วิเคราะห์ : 70 ล้านมาแค่ 100 ตรรกะแบบ “ป้อมๆ” ไม่ให้ราคา “ม็อบอยากเลือกตั้ง”

70 ล้านมาแค่ 100 ตรรกะแบบ “ป้อมๆ” ไม่ให้ราคา “ม็อบอยากเลือกตั้ง”

บรรยากาศการเมืองเขม็งเกลียว

หลังรัฐบาล คสช.แสดงท่าทีว่าจะเลื่อนการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ ออกไปเป็นเดือนมีนาคม ด้วยเหตุผลคลุมเครือไม่ชัดเจน เบื้องต้นอ้างว่าไม่ต้องการให้ขั้นตอนต่างๆ หลังเลือกตั้งทับซ้อนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4-6 พฤษภาคม

นำมาสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่รวมตัวจัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังปีใหม่ ภายใต้สโลแกน

“ไม่เลื่อน ไม่ล้ม ไม่ต่อเวลา”

ทั้งหมดนี้ สืบเนื่องจากพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งในความรับผิดชอบของรัฐบาล คสช.ยังไม่ประกาศใช้ ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้

การเลื่อนเลือกตั้งรอบนี้ ยังอาจนำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

เนื่องจากเงื่อนไขทางกฎหมายกำหนดให้การเลือกตั้งต้องแล้วเสร็จใน 150 วัน ภายใต้ข้อสงสัยหมายรวมถึงการประกาศผลเลือกตั้งด้วยหรือไม่ ซึ่งวันที่ 9 พฤษภาคม คือวันสุดท้าย

การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้รับการตอบสนองจากประชาชน นักเรียน-นักศึกษา นักวิชาการ นักคิด-นักเขียน กลุ่มแนวร่วม และพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

การรณรงค์เริ่มต้นในกรุงเทพฯ ก่อนขยายวงไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม นครปฐม เชียงใหม่ และเชียงราย

เมื่อสถานการณ์ทำท่า “จุดติด”

รัฐบาล คสช.จึงต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม พยายามอธิบายชักแม่น้ำทั้งห้า อ้างถึงพระราชพิธีสำคัญ ในขณะที่สังคมมองไม่ออกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันตรงไหน อย่างไร

การที่รัฐบาลไม่แจกแจงรายละเอียดให้ชัดเจน ทั้งยังโยนให้เป็นหน้าที่ กกต.ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงการเลื่อนเลือกตั้ง

จึงไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่มองว่าการเลื่อนน่าจะมีนัยยะอื่นแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง โดยใช้เรื่องพระราชพิธีเป็นข้ออ้าง

อำพรางเจตนาแท้จริง

เมื่อการขอร้องกันดีๆ ให้หยุดเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล คสช. ไม่ได้ผล

การออกมาของ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช. จึงสร้างแรงสั่นสะเทือน เป็นที่จับตาว่าเป็นการ

“ตัดไฟ” หรือ “สุมไฟ”

พล.อ.อภิรัชต์กล่าวถึงการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า คนบางคนคิดอย่างนี้ “โดนสั่ง” ให้มาทำอย่างนี้ โดยไม่มององค์ประกอบต่างๆ ไม่ได้มองถึงรัฐธรรมนูญและกรอบเวลาที่ กกต.กำหนดไว้แล้ว

“มันก็มีคนประเภทนี้ในสังคมไทย ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้าอยากให้เป็นอย่างนี้ อยากจะให้เกิดความวุ่นวายก็เป็นหน้าที่ของฉันที่ต้องทำให้เกิดความวุ่นวายอยู่อย่างนี้—

—ทุกอย่างมีกรอบเวลาและมีกฎหมายรองรับโดยเฉพาะ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ถ้าไปคิดตามไทม์ไลน์ปฏิทินการเลือกตั้งทุกอย่างก็อยู่ในกรอบเวลา

ส่วนงานพระราชพิธี ต้องบอกว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย แต่คนพวกนี้ก็ไม่เคยคิด อย่างที่ผมบอก คนพวกนี้ก็คิดแบบนี้ จะไปเปลี่ยนเขาก็ไม่ได้”

สิ้นเสียงของ พล.อ.อภิรัชต์ ก็เป็นหน้าที่ทีมโฆษก คสช.และกองทัพที่ดาหน้าออกมารับช่วงต่อ

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวว่า การแสดงความเห็นของ พล.อ.อภิรัชต์ต่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นการสะท้อนภาพด้วยความห่วงใยในช่วงประเทศกำลังจะมีพระราชพิธีสำคัญ และการเลือกตั้ง

ความเคลื่อนไหวบางอย่างกลายเป็น “อาชีพ” หนึ่งไปแล้ว

การให้ความเห็นของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งไม่ต่างจากในอดีต แต่กราดเกรี้ยวในถ้อยคำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการชูประเด็นว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แล้วผลักผู้อื่นไปอยู่ตรงข้าม อาจมองได้ถึง

“วุฒิภาวะทางประชาธิปไตยกำลังบกพร่อง”

