บทวิเคราะห์ : “จันทร์เดือด”

ในประเทศ : จันทร์เดือด

แม้ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

ได้ระบุไว้

มาตรา 28 ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

หากพรรคการเมืองไม่ดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 108 ว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น”

ขณะที่พรรคการเมืองอาจถูกลงโทษของการกระทำดังกล่าวถึงขั้นยุบพรรค

การที่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เขียนไว้เช่นนั้น มีเหตุผลสำคัญ คือไม่ต้องการให้เกิดสภาพ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”

คือต้องการสกัดไม่ให้นายทักษิณ ชินวัตร เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไทยอีก

ซึ่งได้ผลหรือไม่

คงต้องพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา

 

เมื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซฯ ส่วนตัว https://twitter.com/ThaksinLive แจ้งให้สาธารณชนได้รับทราบว่า ได้จัดรายการ “Good Monday รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร” ขึ้น

ด้วยเหตุผลว่า “เพราะผมเสียดายเวลา 12 ปีที่อยู่ใน ตปท. เห็นความเจริญและความล้าหลังของหลายประเทศ จึงอยากมาเล่าสู่พี่น้องชาวไทยทุกวันจันทร์ครับ”

รายการ “Good Monday” ถือเป็นการเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ในช่วงใกล้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในประเทศไทย

ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีผลไม่มากก็น้อย ต่อการเลือกตั้ง

ถามว่า แล้วมาตรา 28 และ 29 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งถูก “ดีไซน์” ขึ้นมา สามารถป้องกันนายทักษิณไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวได้หรือไม่

หากนายทักษิณใช้วิธีไต่ลวด โดยไม่ถลำเข้าไปยังพื้นที่อันตราย “ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ”

ก็คงไม่มีใครจัดการ หรือควบคุมได้

และที่สำคัญสามารถกลายเป็นรายการคู่แข่ง รายการโทรทัศน์และวิทยุ ทุกคืนวันศุกร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งคาดหมายว่า คงจะมีการเปรียบเทียบเนื้อหารายการกันอย่างใกล้ชิด

แม้นายทักษิณจะถูกปรามาสว่าเป็นนักโทษหนีคดี เป็นคนไร้ที่อยู่

แต่ 12 ปีที่นายทักษิณระเหเร่ร่อนอยู่ในต่างประเทศนั้น คงไม่อาจปฏิเสธความเป็น “คนของโลก” ที่ได้สัมผัสสิ่งที่นายทักษิณบอกว่าได้เห็นความเจริญและความล้าหลังของหลายประเทศ

ที่สามารถตกผลึก และนำมาเป็นสิ่งที่บอกกล่าวคนไทยถึงทิศทางที่ควรไปและไม่ควรไป ได้อย่างคนมีประสบการณ์ “ตรง”

และนี้เองที่ทำให้ “Good Monday” จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับรายการโทรทัศน์-วิทยุของ พล.อ.ประยุทธ์ ทุกวันศุกร์ อย่างช่วยไม่ได้

อย่าง “Good Monday” ตอนแรกนั้น

นายทักษิณได้เตือนล่วงหน้าว่า ปีหน้า ค.ศ.2020 วัฏจักรของระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกจะมีปัญหา

เป็นแรงกระแทกต่อเศรษฐกิจไทย ที่ฐานล่างอ่อนแอมาก เราจะป้องกันกันอย่างไร

นายทักษิณได้เสนอให้เอาเทคโนโลยีถักร้อยให้บริษัทเล็กๆ รวมกันให้เแข็งแรงเอาไว้

ให้คิดถึงเรื่องของระบบแอพพลิเคชั่น ที่จะทำให้เกิด Sharing Economy หรือเกิดการทำให้เอาสิ่งที่เรามีอยู่มารวมกันเหมือนเป็นบริษัทใหญ่ แต่ไม่ใช่บริษัทใหญ่ แต่เป็นต่างคนต่างทำมาหากิน ต่างคนต่างมีรายได้ แต่ใช้เทคโนโลยีร้อยรวมเข้าหากัน

อันนี้จะต้องรีบต้องเกิด ถ้าไม่เกิดก็แข็งแรงสู้เขาไม่ได้

นั่นคือสิ่งที่นายทักษิณย้ำ

และได้กระตุ้นให้สังคมไทยเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีหุ่นยนต์

“ปี 2045 เค้าทำนายไว้ว่าหุ่นยนต์จะมีความฉลาดเท่ากับมนุษย์ ที่มีสมองเท่ากับสมองเฉลี่ยของโลก คือถ้าใครมีสมองต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ก็โง่กว่าหุ่นยนต์ ถ้าใครสมองฉลาดกว่าค่าเฉลี่ยก็จะเก่งกว่าหุ่นยนต์ ในประเทศที่ไม่เจริญทางเทคโนโลยี ก็จะมองหุ่นยนต์เป็นตัวมาแย่งงานคนทำ แต่ส่วนประเทศที่มีความเจริญทางเทคโนโลยี เขาก็จะมองว่าหุ่นยนต์มาช่วยทำให้คนสามารถไปทำงานที่สำคัญกว่า งานจำเจซ้ำซ้อน พวกงานประจำเนี่ยก็ให้หุ่นยนต์ทำก็ได้ นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ประเทศไทยเราควรจะต้องฝึกคนให้เป็นนายหุ่นยนต์ อย่ามานั่งรอให้หุ่นยนต์มาไล่เราออกจากงาน”

