การจัดตั้งรัฐอิสราเอล : หนามยอกอกของรัฐมุสลิมในตะวันออกกลาง | จรัญ มะลูลีม

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 17 ม.ค. 2019

ขบวนการทางการเมืองของไซออนนิสม์ (Zionism) เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งได้ความคิดมาจากลัทธิไซออนนิสม์ด้านศาสนาซึ่งแพร่หลายอยู่ในยุคกลาง

ความคิดด้านการเมืองของลัทธิไซออนนิสม์นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือชื่อ The Jewish State (รัฐยิว) ของเธียวดอร์ เฮอร์เซิล (Theodore Hersl) นักหนังสือพิมพ์ชาวยิวในออสเตรีย ซึ่งจัดพิมพ์ในปี 1896 อธิบายความคิดของไซออนนิสม์ในแบบที่มีความเป็นรูปธรรม

เนื้อหาคำสอนของเฮอร์เซิลก็คือปัญหาเรื่องชาวยิวนั้นต้องเป็นปัญหาระดับชาติและการที่จะแก้ไขปัญหานั้นก็ต้องทำให้มันเป็นปัญหาการเมืองที่กว้างขวางไปทั่วโลก

คำว่า “ปัญหาระดับชาติ” นั้นเขาหมายความว่าเมื่อชาวยิวเป็นชนชาติหนึ่งก็ต้องมีประเทศที่อยู่เป็นหลักแหล่งและประเทศที่อยู่นั้นก็จะต้องเป็นถิ่นฐานเก่าแก่ที่บรรพบุรุษของพวกเขาเคยอยู่มาคือปาเลสไตน์

เฮอร์เซิลได้เรียกร้องชาวยิวทุกฐานะจากทุกที่มาตั้งหลักแหล่งในปาเลสไตน์ โดยไม่สนใจไยดีต่อชาวปาเลสไตน์ ซึ่งอยู่ในดินแดนนี้ในปัจจุบัน

 

ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี 1917 คือ เกือบถึงตอนปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ลอร์ดบัลโฟร์ (Ballour) รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษได้ออกประกาศเรื่อง “การจัดตั้งที่อยู่ประจำชาติของชาวยิวในปาเลสไตน์” ในนามของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ดูแลปาเลสไตน์อยู่ในขณะนั้น

หลังจากได้มีการเจรจาระหว่างพวกผู้นำไซออนนิสต์กับวงการผู้ปกครองของอังกฤษ สหรัฐก็ได้พยายามทำทุกอย่างที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้อังกฤษมีอำนาจดำเนินการในปาเลสไตน์แต่ลำพัง

ในที่สุดสันนิบาตชาติ (Leaque of the Nations) จึงลงมติให้สหรัฐและชาวอเมริกันมีศักดิ์ศรีทุกอย่างเท่าเทียมกับชาติสมาชิกของสันนิบาตชาติและประชาชนของชาตินั้นๆ ถึงแม้ว่าสหรัฐจะไม่ได้เป็นสมาชิกก็ตาม

มาตรา 3 รับประกันผลประโยชน์ของเอกชนนายทุนชาวอเมริกันในปาเลสไตน์ (อิสราเอล) ด้วยประการฉะนี้ สหรัฐจึงมีทางเข้าไปมีอิทธิพลต่อนโยบายของอังกฤษในปาเลสไตน์ และในขณะเดียวกันก็ทำให้สถานภาพของสหรัฐในเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลางเข้มแข็งขึ้นด้วย สหรัฐจึงสามารถมีส่วนร่วมในการปลุกปั้นรัฐยิวให้เป็นรูปร่างตามที่ตนปรารถนาได้

ในเดือนมิถุนายน ปี 1946 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอังกฤษอเมริกันเพื่อจัดการกับเรื่องปาเลสไตน์

สหรัฐเสนอให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็นรัฐอาหรับและรัฐยิว

ส่วนอังกฤษเสนอให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนของชาวอาหรับ (คือชาวปาเลสไตน์) ส่วนของชาวยิว ซึ่งจะมีการปกครองตนเอง กับส่วนเนเกฟ และส่วนของนครเยรูซาเลม ซึ่งจะอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ

อังกฤษไม่สามารถทนต่อความกดดันของสหรัฐต่อไปได้ จึงได้มอบปัญหาปาเลสไตน์แก่สหประชาชาติไปในเดือนเมษายนปี 1947 แต่ก็ได้แอบตกลงกับพวกชาตินิยมของอาหรับแนะให้อังกฤษมีส่วนปกครองปาเลสไตน์ต่อไปเพื่อรักษาสถานภาพของตนไว้

 

เมื่อทราบว่าชาวอาหรับไม่พอใจนโยบายของสหรัฐ แต่บรรดาประเทศอาหรับรวมทั้งสหรัฐกลับร้องขอต่อสหประชาชาติขอให้ยุติการปกครองแบบอยู่ในอาณัติของอังกฤษเสียและให้เอกราชแก่ปาเลสไตน์

คณะกรรมการจึงสั่งให้เป็นไปเช่นนั้นและให้แบ่งปาเลสไตน์เป็นรัฐอาหรับอิสระกับรัฐยิวอิสระ รัฐอาหรับจะมีเขตแดนซึ่งมีเนื้อที่ 11,100 ตารางกิโลเมตร (42%) ส่วนรัฐยิวจะมีเนื้อที่ 14,000 ตารางกิโลเมตร (56%) นครเยรูซาเลมและเมืองใกล้เคียง (2%) จะเป็นหน่วยบริหารที่เป็นอิสระ ในรัฐอาหรับจะมีชาวอาหรับประมาณ 225,000 คน และชาวยิว 10,000 คน

