเลาะเลนไปช้าๆ ดูแล้วน่าอิจฉาที่ให้ลูกน้อยได้สัมผัสกับบรรยากาศยามเช้า

เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่า การปั่นจักรยานในสนามเจริญสุขฯ จะได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นนี้

ผมปั่นจักรยานมาตั้งแต่เด็ก ช่วงเรียนมัธยมต้นปั่นจากตัวอำเภอไปถึงจังหวัด ระยะทาง 28 กิโลเมตรเป็นประจำ

มาอยู่กรุงเทพฯ เริ่มปั่นจักรยานจากรามคำแหงไปทำงานแถวๆ ราชดำเนิน

เวลานั้นมีคนปั่นไม่มากและการปั่นบนถนนใหญ่แทบนับคันได้

โตเป็นหนุ่มใหญ่ก็เริ่มปั่นเสือภูเขา แต่ส่วนใหญ่นัดกันดาวน์ฮิลล์แถวชานเมือง เช่น นครนายก ลพบุรี สระบุรี ชลบุรี หรือบางทีขึ้นไปถึงแม่ฮ่องสอน แต่ละครั้งต้องใช้เวลานานกว่าจะรวมตัวสำเร็จ เพราะนักปั่นน้อย ไม่มีโซเชียลมีเดียเชิญชวนเหมือนปัจจุบัน

ความนิยมปั่นสองล้อมาฮิตมากในปัจจุบันนี้สำหรับผมจึงเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ

 

ที่น่าปลื้มก็คือ หลายจังหวัดพยายามผลักดันให้เป็นเมืองจักรยาน อย่างชัยนาท สระแก้ว หรือพังงา

ยังไงก็ตาม มีความเชื่อมั่นว่า การปั่นจักรยานเป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกชุดต้องสนับสนุน

โครงการสร้างเส้นทางจักรยานเชื่อมระหว่างชุมชน เมืองหรือจังหวัดยังเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องลงมือทำ

แม้เมืองไทยมีอากาศร้อน แต่ไม่ใช่อุปสรรค เพราะการสร้างไบก์เลนด้วยการวางแผนอย่างดี จัดให้มีสิ่งแวดล้อมสวยงาม เช่น มีต้นไม้สองข้างทาง จักรยานจะช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้คนไทยนิยมการปั่นจักรยานมากขึ้น

การสร้างเลนจักรยาน ใช้งบประมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับการสร้างถนนให้รถยนต์วิ่ง

การมีเลนจักรยานให้คุณประโยชน์กับคนไทยอย่างมาก เพราะการปั่นจักรยานคือการออกกำลังกายที่ดีมาก

ข้อที่สำคัญคือ การมีเลนจักรยานและมีคนปั่นเยอะๆ ทั้งประเทศจะช่วยลดอุบัติเหตุ เพราะจักรยานชนกันแทบจะไม่มีการสูญเสีย หรือมีก็เจ็บแค่เล็กน้อยเท่านั้น

ไม่เหมือนกับซิ่งมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ เมื่อเกิดเหตุ โอกาสเจ็บ-ตายสูงมาก ขณะที่มูลค่าความเสียหายมีมหาศาล

ปีที่แล้ว สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนในประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลก เฉลี่ยตายวันละ 60 คน หรือทั้งปี 24,491คน

นี่เป็นจากผลสำรวจใน 175 ประเทศโดยองค์การอนามัยโลก

ที่น่าเศร้า ผู้เสียชีวิตอายุอยู่ระหว่าง 15-29 ปี เขาเหล่านี้คือคนหนุ่มคนสาวที่ควรจะเติบโตมาสร้างบ้านสร้างเมืองให้เจริญรุ่งเรือง

 

ฉะนั้น วิสัยทัศน์ของพรรคการเมืองที่จะมาบริหารประเทศในอนาคตจึงต้องมีเรื่องของโครงการเมืองจักรยาน มีแผนไบก์เลนทั่วประเทศ มีโรงงานผลิตอุปกรณ์จักรยานทุกประเภท และมีระบบการฝึกวินัยจราจรที่เข้มงวด

ในเมืองใหญ่ๆ ต้องมีรถไฟฟ้า เป็นระบบขนส่งมวลชนเชื่อมกับทางจักรยานและทางเดินร่วมในชุมชนทุกจุด ต้องมีแผนลดปริมาณการใช้รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ให้วิ่งบนถนนน้อยที่สุด

อย่างในกรุงเทพฯ ถ้ารณรงค์ให้ใช้จักรยาน นอกจากสร้างไบก์เลนโยงใยให้มากขึ้นแล้ว ระบบขนส่งมวลชนไม่ว่าจะเป็นใต้ดิน บนดินหรือรถเมล์ต้องมีพื้นที่บริการสำหรับวางจักรยาน ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำสาธารณะ

รัฐต้องส่งเสริมให้นักจักรยานปั่นไปทำงาน ปั่นไปสนามจักรยานต่างๆ หรือปั่นไปตามเส้นทางท่องเที่ยว สันทนาการ ฯลฯ

