E-DUANG : อุบัติเหตุจากการตกจาก”หลังม้า”

ไม่ว่าการปีน “เขา” ไม่ว่าการขี่ “ม้า” ล้วนเป็น “ศาสตร์” อันเปี่ยมด้วย “ศิลปะ”

เหมือนกับเป็นเรื่องง่ายๆ แบบ”ปอกกล้วย”เข้าปาก

หากเป็นเรื่องง่ายๆคนอย่าง”เทนซิง”คงไม่ได้รับการยกย่องเมื่อเขาสามารถพิชิตยอดเขา”เอเวอเรสต์”

กว่าจะบรรลุถึง “ยอด” ก็มากด้วย “อุปสรรค”

หากเป็นเรื่องง่ายๆคนอย่าง บิลลี่ เดอะคิด คงไม่ได้การทอดมองอย่างทึ่ง อึ้ง มหัศจรรย์

กว่าจะบรรลุถึง “จอมโจร” ผู้มากด้วย “เขี้ยวเล็บ”

ยิ่งกว่านั้น หากมองอย่างผิวเผิน ไม่ว่าการปีน”เขา” ไม่ว่าการขี่”ม้า” ไม่น่าจะมีอะไรสลับซับซ้อน

เพราะมีเพียง 2 ด้านที่ตรงกันข้ามกัน

นั่นก็คือ ด้าน 1 มีการขึ้นเขา มีการขึ้นบนหลังม้า ขณะเดียวกัน ด้าน 1 ก็มีการลงจากยอดเขา มีการลงจากหลังม้าเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง

ไม่ว่าจะ”ขึ้น” ไม่ว่าจะ”ลง”มีความสำคัญ

 

มองอย่างเปรียบเทียบเหมือนกับว่าการ”ขึ้น”จะยาก เหมือนกับว่าการ “ลง”จะง่าย

ให้ความรู้สึกอย่างนั้น

เพราะว่าการปีน”เขา” กว่าจะไต่ทะยานไปในแต่จุดก็มากด้วย ความยากลำบาก

ต้องระมัดระวัง เพราะเป็นการต้านต่อแรงโน้มถ่วงของโลก

ตรงกันข้าม ตอน”ลง”จากเขาสูงทะลุฟ้า ตอน”ลง”จากหลังม้ากลับเป็นเรื่องง่ายดาย

แต่ในความเป็นจริง การ”ลง”กลับมีความซับซ้อน

คนที่ปีน “เขา” โอกาสพลาดในตอน “ลง” มีมากกว่าในตอน “ขึ้น”

คนที่ขี่ “ม้า” โอกาสพลาดในตอน “ลง”จากหลังม้าก็มีมากกว่าในตอน “ขึ้น”

ทำไม

 

ประการแรกสุด ไม่ว่าจะเป็นในตอน “ขึ้น” เขา ไม่ว่าจะเป็นในตอน “ขึ้น” ไปบนหลังม้า

มักเปี่ยมด้วยความ “ตั้งใจ” ระมัดระวัง

ตรงกันข้าม ตอนที่ “ลง” จากยอดเขา ตอนที่ “ลง” จากหลังม้า มักคลายความระมัดระวัง

มองเห็นเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ต้องฝึนแรงโน้มถ่วงของโลก

มองเห็นเป็นเหมือนบำเหน็จและรางวัลภายหลังจากประสบผลสำเร็จมาแล้วหลังจากการ”ขึ้น”

จึงประมาท จึงคลายความระมัดระวัง

คนจึงตกจาก “เขา” มากระหว่าง “ลง” คนจึงประสบอุบัติเหตุมากระหว่าง “ลง”

ไม่ว่าจะลงจาก”ยอดเขา” ไม่ว่าจะลงจาก”หลังม้า”

บรรดา “อัศวิน” ทั้งหลายไม่สามารถรักษาความเป็นอัศวิน”ม้าขาว”อยู่ได้ก็ตอนที่ “ลง”นั่นเอง