ปริศนาโบราณคดี : กรณีศึกษา “วัดอู่ทรายคำ” กับแนวคิดเรื่อง “อาคันตุกาคาร-Temple Stay”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เมื่อกลางปี 2559 หลายท่านคงจำได้ดีว่าเคยมีข่าวดังที่อยู่ในกระแสความสนใจของคนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมข่าวหนึ่ง นั่นคือกรณีที่ “วัดอู่ทรายคำ” จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัด จัดสร้างอาคารตึกทันสมัยคล้ายกับโรงแรม และเปิดบริการให้แก่ผู้สนใจเข้ามา Check in ได้ทั้งภิกษุและฆราวาส

ข่าวดังกล่าวนี้ ได้สร้างความไม่สบายใจให้แก่พุทธศาสนิกชนอย่างยิ่ง กับคำถามที่ตามว่าเป็นชุดๆ ว่า นึกยังไงถึงสร้างโรงแรมในวัด

ทำไมวัดต้องเอาการท่องเที่ยวนำบทบาทด้านศาสนา

วัดได้ขออนุญาตการสร้างอาคารสูงจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง เทศบาล หรือกรมศิลปากรแล้วหรือยัง

ใคร หน่วยงานไหนเป็นผู้ให้อนุญาต รวมไปถึง วัดเป็นสมบัติของใคร ของเจ้าอาวาสส่วนตัวหรือเป็นสมบัติของคนในชุมชน?

คำถามทั้งหมดได้ทิ่มแทง สร้างแรงกดดันให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องมากพอสมควร

ไม่ว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่

รวมทั้งยังสะเทือนสะท้านไปถึงเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัด ทุกลำดับชั้นถ้วนหน้า

%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a8%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b9%82%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%93-1

คำชี้แจงที่มาของ “อาคันตุกาคาร”

เมื่อเกิดเป็นข่าวเป็นคราวประเด็นสาธารณะเช่นนี้ขึ้นมาแล้ว พระผู้ใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ก็หานิ่งนอนใจไม่ ได้ประชุมหารือกันว่าจะหาทางออกอย่างไรกันดีให้ทั้งแก่วัดอู่ทรายคำ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องตกเป็นจำเลยของสังคม และทั้งเพื่อกำหนดทิศทางวางแผนป้องกันปัญหาล่วงหน้าสำหรับวัดอื่นๆ อันอาจจะก้าวพลาดซ้ำรอยได้ในอนาคต

ลองมาฟังเสียงจากวัดอู่ทรายคำดูบ้าง ว่านึกอย่างไรถึงได้สร้างโรงแรมขึ้นในเขตพุทธาวาส

โรงแรมหลังแรก (ในภาพคือสีส้ม) ก็สร้างมาแล้วหลายปี เปิดบริการนักท่องเที่ยว ภายในมีเครื่องอำนวยความสะดวก wi-fi ตู้เย็น แอร์ ทีวี เครื่องทำน้ำอุ่น

ข้อสำคัญคือ ห้องพักห้องเดิมนั้น บางวันสุภาพสตรีมาใช้บริการ แต่วันรุ่งขึ้นกลับมีพระภิกษุมาจำวัด แสดงว่าผ้าปูที่นอนผ้าห่มใช้ปะปนกันหรือเช่นไร

หรือบางครั้งห้องชั้นล่างมีพระภิกษุกำลังจำวัด แต่ห้องชั้นบนมีคนเห็นกลุ่มสุภาพสตรีกำลังลากกระเป๋าเดินทาง

ไยจึงไม่แยกเพศฆราวาสกับสมณเพศให้ออกจากกัน ทั้งยังไม่ทราบว่าไปขอจดทะเบียนเป็นโรงแรมแล้วหรือยัง

อาคารหลังแรกก็ถูกโจษขานมากพอแรง มิหนำซ้ำทางวัดยังกำลังจัดสร้างอาคารโรงแรมขึ้นมาใหม่อีกหลังหนึ่ง

และเจ้ากรรมที่โรงแรมหลังใหม่นั้นตั้งประชิดกับหอไตรไม้โบราณอายุ 100 กว่าปี แบบเฉียดฉิวห่างกันไม่เกิน 3 เมตร!

