จิตต์สุภา ฉิน : ติดอาวุธต้าน ‘ข่าวปลอม’ บนโลกโซเชียล

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
AFP PHOTO / ADALBERTO ROQUE

หลายคนมองว่าการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทั้งบ้าระห่ำ เถื่อนดิบ ไร้มารยาท และไร้ศีลธรรมใดๆ ทั้งมวล ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำคนใหม่ของประเทศนั้นเป็นเพราะว่าคนเชื่อข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดีย

และข่าวพวกนี้ก็มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนที่ทำให้เอนเอียงไปทางทรัมป์ เพราะมิเช่นนั้นแล้วใครกันจะบ้าเลือกคนแบบนี้เข้ามาดำรงตำแหน่งที่สำคัญระดับโลกขนาดนั้น (ซึ่งเรื่องที่ว่าใครกันเป็นคนเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ นั้น ซู่ชิงได้เขียนเอาไว้ในคอลัมน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่ามันมีพลังเงียบมากกว่าที่คิดเยอะเลยนะคะ)

ถึงแม้ว่าคนจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกช็อก อกหัก และผิดหวัง กับการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ

แต่หนึ่งในข้อดีของการที่เขาได้รับเลือกในครั้งนี้คือการทำให้เกิดการกวาดล้างขยะบนโซเชียลมีเดียกันอย่างจริงจังที่สุดในประวัติศาสตร์ของโซเชียลมีเดียเลยทีเดียว

screen-shot-2559-11-20-at-11-36-37-pm

ข่าวปลอมบนเฟซบุ๊กที่ได้รับความสนใจและแชร์กันไปทั่วบ้านทั่วเมืองก็อย่างเช่น ข่าวที่บอกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้คะแนนป๊อปปูล่าร์โหวตชนะ ฮิลลารี คลินตัน

ข่าวเรื่องที่ฮิลลารีเคยพูดไว้ตั้งแต่ปี 2013 ว่าอยากเห็นทรัมป์ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสักวันหนึ่ง

ข่าวเรื่องวิกิลีกส์คอนเฟิร์มฮิลลารีขายอาวุธให้กลุ่ม ISIS ข่าวเรื่องโป๊ปฟรานซิสออกแถลงการณ์สนับสนุนทรัมป์ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่มียอดแชร์ ยอดไลก์ ยอดคอมเมนต์ถล่มทลายบนเฟซบุ๊ก

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การออกมาเรียกร้องให้เฟซบุ๊กแสดงความรับผิดชอบเพราะมีส่วนทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้

ร้อนถึง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค นายใหญ่ของเฟซบุ๊กที่จะต้องรีบออกมาไขความกระจ่างให้ทุกคนเข้าใจว่าเฟซบุ๊กไม่ใช่สื่อมวลชน

ซึ่งจริงๆ แล้วอันนี้ซู่ชิงก็เห็นด้วยนะคะ คอนเทนต์ทั้งหมดที่เห็นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยเฟซบุ๊กเลย แต่เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้งานสามารถนำลิงก์เข้าสู่ข่าวของเว็บไซต์ต่างๆ มาแปะแชร์ให้คนอื่นได้เห็น

ดังนั้น เฟซบุ๊กจึงไม่จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบกับข้อมูลเท็จที่อยู่บนเว็บไซต์ของคนอื่น

เช่นเดียวกับกูเกิล ที่แสดงผลการค้นหาให้เข้าสู่เว็บไซต์ต่างๆ ได้ แต่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของเว็บไซต์เหล่านั้น

(FILES) This file photo taken on March 2, 2015 shows Facebook's creator Mark Zuckerberg  on the opening day of the 2015 Mobile World Congress (MWC) in Barcelona. Facebook chief Mark Zuckerberg on November 10, 2016 rejected the idea that bogus stories shared at the social network paved a path of victory for President-elect Donald Trump."The idea that fake news on Facebook, which is a very small amount of the content, influenced the election in any way I think is a pretty crazy idea," Zuckerberg said during an on-stage chat at a Technonomy technology trends conference in California.  / AFP PHOTO / LLUIS GENE
AFP PHOTO / LLUIS GENE

คราวนี้มันก็อยู่ที่ความเจ๋งของอัลกอริธึ่มแต่ละแพลตฟอร์มแล้วล่ะค่ะว่าใครสามารถ “กรอง” และ “กำจัด” ข่าวปลอมได้ดีแค่ไหน และทำให้พื้นที่ของตัวเองเป็นพื้นที่ที่น่าอยู่และไว้ใจได้แค่ไหน

มาร์คออกมาโพสต์เฟซบุ๊กยืนยันว่าเฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับการกำจัดข่าวปลอมทิ้งไปจากแพลตฟอร์ม และได้ลงมือแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ก็ยอมรับว่ายังมีข้อบกพร่องบางอย่างที่ยังไม่สามารถจัดการได้ ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กขอให้ผู้ใช้งานช่วยกันมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลและรีพอร์ตว่าข่าวไหนเป็นข่าวปลอมเพื่อทำให้หน้านิวส์ฟีดมีคุณภาพมากขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งในด้านเทคนิคและด้านปรัชญา กล่าวคือ ขณะเดียวกันเฟซบุ๊กก็ยังต้องการให้ผู้ใช้มีอิสรภาพเพียงพอที่จะสามารถพูดหรือแชร์อะไรก็ได้ที่พวกเขาต้องการได้ด้วย

ดังนั้น สิ่งที่เฟซบุ๊กจะทำต่อไปหลังจากนี้ก็คือ

1. จะมีระบบตรวจสอบที่แข็งแกร่งขึ้น โดยจะพัฒนาระบบทางเทคนิคให้ตรวจจับข่าวปลอมได้ก่อนที่ผู้ใช้จะได้เห็น

