กรองกระแส / GOOD MONDAY สงครามเทคโนโลยี สงครามการเมือง ปัจจัยแปร ‘วันเลือกตั้ง’

กรองกระแส

GOOD MONDAY

สงครามเทคโนโลยี สงครามการเมือง

ปัจจัยแปร ‘วันเลือกตั้ง’

 

เหมือนกับการที่นายทักษิณ ชินวัตร จัดรายการ Good Monday ผ่านพอดเคสต์ แอพพลิเคชั่นของแอปเปิล จะเป็นเช่นเดียวกับการสื่อผ่าน “ทวิตเตอร์” การสื่อภาพผ่าน “อินสตาแกรม” การสื่อข้อมูลผ่าน “ไลน์” จะเป็นการสำแดงจุดมุ่งหมายทางการเมืองอย่างเด่นชัดอีกจังหวะก้าวหนึ่ง

กระนั้น หากพิจารณา “เนื้อหา” และกระบวนการนำเสนอก็จะสัมผัสได้ถึงพัฒนาการที่มีลักษณะก้าวกระโดดมากยิ่งขึ้น

เปรียบเทียบกับยุคที่นำเสนอรายการผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในห้วงเป็นรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 เหมือนกับไม่มีอะไรใหม่ ทั้งยังเป็นการพูดมาจากต่างประเทศแทบไม่มีประโยชน์อะไร

เพราะฝ่ายที่สามารถปฏิบัติได้จริงกลับเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจอย่างเต็มมืออยู่ในขณะนี้ต่างหาก

จึงพลันที่รัฐบาลออกนโยบายแจกเงินผ่าน “บัตรคนจน” ในชนิดอเนกประสงค์ เนื้อหาที่มีการนำเสนอผ่านรายการ Good Monday แทบไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะของรัฐบาลยังสามารถนำเอาไปใช้จ่ายอำนวยความสะดวกเฉพาะหน้าได้

ขณะที่การบรรยายผ่าน Good Monday ก็เสมอเป็นเพียงการฝันกลางวัน เลื่อนลอยไร้รากฐานที่เป็นจริงรองรับ

ที่หวังจะสร้างคะแนนนิยมก็อาจจะว่างเปล่า ไม่มีความหมายอะไร

 

สงครามการเมือง

สงครามเทคโนโลยี

 

ต้องยอมรับว่าจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้การต่อสู้ในทางการเมืองยุคใหม่สัมพันธ์กับเทคโนโลยีใหม่อย่างแนบแน่น

ทำให้ยุคหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 แตกต่างออกไป

แตกต่างไปจากยุคหลังรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 กระแทกนายปรีดี พนมยงค์ ให้กลายเป็นผู้ลี้ภัยอยู่จีน แตกต่างไปจากยุคหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2500 กระแทกจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้กลายเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ญี่ปุ่น

แตกต่างแม้กระทั่งยุคหลังรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 กระแทกให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต้องไปรักษาตัวอย่างสงบเงียบอยู่อังกฤษ

ตรงกันข้าม แม้หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 จะทำให้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกโค่น นายทักษิณ ชินวัตรต้องระเหเร่ร่อนอยู่ต่างประเทศ แต่หลังการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ก็ได้กลับมา แม้จะประสบกับมรสุมอันสาดซัดเข้ามาจนต้องหลบหนีออกจากประเทศ พรรคพลังประชาชนถูกยุบ

แต่เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ชัยชนะก็ยังตกอยู่กับพรรคเพื่อไทยอันเป็นอวตารของพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย

ในการเลือกตั้งไม่ว่าจะในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะในเดือนมีนาคม พรรคเพื่อไทยก็ยังอยู่

การดำเนินการผ่านรายการ Good Monday อาจไม่มีอะไรเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยเลย แต่นี่คือการเคลื่อนไหวอีกรูปแบบหนึ่งของนายทักษิณ ชินวัตร

 

คืนความสุข ทุกค่ำวันศุกร์

กับ Good Monday

 

หากมองผ่านเนื้อหาที่นำเสนอผ่านรายการ Good Monday ไม่มีเนื้อหาใดพาดพิงถึง คสช. ไม่มีเนื้อหาใดพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพียงแต่เน้นหนักไปในทาง “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยี”

เพียงแต่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกอันอาจจะมีผลกระทบต่อสังคมประเทศไทย หากไม่สามารถปรับตัวได้ทันและอย่างเหมาะสม

แสดงความเป็นห่วงในฐานะคนที่เกาะติดอยู่กับ “เทคโนโลยี”

ขณะเดียวกัน พลันที่รายการ Good Monday ปรากฏก็ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับรายการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุกค่ำวันศุกร์ต่อเนื่องตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไปโดยอัตโนมัติ

ตรงนี้เองที่ก่อให้เกิดสภาพอันละเอียดอ่อนในทางความคิดและในทางการเมือง

ผลงานจากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนมกราคม 2562 จึงถูกนำมาวางกองอยู่เบื้องหน้าและถูกนำไปเปรียบเทียบกับความห่วงใยอันปรากฏผ่านรายการ Good Monday อย่างไม่มีใครอาจจะห้ามปรามได้

แรงสะเทือนย่อมส่งไปยังจังหวะก้าวการเคลื่อนไหวของหลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย

แรงสะเทือนนี้มีน้ำหนักเป็นอย่างสูงใน “วันเลือกตั้ง”

 

ไต่ยอดคลื่นนวัตกรรม

ไต่ยอดคลื่นเทคโนโลยี

 

รายการ Good Monday แอบอิงอยู่กับ “เทคโนโลยี” แอบอิงอยู่กับนวัตกรรมใหม่ในทางวิทยาศาสตร์อย่างเด่นชัด

อาศัยจุดเด่นของ “เทคโนโลยี” มาเปิดช่องทางและสร้างคุณค่า

เป็นคุณค่าในทางเนื้อหา ความคิด เป็นคุณค่าอันจะอำนวยประโยชน์ในทางการเมือง เป็นผลเสียกับบางพรรค เป็นผลดีกับบางพรรค

    ไม่ว่าเจ้าของรายการ Good Manday จะต้องการ หรือจะไม่ต้องการ