จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (13)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สำนักหมิงกับวาทนิยม (ต่อ)

แต่หากกล่าวในมุมของนักวิชาการตะวันตกแล้วกลับรู้สึกว่า ในกรณีปรัชญาของฮุ่ยซือนั้นไม่ต่างกับกีฬา (game) ชนิดหนึ่ง ที่จะให้เป็นหลักคิดหรือหลักคำสอนอาจเป็นไปโดยมิได้ตั้งใจหรือมีเพียงเล็กน้อย

ที่สำคัญ การเอาชนะคะคานกันด้วยการใช้โวหารได้อย่างพิสดารพันลึกจนชวนให้งุนงงนั้น อาจถือเป็นประเพณีปฏิบัติอย่างหนึ่งที่มีเสน่ห์ยั่วยวนและมีรสชาติของเหล่านักปรัชญา

ทั้งนี้ ในตะวันตกกรณีเช่นนี้บางทีก็ขยายผลไปสู่ทฤษฎีทางฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์ แต่ในกรณีจีนกลับเป็นการปะทุขึ้นมาของผลประโยชน์เพียงชั่วแล่น (ซึ่งปรากฏการณ์นี้จักได้เกิดขึ้นอีกครั้งในศตวรรษที่ 3) จนในชั้นหลังต่อมาท่ามกลางความเสื่อมถอยของสำนักนี้ก็ทำให้แน่ใจได้ว่า หากไม่ใช่เพราะสำนักนี้มิได้สร้างปกรณ์ที่ให้อรรถาธิบายได้อย่างมีพลังเพียงพอแล้ว ก็อาจเพราะปกรณ์เหล่านั้นบิดเบือนอย่างเลวร้ายตามวิสัยปกติของมันเองจนหายสาบสูญไปในที่สุด

คงด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้หลักคิดของสำนักหมิงมิได้ตกทอดให้เป็นที่กล่าวขานยกย่องกัน และที่เหลือให้อ้างอิงก็เป็นไปเพื่อตราเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งจีนก็เคยมีสำนักคิดที่มีฐานะไม่ต่างกับพวกโซฟิสต์ดังของตะวันตกอยู่ด้วยเช่นกัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว การเกิดขึ้นและมีอยู่ของสำนักหมิงจากที่กล่าวมานี้ หากสำนักนี้จะมีฐานะในทางปรัชญาแล้วก็ย่อมสุดแท้แต่ผู้ที่เป็นนักปรัชญาจะพิจารณา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ปรากฏว่า นักปรัชญานามอุโฆษต่างก็ปฏิเสธฐานะเช่นว่านี้ และเรียกนักคิดที่อยู่ในแนวสำนักนี้ได้แต่เพียงนักโวหารที่ดูเหมือนจะมี “วาจาดี” เท่านั้น แต่หาแก่นสารอันใดได้ไม่

เหตุดังนั้น ในส่วนของนักปรัชญาที่มองเห็นฐานะทางปรัชญาของสำนักนี้จึงย่อมเป็นนักปรัชญาที่ใจกว้าง และติดข้างมองโลกของปรัชญาในแง่ดี ถึงแม้ราษฎรทั่วไปจะเข้าถึงความเป็นปรัชญาที่ว่าได้ยากเต็มทีก็ตาม

สำนักหญูหลังขงจื่อ : เมิ่งจื่อกับสวินจื่อ

เมื่อสถานการณ์ความปั่นป่วนวุ่นวายจากยุควสันตสารทลุล่วงมาสู่ยุครัฐศึก สถานการณ์ทางปรัชญาหาได้ลดราอ่อนแรงลงไปไม่

ตรงกันข้าม ปรากฏการณ์ “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” ยังคงดำรงอยู่ สภาพการณ์เช่นนี้มีทั้งที่เกิดสำนักคิดใหม่ๆ ขึ้นมา และทั้งการดำรงอยู่ของสำนักเดิมที่มีแต่ยุควสันตสารท