2. ทำให้ผู้ใช้งานสามารถรีพอร์ตข่าวปลอมได้ง่ายขึ้น

3. ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการตรวจสอบข่าวเท็จ

4. เพิ่มระบบเตือนให้ผู้ใช้งานได้เห็นว่าข่าวที่กำลังจะอ่านหรือกำลังจะแชร์นั้นอาจจะเป็นข่าวปลอม

5. ทำให้ระบบแนะนำข่าวที่เกี่ยวข้อง (กับข่าวที่ผู้ใช้กำลังอ่าน) มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือไม่หยิบเอาข่าวปลอมมาแนะนำนั่นเอง

6. เปลี่ยนนโยบายโฆษณาใหม่เพื่อลดข่าวปลอมที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเงิน

7. ฟังให้มากขึ้น จะทำงานร่วมกับผู้สื่อข่าวและวงการสื่อสารมวลชนเพื่อช่วยให้เฟซบุ๊กเข้าใจระบบการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวให้มากขึ้นโดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของสื่อ

Google On Your Smartphone Internet Www Search

กูเกิลเองก็ออกมาตรการเด็ดขาดเช่นเดียวกันกับเฟซบุ๊ก คือจะกำจัดเว็บไซต์ข่าวปลอมทิ้งไปและแบนไม่ให้เว็บไซต์เหล่านี้สามารถซื้อโฆษณาได้

เป็นเรื่องน่าดีใจที่ยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีตื่นตัวในการที่จะช่วยกันจำกัดข่าวปลอมเหล่านี้ทิ้งไปจากแพลตฟอร์มของตัวเอง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามแม้จะพยายามหนักแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่กำจัดแหล่งข่าวเท็จเหล่านี้ทิ้งไปได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์

ดังนั้น ซู่ชิงคิดว่าทางแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือการติดอาวุธให้กับตัวเองค่ะ

บอกกับตัวเองอยู่เสมอว่าจะต้องรอบคอบ ฉุกคิด และสงสัยตลอดเวลาว่าข่าวที่กำลังอ่านอยู่มีเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้แค่ไหน

อะไรก็ตามที่ดูฉูดฉาด หวือหวา ปลุกเร้าสัญชาตญาณอยากรู้อยากเห็นตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้อ่านพาดหัวข่าว ลองรั้งนิ้วตัวเองให้ไม่กดแชร์ก่อน แล้วกูเกิลหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ข่าวที่น่าเชื่อถือว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ประเภทแชร์แล้วเขียนกำกับว่า “จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่…” เนี่ย เก็บไว้ก่อนดีกว่าค่ะ ถ้าไม่จริงขึ้นมาเดี๋ยวจะเขินเปล่าๆ ลำบากต้องรีบกลับไปลบเงียบๆ อีก

การอ่านแต่พาดหัวข่าวแล้วรีบแชร์นั้นถือว่าเสี่ยงมาก เพราะอย่าลืมนะคะว่าบนเฟซบุ๊ก เราสามารถกดคลิกไปที่พาดหัวที่อยู่ข้างล่างภาพ แล้วจะเปลี่ยนข้อความเหล่านั้นให้เป็นอะไรก็ได้

ดังนั้น เพื่อความชัวร์ที่สุดก็ควรจะกดเข้าไปอ่านที่หน้าเว็บเพจนั้นโดยตรงเลยจะดีกว่า

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้ก็คือการเข้าไปตรวจสอบกับเว็บไซต์เช็กความถูกต้องของข่าว ในกรณีข่าวปลอมที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งนี้ เว็บไซต์เช็กข่าวที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดก็คือ snopes.com ซึ่งหากเราได้ยินได้เห็นข่าวอะไรมาแล้วไม่แน่ใจก็ลองเข้าไปที่เว็บไซต์นี้ จะมีฟันธงให้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนเท็จ พร้อมหลักฐานและข้อมูลประกอบที่น่าเชื่อถือ

ท้ายที่สุด เว็บไซต์ Mashable ให้เคล็ดลับเอาไว้ว่า ข่าวปลอมมีแนวโน้มที่จะมีองค์ประกอบดังต่อนี้

เขียนผิดไวยากรณ์

ใช้ภาษาไม่เป็นทางการ หน้าเว็บเพจดูมีดีไซน์แบบมือสมัครเล่น

ใช้คอนเทนต์หรือภาพประกอบที่เหยียดเพศ

ใช้ภาพประกอบที่ทำให้คนที่พูดถึงในข่าวดูแย่ ฯลฯ

หมั่นสังเกตบ่อยๆ ก็จะช่วยฝึกฝนให้เราจับข่าวเท็จได้ไวขึ้นค่ะ

กลับมาที่ประเด็นว่าข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดียมีผลทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งจริงหรือไม่

ซู่ชิงคิดว่าก็มีส่วนนะคะ เพราะมันอาจจะผลักคนที่อยู่กลางๆ ไม่รักหรือเกลียดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสุดใจให้ตัดสินใจได้ในที่สุด แต่มันคือเหตุผลเดียวที่ทำให้คนเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ หรือไม่ อันนี้ก็คงไม่ใช่แน่นอน

แต่ไม่แน่การเรียนรู้การกรองข้อมูลด้วยตัวเองอาจจะไม่สำคัญสำหรับผู้ใช้งานชาวไทยอย่างเราก็ได้นะคะ เพราะได้ข่าวว่าร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่จะมีการเสนอเพิ่มอำนาจของรัฐ ให้รัฐระงับหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้ และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งศูนย์เพื่อระงับหรือลบเว็บไซต์เองได้โดยไม่ต้องรอผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเลย

จะมีคนมากรองเว็บไซต์ให้แทนแล้ว เย่