การศึกษา / มหา’ลัยดิ้นปรับ ‘กลยุทธ์’ ผุด ‘วิชาแปลก’ ฝ่าวิกฤต ‘เผาจริง’??

การศึกษา

มหา’ลัยดิ้นปรับ ‘กลยุทธ์’

ผุด ‘วิชาแปลก’ ฝ่าวิกฤต ‘เผาจริง’??

 

ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และนักวิชาการ ออกมา “ยอมรับ” ตรงกันว่าปีนี้เป็นปีแห่งการ “เผาจริง” ของวงการศึกษาไทย โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากตัวเลขนักเรียนและนักศึกษาที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์ “เผาหลอก” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ผลกระทบที่เห็นชัดๆ คือเกิดการแย่งชิงนักเรียนและนักศึกษาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกระดับ หลายแห่งต้องเลิกจ้างครู อาจารย์ เพราะจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

หลายๆ แห่งต้องทยอยปิดหลักสูตรที่ไม่มีผู้สนใจเรียน

โดยมีแนวโน้มว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนขนาดเล็กหลายๆ แห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด อาจต้องปิดตัวลงในอนาคตอันใกล้นี้

 

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พบว่า ตัวเลขการรับนักศึกษาเข้าเรียนของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศลดลงประมาณ 10-15% ขณะที่กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กในต่างจังหวัด บางแห่งลดลงมากถึง 30% และคาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้จะลดลงมากกว่านี้

แต่ถ้าใครบอกให้ไปหาตัวเลขที่ชัดๆ กว่านี้มาโชว์ให้ดูกันจะจะ ก็คงต้องอ้างอิงตัวเลขจากระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2561 หรือทีแคส 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นำระบบทีแคสมาใช้คัดเลือกถึง 5 รอบ

โดยตัวเลขของผู้สมัคร “น้อยกว่า” จำนวน “ที่นั่ง” ที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งเปิดรับรวมกันอย่างน่าตกอกตกใจ…

ล่าสุด การเปิดรับสมัครนักศึกษาผ่านระบบทีแคส ประจำปีการศึกษา 2562 ยิ่ง “ตอกย้ำ” สิ่งที่หลายๆ คนกังวลได้อย่างดี โดยปีนี้มีสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมคัดเลือกในระบบทีแคส 92 แห่ง รับได้ถึง 390,120 ที่นั่ง

แต่มีนักเรียนที่ลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบการคัดเลือกไม่ถึง 3 แสนคน…

ถึงขั้นที่มีการหยิบเอาเรื่องจริงมาล้อกันชนิดที่ขำไม่ออก เด็กยุคนี้ไม่ต้องเครียดเรื่องสอบอีกแล้ว เพราะมหาวิทยาลัยมีที่นั่งเหลือเฟือ แค่เขียนชื่อ-นามสกุลไปยื่นสมัคร มหาวิทยาลัยก็อ้าแขนรับแทบไม่ทัน…

“เจ็บปวด” แต่เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้!!

 

วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ไม่ได้นิ่งนอนใจ หลายๆ แห่งพยายามปรับตัว ปรับกลยุทธ์ ปรับหลักสูตร ฯลฯ เพื่อดึงนักศึกษาให้เข้ามาเรียนในสถาบันของตัวเองให้มากที่สุด

ซึ่ง ทปอ.ได้หารือถึงประเด็นสถานการณ์ของอุดมศึกษาไทยในปี 2562 ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร โดยประเมินเบื้องต้นว่าปีนี้จะมีที่นั่งในมหาวิทยาลัย “มากกว่า” จำนวนนักศึกษาที่จะเข้ามาเรียนถึง 2 เท่า!!

ทปอ.จึงมีมติตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา” ที่มีนายศักรินทร์ ภูมิรัตน รองประธาน ทปอ.เป็นประธาน เพื่อที่ ทปอ.จะเข้าไปลงทุนทั้งกำลังคน กำลังเงินในการปฏิรูปเรื่องการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เพราะหากปล่อยให้มหาวิทยาลัยทำกันเอง จะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนมหาศาล

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน ทปอ.ระบุว่า ปีการศึกษา 2562 จะเป็นปีที่ “น่ากลัว” มากสำหรับมหาวิทยาลัยไทย ปัญหาเหล่านี้เราไม่เคยทราบก่อน เพราะเดิมแต่ละแห่งเปิดรับนักศึกษากันเอง แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบทีแคส จึงทำให้ ทปอ.รับรู้ปัญหานี้ทันที

โดยปีหน้ามหาวิทยาลัยมาถึงจุดเผาแล้ว คือเด็กน้อยลง ไม่สนใจจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเทคโนโลยีกว้างไกล เด็กรักอิสระมากขึ้น มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว

 

ขณะที่นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) นายวัลลภ สุวรรณดี ยอมรับว่ายอดรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชนลดจริง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด บางแห่งลดมากถึง 30% เชื่อว่าในปีต่อไปยอดนักศึกษาจะลดลงอีก แต่ขณะนี้ยังไม่มีมหาวิทยาลัยแจ้งขอปิดกิจการมาที่ สสอท.

