จรัญ พงษ์จีน : ผลงาน กสทช. ในช่วงเลื่อน-ไม่เลื่อนเลือกตั้ง

จรัญ พงษ์จีน

การเมืองยังยุ่งเหยิงอีนุงตุงนัง มีทั้งคนอยากเลือกตั้ง คนไม่อยากเลือก บางคนถึงกับประกาศให้ยกเลิกไปเลยไม่ต้องมีกาบัตร

ฝ่าย กกต.ที่เป็นผู้กำหนดกติกาก็ยังออกอาการมึนๆ ไม่รู้ว่าจะเอาวันไหนเป็นวันเลือกตั้ง

แนวโน้มชัดแล้ววันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่วันเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปีของประเทศไทยแน่นอน

แต่จะเลื่อนไปวันไหน เดือนอะไร ต้องตามดู

บางสายข่าวกระซิบน่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม

ยังอลหม่านอย่างนี้ ก็ขอเปลี่ยนโหมดการเมืองมาพูดถึงเรื่องเบาๆ ดีๆ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กันมั่ง

 

เรื่องแรกที่น่าพูดถึงเป็นโครงการ กสทช.เติมความสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ชายขอบ

พื้นที่ชายขอบในคำนิยามของ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. หมายถึงชุมชนในชนบทห่างไกลความเจริญ ผู้คนที่นั่นมีรายได้น้อยและการเข้าถึงเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ

เทียบกับคนในเมืองแล้ว จึงมีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก

การนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไปบริการในพื้นที่ชายขอบจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างรายได้ กระจายความเจริญเป็นไปตามแผนแม่บทของ กสทช. และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตามแผนของ กสทช.หลังจากเปิดประมูลโครงการติดตั้งอินเตอร์เน็ตในหมู่บ้านชายขอบและพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ 74,987 หมู่บ้าน ซึ่งมี 2 ระยะ

ระยะแรก ทำในพื้นที่ 3,920 หมู่บ้าน มีจุดกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ หรือฟรีไวไฟ ทั้งในชุมชนและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน 5,992 จุด

แบ่งเป็นติดตั้งในชุมชนหมู่บ้าน 3,912 จุด โรงเรียน 1,210 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 107 แห่ง และศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตสาธารณะหรือศูนย์ยูโซ่เน็ต 763 ศูนย์

จากนั้น กสทช.เชื่อมระบบอินเตอร์เน็ตกับบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวที่มาลงทะเบียนในโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ

เป็นอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็ว 30/10 เมกะไบต์ต่อวินาที

คิดเป็นมูลค่า 200 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน

สำนักงาน กสทช.จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 36 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562-30 เมษายน 2565

ระหว่างนี้ ทาง กสทช.ส่งจดหมายผ่านไปรษณีย์ไปถึงประชาชนในพื้นที่เน็ตชายขอบ 6 แสนครัวเรือน ประชากรรวม 2,800,000 คน

ใครที่ได้รับจดหมายแล้วให้ส่งหลักฐานยืนยันกลับมายังสำนักงาน กสทช. เลขที่ 87 ถนนพหลโยธิน ซอย 8 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400 หรือสำนักงาน กสทช.ส่วนภูมิภาค หรือโทร.สอบถามได้ที่คอลล์เซ็นเตอร์ 1200 ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนระยะที่ 2 จำนวน 15,732 หมู่บ้าน อยู่ในระหว่างเตรียมเซ็นสัญญากับผู้ชนะประมูล

“ฐากร” ประเมินว่า อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในระยะแรกเข้าถึง 3,920 หมู่บ้าน ถ้าผู้คนในชนบทห่างไกลคิดทำสตาร์ตอัพ หารายได้เข้าครัวเรือนแค่เดือนละ 2 พันบาท เดือนหนึ่งจะมีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 1,200 ล้านบาท

ในระยะเพียง 1 ปี คนชายขอบสามารถสร้างรายได้ 14,400 ล้านบาท

ถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง

ในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะได้เห็นเด็กๆ ในพื้นที่ชายขอบเรียนหนังสือพร้อมๆ เด็กอเมริกัน เด็กอังกฤษ ฯลฯ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

เราจะได้เห็นชุมชนในชนบทเปิดโฮมสเตย์ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกจองห้องพักทางเว็บไซต์

เราจะเห็นคนป่วยไข้ในหมู่บ้านบนภูเขาสูง ในซอกหลืบของป่าทึบ ได้พูดคุยและรักษากับหมอเก่งของโรงพยาบาลในเมืองโดยไม่ต้องเสียเวลานั่งรถข้ามน้ำข้ามห้วยเป็นวันๆ อย่างในอดีต เพราะ กสทช.มีแผนเชื่อมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกับโรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลใหญ่ๆ ของรัฐในการรักษา 4 โรคยอดฮิตผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคตา โรคผิวหนัง และโรคเบาหวาน

