ต่างประเทศอินโดจีน : อาฟเตอร์ เดอะ เยียร์ ซีโร่

เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ 40 ปีของการสิ้นสุดอำนาจอย่างเป็นทางการของระบอบการปกครองเขมรแดงในกัมพูชา

พล พต นำเขมรแดงบุกเข้ายึดครองกรุงพนมเปญเมื่อปี 1975 ซึ่งในกัมพูชาเรียกกันว่า “เยียร์ ซีโร่” ปีแห่งการเริ่มต้นของความ “ว่างเปล่า” ที่คนทั้งประเทศอยากลืมเลือน

พล พต ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ศึกษาอุดมการณ์มาร์กซิสต์เข้มข้นจนฝังหัวที่นั่น สมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาตั้งแต่อยู่ในปารีส ทำให้เมื่อกลับกัมพูชามาก็ไต่เต้าอย่างรวดเร็วจนสู่ระดับสูงสุดของขบวนการคอมมิวนิสต์กัมพูชา

ทันทีที่ทำอำนาจปกครองเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ พล พต ดำเนินกระบวนการตามความคิดฝันของตนเองในทันที นั่นคือการสร้าง “สังคมเกษตรกรรมไร้ชนชั้น” ขึ้นในกัมพูชา

ภายใต้แนวคิดสุดโต่ง การควบคุมเข้มข้น บังคับใช้อุดมการณ์อย่างเข้มงวด ระบอบเขมรแดงใช้เวลาเพียงไม่ถึง 4 ปี สร้างสิ่งซึ่งรู้จักกันในเวลานี้ว่าเป็นหนึ่งในการสังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 ขึ้นมา

เป้าหมายหลักกลุ่มแรกสุดเป็นบรรดาพวกปัญญาชนและคนชั้นกลางทั้งหลาย ตั้งแต่หมอ, ทนาย, ผู้สื่อข่าว, ศิลปิน เรื่อยไปจนถึงบรรดานักศึกษา

ถัดมาที่กลายเป็นเป้าหมายพิเศษก็คือกลุ่มผู้มีเชื้อสายเวียดนาม และชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนามุสลิม ที่เรียกกันว่า “มุสลิมจาม”

การถือครองอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ เงินตรา ศาสนา และขนบประเพณีที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศถูกยกเลิก แม้แต่ชื่อประเทศยังเรียกขานใหม่ว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยกัมพูเจีย

 

ประเมินกันว่า ทั้งการถูกเข่นฆ่าสังหารโดยตรง และที่เสียชีวิตระหว่างถูกส่งไปใช้แรงงานทาสในค่ายแรงงาน และพื้นที่เกษตรกรรมรอบนอกทั่วประเทศ อยู่ระหว่าง 1.7 ล้านคน จนถึงสูงสุดที่ 3 ล้านคน

เรือกสวนไร่นาที่ปัญญาชนและคนชั้นกลางถูกบังคับใช้แรงงานยิ่งกว่าทาส รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ “ทุ่งสังหาร” หรือ “คิลลิ่งฟิลด์” ที่เลื่องลือไปทั่วโลก

จนกระทั่ง 7 มกราคม 1979 เมื่อกองกำลังผสมที่มีกำลังหลักเป็นกองทหารเวียดนามบุกเข้าโค่นล้มระบอบเขมรแดงในพนมเปญลงได้สำเร็จ แต่กัมพูชาทั้งประเทศก็ตกอยู่ในสงครามกลางเมืองต่อเนื่องมาจนถึงต้นทศวรรษ 1990

บาดแผลของสงครามเริ่มเลือนหายไปตามกาล หลงเหลือเพียงในความทรงจำของผู้คนอายุเกิน 50 ปีที่ปัจจุบันนี้เป็นเพียงประชากรราวๆ 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเท่านั้น

แต่มรดกทางการเมืองของระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์เขมรแดงยังส่งผลสะเทือนต่อการเมืองของกัมพูชามาจนถึงบัดนี้

 

เซบาสเตียน สแตรนจิโอ ผู้สื่อข่าวและนักเขียนชาวออสเตรเลียชี้ว่า พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเขมรแดงกลายเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองของตนตั้งแต่แรกเริ่ม

ซีพีพีวางตัวเองว่าเป็น “ผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียวที่ช่วยให้กัมพูชาทั้งชาติมีโอกาสได้เกิดใหม่อีกครั้ง ผ่านพ้นจากฝันร้ายสยดสยองในยุคของเขมรแดง”

ภายใต้สมมุติฐานดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องมีอำนาจสูงสุด พรรคซีพีพีต้องมีอำนาจเหนือ แทรกซึมเข้าไปในทุกส่วน ทุกสถาบันแห่งอำนาจทางการเมือง รวมทั้งซึมซาบเข้าไปในมโนสำนึกของผู้คน

หนุนเสริมด้วยสามัญสำนึกของประชาชนที่ทั้งเหน็ดเหนื่อย ทั้งระอากับสงคราม การสู้รบและความตาย

“การเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง เท่ากับเป็นความพยายามทำลายความสำเร็จที่ซีพีพี พยายามทำมาตลอด 30 ปีเศษ และจะผลักดันประเทศกลับสู่ความรุนแรงและการนองเลือดอีกครั้ง” สแตรนจิโอระบุ

40 ปีหลังจากสิ้นสุดระบอบเขมรแดง แวดวงการเมืองกัมพูชายังไม่สามารถถกกันถึงเรื่องนี้อย่าง “เปิดกว้าง” และ “อย่างเสรีจริงๆ” ว่าเขมรแดงคืออะไร ส่งผลต่อประเทศชาติอย่างไร

จนกว่ามายาภาพที่ถูกใช้เป็นความชอบธรรมทางการเมืองจะเลือนหายไปในที่สุด