ซึ่งมหาวิทยาลัยเข้าใจสถานการณ์ และปรับบทบาทผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของประเทศ แต่ยังมีปัญหาติดขัดบางประการ โดยเฉพาะข้อกฎหมายบางอย่าง ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน

นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ เลขานุการที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) บอกว่า ทปอ.มทร.ก็ได้เตรียมพร้อม และปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมี “สัญญาณ” มาตลอดว่านักศึกษาจะลดลง โดย 9 มทร.ได้หารืออย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีหลักสูตรที่ทันสมัย จัดสอนหลักสูตรใหม่ที่ตอบโจทย์อาชีพใหม่

วิกฤตเหล่านี้ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.มองว่า “ทางออก” คือทุกแห่งต้องปรับตัว เน้นผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศ สถานประกอบการ และตลาดแรงงาน

ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยต้อง “ทบทวน” ตัวเอง หา “จุดแข็ง” โดยอาจมีเพียง 2-3 คณะ และมุ่งส่งเสริมให้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง!!

 

เพื่อกอบกู้สถานการณ์ดังกล่าวและหารายได้จากช่องทางอื่นๆ เพื่อให้อยู่รอด มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มปรับตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างออกข้อสอบ รับจัดสอบให้กับหน่วยงานต่างๆ ให้เช่าพื้นที่ในการจัดสัมมนา ให้อาจารย์รับงานวิจัยจากหน่วยงานภายนอกเพิ่มขึ้น เป็นต้น

รวมถึงการปรับหลักสูตรหรือวิชาต่างๆ ที่เปิดสอนอยู่ให้ทันสมัย เปิดวิชาแปลกๆ ใหม่ๆ และรองรับความต้องการของผู้บริโภค

มหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังชิงเปิดสอนวิชาแปลกไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน อย่างวิชา “จีบ” ที่สอนเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ แต่ตั้งชื่อให้ดึงดูดคนเข้าเรียน จากนั้นก็ทยอยเปิดวิชาใหม่ๆ อาทิ วิชาเกี่ยวกับระบบนิเวศต้นน้ำ

นอกจากนี้ ยังพัฒนาวิชาที่เรียนผ่านออนไลน์ โดยเปิดให้คนทั่วไปลงทะเบียนเรียนคอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ที่ขณะนี้มีกว่า 100 วิชา เปิดสอนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 70 วิชา มีผู้สมัครเข้าเรียนมากกว่า 1 แสนราย เช่น วิชาแพะ : นวัตกรรมทางระบบสืบพันธุ์ขั้นสูงเพื่อขับเคลื่อนการผลิตแพะ คณะสัตวแพทยศาสตร์, มหากาพย์ อังกฤษ อัพเกรด ตั้งไข่ไวยากรณ์ เปิดสอนโดยสถาบันภาษา, ทำอย่างไรให้สินค้า Go Inter ขายได้ขายดี และดังข้ามโลก ของคณะนิเทศศาสตร์

เป็นต้น

 

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ยังต้องหันมาเปิดวิชา “โหราศาสตร์” เมื่อปีการศึกษา 2561 และในปีการศึกษา 2562 เตรียมเปิดวิชาเลือกอีก 2 วิชา คือ “AI กับชีวิตประจำวัน” และวิชา “Charming School” หรือโรงเรียนเสริมสร้างเสน่ห์

หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) เตรียมเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการอีสปอร์ต ของวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ ในปีการศึกษา 2562 โดยร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และวางแผนจับมือกับบริษัทเกมรายใหญ่ของสิงคโปร์ สโมสรเกม และผู้ประกอบการจากบริษัทต่างๆ เพื่อรองรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน

ส่วนมหาวิทยาลัยรังสิต เตรียมเปิดสอนวิชา “ศาสตร์แห่งรัก” ในปีการศึกษา 2562 หรือศาสตร์ต่างๆ ที่บูรณาการในวิชาการสอนอย่าง “RSU My Style”, วิชา “Talent Development”, วิชา “Creative Management”, วิชา “ศาสตร์และศิลป์ในการใช้ชีวิต” รวมถึงวิชา “คนต่างรุ่นในสังคมสูงวัย”

   จับตาว่ากลยุทธ์ในการเปิดหลักสูตรแปลกๆ หรือผุดวิชาใหม่ๆ ตั้งชื่อให้ดึงดูดความสนใจ จะช่วยดึงนิสิตนักศึกษาเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้มากขึ้น และกอบกู้วิกฤตที่อุดมศึกษากำลังเผชิญอยู่ได้หรือไม่??