เกษียร เตชะพีระ : “เคล็ดลับวิชาชีพที่ผมไม่แน่ใจที่จะแนะนำ”

เกษียร เตชะพีระ

เคล็ดลับอย่างหนึ่งของวิชาชีพที่ผมไม่แน่ใจที่จะแนะนำ

คือผมแปลกแยก (alienated, alienation) จากมันอยู่ตลอดเวลา

ในแง่หนึ่งผมเข้าใจว่ามันติดตัวผมมาตั้งแต่เด็กที่เป็นลูกเจ๊กซึ่งมักถูกลำเลิกและล้อเลียนโดยครูและเพื่อนบางคนเป็นระยะๆ

ยังไม่นับที่ถูกทางราชการบอกให้รู้ตัวเสมอว่าบรรพบุรุษ “อพยพมาอยู่ที่นี่” เป็น “ผู้มาอาศัย” ซึ่งก็หมายความว่า “ไม่ใช่เจ้าของ”

มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็น “แนวที่ห้า” ในบ้านเกิดตัวเองอย่างไรชอบกล

ความรู้สึกนีhยิ่งชัดเจนเมื่อผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยกลางปี พ.ศ.2518

เรียนรู้ระบบระเบียบแบบแผนการคิดทางวิชาการในห้องเรียน

ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ระบบระเบียบแบบแผนการคิดทางการเมืองและอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายนอกห้องเรียนตามกระแสหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516

ผมอาจโชคดีที่หาทาง “ประสาน” ระบบระเบียบทั้งสองเข้ากันได้ ให้มันตึงเครียด ขัดแย้ง แต่ก็ป้อนเลี้ยงกันและกัน เติมเต็มจุดอ่อนช่องโหว่ของกันและกัน

บ่อยครั้งที่ผมใช้แนวคิดทฤษฎีนอกห้องเรียนติวสอบให้เพื่อนๆ ที่โดดร่มหนีเรียนไปทำกิจกรรม แล้วพวกเขาไปตอบข้อสอบแล้วได้ A เช่น ไอ้ธง หรือศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล

และต่อมาเมื่อเข้าป่าแล้วหลัง 6 ตุลาคม 2519 ก็บ่อยครั้งเช่นกันที่ผมใช้แนวคิดทฤษฎีที่ผมได้เรียนจากในห้องเรียนที่ธรรมศาสตร์ไปตอบคำถามในหัวคิดจิตใจที่ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตงไม่มีคำตอบให้

เช่น ความสำคัญที่เป็นใจกลางของรัฐราชการในระเบียบอำนาจรัฐไทย เป็นต้น

ในฐานะสหายฝ่ายข่าวที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ monitor หรือติดตามฟังข่าวต่างประเทศภาษาอังกฤษด้วย The Little Oxford Dictionary เล่มเดียวที่ผมแอบนำติดตัวเข้าไปจากในเมือง

ผมได้ฟังและได้คิดได้เรียนรู้จากรายการข่าวสารคดีวิทยุของ BBC, VOA ฯลฯ ภาคภาษาอังกฤษสารพัดวันละไม่น้อยกว่าสี่ชั่วโมงต่อวัน นานสี่ปีกว่า ด้วยวิทยุคลื่นสั้นที่จัดตั้งมอบหมายให้

เป็นประจำที่เมื่อผมฟังข่าว-จดแปลสดเป็นไทยเสร็จ ก็จะฟังเรื่องสั้น วรรณกรรม สารคดีสารพัดต่อ

จนสหายที่ฟังภาษาอังกฤษออกและได้ยิน เอาไปแฉในวงวิจารณ์รวมหมู่ว่าผมแอบฟังสิ่งที่ไม่ควรฟังในทางอุดมการณ์

เมื่อป่าแตก ผมกลับเข้ามาเรียนที่ธรรมศาสตร์ แม้จะบอบช้ำทางจิตใจ แต่ด้านความคิด ความรับรู้ ผมคิดว่าเจนจัดขึ้น

อาศัยช่วงปรับตัวช่วงหนึ่ง ผมก็กลับเข้าสู่โหมดเก่า คือมีสองระบบคิดในตัว ที่เรียนจากห้องเรียน และหาความรู้เองจากหนังสือหนังหาภายนอกและประสบการณ์ที่ผ่านมา แล้วประสานมันเข้าด้วยกัน

ผมได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งในสาขาการระหว่างประเทศ ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.8 และด้วยความใจกว้างเมตตาของอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่าน ผมก็ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หลังเรียนจบ

และก็ไม่แปลกใช่ไหมครับที่ผมจะใช้โหมดเดิมของการเรียนรู้ คิดอ่านและดำเนินชีวิตอย่างแปลกแยกด้วยสองระบบคิด สองระบบค่านิยมความเชื่อในหัวเช่นเคย

