อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : สถานการณ์โลกปี 2019 ในภาพกว้าง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

มีหลายคนมองว่า เป็นความยุ่งยากที่น่ารำคาญในการให้รายละเอียดถึงอนาคตในวันข้างหน้า แต่นั่นไม่ควรยับยั้งพวกเราในความพยายามอันนี้เพื่อแสวงหาว่าเรากำลังมองเห็นอะไรในมุมต่างๆ ของปี 2019

แล้วพิจารณามัน

 

ภาพกว้าง

สําหรับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) มองว่าเศรษฐกิจโลกยังเติบโตในอัตราที่ดี แม้ว่าจะมีสิ่งที่ IMF เรียกอย่างสุภาพว่า ความไม่แน่นอนทางนโยบาย (policy uncertainty) ซึ่ง IMF ขยายความว่าก็คือ นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้แก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาและใช้มาตรการภาษีศุลกากรหลายอย่าง ซึ่งก่อผลเสียต่อทั้งคู่ค้าของสหรัฐอเมริกาและผู้บริโภคชาวอเมริกัน

ทั้งนี้ ในการประชุม Bloomberg New Economy Forum เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2018 ที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ร้อยละ 68 ของตัวแทนที่เข้าประชุม 400 คน ระบุว่า สงครามการค้าเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในปี 20191

แถมด้วยอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา Henry Paulson เตือนว่าจะมีกำแพงเหล็กทางเศรษฐกิจ ถ้าสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ประนีประนอมกัน

 

สิ่งที่รออยู่ : Brexit และยุโรป

Brexit สำหรับนักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า วันเวลาที่สำคัญที่สุดตามปฏิทิน 2019 คือเดือนเมษายน 2019 เมื่อสหราชอาณาจักรวางกำหนดการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (European Union) หลังจากเป็นสมาชิกมานาน 46 ปี

ผลของ Brexit ต่อเศรษฐกิจอังกฤษจะมีมากเมื่อมีการบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป ผลที่แย่ที่สุดจะเป็นความอลหม่าน “ไม่มีดีล” การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

Matt Hancook รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษแจ้งต่อผู้ผลิตยาให้เก็บสต๊อกยาเอาไว้ภายในประเทศ ในกรณีที่ไม่มีดีล Brexit และการนำเข้ายาเกิดความล่าช้า ความตกลงบางอย่างชะงักงัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กล่าวคือ การมีดีลกับไม่มีดีลเรื่อง Brexit Brexit กำลังก้าวสู่ความยุ่งยากมากมาย นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ

หากเพียงพิจารณาขั้นตอนการทำ Brexit ตอนนี้ยังมีอีกคือ หนึ่งการดีลที่สหภาพยุโรปตกลงด้วย

ที่ยากไปกว่านั้นคือ การยินยอมของรัฐสภาอังกฤษ2

 

ยุโรป

ไม่ใช่ในยุโรปจะมีปัญหาแค่ Brexit เท่านั้น

ยุโรปมีอะไรให้กังวลมากกว่า Brexit เสียอีกในปี 2019 ที่อิตาลี รัฐบาลผสมที่ใช้นโยบายประชานิยม (Populism) กำลังไม่เชื่อฟังความต้องการของสหภาพยุโรป ที่ต้องการให้ใช้งบประมาณขาดดุลในปี 2019 ส่วนประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ รวมทั้งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ฝ่าฝืนช่องว่างการขาดดุลโดยไม่สนใจผลกระทบที่รุนแรงที่จะตามมา

แต่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Commission) กำลังดำเนินการรุนแรงกับรัฐบาลผสมของอิตาลี

ทั้งนี้ ผู้นำของสองพรรคการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยม ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้แสดงการไม่สนับสนุนรัฐบาลผสมของอิตาลี การไม่ทำงบประมาณขาดดุลอาจทำให้อิตาลีก้าวเดินตามอังกฤษ

แต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ตามการคาดการณ์ของ Bloomberg Economics เศรษฐกิจของอิตาลีขยายตัวร้อยละ 1 ในปี 2019 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างอ่อนแอต่อเนื่อง

ส่วนสหพันธรัฐเยอรมนีทาง Bloomberg Economics พยากรณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ร้อยละ 1.7

 

สาธารณรัฐประชาชนจีน

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2019 สดใสโดยเปรียบเทียบ Bloomberg Economics คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ปัจจัยใหญ่อยู่ที่อัตราภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งครอบคลุมมากกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกสินค้าจีนไปยังสหรัฐอเมริกา

อีกปัญหาหนึ่งคือ ความพยายามของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในการลดทอนหนี้สะสมของครอบครัว ธุรกิจและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีนทำให้ผู้นำจีนสามารถดึงโดยอนุญาตให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง

อันจะทำให้สินค้าของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสามารถในการแข่งขันได้กับคู่แข่งขันของตน ได้แก่ ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี

 

ญี่ปุ่น

การเติบโตทางเศรษฐกิขของญี่ปุ่นเข้มแข็งขึ้น

แม้ว่าญี่ปุ่นขาดแคลนกำลังแรงงาน

เศรษฐกิจญี่ปุ่นมี GDP เติบโตต่อปีร้อยละ 3 ในไตรมาสที่ 2 ของปี แต่นิสัยของรัฐบาลญี่ปุ่นป้องกันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของตนโดยการขึ้นภาษี

มีการขึ้นภาษีการขาย (sale tax) อันวางช่วงเวลาเอาไว้คือเดือนตุลาคม 2019

 

สาธารณรัฐอินเดีย

ส่วนแชมป์เศรษฐกิจเติบโตแห่งเอเชียขณะนี้คือ สาธารณรัฐอินเดีย (ซึ่งแน่นอน การเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP per capita ยังตามหลังสาธารณรัฐประชาชนจีน) นายกรัฐมนตรีนาเรนดา โมดี (Narenda Modi) ต้องการขยายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อที่เขาจะได้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

ในปี 2019 เขากำลังกดดันธนาคารกลางสาธารณรัฐอินเดียที่กังวลมากเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อน้อย อีกทั้งยังดำเนินการตามแนวทางของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในเรื่องกิจการระหว่างประเทศ

นี่คือสิ่งที่รอเราอยู่ในวันข้างหน้า ระบอบการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ชนชั้นใดๆ ย่อมเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ไม่มากก็น้อย อันนี้ไม่นับความแตกต่างของโครงสร้างสังคมภายในที่แต่ละสังคมมีพัฒนาการและกำลังเปลี่ยนผ่าน แน่นอน เราควรถามว่า เปลี่ยนผ่านจากอะไรไปสู่อะไร ผมเองก็ไม่รู้ แต่ซับซ้อน ยุ่งยากและควบคุมได้อยาก

การเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัยที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร

————————————————————————————————————
(1) Peter Coy “The Year Ahead 2019 : Introduction” Bloomberg Businessweek Special Issue 19 November 2018-6 January 2019.
(2) “Into the endgame” The Economist 17-23 November 2018 : 14.