This page is intentionally left blank หน้าว่างในประวัติศาสตร์ของวัตถุธรรมดาสามัญ ในสภาพแวดล้อมของศิลปะที่ถูกมองข้าม (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
เอกสารบันทึกเหตุการณ์ประจําวันจํานวน 67 ชุด และกล่องเก็บเอกสารจดหมายเหตุจํานวน 7 ใบ ซึ่งยืมมาจัดแสดงจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

ถึงแม้ตอนนี้จะก้าวเข้าปีใหม่แล้ว

แต่คราวเรานี้ก็ยังจะขอเก็บตกเรื่องราวของนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจที่ได้ไปดูมาในปลายปี 2018 ที่ผ่านมา (และยังแสดงต่อไปจนถึงต้นปี 2019) มาฝากให้อ่านกันอีกตอน

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า

This page is intentionally left blank

นิทรรศการแสดงเดี่ยวในประเทศไทยครั้งล่าสุดของปรัชญา พิณทอง ศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ (ที่เราเคยกล่าวถึงไปในหลายตอนที่แล้ว) ณ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่

ถือเป็นโอกาสที่หาได้ไม่บ่อยนัก ที่จะได้ชมงานแสดงเดี่ยวแบบเต็มรูปแบบของศิลปินผู้หาตัวจับยากคนนี้ในประเทศไทย

เพราะโดยปกติเขามักจะแสดงงานในต่างประเทศเสียมากกว่า

นิทรรศการ This page is intentionally left blank (2018)

ที่น่าสนใจอีกประการก็คือ ในคราวนี้เขาได้ธนาวิ โชติประดิษฐ นักวิชาการและประวัติศาสตร์ศิลปะผู้คร่ำหวอดในแวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทยมาเป็นภัณฑารักษ์ให้นิทรรศการด้วย

นิทรรศการครั้งนี้มีแนวคิดตั้งต้นจากการที่ในปี 2552 ปรัชญาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า ซึ่งเป็นหอศิลป์สำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทย ที่แสดงผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมของศิลปินสมัยใหม่ชั้นนำของไทยมาหลายทศวรรษ

เขาสังเกตเห็นสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นข้าวของเครื่องใช้ธรรมดาสามัญในชีวิตการทำงานประจำวันของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ที่ผู้ชมงานศิลปะส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเห็น

หรือถ้าเคยเห็นก็อาจจะไม่ใส่ใจและมองข้ามไป

แต่ปรัชญาเห็นอะไรบางอย่างในสมุดบันทึกเหล่านั้น เขาจึงทำการขออนุญาตหยิบยืมเอกสารเหล่านั้นจำนวน 67 ชุด

พร้อมกับกล่องเก็บเอกสารจดหมายเหตุจำนวน 7 ใบ นำมาวางแสดงไว้ในหอศิลป์เหมือนกับศิลปวัตถุสำเร็จรูป ในรูปของสมุดบันทึกเหตุการณ์ ให้ผู้ชมได้หยิบขึ้นมาพลิกอ่านเพื่อรับรู้ประวัติศาสตร์อันธรรมดาสามัญที่ปรากฏอยู่ในสมุดบันทึกเหล่านี้ร่วมกัน

เอกสารบันทึกเหตุการณ์ประจําวันจํานวน 67 ชุด และกล่องเก็บเอกสารจดหมายเหตุจํานวน 7 ใบ ซึ่งยืมมาจัดแสดงจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

“ส่วนใหญ่งานของเราเป็นเรื่องการเก็บสะสมรวบรวมความคิดความทรงจำเวลาที่เราเดินทางไปเจอโน่นเจอนี่ อย่างงานชิ้นนี้ เราพาพี่ฤกษ์ฤทธิ์ (ตีระวนิช) ไปหอศิลป์ เจ้าฟ้า เพื่อดูนิทรรศการและพื้นที่ที่นั่น เราก็ทิ้งเขาไว้ชั้นล่างแล้วขึ้นไปดูชั้นบน และบังเอิญไปเจอสมุดบันทึกของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์กางเอาไว้ เราก็ไปเปิดดูว่ามันเขียนอะไรไว้บ้าง”