วัดอู่ทรายคำพยายามชี้แจงแก่สาธารณชนว่า สิ่งที่ใครๆ เรียกขานกันว่า “โรงแรม” นั้น แท้จริงแล้วศัพท์ทางวัดเรียกว่า “อาคันตุกะอาคาร” ต่างหาก

ดิฉันเลยแผลงให้เป็นคำสนธิกลายเป็น “อาคันตุกาคาร” แทน

อาคันตุกะอาคาร หรือ อาคันตุกาคาร หมายถึงที่พักสำหรับญาติโยมคณะศรัทธาที่มาทำบุญในช่วงเทศกาลต่างๆ หรือกลุ่มพระภิกษุสามเณรจากอำเภอรอบนอกเวลาที่ต้องมาสอบนักธรรม บาลี พาสาธุชนคณะใหญ่ตามมาด้วย แต่ไม่อาจหาที่พักได้ ในอดีตก็มักปูเสื่อนอนกันตามวิหาร ศาลา อาคารเก็บของ

อันที่จริง แนวคิดเรื่องการสร้าง “อาคันตุกาคาร” เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อสาธุชนจากอำเภอรอบนอกนั้นเป็นเรื่องที่น่ายกย่องชมเชย หากมีอาคารที่พักแบบเป็นสัดเป็นส่วนให้แก่ญาติโยมก็ย่อมดีกว่าให้มานอนเอกเขนกกันเรี่ยราด

บางแห่งผู้หญิงเดินนุ่งกระโจมอกถือขันไปอาบน้ำในตุ่มใต้ต้นไม้แล้วเดินกลับมาผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าตามระเบียงคดก็ดูประเจิดประเจ้อ ดังเห็นกันบ่อยๆ ก็มี

ยอมรับว่ามีวัดหลายแห่งที่มีวิสัยทัศน์ในการอำนวยความสะดวกเรื่อง “อาคันตุกาคาร” มาแล้ว ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่วัดเหล่านั้น ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอะไรมากมายเหมือนดั่งโรงแรม

ข้อสำคัญไม่คิดค่าใช้จ่าย มีแต่กล่องรับบริจาคบำรุงค่าน้ำค่าไฟตามแต่จิตศรัทธา และมักแยกกลุ่มชาย-หญิง ออกจากกัน

ทางวัดอู่ทรายคำชี้แจงว่า อาคารใหม่ที่กำลังสร้างเบียดหอไตรโบราณนั้น ก็ไม่ใช่โรงแรมอีกเช่นกัน แต่เป็นอาคารตึกสงฆ์อาพาธ กึ่งกุฏิสำหรับพระเณรในวัดที่ทุกวันนี้ต้องเบียดเสียดอาศัยในห้องเก็บของ จึงสร้างให้ใหญ่สำหรับรองรับอาคันตุกะด้วย เมื่อถามถึงว่าได้ขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแล้วหรือยัง ก็กลับได้คำตอบที่ไม่ตรงกัน

กล่าวคือ ทางวัดบอกว่าทำเรื่องถึงกองโยธาของเทศบาลนครเชียงใหม่แล้ว ซึ่งทางเทศบาลไม่ได้ห้ามหรือคัดค้านแต่อย่างใด จึงเข้าใจว่าเดินหน้าไฟเขียวได้

ในขณะที่ทางเทศบาลกลับยืนยันว่า วัดมาขออนุญาตจริง แต่ทางเทศบาลเห็นความแปร่งๆ ทะแม่งๆ อะไรบางอย่าง จึงไม่เซ็นอนุญาตให้ โดยนึกไม่ถึงว่าทำไมทางวัดยังคงเร่งเครื่องทั้งๆ ที่ทางเทศบาลยังไม่ได้ตอบตกลงแต่อย่างใด

ในขณะที่ชุมชนในพื้นที่ เครือข่ายภาคประชาสังคม ได้รวมตัวกันทำเรื่องขอให้สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ตรวจสอบคุณค่าและอายุการสร้างของโบราณสถานภายในวัด รวมทั้งข้อกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการอนุรักษ์คุ้มครองโบราณวัตถุโบราณสถาน ว่าผิดหรือไม่ที่จู่ๆ ใครก็นึกจะสร้างอาคารแปลกปลอมขึ้นใหม่ ตั้งประชิดเบียดโบราณสถานอย่างไม่ปรานีปราศรัย