ถ้ามีโครงการเช่นนี้และทำอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าในอนาคตเมืองไทยจะเป็นเมืองจักรยานที่ดีแห่งหนึ่งของโลก

 

คราวนี้ก็กลับมาที่รายงานถ้อยแถลงว่าด้วยสภาวะภูมิอากาศของออสเตรเลีย

รายงานชิ้นดังกล่าวเป็นฉบับที่ 5 รัฐบาลออสซี่รวบรวมข้อมูลนำมาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศในอดีต ปัจจุบัน และทำนายผลกระทบที่จะเกิดในอนาคต

จุดสำคัญของรายงานเน้น 3 ประเด็น

ประเด็นแรก เป็นเหตุการณ์และข้อมูลที่เกิดขึ้นในทวีปออสเตรเลียทั้งหมด

ประเด็นที่ 2 เป็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก

ประเด็นที่ 3 เป็นการทำนายเหตุการณ์อนาคตที่จะเกิดกับออสเตรเลีย

ในประเด็นแรกนั้น ระบุออสเตรเลียมีสภาพอากาศสูงขึ้นเกินกว่า 1 องศาเซลเซียส มาตั้งแต่ปี 2453

อุณหภูมิที่เพิ่มสูงนั้นนำไปสู่ภาวะร้อนแล้งถี่บ่อยและเพิ่มระดับรุนแรง

ส่วนอุณหภูมิบริเวณผิวน้ำทะเลที่ล้อมรอบทวีปออสเตรเลีย มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น 1 ํc ตั้งแต่ปี 2453 เช่นกัน และเกิดคลื่นความร้อนในทะเลบ่อยครั้งและกินเวลานานกว่าเดิม

ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง เป็นการบ่งชี้ว่าบริเวณชายฝั่งออสเตรเลียเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำทะเลกัดเซาะและน้ำท่วมมากขึ้น

การตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลรอบทวีปออสเตรเลีย พบมีค่าความเป็นกรดสูงขึ้น

ช่วงเดือนเมษายนถึงตุลาคม ฝนที่ตกในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลียมีปริมาณลดลง ยิ่งในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ยิ่งเห็นได้ชัดว่าฝนตกน้อยลงมาก ถ้านับจากปี 2513 ปริมาณน้ำฝนลดลง 20 เปอร์เซ็นต์

ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ปริมาณฝนลดลงราว 11% ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990

พื้นที่ออสเตรเลียตอนเหนือ ปริมาณฝนกลับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว

ออสเตรเลียเผชิญกับไฟป่ามาเป็นเวลานาน มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น ฤดูไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่หลายส่วนของทวีป ระยะเวลาที่เกิดนานขึ้นด้วย

 

ในประเด็นที่ 2 รายงานชี้ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้นเพิ่มระดับความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง

ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก เพิ่มขึ้นเกิน 400 ส่วนในล้านส่วนหรือพีพีเอ็ม (parts per million) ตั้งแต่ปี 2559 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 แสนปีที่ปริมาณ CO2 มีระดับสูงเฉียด 500 ppm

พื้นที่มหาสมุทรโดยเฉพาะบริเวณขั้วโลกใต้ซึ่งเป็นแหล่งเก็บกักพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์เอาไว้มากที่สุดเกินกว่า 90% ของแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังโลก

ดังนั้น ผลที่ตามมาคือระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น 20 เซนติเมตรตั้งแต่ปี 2423 และช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีอัตราเร่งสูงขึ้นมาก

ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่า 1 ํc ตั้งแต่มีการบันทึกไว้ในปี 2393 เมื่อย้อนดูสถิติช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ พบว่าอุณหภูมิเพิ่มสูงกว่าที่บันทึกไว้มาก

ถ้อยแถลงว่าด้วยสภาวะภูมิอากาศออสเตรเลีย มีข้อสรุปในประเด็นที่ 3 ถึงเรื่องแนวโน้มอนาคตว่า อุณหภูมิทั้งพื้นผิวของทวีปออสเตรเลียและมหาสมุทรที่ล้อมรอบเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ประกอบกับมีจำนวนวันที่มีอากาศร้อนมากกว่าเดิม

คลื่นความร้อนในทะเลมีมากขึ้นเช่นกัน ขณะที่อากาศหนาวเย็นสุดๆ จำนวนวันหดลง เย็นน้อยลง

ทะเลของออสเตรเลียจะมีค่าความเป็นกรดมากขึ้น และระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น

ภาคใต้ของออสเตรเลีย เกิดความแห้งแล้งมากกว่าเดิม และอาจมีฝนตกหนักทั่วออสเตรเลียเพิ่มขึ้น

นี่เป็นข้อสรุปในประเด็นสำคัญๆ ส่วนรายละเอียดซึ่งรายงานชิ้นนี้ได้จำแนกเป็นข้อๆ จะขอนำเสนอในฉบับต่อไป