อย่างหลังนี้มิเพียงจะหมายถึงการที่สาวกของสำนักเดิมได้ทำการสืบทอดหลักคำสอนต่อไปเท่านั้น หากยังได้ต่อยอดหลักคำสอนเดิมของเจ้าสำนักด้วยการสร้างสรรค์ปกรณ์ใหม่ขึ้นมาอีกด้วย

ปกรณ์ใหม่เหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สารัตถะในปกรณ์จึงมีความลึกซึ้งมากขึ้น และกลายเป็นปกรณ์ที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา

สำนักหญูนับเป็นหนึ่งในไม่กี่สำนักที่มีสาวกสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง สาวกของสำนักนี้หลายคนได้สร้างสรรค์ปกรณ์หรือคัมภีร์ที่ทรงคุณค่าทางปรัชญา และต่อไปจะได้เป็นสดมภ์ทางปัญญาให้แก่การเมืองการปกครองของจีนอีกยาวนาน งานศึกษานี้คงเลือกเฉพาะสาวกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด 2 คน

คนหนึ่งคือ เมิ่งจื่อ อีกคนหนึ่งคือ สวินจื่อ มาอธิบายในที่นี้แต่เพียงสังเขป

ก.เมิ่งจื่อ

เมิ่งจื่อ (ประมาณ 372-289 หรือ 371-287 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นนักปรัชญาสำนักหญูที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของจีน ซึ่งเมื่อดูจากปีชาตะและมรณะโดยประมาณแล้ว เมิ่งจื่อย่อมมีชีวิตอยู่ในยุครัฐศึก

ส่วนที่ว่าเมิ่งจื่อเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงนั้น ตัวบ่งชี้หนึ่งก็คือ กรณีที่เขาได้รับการยกย่องให้เป็น “มหาทุติยาจารย์” (ย่าเซิ่ง) คือเป็นมหาคุรุที่จะเป็นรองก็แต่ขงจื่อเท่านั้น

คงด้วยฐานะเช่นนี้เอง ใน สื่อจี้ จึงได้บันทึกประวัติของเมิ่งจื่อเอาไว้ด้วยข้อความที่มีความยาวไม่มากนักก็จริง แต่ก็มีความชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับนักปรัชญาบางคน

โดยกล่าวว่า เมิ่งจื่อเป็นชาวรัฐโจว ซึ่งในปัจจุบันคืออำเภอโจวในมณฑลซานตง มีชื่อว่า เคอ

เมิ่งจื่อ หรือเมิ่งเคอ สำเร็จการศึกษาจากสำนักจื่อซือที่เป็นศิษย์สำนักหญูที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เมื่อจบการศึกษาแล้วจึงไปเป็นขุนนางให้กับกษัตริย์ซวนแห่งรัฐฉี แต่องค์กษัตริย์กลับมิสามารถใช้ประโยชน์อันใดได้ จึงได้เดินทางต่อไปยังรัฐเหลียง

แต่เมื่อกษัตริย์ฮุ่ยแห่งรัฐเหลียงได้ฟังหลักคิดของเขาแล้วก็กลับไม่เห็นประโยชน์ และว่าเป็นเรื่องที่ไกลเกินสถานการณ์จริง

ก็ในสมัยนั้นเอง รัฐฉินมีขุนนางซางยางมาช่วยขยายอำนาจและเศรษฐกิจให้แก่รัฐฉินจนมั่นคงและมั่งคั่ง ข้างฝ่ายรัฐฉู่กับรัฐเว่ยก็ได้ขุนนางอู๋ฉี่มาช่วยทำการศึกจนมีชัยเหนือรัฐที่อ่อนแอทั้งหลาย ข้างกษัตริย์เวยและกษัตริย์ซวนแห่งรัฐฉีนั้นเล่าก็ได้ขุนนางอย่างซุนจื่อกับเถียนจี้ จนผู้ปกครองรัฐอื่นต่างมุ่งหน้ามาทางตะวันออกเข้าสวามิภักดิ์ต่อรัฐฉี ในเวลานั้นทั่วทั้งแผ่นดินต่างมุ่งสร้างพันธมิตรระหว่างกันขึ้น บ้างก็ในลักษณ์ร่วมแนวตั้ง บ้างก็ในลักษณ์เชื่อมแนวนอน¹ เพื่อช่วงชิงการยอมรับในฐานะการนำ