ซ้ำยังมีข่าวว่า หากกรมศิลป์ไหวตัวไม่ทัน ทางวัดอาจจะรื้อหอไตรย้ายไปประกอบใหม่ให้ห่างไกลในมุมลับตาคน เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่อาคารโรงแรมหลังใหม่ดูโอ่โถงขึ้นอีกด้วย

เรื่องร้อนแรงนั้นนำมาซึ่งการกระทบกระทั่งจนแทบจะแตกหักทางแนวคิดและอุดมการณ์แบบสุดขั้วของแต่ละฝ่ายเช่นนี้ จะช่วยหาทางออกกันอย่างไรดี เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอบช้ำ ทั้งฝ่ายวัด ฝ่ายนักวิชาการ และฝ่ายประชาชน

สามตัวอันตราย : การท่องเที่ยว สมณศักดิ์ และเงิน

สภาพลเมืองเชียงใหม่ได้เชิญบุคคลฝ่ายต่างๆ ประชุมหารือกันที่วัดเจ็ดยอด ซึ่งเป็นที่ตั้งของเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2559 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559

ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ผู้เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นักวิชาการจากหลากหลายสถาบันการศึกษา ทั้งกำลังรับราชการและเกษียณอายุ ทั้งในและนอกระบบ คือทั้งจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กรมศิลปากร โฮงเฮียนสืบสานล้านนา ภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ อาทิ มูลนิธิรักษ์ป่า ชมรมปั่นจักรยาน ชมรมพัฒนาสตรี ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ

การประชุมได้ข้อสรุปว่า ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่ผลักดันให้ทางวัดต่างๆ (ไม่จำเพาะแต่วัดอู่ทรายคำเท่านั้น) ต้องดิ้นรนสร้างโน่นสร้างนี่ มากมายก่ายกอง ทั้งๆ ที่บางครั้งก็เกินความจำเป็น หนุนเนื่องมาจากปัจจัยหลักสามประการที่พัลวันพัลเกกันเป็นงูกินหางคือ 1.การท่องเที่ยว 2.การอยากเลื่อนสมณศักดิ์ 3.การดิ้นรนหางบประมาณ

เอาเรื่องแรกก่อน ปัญหาด้านการท่องเที่ยวนั้น เกิดจากแนวคิดทฤษฎีที่ว่าด้วย “Temple Stay” ของนักวิชาการด้านการท่องเที่ยวที่ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมาล้อกับคำว่า Long Stay และ Home Stay ซึ่งเป็นแนวคิดเก่าล้าหลังไปเสียแล้วใน พ.ศ. นี้

สู้ Temple Stay ไม่ได้ โดยมีแนวคิดว่าจะดึงนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นทั้งไทย-เทศ ให้ใช้ชีวิตอยู่ในวัดแต่ละแห่งให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อกระจายรายได้ให้วัดและชุมชนด้วยวิธีไหนดี ไม่ใช่มาแค่ถ่ายเซลฟี่กับฉากเจดีย์วิหารสวยๆ แค่ 10 นาทีแล้วจรลี แต่จะต้องรู้จักซาบซึ้งเห็นคุณค่าของการจารคัมภีร์ใบลานและอยากช่วยเณรน้อยทำ ต้องฝึกนั่งตัดตุงตัดโคมกับสล่า หรืออยากฝึกบุแผ่นทองจังโกปิดทองคำเปลว อันเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีสีสันแปลกใหม่ กินอยู่หลับนอนภายในวัดเสร็จสรรพ 3-7 วัน ตกค่ำเดินเวียนเทียนรอบพระเจดีย์ เดินจงกรม สวดมนต์ ทำวัตร วิปัสสนา และรุ่งเช้าช่วยถือภัตตาหารเดินตามพระกลับวัด

แนวคิดเรื่อง Temple Stay ได้ขยายตัวไปสู่วัดต่างๆ ให้ขานรับกระแสนิยมหรือ Trend ใหม่นี้ วัดบางแห่งไหวตัวทัน ก็วางแผนสร้างอาคารกึ่งโรงแรมที่คิดค่าบริการ เตรียมรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการนอนในวัดนานๆ หลายคืน

ซึ่งบางทีวัดอู่ทรายคำก็อาจเป็นผลพวงของแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวเชิง Temple Stay ก็เป็นได้

