วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / แสงเสรีภาพปลายอุโมงค์

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์                

แสงเสรีภาพปลายอุโมงค์

 

ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลขณะนั้น หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ยังมีตามรัฐธรรมนูญกำหนด แต่เมื่อการปฏิวัติครั้งก่อน คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสั่งปิดหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ ที่เรียกว่า “ปิดตาย” ไม่อนุญาตให้ออกทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน

เมื่อมีการปฏิวัติครั้งนี้ โดยหัวหน้าคณะปฏิวัติชุดเดิม ล้มล้างรัฐบาลที่ตัวเองตั้งขึ้นมา คือรัฐบาลที่มีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี คณะปฏิวัติมีคำสั่งฉบับที่ 3 ความว่า

ตามที่คณะปฏิวัติได้แจ้งให้ทราบว่า คณะปฏิวัติได้ตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือพิมพ์ และให้หนังสือพิมพ์ทั้งหลายออกพิมพ์จำหน่ายได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจข่าวหรือการควบคุมของคณะที่ปรึกษาแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์ดังเช่นแต่ก่อนนั้น เพื่อให้การเป็นไปตามที่คณะปฏิวัติได้แจ้งให้ทราบดังกล่าว จึงให้ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 178/2520 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์ ตามกฎหมายว่าด้วยการพิมพ์ ลงวันที่ 26 กันยายน 2520 ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2520 (ลงชื่อ) พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิวัติ

ก่อนหน้านั้น เมื่อเกิดปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสั่งปิดสิ่งพิมพ์ ภายหลังอนุญาตให้ออกพิมพ์จำหน่ายได้บางฉบับ ยกเว้นหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับที่มีหนังสือพิมพ์ “รวมประชาชาติ” ด้วย หลังจากจัดตั้งรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร รัฐบาลได้ออกหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งชื่อ “เจ้าพระยา”

เมื่อรัฐบาลออกหนังสือพิมพ์เจ้าพระยา งานหนึ่งที่หาผู้ปฏิบัติงานยากคืองานบรรณาธิกร หรือ Sub Editor ผู้ปฏิบัติหน้าที่บรรณาธิกรหนังสือพิมพ์รวมประชาชาติจำนวนหนึ่งจึงมีโอกาสเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เจ้าพระยา พ้นจากการ “ตกงาน” ได้ส่วนหนึ่ง

 

ต่อเมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หนังสือพิมพ์เจ้าพระยาที่มีคำขวัญว่า “สายธารแห่งความคิด” จึงหยุดไหล ขณะปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เย็นวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ตามข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์เข็มทิศ หน้าเดียวกับคำสั่งคณะปฏิวัติ ความว่า

เมื่อเย็นวันที่ 20 ตุลาคม ภายหลังจากคณะปฏิวัติได้อ่านประกาศฉบับที่ 1 ได้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เจ้าพระยา ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่จัดทำโดยรัฐบาลชุดนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

ต่อมาหัวหน้าข่าวได้โทรศัพท์ไปถามนายวิชา มหาคุณ ฝ่ายบริหาร ซึ่งได้รับคำตอบว่า ให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายหยุดปฏิบัติหน้าที่สิ้นเชิง ทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ เกือบ 200 คน ต้องหยุดปฏิบัติงานฉับพลัน และแยกย้ายกันกลับบ้าน

เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งกล่าวกับ “เข็มทิศ” ว่า ไม่ทราบว่าจะได้รับเงินเดือนและเงินชดเชยหรือไม่ เพราะไม่เห็นหน้าฝ่ายบริหารแม้เพียงคนเดียว

“เราไม่ทราบว่าจะทำยังไง ตอนนี้คงต้องรอฟังไปก่อน ไม่รู้ว่าจะไปเรียกร้องที่กรมแรงงานได้หรือเปล่า” อดีตเจ้าหน้าที่หนังสือพิมพ์เจ้าพระยากล่าว