ในรัฐยิวจะมีชาวยิว 498,000 คนและชาวอาหรับ 407,000 คน ส่วนในเขตนครเยรูซาเลม มีชาวอาหรับ 105,000 คน และชาวยิว 100,000 คน

อย่างไรก็ตาม ทั้งอังกฤษและสหรัฐต่างก็ไม่เคารพมติของสหประชาชาติ โดยได้ใช้ระยะเวลาระหว่างนั้นกับการประกาศเอกราชจริงๆ ของปาเลสไตน์ ยุยงปลุกปั่นให้ชาวยิวกับชาวอาหรับต่อสู้กันและปะทะกันโดยอาวุธในเดือนธันวาคมปี 1947

และระเบิดออกเป็นสงครามในต้นปี 1948

 

ปัญหาถูกนำมายังคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ผู้แทนของอังกฤษและสหรัฐประกาศว่า การแบ่งปาเลสไตน์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สหรัฐให้ตั้งผู้พิทักษ์ปาเลสไตน์ ซึ่งมาจากสหประชาชาติ โดยสหรัฐคอยหนุนหลังอยู่อย่างมาก สหประชาชาติจึงยอมรับตามนี้

สหรัฐเสนอให้มีกองกำลังตำรวจของสหประชาชาติอยู่ในปาเลสไตน์

ตำรวจนั้นต้องเป็นชาวอเมริกันภายใต้หน้ากากของสหประชาชาติ

ฉะนั้น ผู้พิทักษ์ปาเลสไตน์ก็คือสหรัฐนั่นเอง

สหรัฐได้คำนวณใหม่ว่าการตั้งรัฐยิวซ้อนขึ้นมาในปาเลสไตน์ (แทนที่จะแบ่งดินแดนกันตามที่ตนเสนอมาในตอนแรก) จะเป็นประโยชน์ต่อผลประโยชน์ของสหรัฐในตะวันออกกลางมากกว่า ฉะนั้น ในวันที่อังกฤษถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ สภาแห่งชาติยิว (Moetzet Hadarn) ซึ่งได้รับคำแนะนำจากสหรัฐมาแล้ว จึงได้ประกาศจัดตั้งรัฐยิวขึ้น (14 พฤษภาคม 1947) และได้รับการรับรองจากสหรัฐทันที และอีกสามวันต่อมาสหภาพโซเวียตก็รับรองบ้าง

หลังจากประกาศจัดตั้งรัฐอิสราเอลได้ไม่นาน อังกฤษและสหรัฐก็ได้ยุยงให้เกิดสงครามขึ้นระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับหลายประเทศ คือซีเรีย เลบานอน (ทรานส์) จอร์แดนและอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย และเยเมน ประกาศตัวเข้าข้างฝ่ายอาหรับ

ในการสงครามครั้งนี้ อิสราเอลได้เข้าครองดินแดนส่วนมากที่สหประชาชาติกำหนดไว้ให้เป็นของชาวอาหรับคือดินแดนกาลิลีตะวันตก เนเกฟตะวันตกและส่วนหนึ่งของนครเยรูซาเลม (ตอนที่เป็นเมืองใหม่) รวมทั้งหมดเป็นเนื้อที่ 6,600 ตารางกิโลเมตร

แต่ (ทรานส์) จอร์แดนได้ยึดดินแดนปาเลสไตน์ตะวันออกและส่วนหนึ่งของนครเยรูซาเลม (เมืองเก่า) มาเป็นของอาหรับได้ และอียิปต์ยึดเขตเล็กๆ ของกาซามาได้ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 1947

 

สมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติจึงต้องประกาศจัดตั้งสองรัฐขึ้นมาในประเทศปาเลสไตน์ คือรัฐอาหรับ (ซึ่งยังไม่สำเร็จจนกระทั่งปี 1995) กับรัฐอิสราเอลซึ่งกินดินแดนเข้าไปเกือบสี่ในห้าของประเทศปาเลสไตน์ทั้งหมด เป็นการท้าทายมติของสหประชาชาติ ซึ่งไม่สามารถทำอะไรได้

การสงครามครั้งนี้ทำให้ชาวอาหรับส่วนหนึ่งกลายเป็นคนพิการไปและชาวอาหรับกว่าเก้าแสนคนต้องไร้ที่อยู่ ปัญหาระหว่างชาวปาเลสไตน์-อิสราเอลนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกและของภูมิภาคตะวันออกกลางอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

ในระหว่างนั้น (และจนกระทั่งปัจจุบันนี้) สหรัฐได้ให้การสนับสนุนแก่อิสราเอลอย่างเต็มที่ทั้งในสหประชาชาติ ในด้านอาวุธยุทธภัณฑ์และการเงิน

อิทธิพลของสหรัฐและของอิสราเอลในตะวันออกกลางก็แข็งแกร่งขึ้น

การจัดตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นนี้ทำให้สหรัฐมีฐานอำนาจและผลประโยชน์อยู่ในตะวันออกกลาง

อิสราเอลกลายเป็นฐานทัพที่เข้มแข็งแห่งหนึ่งของสหรัฐสำหรับต่อสู้กับประเทศใดๆ ที่กล้าแข็งข้อต่อสหรัฐไปในที่สุด