บทวิเคราะห์ : การลี้ภัยของ “ราฮาฟ” เงาสะท้อนชะตากรรม ของผู้หญิงในซาอุฯ

ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คานัน วัยรุ่นสาวชาวซาอุดีอาระเบีย วัย 18 ปี ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยและเดินทางถึงเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดาแล้วเมื่อวันที่ 12 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่น

ความสำเร็จในการขอลี้ภัยจากสภาพแวดล้อมในประเทศบ้านเกิดที่มีแนวคิดมุสลิมอนุรักษนิยมสุดโต่งของราฮาฟนั้นเป็นผลมาจากการใช้พลังของสื่อสังคมออนไลน์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทวีตข้อความผ่าน “ทวิตเตอร์” ที่ทำให้เธอได้เสียงสนับสนุนผ่านแฮชแท็ก #SafeRahaf ที่เรียกร้องให้มีการช่วยเหลือหญิงสาวชาวซาอุดีอาระเบียผู้นี้จากทั่วโลก

ชะตากรรมของราฮาฟเริ่มต้นขึ้นเมื่อข้อความขอความช่วยเหลือจากห้องพักที่สนามบินสุวรรณภูมิของไทยถูกทวีตผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยข้อความดังกล่าวถูกแชร์ไปเป็นวงกว้าง สร้างความสนใจไปทั่วโลก

“ฉันไม่สามารถเรียนและทำงานได้ในประเทศของฉัน ดังนั้น ฉันต้องการเป็นอิสระ ได้เรียนและทำงานอย่างที่ต้องการ” ราฮาฟระบุ

ราฮาฟเล่าด้วยว่า หากเธอต้องกลับไปอยู่กับครอบครัว เธออาจจะถึงขั้นถูกฆ่า

และว่า เธอเคยถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจจากครอบครัวของเธอ

ยกตัวอย่างเช่น การถูกขังอยู่ในห้องเป็นเวลานานถึง 6 เดือน เพื่อลงโทษที่เธอเพียงแค่ “ไปตัดผม” เท่านั้น

นอกจากนี้ การประกาศละทิ้งศาสนาอิสลามของราฮาฟ อาจทำให้เธอต้องถูกดำเนินคดีหากถูกส่งตัวกลับไปยังซาอุดีอาระเบียอีกด้วย

 

ชะตากรรมของราฮาฟ เป็นอีกครั้งที่ตอกย้ำให้เห็นถึงชะตากรรมของผู้หญิงในซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องถูกจำกัดสิทธิภายใต้กฎที่ว่าผู้หญิงจำเป็นต้องมี “ผู้พิทักษ์” ที่เป็นผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อ พี่-น้องผู้ชาย หรือญาติผู้ชาย ในการอนุญาตให้ทำสิ่งต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหนังสือ การทำเอกสารทางราชการทั้งบัตรประชาชน การขอหนังสือเดินทาง การแต่งงาน หรือแม้แต่เข้ารับการรักษาทางการแพทย์

แม้รัฐบาลภายใต้การนำของมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย ผู้ที่เวลานี้มีอำนาจสูงสุดอย่างโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน จะดำเนินนโยบาย “ปฏิรูป” เพื่อให้ซาอุดีอาระเบียมีความเป็นสากลมากขึ้น

หนึ่งในนั้นคือการเปิดทางให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้แล้วก็ตาม

ทว่าภายในประเทศซาอุดีอาระเบียเองก็ไม่ได้มีผู้หญิงออกมาขับรถมากขึ้นเท่าใดนักเนื่องจากกฎเรื่องผู้พิทักษ์ที่ยังคงเคร่งครัด

สํานักข่าวบีบีซีไทยเปิดเผยเรื่องราวของผู้ลี้ภัยหญิงสาวชาวซาอุฯ วัย 24 ปีอีกรายที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เล่าถึงประสบการณ์ในการหนีออกจากประเทศพร้อมกับน้องสาววัย 19 ที่สะท้อนให้เห็นชีวิตที่ยากลำบากของผู้หญิงในซาอุดีอาระเบียเช่นกัน

