จรัญ มะลูลีม : เส้นทางความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย (1)

จรัญ มะลูลีม

วัตถุประสงค์ในการศึกษา

วัตถุประสงค์ของการศึกษางานวิจัยเรื่อง ความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย มีความมุ่งหมายที่จะทำความเข้าใจขอบเขตความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย รวมทั้งศึกษาศักยภาพด้านความสัมพันธ์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ผู้วิจัยจะศึกษาจาก

ก. ปัจจัยภายในและภายนอกของไทยและมาเลเซียที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย

ข. แนวโน้มความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียที่มีต่อกันในอนาคต

โจทย์วิจัย

ศตวรรษที่ 21 เป็นประจักษ์พยานให้เห็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดและความเป็นหุ้นส่วนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียท่ามกลางความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่มีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมมาเลเซีย

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียเริ่มต้นมาช้านาน ก่อนการมีความสัมพันธ์ทางการทูตในวันที่ 31 สิงหาคม ปี 1957

ความสัมพันธ์และความร่วมมือที่มีจุดเด่นอย่างชัดเจนก็คือการก่อตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN) ในปี 1967 ซึ่งประเทศไทยและมาเลเซียเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและนับจากนั้นทั้งสองประเทศก็มีส่วนทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งขึ้นโดยผ่านความสัมพันธ์ทวิภาคีและความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียได้รับการสนับสนุนผ่านความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองหลังจากประเทศไทยและมาเลเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 1957

ในระดับภูมิภาคทั้งสองประเทศก็มีศักยภาพสูงที่จะกลายมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตของภูมิภาคผ่านความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและความเข้าใจที่ดีต่อกันตลอดมา

งานวิจัยนี้จะมุ่งศึกษาความสัมพันธ์ทวิภาคีในด้านสังคม เศรษฐกิจผ่านแง่มุมทางด้านการเมือง การศึกษา การพาณิชย์ และความมั่นคงระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย รวมทั้งความพยายามในการรับรู้ถึงขอบข่ายและความท้าทายในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซีย

สมมติฐานในการศึกษา

งานวิจัยนี้จะศึกษาปัจจัยภายในของไทยและของมาเลเซียโดยเฉพาะท่าทีของผู้นำของทั้งสองประเทศในสมัยต่างๆ รวมทั้งการดำเนินนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ส่งผลกระทบมากกว่าปัจจัยที่มาจากภายนอก

อย่างเช่น การเมืองมาเลเซีย การเปลี่ยนผ่านผู้นำของมาเลเซีย การต่างประเทศของมาเลเซีย องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่มาเลเซียมีบทบาทสำคัญ และมี ตวนกู อับดุรเราะห์มาน อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกเป็นเลขาธิการ

และความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและมาเลเซียในปี 1957


กรอบความคิดที่ใช้ในการศึกษา

ในการศึกษาความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียนี้ผู้วิจัยได้ใช้กรอบการเมืองเกี่ยวพันมาเป็นกรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย

โดยพิจารณาความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียว่าวางอยู่บนเหตุและปัจจัยใดที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศในด้านต่างๆ


วิธีการศึกษา

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยการวิจัยและตีความจากเอกสาร (Documentary Research) และใช้การวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive Analysis) และการวิจัยด้วยการอธิบาย (Explanatory Research) โดยศึกษาจากแหล่งข้อมูลทั้งที่เป็นข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Sources) ได้แก่ คำปราศรัย คำอภิปราย สุนทรพจน์

คำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีและผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยและของประเทศมาเลเซีย

รวมทั้งเอกสารทางราชการต่างๆ


ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Sources)

ได้แก่ ข้อมูล ข่าว บทความ บทวิเคราะห์จากวารสาร นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ เอกสารทางวิชาการ เอกสารประกอบการสัมมนา เอกสารวิจัย วิทยานิพนธ์

และสำนักข่าวต่างๆ เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศของไทยและมาเลเซี

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์

ข้อมูลนี้จะมาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและติดตาม และนำเสนอมุมมองของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-มาเลเซีย โดยนำเอากรอบการเมืองเกี่ยวพันมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และตีความตามความเห็นของ James N.Rosenau (1969) Linkage Politics : Essays on the Convergence of National and International System. (New York : Free Press) ได้เสนอแนวความคิดการเมืองเกี่ยวพัน (Linkage Politics) โดยเห็นว่าการเมืองระหว่างประเทศ จำเป็นจะต้องมีการศึกษาทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประเทศควบคู่กัน

เนื่องจากโลกในปัจจุบันเป็นโลกที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ เป็นโลกที่ไร้พรมแดน ช่องว่างแห่งกาลเวลานั้นหดแคบลง ไม่มีประเทศใดที่อยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่ได้รับผลกระทบจากภายนอกได้ ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องพึ่งพาอาศัยกัน

ดังนั้น ระบบการเมืองของชาติ (National political systems) หรือระบบย่อย ซึ่งก็คือประเทศแต่ละประเทศ และระบบการเมืองระหว่างประเทศ (International political systems) จึงมีความเกี่ยวพัน คาบเกี่ยวและซ้อนทับกันอยู่


งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Jaran Maluleem (September, 2012) Thailand and Malaysia Relations on The Border Area, (International Journal of Business, Management & Social Sciences (IIBMSS) vol.11, issue 1 (11) กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซียในด้านต่างๆ เริ่มจากความสัมพันธ์ทางสังคมและการศึกษาในพื้นที่ ความสำคัญของโรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และการเปลี่ยนผ่านทางด้านการศึกษาของไทย

การร่วมมือทางด้านการศึกษาระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย รวมทั้งความร่วมมือในด้านการศึกษาชั้นสูง ระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและมหาวิทยาลัยมาเลเซีย

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่านคณะกรรมการความร่วมมือไทย-มาเลเซีย (Thailand -Malaysia Joint Commission : JC) พื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area : JDA) และคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (Joint Development Strategy for borders Areas : JDS)

รวมทั้งโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย หรือ IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ความร่วมมือระหว่างชายแดนไทยและมาเลเซีย อย่างเช่น การสร้างสะพานมิตรภาพระหว่างตำบลบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส กับบูกิต บุหงา แห่งเมืองตุมปัต รัฐกลันตัน (Bridge over Golok River connecting Buketa-Buket Bunga of Kalantan)

ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในทุกๆ ด้าน