ข่าวนี้ทำให้ตัวเองคิดไปถึงเย็นวันที่ 6 ตุลาคม เมื่อปีก่อน ขณะที่กำลังพิมพ์ข่าวพร้อมนักข่าวหลายคนเสียงดังเป็นข้าวตอกแตกในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รวมประชาชาติ ทันทีที่พิมพ์ข่าวประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินถึงคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินแจ้งปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป ทุกคนที่รัวนิ้วจิ้มพิมพ์ดีดยกขึ้นโดยอัตโนมัติ ความเงียบเกิดขึ้นฉับพลันนั้น

คงเป็นเช่นเดียวกับกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เจ้าพระยาในเย็นวันนั้น

 

แต่วันนั้น ทุกกองบรรณาธิการเมื่อได้รับทราบคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติฉบับที่ 3 ต่างพากันโล่งอก ด้วยไม่มีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ หมายถึงการให้ออกหนังสือพิมพ์ฉบับพรุ่งนี้ได้ตามปกติต่อไป

ห้วงเวลาจากนั้น เพราะรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้ออกหนังสือพิมพ์ใหม่ รวมทั้งนิตยสาร “พาที” จึงต้องใช้ชื่อ “เข็มทิศฉบับพิเศษ” เป็นตัวอักษรขนาดเล็กไว้ตรงหน้าคำว่า “พาที” ฉบับเดือนตุลาคม 2520 มีคำโฆษณาว่า “มิได้กราบบังคมทูลนานนักหนา โอ้ พระรูปทรงม้าของข้าเอ๋ย”

หนังสือพิมพ์เข็มทิศ ฉบับประจำวันที่ 22-25 ตุลาคม 2520 หน้า 3 ที่มีคำสั่งคณะปฏิวัติ รวม 7 ฉบับ ด้านล่างมีข้อเขียนของ “หมู่ขัน อารมณ์ดี” เขียนเรื่อง “วัฏจักรทางธรรมชาติ” จบท้ายเป็นคำถามนักเรียนว่า พอจะตอบครูได้ไหมจ๊ะว่า ประเทศไทยสุดที่รักของเรานี้ สิ่งอมตะที่ว่านั้นคืออะไร

เต่าค่ะ

ดีมากที่กล้าตอบ แต่ผิด

ไหนเด็กชายจมูกควายตอบครูหน่อยซิ

หอยครับ

ถูกต้อง เธอเก่งมาก หอยคือสิ่งอมตะในประเทศนี้และขณะนี้

สวัสดีนะจ๊ะ

ครั้นถึงเข็มทิศ ฉบับประจำวันที่ 26-28 ตุลาคม 2520 คอลัมน์สนับสนุนเต็มขั้น ของนายหนุนยัน เขียน “หันหน้าเข้าวัด” ขอกราบลาบรรพชาเพื่อแก้บน กรรมใดที่ข้าพจ้าเคยล่วงเกินด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ขอได้โปรดอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วย

และกรรมใดที่ท่านเคยล่วงเกินแก่ข้าพเจ้าด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ข้าพเจ้าก็ขออโหสิให้ท่านเช่นกัน นายหนุนยัน 20 ตุลาคม 2520 เวลา 18.08 น.

 

หนังสือพิมพ์เข็มทิศ ฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2520 คอลัมน์ทัศนะ ชื่อ “โชคดียังมีอยู่” เป็นข้อเขียนของพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร  ที่ใช้นามจริง

เช่นเดียวกับอีกฉบับหนึ่ง 2-4 พฤศจิกายน 2520 หน้า 3 ชื่อเรื่อง ศึกสุดท้าย ข้อเขียนใช้นามจริง “ขรรค์ชัย บุนปาน”

เมื่อทั้งขรรค์ชัย บุนปาน และพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร กลับมาเขียนหนังสือในชื่อจริงได้ ย่อมหมายความว่า สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ปกติ แม้ว่ายังอยู่ระหว่างอำนาจคณะปฏิวัติ และยังไม่อนุญาตให้หนังสือพิมพ์ทั้ง 13 ฉบับที่ถูกสั่งปิดกลับมาออกจำหน่ายได้ตามปกติก็ตาม

แต่บรรยากาศของเสรีภาพการออกหนังสือพิมพ์เริ่มมองเห็นได้จากปลายอุโมงค์