แต่เมิ่งเคอกลับมุ่งบรรยายธรรมของบุรพกษัตริย์จากราชวงศ์ถังและอี๋ว์ หรือจากสามราชวงศ์เป็นอาทิ² ซึ่งไม่บรรสานกับแรงปรารถนาของผู้ฟัง จนต้องนิราศกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม

และได้ร่วมกับศิษยานุศิษย์ทำอรรถาธิบายปกรณ์เรื่อง ซือจิง และ ซูจิง เผยแผ่หลักคำสอนของขงจื่อ ทั้งยังร่วมนิพนธ์ปกรณ์ เมิ่งจื่อ รวมเจ็ดเล่มสมุด

ประวัติของเมิ่งจื่อจากที่กล่าวมานี้อาจถือเป็นฉบับทางการที่กระชับและชัดเจนที่สุด แต่ทว่าปกรณ์ในชั้นหลังต่อมายังได้ให้รายละเอียดที่ขยายความจากเดิมมากขึ้นไปอีก

เช่นกล่าวกันว่า ภายหลังจากที่ขงจื่อจากโลกไปแล้ว สำนักหญูของเขาก็มีสาวกสืบทอดหลักปรัชญาของเขาเรื่อยมา แต่ที่สำคัญและมีชื่อเสียงจะมีอยู่ด้วยกัน 8 สำนัก นั่นคือ สำนักของจื่อจาง จื่อซือ เอี๋ยนซื่อ (สกุลเอี๋ยน) เมิ่งซื่อ (สกุลเมิ่ง) ชีเตียวซื่อ (สกุลชีเตียว) จ้งเหลียงซื่อ (สกุลจ้งเหลียง) ซุนซื่อ (สกุลซุน) และเล่อซื่อ (สกุลเล่อ) โดยจื่อซือซึ่งเป็น 1 ใน 8 เจ้าสำนักหญูในชั้นหลังนั้นเป็นหลานของขงจื่อ

ส่วนเมิ่งเคอซึ่งเป็นศิษย์สำนักนี้ต่อมาก็มีชื่อเสียงจนเป็นอีก 1 ใน 8 สำนักเช่นกัน นั่นคือ สำนักเมิ่งซื่อหรือสำนักสกุลเมิ่ง ซึ่งก็คือสำนักของเมิ่งจื่อนั้นเอง

แต่ประวัติที่พิสดารกว่านั้นเห็นจะเป็นกรณีมารดาของเมิ่งจื่อเอง ที่กล่าวกันว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อเมิ่งจื่อตั้งแต่วัยเด็กจนเติบใหญ่

ประวัติในส่วนนี้จะบอกเล่าถึงภูมิหลังครอบครัวของเมิ่งจื่อว่า จำเดิมต้นตระกูลของเมิ่งจื่อถือเป็นตระกูลผู้ดี แต่เมื่อถึงตอนที่เมิ่งจื่อถือกำเนิดขึ้นนั้นก็ปรากฏว่าครอบครัวได้ตกอับเสียแล้ว นับแต่เล็กจนโต เมิ่งจื่อได้มารดาเลี้ยงดูอย่างใส่ใจ โดยที่ครอบครัวแม้จะยากจน แต่มารดาก็พยายามอบรมบ่มเพาะเมิ่งจื่อเป็นอย่างดี

