อ่านตำนาน “ดอกชะมั่ง” ที่เขาปลูกไว้ป้องกัน “คนมีอาคม”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ดอกจ๊ะมั่ง”

ดอกจ๊ะมั่ง หรือ ดอกชะมั่ง คือดอกเล็บมือนาง

ดอกเล็บมือนางมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Combretum indicum (L.) Defilipps

คนล้านนาจำนวนหนึ่งไม่นิยมปลูกดอกชะมั่งไว้ในบริเวณบ้าน โดยถือว่าเป็นไม้อัปมงคลเช่นเดียวกับคนไทยโบราณทั่วไป

ต่อเรื่องนี้คนล้านนามีตำนานเรื่องพระนางจามเทวีกับขุนหลวงวิรังคะเล่าสืบต่อกันมาว่า

ขุนหลวงวิรังคะปกครองชนเผ่าลัวะอยู่เชิงดอยสุเทพ ได้ข่าวกิตติศัพท์ความงามของพระนางจามเทวีที่มาครองเมืองหริภุญชัย ก็อยากได้นางเป็นมเหสี จึงส่งทูตไปขอนางอภิเษกหลายครั้ง

ครั้นนางจะปฏิเสธด้วยเห็นว่าขุนหลวงวิรังคะเป็น “คนป่า” ไม่มีความศิวิไลซ์ แต่ก็ยังเกรงกองกำลังของลัวะ แถมขุนหลวงวิรังคะยังขึ้นชื่อในเรื่องอิทธิฤทธิ์ด้วยมีคาถาอาคมแกร่งกล้า นางจึงออกอุบายให้ขุนหลวงวิรังคะพุ่งเสน่าหรืออาวุธคล้ายหอกจากดอยสุเทพให้ไปตกยังกลางเมืองหริภุญชัย ถ้าทำได้นางจึงจะยอมอภิเษกด้วย

เมื่อฝ่ายชายรับคำท้า ทีนี้นางก็เพียรทอนทำลายอาคมของขุนหลวงวิรังคะเพื่อไม่ให้ทำการสำเร็จ

นางคงทำหลายวิธี ที่เล่าๆ กันมามีตั้งแต่ เจียนหมากพลูให้โดยเอาหางพลูป้ายของลับของนาง เอาตีนซิ่นมาเย็บเป็นหมวกให้สวม และที่เกี่ยวข้องกับดอกชะมั่งคือ นางเอาดอกชะมั่งไปสัมผัสกับประจำเดือนส่งไปให้ขุนหลวงวิรังคะทัดหู บางกระแสก็ว่านางเอาดอกชะมั่งที่เปื้อนเลือดเสียบแซมประดับไปกับหมวก

ผลก็คือ อาคมของขุนหลวงวิรังคะถูกทำลาย หรือถูก “ข่ม” จนไร้ฤทธิ์เดช ไม่สามารถพุ่งเสน่าไปตกถึงเมืองหริภุญชัยได้ เสน่าที่พุ่งออกไปตกแค่เชิงดอยสุเทพเท่านั้น

ตั้งแต่นั้นมาดอกชะมั่งป่าที่เคยมีกลีบสีขาวล้วน ก็กลายเป็นมีสีชมพูและสีแดงปน เหมือนกับถูกเอาไปคลุกเคล้ากับสีแดงของประจำเดือน

ดังนั้น จึงมีคนล้านนาไม่น้อยนิยมปลูกดอกชะมั่งเป็นซุ้มไว้ที่หน้าบ้าน เอาไว้ “ข่ม” หรือทำลายศัตรูที่อาจจะมีอาคมแก่กล้า หากคนผู้นั้นได้ลอดซุ้มไม้ชะมั่งเข้ามาถึงในบ้าน อาคมจะอ่อนพลังลงและไม่อาจทำร้ายคนในบ้านได้

การปลูกดอกชะมั่งหน้าบ้านจึงถือเป็นการป้องกันศัตรูของคนล้านนาวิธีหนึ่ง

“กาพย์เจี้ยจามเทวี และวิรังคะ” ของอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เขียนเอาไว้บทหนึ่งว่า

อันว่า ดอกชะมั่ง ก่อนเกรอะกรัง สีมั่นคง

ขาวสะอาด งามดำรง อะคร้าวเคื้อ ก่องประไพ

ถูกย้อม ให้เปื้อนเปรอะ แดงเลอะเทอะ เปลี่ยนสีใหม่

แต่นั้น ชะมั่งไพร เปลี่ยนสีขาว สลับแดง