 

อีกเรื่องที่ กสทช.เดินเครื่องเต็มสตีม นั่นคือแผนการแก้ปัญหา “ทีวีดิจิตอล” อย่างยั่งยืน

อย่างที่รู้ๆ กันว่า ปัญหาทีวีดิจิตอลเป็นผลมาจากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนตาม

จำนวนคนที่เฝ้าดูหน้าจอทีวีลดลงอย่างฮวบฮาบ ขณะที่จำนวนช่องทีวีที่มีมากถึง 24 ช่อง

รายได้หลักของทีวีที่มาจากการโฆษณาถูกสื่อออนไลน์แย่งชิงจนเหลือแค่เศษเนื้อติดกระดูก

“ฐากร” ยอมรับ กสทช.เป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดฐานปล่อยให้เกิดประมูลช่องทีวีดิจิตอลในราคาสูงๆ และจำนวนช่องมากเกินจริง

ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา คสช.ยื่นมือเข้าช่วยอุ้มอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ถึงกระนั้น หลายช่องอาการยังทรุดหนัก บางช่องถึงกับปลดพนักงานออก

กสทช.จึงมีแผนช่วยเหลือทีวีดิจิตอลอีกรอบเพื่อลดผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

แผนดังกล่าวคือดึงคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ของทีวีดิจิตอลกลับมาเปิดประมูลเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5 จี

รายได้จากการประมูลจะนำมาเยียวยาชดเชยทดแทนให้กับอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลและภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ณ ขณะนี้ กลุ่มทีวีดิจิตอลจ่ายค่าใบอนุญาตให้ กสทช.แล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 35,000 ล้านบาท ยังเหลือค่างวดต้องจ่ายอีกกว่า 30% ประมาณ 15,000-16,000 ล้านบาท

งานนี้ช้าไม่ได้เพราะขืนปล่อยให้เวลาเลื่อนไหลไปจนมีการเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่ แผนอาจจะปั่นป่วน

นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดประชุมบอร์ด กสทช.วาระพิเศษ เมื่อวันอังคารที่ 15 มกราคม

 

ผลการประชุมเห็นชอบให้เอาร่างหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่น มาตรการทดแทน ชดเชยหรือชดใช้ไปทำประชาพิจารณ์ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

และให้อนุกรรมการด้านกฎหมายพิจารณาประเด็นที่เป็นข้อกังขาด้านกฎหมาย เช่น การเรียกคืนคลื่นทีวีดิจิตอลมาประมูลใหม่ใช้กับเทคโนโลยี 5 จี ได้หรือไม่ การเยียวยาจะมีปัญหาหรือเปล่า

รวมถึงเงื่อนไขที่ให้บริษัทผู้ชนะประมูลคลื่น 5 จี ชำระค่างวดเบาๆ ยาวๆ แบ่งเป็น 10 งวด ให้บริษัทได้ยืดเวลาหาเงิน

เงื่อนไขข้อหลังนี้ กสทช.มองว่า การประมูล 4 จี เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ทุกค่ายมือถือยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน ขืนเปิดประมูล 5 จี แล้วให้จ่ายค่างวดระยะเวลาสั้นๆ ค่ายมือถือไม่เอาด้วยแน่

แผนแก้ปัญหา “ทีวีดิจิตอล” ถ้าไม่มีอะไรสะดุดกลางคัน “ฐากร” คาดการณ์เอาไว้ว่า จะนำเรื่องกลับเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช.อีกครั้งเพื่อเปิดให้ประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ในเดือนเมษายน เป็นห้วงเวลาที่รัฐบาลชุดนี้ยังมีอำนาจอยู่ในมือ

อีกแผนที่ “ฐากร” มองว่ารัฐบาลชุดนี้น่าจะทำให้ครบวงจร นั่นคือการแก้ปัญหาผู้ชนะประมูลคลื่น 4 จี ซึ่งมีราคาแพงเกินจริง ถ้าขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีกระยะหนึ่ง โดยรัฐไม่เสียหาย ก็จะช่วยเปิดทางให้การประมูลคลื่น 5 จี ลื่นไหล

ถ้าแผนทั้งหมดนี้สำเร็จ กสทช.มีได้กับได้ เพราะช่วยอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลไม่ให้เจ๊งระเนระนาดแล้ว ยังหารายได้เข้ารัฐเพิ่มอีกบาน และยกระดับประเทศสู่ยุคเทคโนโลยี 5 จี ยืนแถวหน้าอาเซียนอย่างโดดเด่น