“เราก็ได้เห็นกิจวัตรที่ทำซ้ำไปซ้ำมาในแต่ละวัน สมุดบันทึกเหล่านี้เหมือนอยู่ในบรรยากาศเดียวกับงานศิลปะที่ทรงคุณค่าหลายชิ้นที่เคยแสดงที่นี่ แต่ตัวมันเองก็ถูกมองเป็นแค่สิ่งที่ใช้บันทึกเหตุการณ์ เราก็สงสัยว่าเราสามารถมองมันเป็นอย่างอื่น หรือแม้แต่เป็นงานศิลปะได้หรือเปล่า เราก็เลยไปยืมสมุดบันทึกมาจำนวนหนึ่ง เท่าที่เขาสามารถให้เรายืมได้มาแสดง”

ปรัชญากล่าวถึงที่มาของผลงานชุดแรกในนิทรรศการครั้งนี้ของเขา

เอกสารบันทึกเหตุการณ์ประจําวันจํานวน 67 ชุด และกล่องเก็บเอกสารจดหมายเหตุจํานวน 7 ใบ ซึ่งยืมมาจัดแสดงจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

“สิ่งที่สมุดบันทึกนำพาเราไปพบเจอก็คือ กิจวัตรประจำวันของเจ้าหน้าที่ ที่นั่งเฝ้าหอศิลป์ ที่จดบันทึกว่ามีผู้เข้าชมกี่คน ชายหรือหญิง เปิด-ปิดไฟ/ประตูตอนไหน เวลาเราพูดถึงพื้นที่ทางศิลปะ คนเหล่านี้ไม่ใช่พระเอกนางเอกเหมือนภัณฑารักษ์ ผู้อำนวยการ หรือเจ้าของหอศิลป์ แต่คนที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเหล่านี้เป็นแรงงานที่ทุกๆ ที่ต้องมี กิจวัตรประจำวันซ้ำๆ ซากๆ เหล่านี้เป็นตัวพยุงสถาบันทางศิลปะแห่งนี้อยู่ เพราะมันเป็นสิ่งที่บอกว่าทุกอย่างยังปกติดี ตัวตนของคนเหล่านี้ถูกบอกผ่านลายมือ ผ่านลายเซ็น ผ่านกิจกรรมที่พวกเขาบันทึกเอาไว้ในสมุดบันทึก มันเป็นงานศิลปะที่พูดถึงผู้คนที่ทำงานในระดับแรงงานจริงๆ” ธนาวิกล่าวเสริม

และหน้ากระดาษของสมุดบันทึกเหล่านี้เอง ก็มีความเชื่อมโยงกับชื่อของนิทรรศการอย่าง “This page is intentionally left blank” (หน้านี้จงใจปล่อยให้ว่างไว้)

เป็นประโยคที่เรามักจะพบเห็นในหน้าว่างของหนังสือ ดูๆ ไปก็ออกจะเป็นอะไรที่ย้อนแย้งและน่าขันเอาการ ที่ใครสักคนจะเขียนบนหน้ากระดาษเปล่าว่า “หน้านี้เป็นกระดาษเปล่านะ” ซึ่งปรัชญาอธิบายให้เราฟังว่า

เอกสารบันทึกเหตุการณ์ประจําวันจํานวน 67 ชุด และกล่องเก็บเอกสารจดหมายเหตุจํานวน 7 ใบ ซึ่งยืมมาจัดแสดงจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

“ประโยคนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะถูกถอดถอนออกจากความหมายของมัน เพราะในความเป็นจริงหน้ากระดาษก็ว่างอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนอะไรลงไป แต่เมื่อเราใส่ตัวหนังสือลงไปเพื่อบอกว่าหน้านี้ว่าง ก็แปลว่าเราต้องอ่านความหมายของคำ เพื่อทำความเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนั้น”

“แต่ในขณะเดียวกันคำที่ว่านั้นก็เป็นการขัดแย้งกับสิ่งที่เรามองเห็น เพราะในเมื่อมีตัวหนังสือ ก็แปลว่าหน้านั้นไม่ได้ว่างจริงๆ แต่อันที่จริงแล้วหน้าว่างที่ว่านี้เป็นการเจตนาเว้นว่างเอาไว้เพื่อให้การจัดเรียงหน้ากระดาษในหนังสือลงตัวในระบบการจัดพิมพ์และเข้าเล่ม”