ขณะที่ พล.ต.กฤษณ์ จันทรนิยม โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวว่า อย่านำกองทัพไปเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายใด หรือกลุ่มที่มีเบื้องหลังหวังผลยั่วยุให้เกิดเหตุวุ่นวายในบ้านเมือง

ตบท้ายด้วย “พี่ใหญ่ คสช.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวยืนยัน ไม่มีความกังวลต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

“มีคนอยู่นิดเดียว คนตั้ง 70 ล้านกว่าคนกับคน 100 กว่าคน จะไปกังวลอะไร”

การชุมนุมทำกิจกรรม “ไม่เลื่อน ไม่ล้ม ไม่ต่อเวลา” บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม มีการออกแถลงการณ์ 3 ข้อ ได้แก่

“ไม่เลื่อน” วันเลือกตั้งให้ล่วงเลยหลัง 10 มีนาคม เพราะสุ่มเสี่ยงให้ กกต.ไม่สามารถประกาศผลเลือกตั้งภายในกรอบ 150 วันนับจากวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 อาจส่งผลทำให้การเลือกตั้งถูกชี้เป็นโมฆะ

“ไม่ล้ม” การเลือกตั้งด้วยเล่ห์กลหรือข้ออ้าง รวมถึงเทคนิคทางกฎหมาย

“ไม่ต่อเวลา” ให้กับการดำรงอยู่ในอำนาจผ่านกลไกรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างความได้เปรียบ ไม่ว่ากรณี 250 ส.ว. การใช้จ่ายงบประมาณ และโยกย้ายข้าราชการช่วงหาเสียง รวมถึงการเลือกปฏิบัติ เอื้อประโยชน์ให้พรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

พร้อมยื่นคำขาด

“ภายในวันที่ 18 มกราคม หากยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้ง เพื่อให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งได้ เราจะยกระดับการชุมนุมสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 19 มกราคม”

บรรยากาศการชุมนุมเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชน นักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดวันสอบ GAT/PAT เข้าร่วมกว่า 500 คน

แม้จะมีความพยายามจากเจ้าหน้าที่รัฐในการเอาผิดแกนนำผู้ชุมนุมข้อหาผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เสียงดังเกินกำหนด แต่ก็ขาดหลักฐานชัดเจน ไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ได้

เมื่อการปรามครั้งแรกไม่ได้ผลในการคุกคามให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งต้องล่าถอย จึงต้องมีครั้งที่สอง

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งวันที่ 15 มกราคม ตอนหนึ่งกล่าวถึงกรณีฝ่ายการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีทัศนคติไม่ดีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมอยากเลือกตั้ง ว่า

เขาอยากพูดอะไรถือเป็นสิทธิ์ คงไม่ไปโต้ตอบ หากทุกคนไม่ล้ำเส้น อยู่ในกรอบ ในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ว่ากัน

ส่วนการชุมนุมวันที่ 19 มกราคม ถือเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่การใช้ประชาธิปไตยควรอยู่ในกรอบ เหตุการณ์จะบานปลายหรือไม่มีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายรัฐ

เมื่อมาขีดเส้นว่าคนนั้นต้องทำอย่างนั้น ก็ต้องขีดเส้นตัวเองด้วย ไม่ใช่ขีดเส้นให้คนอื่นเดินอย่างเดียว เอาเส้นมาวางให้เขาเดิน ท่านก็ต้องขีดเส้นตัวท่านด้วย

“อย่ามาล้ำเส้นกัน”

แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และ “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา ยอมรับว่า

การที่จนถึงขณะนี้ยังไม่ประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ทำให้โอกาสที่จะมีการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามที่รัฐบาล คสช.ให้สัญญาไว้กับประชาชนเป็นเรื่องยาก

การกำหนดเส้นตายให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งภายในวันที่ 18 มกราคม ก็เพื่อให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปไม่เกินวันที่ 10 มีนาคม

เพื่อป้องกันไม่ให้ภายหลังมีผู้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่แล้วเสร็จตามกรอบ 150 วัน

“หากไม่ชัดเจน ในวันที่ 19 มกราคม จะชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดเลือกตั้งภายในวันที่ 10 มีนาคม” จ่านิวระบุ

ล่าสุดมีรายงานว่า กกต.มีแนวโน้มสูงที่จะเลื่อนจัดการเลือกตั้งไปเป็นวันที่ 24 มีนาคม และคาดว่ารัฐบาลจะประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งไม่เกินวันที่ 23 มกราคม

โดย กกต.ยืนยันจะรับรองผลเลือกตั้งได้ทันวันที่ 9 พฤษภาคม เพื่อตัดปัญหาเรื่องกรอบเวลา 150 วัน

ซึ่งหากเป็นไปตามนั้นจริงจะเป็นการ “พบกันครึ่งทาง” ช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายไปได้

ที่สำคัญยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเหตุไม่คาดฝัน จากการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพกับคนอยากเลือกตั้ง ที่เริ่มขยับเข้าใกล้จุดเดือดมากขึ้นทุกที