เรื่องราวของ “ซัลวา” ชาวซาอุดีอาระเบียบถูกเล่าผ่านรายการวิทยุเวิลด์เซอร์วิส ระบุว่าเธอต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 6 เดือน และด้วยความโชคดีที่เธอมีบัตรประชาชนและหนังสือเดินทางที่ครอบครัวอนุญาตให้ทำแล้วจากการที่ต้องใช้ในการเรียนและสอบภาษาอังกฤษก่อนหน้านี้

ซัลวาเล่าว่า เธอจำเป็นต้องแอบปั๊มกุญแจเพื่อเอาหนังสือเดินทางที่ครอบครัวเก็บเอาไว้เพื่อใช้เดินทางออกนอกประเทศ และแอบใช้โทรศัพท์มือถือของพ่อในการเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ลงทะเบียนในเว็บไซต์กระทรวงมหาดไทย จากของพ่อเป็นของตัวเองเพื่อทำเรื่องอนุญาตให้ตัวเองสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้

ซัลวาและน้องสาวแอบขึ้นแท็กซี่ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติเป็นโชเฟอร์ แอบไปยังสนามบินในตอนกลางคืนก่อนเดินทางไปยังประเทศเยอรมนีเพื่อขอสิทธิลี้ภัยได้สำเร็จโดยเลือกที่จะไปอาศัยที่ประเทศแคนาดา

ซัลวาเล่าว่า ชีวิตในซาอุดีอาระเบียนั้นเธอมีเพียงแค่ “บ้าน” และ “มหาวิทยาลัย” เท่านั้น เธอยังถูกบังคับให้ทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่ต้องการสารพัด ขณะที่ชีวิตในแคนาดาแม้จะมีเงินน้อยกว่า แต่ก็มีความสุข มีอิสระอยากทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ อยากใส่ชุดอะไรที่อยากใส่ และรู้สึกเหมือนได้มีชีวิตที่แท้จริง

สำหรับกระแสในโลกออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ “บันดาร์” นักศึกษาแพทย์ชาวซาอุดีอาระเบียรายหนึ่ง ระบุว่ากฎเรื่องผู้พิทักษ์นั้นให้สิทธิผู้ชายอย่างมากมายเหนือตัวของผู้หญิง

“พวกเขาสามารถทุบตี ทำร้ายร่างกาย สั่งให้ทำสิ่งที่ต้องการ และไม่มีหน่วยงานไหนที่จะหยุดสิ่งนี้ได้” บันดาร์ระบุ และว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงซาอุฯ ส่วนใหญ่ใฝ่ฝันที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่ใดก็ได้ที่ไม่ใช่บ้านที่เกิดและเติบโตขึ้นมา

 

ไม่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น กระแสจากผู้ชายในโลกออนไลน์ ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงซาอุฯ เช่นกันเกิดเป็นกระแส “เลิกกฎผู้พิทักษ์ หรือไม่เราก็อพยพไปให้หมด” ขึ้นด้วย

ทว่าก็ยังคงมีชาวซาอุฯ อีกจำนวนมากที่ยังคงเห็นว่า แนวคิดอนุรักษนิยมอิสลามดังกล่าวยังคงมีส่วนสำคัญในระเบียบของสังคม และโทษว่าหญิงวัยรุ่นเหล่านั้นเองที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับครอบครัว

คงต้องติดตามดูต่อไปว่าสังคมซาอุดีอาระเบียจะสามารถปฏิรูปไปพร้อมๆ กับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจตามวิสัยทัศน์ในโครงการ “วิชั่น 2030” ของผู้นำซาอุดีอาระเบียได้หรือไม่ ท่ามกลางภาพลักษณ์ของประเทศที่ยังคงย่ำแย่ หลังการฆาตกรรมโหดนายจามาล คาช็อกกี คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ชาวซาอุดีอาระเบีย ที่สถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา