จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (14)

สำนักหญูหลังขงจื่อ : เมิ่งจื่อกับสวินจื่อ (ต่อ)

บทบาทที่ว่านี้ดูไปแล้วก็คล้ายกับบทบาทของขงจื่อที่เที่ยวได้จาริกเผยแผ่หลักคำสอนของตน จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและกล่าวขานกันมาก แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่มีผู้นำรัฐใดที่จะปฏิบัติตามหลักคำสอนที่ว่านั้น

และเมื่อล้มเหลวแล้วเมิ่งจื่อจึงได้เดินทางกลับมายังภูมิลำเนาเดิมของตน

กล่าวกันว่า เวลานั้นเมิ่งจื่ออายุได้ 62 ปี รวมเวลาที่ได้จาริกไปยังรัฐต่างๆ เพื่อเผยแผ่หลักคำสอนนับได้ร่วม 10 ปี หลังจากนั้นก็ใช้เวลาในช่วงปัจฉิมวัยในฐานะครูตราบจนลาจากโลกนี้ไปด้วยวัย 84 ปี

ทิ้งไว้ก็แต่ปกรณ์ เมิ่งจื่อ ที่เขาร่วมกับศิษยานุศิษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นมรดกทางปัญญาที่ตกทอดมาจนทุกวันนี้

โดยทั่วไปแล้ว นักปรัชญาจีนทั้งฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตกมักเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่า เมิ่งจื่อได้ให้อรรถาธิบายหลักคำสอนของขงจื่ออย่างเข้าถึงและแตกฉาน โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นแก่นสำคัญ นั่นคือ เหญิน (เมตตากรุณา) อี้ (เที่ยงธรรม) หลี่ (รีต) และจื้อ (พุทธิปัญญา)

ทั้งนี้ อรรถาธิบายของเมิ่งจื่อในประเด็นนี้ได้ปรากฏอยู่ในบทที่ว่าด้วย “กงซุนโฉ่ว” (ภาคต้น) ของ เมิ่งจื่อ เริ่มด้วยถ้อยอธิบายว่า มนุษย์โดยทั่วไปไม่อาจทนเห็นทุกข์ของมนุษย์ด้วยกันเอง แล้วยกตัวอย่างสมมติว่า…

หากมีผู้ใดเห็นทารกตกลงไปในบ่อน้ำ ย่อมเกิดความหวั่นไหวขึ้นในจิตใจ ความรู้สึกนี้มิใช่เพราะผู้นั้นมีความสัมพันธ์กับบิดามารดาของทารก มิใช่เพราะต้องการเสียงชมจากผู้อื่น ทั้งมิใช่เพราะรำคาญกับเสียงร้องของทารก

จากนั้นเมิงจื่อก็ประมวลเป็นหลักคิดขึ้นมาว่า ผู้ที่ไร้ซึ่งความหวั่นไหวก็ดี ไร้ซึ่งความละอายต่อสิ่งชั่วร้ายก็ดี ไร้ซึ่งความระงับยับยั้งก็ดี และไร้ซึ่งความผิดชอบชั่วดีก็ดี คนผู้นั้นย่อมมิใช่มนุษย์

ถ้อยคำที่เป็นผลจากประมวลเป็นหลักคิดขึ้นมานี้เองที่จะสัมพันธ์กับเหญิน อี้ หลี่ และ จื้อ

กล่าวคือ เมิ่งจื่อเห็นว่าจากกรณีสมมติเรื่องเด็กทารกตกบ่อน้ำดังกล่าว ผู้ที่รู้สึกหวั่นไหวต่อความทุกข์จนต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่นคือที่มาของความเมตตากรุณาหรือเหญิน

ผู้ที่ละอายต่อสิ่งชั่วร้ายและกำจัดมันไปคือที่มาของความเที่ยงธรรมหรืออี้

ผู้ที่ระงับยับยั้งตนด้วยการไม่เที่ยวไปยึดครองของที่มิใช่ของตนคือที่มาของรีตหรือหลี่

และผู้ที่รู้จักผิดชอบชั่วดีมีวิจารณญาณในการวินิจฉัยทางออกที่ดีคือที่มาของพุทธิปัญญาหรือจื้อ

จากหลักคิดดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า เมิ่งจื่อไม่เพียงจะเข้าถึงและแตกฉานในหลักคิดของขงจื่อเท่านั้น หากแต่อรรถาธิบายในกรณีดังกล่าวของเมิ่งจื่อยังสะท้อนนัยบางประการที่ลึกซึ้งเอาไว้ได้วย

ในประการแรก อรรถาธิบายของเมิ่งจื่อในประเด็นเหญิน อี้ หลี่ จื้อ ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในยุครัฐศึกที่กำลังวิกฤตอย่างที่สุด ที่ผู้นำรัฐโดยมากต่างก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมแต้มคูทางการเมืองจนหาสัจจะไม่ได้

ศีลธรรมที่ล่มสลายในสถาบันครอบครัวทั้งในระดับชนชั้นนำและราษฎรทั่วไป

การไม่ใส่ใจในรีตจนปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสับสนวุ่นวายจนไร้ระเบียบ

หรือการศึกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนบ้านแตกสาแหรกขาด เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนเรียกร้องต้องการจิตสำนึกในสังคมอย่างยิ่งยวด

ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหวั่นไหวเมื่อเห็นทุกข์ของผู้อื่น

ความละอายใจต่อสิ่งที่ชั่วร้าย

ความยับยั้งชั่งใจตนเองต่อความโลภ และการรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดีอย่างมีสติ

ความเรียกร้องต้องการเช่นนี้จึงมิใช่เรื่องที่เกินจริง แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำของรัฐต่างๆ

ในประการต่อมา แม้เมิ่งจื่อจะขยายบริบทในการให้อรรถาธิบายหลักคิดของขงจื่ออย่างลึกซึ้งก็จริง แต่ก็ใช่ว่าเมิ่งจื่อจะมิได้สร้างสรรค์หลักคิดเฉพาะที่เป็นของตนก็หาไม่ ความจริงแล้วเมิ่งจื่อได้สร้างสรรค์หลักคิดเฉพาะของตนขึ้นมาไม่น้อย แต่ในบรรดานี้หลักคิดที่เมิ่งจื่อยึดถือไว้อย่างโดดเด่นก็คือ “เหญินเจิ้ง” ที่หมายถึง การปกครองด้วยเมตตาธรรม

หลักคิด “เหญินเจิ้ง” นี้เมิ่งจื่อเอ่ยขึ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม คล้ายกับหลักคิด “เจิ้งหมิง” ของขงจื่อ ที่เอ่ยขึ้นโดยตรงจะเห็นได้จากบทที่ว่าด้วย “หลีโหลว” (ภาคต้น) ใน เมิ่งจื่อ ที่ว่า “วิถีคุณธรรมของเหยาและซุ่น หากมิอิงการปกครองด้วยเมตตาธรรมแล้วไซร้ ย่อมมิอาจยังใต้หล้าให้สันติสุขไปได้” หรือที่เป็นไปโดยอ้อมก็คือ “กงซุนโฉ่ว” (ภาคต้น) ในกรณีสมมติเรื่องเด็กทารกตกบ่อน้ำนั้นเอง

การชูหลักคิด “เหญินเจิ้ง” ของเมิ่งจื่อตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ไม่ต่างกับประการแรก

คือตั้งบนสถานการณ์ในยุครัฐศึกที่วิกฤตอย่างที่สุด โดยเฉพาะการแตกสลายทางคุณธรรมของบรรดาผู้นำรัฐต่างๆ และเมิ่งจื่อเห็นว่าจะมีก็แต่การยึดหลักคิด “เหญินเจิ้ง” เท่านั้นที่จะแก้วิกฤตที่ว่าไปได้ ทั้งนี้เพราะการปกครองด้วยเมตตาธรรมนั้น เป็นการปกครองที่เห็นความเป็นมนุษย์ของผู้อยู่ใต้การปกครอง เมื่อเห็นแล้วการปกครองนั้นก็ย่อมตั้งอยู่บนอุดมการณ์ที่มุ่งประโยชน์ของผู้อยู่ใต้การปกครองเป็นที่ตั้ง หาใช่ประโยชน์ของผู้ปกครองเป็นที่ตั้ง

หลักคิดนี้จึงเป็นผลิตผลในการประมวลทางปรัชญาอีกเรื่องหนึ่งของเมิ่งจื่อที่สำคัญยิ่ง

ในประการสุดท้าย จากหลักคิดเรื่องเหญิน อี้ หลี่ จื้อ และ “เหญินเจิ้ง” นี้ทำให้เห็นว่า เมิ่งจื่อเป็นนักปรัชญาที่มองมนุษย์ในแง่ดี

คือเห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นคนดี

เกี่ยวกับประเด็นนี้อาจดูได้จากบทที่ว่าด้วย “เก้าจื่อ”¹ ใน เมิ่งจื่อ อันเป็นบทบันทึกการวิวาทะระหว่างเมิ่งจื่อกับเก้าจื่อในประเด็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งความตอนหนึ่งเมิ่งจื่อกล่าวว่า

“น้ำไม่ได้แบ่งตะวันออกตะวันตกนั้นแน่แท้อยู่ แต่ไม่มีการแบ่งเป็นสูงเป็นต่ำดอกหรือ ธาตุแท้ของมนุษย์ที่ว่าดีงามนั้นก็เสมือนน้ำที่ไหลลงสู่เบื้องต่ำ ไม่มีมนุษย์ที่ไม่ดีงาม เช่นเดียวกับที่ไม่มีน้ำซึ่งไม่ไหลลงสู่เบื้องต่ำ”

คงด้วยทัศนะเช่นนี้เองที่ทำให้เมิ่งจื่อมีความคาดหวังต่อผู้นำรัฐต่างๆ จะสามารถบรรลุซึ่งการปกครองโดยเมตตาธรรมหรือ “เหญินเจิ้ง” ได้

แต่ก็ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าในประวัติของเมิ่งจื่อที่ว่า ถึงที่สุดแล้วเขาก็ล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะแม้ผู้นำรัฐที่เขาได้สนทนาด้วยจะย่อมรับว่าหลักคิดของเขาเป็นหลักคิดที่ดี แต่ก็ยากจะปฏิบัติให้สำเร็จได้โดยง่าย

ด้วยว่าผู้นำรัฐเหล่านี้ต่างก็มุ่งสู่ความเป็นเจ้าจักรวรรดิกันแทบทั้งสิ้น เมื่อมุ่งหมายเช่นนั้นไปเสียแล้ว ความคิดคำนึงในเรื่องศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมจึงเป็นเรื่องที่ห่างไกล

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เมิ่งจื่อจะล้มเหลวในการโน้มน้าวให้รัฐต่างๆ นำหลักคิดของตนไปใช้ก็จริง แต่กล่าวสำหรับปกรณ์ เมิ่งจื่อ ของเขาแล้ว ต่อมากลับเป็นที่ยอมรับและกล่าวขานกันอย่างกว้างขวาง

ตราบจนสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) เมิ่งจื่อ ก็ถูกยกให้มีฐานะสูงส่งและถูกจัดให้เป็น 1 ใน ซื่อซู (จตุรคัมภีร์) อันประกอบด้วย หลุนอี่ว์ (บทสนทนา, The Analects) เมิ่งจื่อ (Mencius) จงยง (มัชฌิมาปกรณ์, The Doctrine of the Mean) และต้าเสีว์ย (อภิสิกขา, The Great Learning)

ครั้นถึงสมัยราชวงศ์หยวน (1206-1368) ซื่อซู หรือ จตุรคัมภีร์ ก็ถูกกำหนดให้เป็นตำราพื้นฐานในระบบการศึกษาและการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการของจีน และอยู่เคียงคู่กับ อู่จิง (เบญจปกรณ์)

จนเรียกขานร่วมกันว่า ซื่อซูอู่จิง หรือ จตุรคัมภีร์ เบญจปกรณ์ สืบแต่นั้นมา

ข. สวินจื่อ

นอกจากเมิงจื่อแล้ว สวินจื่อจัดเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปรัชญาสายสำนักหญูคนสำคัญ

สวินจื่อ (ประมาณ 313-230 ปีก่อน ค.ศ.) มีชื่อว่า ค่วง แต่ก็ยังมีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกเขาอย่างยกย่องว่า ชิง

ที่ว่าเรียกอย่างยกย่องก็เพราะ “ชิง” เป็นคำที่ใช้เรียกตำแหน่งขุนนางชั้นสูงในยุคโบราณ

และเป็นคำที่กษัตริย์หรือจักรพรรดิมักใช้เรียกขุนนางระดับสูงของตนเป็นปกติ


¹เก้าจื่อ คือนักปรัชญาร่วมสมัยเดียวกับเมิ่งจื่อในยุครัฐศึก ไม่ปรากฏปีชาตะและมรณะหรือประวัติที่ชัดเจน ส่วนชื่อนั้นบ้างก็ว่าคือ ปู้เสียง บ้างก็ว่าคือ ปู้ฮ่าย ส่วนหลักคิดของเขาเราทราบก็แต่บทวิวาทะกับเมิ่งจื่อในบทนี้ โดยถ้อยคำของเมิ่งจื่อตามที่ยกมานั้น ก็เพื่อโต้ตอบเก้าจื่อที่กล่าวว่า “ธาตุแท้ของมนุษย์อันไม่มีแบ่งแยกว่าดีหรือเลว ก็เสมือนการไหลของน้ำซึ่งไม่มีการแบ่งแยกว่าจะไปทางตะวันตกหรือตะวันออก” ถ้อยคำของเก้าจื่อนี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนะที่มีต่อธรรมชาติของมนุษย์ที่โดดเด่น และแตกต่างกับทัศนะของเมิ่งจื่ออย่างมาก