เมื่อผมปรับตัวจนเข้าใจว่างานวิชาการต่างจากแถลงการณ์ที่มีเชิงอรรถอย่างไร และการบรรยาย-สัมมนาในชั้นต่างจากการไฮด์ปาร์กต่อที่ชุมนุม และการคุยข่าวให้พ่อแม่พี่น้องชาวนาฟังอย่างไร ผมก็เป็น “นักวิชาการ” แปลกแยกได้เต็มตัว

ผ่านไปสามสิบกว่าปี คนย่อมอาจมองได้ว่าการได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ ได้งานวิจัยดีเด่นของมหาวิทยาลัย ได้กีรตยาจารย์ ได้เครื่องราช ม.ป.ช. ในปีสุดท้ายของการรับราชการถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ

แต่สำหรับส่วนตัวผม ที่สำคัญกว่าคือการรักษา “ความแปลกแยก” ส่วนตัวไว้ในระหว่างนั้นทั้งหมด

มันไม่สุดวิสัยที่จะเรียนรู้จากระบบ และทำงานได้สำเร็จในระบบ โดยคงความแปลกแยกจากระบบทางความคิดจิตใจไว้ด้วยในขณะเดียวกัน

มันทำให้ผมพัฒนาเส้นทางหาความรู้ แหล่งความรู้ การถ่ายทอดความรู้ และการผสานใช้ความรู้ได้โดยไม่รู้สึกขัดฝืนแปลกแยกเกินไปกับความเชื่อค่านิยมส่วนลึกในตัว

พูดอีกอย่างคือ ผมเป็นอย่างนี้ในวันนี้ได้ เพราะผมวางตัวไว้ห่างช่วงแขนหนึ่งจากระบบ แปลกแยกจากระบบ ไม่ยอมให้ระบบกลืนกิน

แน่นอน การทำแบบนี้ก็มีต้นทุนของมันที่ผมต้องจ่าย โอกาสบางอย่างที่ผมเดินผ่านเลยไป…

เช่น ผมได้เข้าใจว่าผู้หลักผู้ใหญ่ที่เขาต้องการรับเราเข้าเครือข่ายอุปถัมภ์ของเขาด้วยการขอให้เราร่วมช่วยงานนั้น เขาจะขอไม่เกิน 3 ครั้ง หลังจากนั้นถ้ายังปฏิเสธ ก็เป็นอันเลิกแล้วต่อกัน เป็นต้น

แต่ที่แลกได้มา ผมคิดว่าคุ้ม คือผมได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่หักหลังความเป็นตัวเอง ไม่ต้องหลบตาตัวเองเวลาส่องดูกระจก

ผมเชื่อว่าเพื่อนฝูงและลูกศิษย์หลายคนอาจประสบปัญหาคล้ายกันในการเข้าสู่ระบบใหญ่ที่ตนต้องสังกัด

จะอยู่กับมันอย่างไรแบบไม่เชื่อ จะอยู่กับมันอย่างไรโดยไม่เพียงอยู่รอดแต่ประสบ “ความสำเร็จ” ได้พอควร

ผมคิดว่าทำได้ ขอแต่รักษาและผสานระบบคิดระบบทำงานคู่ขนานและยอมรับ “ความแปลกแยก” เป็นอาภรณ์ประดับตัวและความคิดจิตใจ

เมื่อผมไปเรียนต่อระดับปริญญาโท-เอก ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนลที่อเมริกาเทอมแรก กลอนชิ้นแรกที่ผมส่งให้เพื่อนฝูงที่เขียนจดหมายไปหาเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนยังคงสะท้อนอยู่ในหัว

ผมขออนุญาตนำมาลงท้ายข้อเขียนนี้ :

“จะว่าใกล้ใกล้แน่แค่จิ้มนิ้ว ยกหูหิ้วก็สื่อความได้ตามสาย

จะว่าไกลไกลโพ้นโคนรุ้งปลาย ข้ามสมุทรจุดหมายไม่เห็นเลย

บนแผ่นดินผืนใหม่โลกใบเก่า ชีวิตคนยังคงเฉาและเฉื่อยเฉย

ใครยากไร้ก้มหน้าไม่กล้าเงย ใครสง่าผ่าเผยต้องมั่งมี

มีผู้คนคุ้ยของกองขยะ เสื้อผ้าขาดปุปะพลัดถิ่นที่

ขอเศษเงินเดินโซเป็นโยคี หน้าหนาวทีแข็งตายก็หลายคน

มีผู้คนรวยล้ำจนค้ำฟ้า กลับชาติมาใช้ใหม่ได้หลายหน

ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าดอลลาร์ตน ซื้อเสียจนชีวิตนี้ไม่มีอะไร