นายทักษิณเสนอให้ฝึกการใช้โปรแกรมด้าน AI หรือ artificial intelligence และฝึกการใช้หุ่นยนต์ อย่าไปหนีอะไรเลย สู้กับมันดีกว่า ง่ายกว่า

เช่นเดียวกับการรักษาสุขภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย

โลกข้างหน้าจะใช้วิทยาการสมัยใหม่ เช่น เทโลเมียร์ ที่ดูความยาวสั้น โครโมโซม ความสั้นยาว จะชี้ถึงสุขภาพเราได้ พัฒนาการใช้จุลินทรีย์แทนยา พัฒนาการใช้ฟิสิกส์แทนยา

ต่อไปสุขภาพมนุษย์จะแข็งแรงขึ้น เป็นยุคที่เรียกว่า มี Human Spare Parts คือมีอะไหล่มนุษย์ มนุษย์อายุยืนขึ้นถึง 120 ปี ต้องออกแบบเศรษฐกิจใหม่มารองรับ ออกแบบสวัสดิการของมนุษย์ใหม่

จากเนื้อหาคร่าวๆ ข้างต้น จะเห็นว่านายทักษิณมีมุมมองใหม่จำนวนมาก

แน่นอนสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีคำว่า สังคมไทยยุค 5 จี หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีติดปากอยู่นั้น คงจะต้องทำการบ้านมาสู้อย่างหนัก

มิเช่นนั้นแล้ว ย่อมจะนำไปสู่การเปรียบเทียบอย่างไม่ต้องสงสัย

และหาก Good Monday ของนายทักษิณนำเสนอเนื้อหาที่เดินนำหน้าไปหลายก้าวมากขึ้นๆ

คงไม่ต้องบอกว่า “การเลือกตั้ง” ที่จะเกิดขึ้น พรรคใดจะได้เปรียบ ในแง่ “วิชั่น” และมุมมอง

และก็ยากที่จะลากให้เข้าไปอยู่ในข้อกล่าวหา “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ”

ได้โดยง่าย

นี่เองที่ทำให้ Good Monday ถูกมองว่าเป็นการรุกทางการเมืองจากนายทักษิณ

ซึ่งก็คงสร้างความหงุดหงิดให้กับฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ในปัจจุบันไม่น้อย

จึงไม่แปลกที่เมื่อผู้สื่อข่าวนำเรื่องนี้ไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ปฏิกิริยาแรกที่ผู้สื่อข่าวได้สัมผัสก็คือ การแสดงสีหน้าหงุดหงิด และถึงกับสะบัดหน้าหนีทันที พร้อมกับหลุดคำพูดเสียงดังว่า “เฮ้ย ไม่พูด ขี้เกียจฟัง”

แล้วก็เดินออกจากกลุ่มสัมภาษณ์ พร้อมด้วยคำพูดจาก พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “ไม่พูดด้วยแล้ว”

ส่วนพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แม้จะไม่ได้แสดงอารมณ์มากเท่านายกฯ แต่ก็ตั้งคำถามกลับว่า

“ควรจะฟังเขาหรือไม่ เขาอยู่นอกประเทศ จะไปทำอะไร จะมีคนฟังหรือไม่ผมจะไปรู้หรือ พวกคุณต้องไปถามคนฟัง”

แน่นอนอีกไม่นาน ก็น่าจะมีคำตอบว่า “คนฟัง” จะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับ Good Monday ของนายทักษิณ

หากปราศจากการขานรับ ก็ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดีของฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ในปัจจุบัน

แต่หาก Good Monday เกิดได้รับการขานรับ และตอบสนอง โดยเฉพาะการนำเสนอ “สิ่งใหม่”

ในขณะที่รายการทุกวันศุกร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกวิจารณ์ย่ำอยู่กับที่ จนภาวะเรตติ้งอยู่ในระดับ “นิ่งสนิท” อย่างที่เป็นอยู่

ย่อมกลายเป็นข้อเปรียบเทียบแก่คนในทำเนียบอย่างไม่ต้องสงสัย

วันจันทร์ซึ่งควรเป็นวันเริ่มต้นทำงานอย่างสดใส หากกลับกลายเป็นวันจันทร์เดือด

คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนุก และหงุดหงิดใจให้กับคนในทำเนียบ

และอาจกดดันจะต้องให้ทำศึกใหญ่และศึกรุนแรงกับฝ่ายตรงข้าม อย่างช่วยไม่ได้

การเลือกตั้งย่อมจะเดือดพล่าน ท่ามกลาง “ภูมิทัศน์ใหม่” ของเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่พุ่งเข้าหาประชาชนในทุกทิศทาง

     ใครนำเสนอ “สิ่งใหม่” “เป้าหมายใหม่” ได้มากกว่า ย่อมดำรงความได้เปรียบ โดยเฉพาะในช่วง “สงครามการเลือกตั้ง” ที่กำลังระเบิดขึ้น!