“การใส่ตัวหนังสือประโยคนี้ลงไป ก็เพื่อทำให้คนอ่านเข้าใจว่าหน้าว่างนี้ไม่ได้เกิดจากการพิมพ์ผิด เป็นความตั้งใจให้มันว่างเอาไว้อย่างงั้น”

ธนาวิเสริมอีกว่า “เรามักจะพบประโยคนี้ในเอกสารราชการ โดยเป็นประโยคที่กำกับอยู่เพื่อจะบอกว่าหน้าที่ว่างอยู่นั้นเป็นความจงใจให้ว่างเอาไว้ ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดหรือลืมเขียน”

เอกสารบันทึกเหตุการณ์ประจําวันจํานวน 67 ชุด และกล่องเก็บเอกสารจดหมายเหตุจํานวน 7 ใบ ซึ่งยืมมาจัดแสดงจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

ความว่างเปล่าของหน้ากระดาษที่ว่านี้ เชื่อมโยงกับองค์ประกอบส่วนที่สองในนิทรรศการ ที่ครอบครองพื้นที่เยอะที่สุดในห้องแสดงงาน แต่ผู้ชมส่วนใหญ่อาจมองไม่เห็น หรืออันที่จริงก็อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังมองมันอยู่ เพราะมันคือสีขาวที่ฉาบทาอยู่บนผนังอันว่างเปล่าของห้องแสดงงานหลักหอศิลป์นั่นเอง

“พอเราไปยืมสมุดบันทึกของหอศิลป เจ้าฟ้า มาแสดงที่นี่ เราต้องการสร้างจุดเชื่อมระหว่างหอศิลป์เจ้าฟ้า (ที่เป็นสัญลักษณ์ของศิลปะสมัยใหม่ของไทย) กับหอศิลปบางกอก ซิตี้ซิตี้ (ที่เป็นหอศิลป์ร่วมสมัย) ในฐานะที่พื้นที่ทั้งสองแบ่งปันความเป็นจริงในกระบวนการนำเสนอศิลปะของไทยในปัจจุบันร่วมกัน เราก็เลยเสนอกับทางผู้อำนวยการหอศิลป เจ้าฟ้า ว่า เราจะขอเข้าไปทาสีผนังหอศิลปให้ใหม่ แล้วเอาสีขาวเบอร์เดียวกัน (สีน้ำทาภายใน 4 SEASONS Advance #A1000 / ซึ่งเป็นสีที่ทางหอศิลป เจ้าฟ้า กำหนดให้) มาทาผนังหอศิลปที่เราแสดงงาน เพื่อเชื่อมผนังทั้งสองเข้าด้วยกัน เหมือนเป็นการสร้างความทรงจำร่วม” ปรัชญากล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้

ผนังห้องแสดงงานหลักของบางกอกซิตี้ซิตี้แกลเลอรี่ ที่ถูกทาด้วยสีขาว 4SEASONS A1000

“พอดีมีอยู่ตึกหนึ่งที่หอศิลป เจ้าฟ้า กำลังซ่อมแซมอยู่ เราก็เลยขออนุญาตให้ทีมงานของเราเข้าไปทาสีให้ที่โน่น แล้วเราก็เอามาทาที่นี่ด้วย ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสองพื้นที่ผ่านผนัง ซึ่งปกติผนังแกลเลอรี่เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยมอง เพราะมันทำหน้าที่เป็นฉากให้กับงานศิลปะ แต่ในนิทรรศการนี้ เราเปลี่ยนผนังให้กลายเป็นตัวงาน ด้วยการทาสีมัน ซึ่งงานนี้เองก็พูดถึงอำนาจของสถาบันศิลปะผ่านพื้นที่ที่มันครอบครองอยู่” ธนาวิกล่าว

นิทรรศการ This page is intentionally left blank จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง) ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2561 – วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม 2562 แกลเลอรี่เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13:00-19:00 น.

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่