อีกทั้งยังพยายามให้เขาได้รับการศึกษาที่ดี

เล่ากันว่า เมื่อเด็กนั้นเมิ่งจื่อนิยมเล่นพิธีกรรมเช่นไหว้ มารดาเห็นเช่นนั้นจึงย้ายบ้านไปยังตัวเมือง ครั้นอยู่เมืองเมิ่งจื่อก็นิยมเล่นขายของเลียนแบบผู้ค้าขาย พอเห็นเช่นนั้นอีกมารดาก็ย้ายบ้านไปใกล้สถานศึกษา ณ ที่นี้มีผู้ศึกษาเล่าเรียนประกอบกิจกรรมทางปัญญาอยู่เสมอ เมิ่งจื่อก็เลียนแบบบ้าง คราวนี้เป็นที่พอใจของมารดา จึงปักหลักที่บ้านหลังนี้เพื่อให้เมิ่งจื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี

เหตุการณ์นี้ถูกเรียกขานกันต่อมาว่า “มารดาเมิ่งจื่อย้ายบ้านสามครา” มารดาจึงมีอิทธิพลต่อชีวิตและงานของเมิ่งจื่ออย่างมากด้วยประการฉะนี้

ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของมารดาของเมิ่งจื่อยังมีที่พิสดารอีกประมาณหนึ่ง แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่า เรื่องทำนองนี้คงถูกผูกขึ้นจากข้อมูลและคำเล่าขานต่อๆ กันมา หามีหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนไม่ ดังนั้น การจะยึดถืออย่างจริงจังในทางวิชาการคงมิอาจกระทำได้ แต่ที่พอจะยืนยันได้ก็คือบทบาทของเมิ่งจื่อในวัยผู้ใหญ่

โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ของเมิ่งจื่อกับผู้นำรัฐต่างๆ ที่เขาได้พบ ได้ร่วมงาน หรือได้สนทนาด้วย


เชิงอรรถ

¹ การสร้างพันธมิตรในลักษณ์ร่วมแนวตั้งก็คือ เหอจ้ง (vertical) ในลักษณ์เชื่อมแนวนอนก็คือ เหลียนเหิง (horizontal) เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงกลางของยุครัฐศึก โดยการสร้างพันธมิตรระหว่างรัฐต่างๆ นี้จะมีรัฐฉินเป็นตัวตั้ง คือสร้างพันธมิตรกับรัฐฉินเพื่อต่อต้านรัฐอื่น หรือสร้างพันธมิตรกับรัฐอื่นเพื่อต่อต้านฉิน ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่ว่ารัฐฉินซึ่งกำลังเป็นรัฐทรงอิทธิพลใหม่นั้น ได้ทำให้รัฐอื่นรู้สึกว่ารัฐฉินกำลังเป็นภัยคุกคามของตน และเพื่อให้พ้นจากภัยคุกคามนี้ รัฐต่างๆ จึงดำเนินยุทธศาสตร์ด้วยการสร้างพันธมิตรในลักษณ์ร่วมแนวตั้งและเชื่อมแนวนอนขึ้นมา ทั้งนี้ สุดแท้แต่ว่ายุทธศาสตร์ใดจะเป็นประโยชน์แก่ตนในขณะนั้น จากเหตุนี้ การใช้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงสลับปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา สุดแท้แต่ผลประโยชน์ในช่วงสถานการณ์หนึ่งๆ อนึ่ง งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงกรณีนี้ไปแล้วในบทที่ว่าด้วย “วันคืนก่อนจักรวรรดิ”

² “3 ราชวงศ์” ตามนัยนี้คือราชวงศ์เซี่ย ซาง และโจว ส่วน “ถัง” คือชื่อราชวงศ์ที่สถาปนาขึ้นโดยเหยา และ “อี๋ว์” คือชื่อราชวงศ์ที่สถาปนาขึ้นโดยซุ่น ควรกล่าวด้วยว่า ทั้งเหยาและซุ่นในที่นี้ก็คือ หนึ่งใน “สามกษัตริย์ ห้าจักรพรรดิ” ในประวัติศาสตร์ยุคตำนานหรือดึกดำบรรพ์ของจีน ที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้วในบทที่ว่าด้วย “ชาติเมื่อยามรุ่งอรุณ”