ต้นไม้โกร๋นถนนขาวหนาวน้ำแข็ง โดนลมโกรกแรงแรงอาจเป็นไข้

ไม่ดื่มนมอมเนยเชยบรรลัย ขนมปังแผ่นใหญ่รสชืดชา

อ่านหนังสือเขียนบทความตามคำสั่ง ว่างดูหนังฟังเพลงโอเปร่า

เหงาก็ฝ่อห่อเหี่ยวเปลี่ยวอุรา หลับก็ฝันถึงแต่หน้าเพื่อนเพื่อนเรา

“จะที่นั่นที่นี่ที่ไหนไหน โลกล้วนไม่สวยสดหดหู่เศร้า

ความเป็นจริงโลกนี้เป็นสีเทา เป็นสีเก่าแก่ที่มีมานาน

จิตรกรก่อนเราก็หลายรุ่น มุ่งวาดโลกสีละมุนละไมหวาน

ขึงผ้าใบห่มจินตนาการ ผสมสีใส่จานจุ่มพู่กัน

บรรจงวาดโลกที่ไม่มีโลก ไม่มีความโสโครกเขย่าขวัญ

ไม่มีคนอดอยากลำบากครัน ไม่มีการฆ่าฟันทำสงคราม

ไม่มีการกดขี่เหยียบยีย่ำ ไม่มีน้ำตาทุกข์ที่ท่วมหลาม

ไม่มีอำนาจใดให้ยอมตาม ไม่มีความมั่งคั่งบนหลังคน

ไม่มีคำตอบหนึ่งซึ่งต้องถูก ไม่มีศาสดาผูกขาดเหตุผล

ไม่มีการสอบเอ็นฯ ตามเกณฑ์ตน ไม่มีความอับจนทางปัญญา

และไม่มีไม่มีล้วนไม่มี อะไรที่เคยมีไม่เข้าท่า

และมั่งมีมากมายล้วนมีมา อะไรที่ฝันว่าอยากให้มี

“ความเป็นจริงหยิ่งผยองครองโลกอยู่ ชี้นิ้วกราดตวาดขู่เจ้าของสี

ไอ้ความฝันจัญไรไม่เข้าที เหยียบขยี้ยีย่ำคว่ำผ้าใบ

หักพู่กันเขวี้ยงจานจนแหลกยับ เข้ารวบจับจิตรกรผู้อ่อนไหว

ขึงด้วยตรวนแส้ฟาดเจียนขาดใจ หยิบสีเทายื่นให้เจ้าจงทา

ทาที่หน้าทาตัวให้โชกชุ่ม ทาแผ่นดินให้เทาคลุมทั้งผืนหล้า

ทาความฝันดวงจินต์และวิญญาณ์ ทาจนกว่าเจ้าจะเห็นเป็นสีเทา

ทาจนหมดยิ้มละไมที่ในโลก จนเหลือแต่ความโศกที่ซึมเศร้า

ทาจนสิ้นสีอื่นใดไม่เหลือเงา จนกว่าเจ้าเห็นสีเทาเป็นธรรมดา

“ในความจริงสีเทาอันเศร้าหมอง น้ำตาจิตรกรนองทั้งใบหน้า

สีเทาหยดเข้าปากสากลิ้นคา จิตรกรกัดชิวหาฆ่าตัวตาย

เขายอมตายกับความฝันอันผุดผ่อง ดีกว่าอยู่ในโลกหมองหมดความหมาย

สำหรับเขาเขาไม่ได้วอดวาย ซากสีเทาทั้งหลายไร้ชีวิต

ลมหายใจเทาเทาเปล่าคุณค่า ตายดีกว่าความฝันตายสนิท

นิทานนี้มีสาระน่าคิด ฝากมิ่งมิตรทั้งผองไตร่ตรองดู

“ไม่เหมือนคำอวยพรตอนปีใหม่ เล่าเรื่องเลวบรรลัยไม่เข้าหู

ผิดกาลเทศะน่าจะรู้ ครับใช่ครับจริงอยู่เป็นอย่างนั้น

ต้องขอโทษโปรดอภัยให้ผมด้วย ที่เล่าเรื่องเฮงซวยขัดหูท่าน

งั้นขออวยพรใหม่ให้แล้วกัน จงยั่งยืนหมื่นพันมากอายุ

จงร่ำรวยแสนล้านบานตะไท ปัญญาคล่องสมองใสไม่กร่อนผุ

จงค้าขายเซ็งลี้ดีบรรลุ จงอ้วนฉุสมมาตรปราศโรคภัย

แล้วถ้ามีเวลาว่างบ้างนิดหน่อย เขียนจดหมายแผ่นน้อยน้อยไม่ต้องใหญ่

เล่าข่าวคราวถึงผมบ้างพอวางใจ เพื่อนยังฝันอยู่หรือไม่ในโลกเทา…

ผมยังคิดถึงจิตรกรคนนั้นอยู่เสมอมาจนทุกวันนี้