ปัจจัยที่สองที่ผลักดันให้วัดต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาสร้างถาวรวัตถุใหม่ๆ (บ้างก็เผลอทำลายของเก่าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์) นั้น หนุนเนื่องมาจาก กฎข้อบังคับในการที่จะมอบสมณศักดิ์ชั้นสูงๆ ขึ้นไปให้แก่เจ้าอธิการนั้น มักมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลงานด้านวัตถุ เรื่องนี้ขอไม่ขยายความมากนัก เพราะเคยเขียนเจาะลึกมาแล้วหลายกรณีศึกษา

ปัจจัยที่สาม การที่วัดต่างๆ ต้องดิ้นรนหาเงินหางบฯ มาบูรณะเสนาสนะในนามของคำว่าการพัฒนาวัดนั้น ก็เพราะ วัดเอกชนก็ดี วัดขนาดเล็กก็ดี วัดที่กรมศิลปากรไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญก็ดี จะไม่อยู่ในเงื่อนไขของการมีสิทธิ์ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐเลย

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อหน่วยงานรัฐมีงบฯ สักก้อน ในวาระพิเศษอะไรก็แล้วแต่ เช่น ในวาระเฉลิมฉลองเชียงใหม่ 720 ปี จังหวัดอาจได้เงินมาประมาณ 21 ล้านบาท (อันนี้สมมตินะ) แบ่งเค้กออกเป็น 3 ก้อน วัดที่จะได้รับงบฯ 3 แห่ง ต้องมีเงื่อนไขว่า เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี โท เอก เป็นวัดที่พระบรมวงศานุวงศ์เคยเสด็จ เป็นวัดที่มีความสำคัญระดับชาติ

แค่แนวคิดแบบนี้ทุกอย่างก็จบเห่ วัดที่ได้รับงบฯ ซ้ำซากชั่วนาตาปีก็หนีไม่พ้นวัดใหญ่ๆ เจดีย์เพิ่งทาสีทองไม่ทันแห้งสนิทเมื่อ 2 ปีก่อน ปีนี้รัฐก็เอางบฯ มาประเคนให้อีก ในขณะที่วัดเล็กวัดน้อย ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะอ้าปากขอกระจายเศษงบฯ สักวัดละ 5 แสน 6 แสน เพื่อบูรณะกุฏิไม้เก่าๆ เสาหอไตรผุ เอียงกระเท่เร่ วิหารหลังคาโหว่รั่ว

เพราะเจ้าของงบฯ คงไม่สนุกด้วยที่จะต้องมาเปิดประมูลซองบ่อยๆ แบบยิบๆ ย่อยๆ และผลงานก็เป็นเบี้ยหัวแตก กระจัดกระจาย เวลาบุคคลสำคัญมาตรวจเยี่ยมก็ไม่มีแนวคิดจะพาไปชมวัดเล็กวัดน้อยตามชนบทเหล่านั้นอยู่แล้ว บูรณะไปผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็ไม่เห็นผลงาน

ผลสุดท้าย เมื่อวัดไม่มีช่องทางได้รับงบฯ จากภาครัฐ ก็ต้องดิ้นกันไปสุดแรงเกิดตามยถากรรม บ้างก็นึกปิ๊งไอเดีย Temple Stay ของภาคการท่องเที่ยวขึ้นมา

บ้างก็ปูอิฐตัวหนอนทับลานทรายกลายเป็นที่รับฝากรถ

มองมิตินี้แล้วก็เห็นใจวัดเล็กวัดน้อยที่ไม่ใช่พระอารามหลวงอยู่เหมือนกัน
ขอให้กรณีศึกษานี้เป็นครั้งสุดท้าย

ทางออกที่จะช่วยยุติปัญหาของกรณีวัดอู่ทรายคำ ก็คือเราต้องช่วยกันคิดว่า อาคารโรงแรมที่กำลังจะสร้างใหม่นั้นควรทำอย่างไรต่อกันดี

แม้ว่าทางวัดจะหยุดชะงักโครงการมานานกว่าครึ่งปีแล้ว อีกทั้งยังได้ปิดบริการ “อาคันตุกะอาคาร” ด้วยการเอาไม้มาตอกคลุมรอบอาคาร กลายเป็นเขตห้ามเข้า ทั้งๆ ที่ได้ลงทุนลงแรงไปมาก

อาคารหลังใหม่ นักอนุรักษ์แบบสุดโต่งบางท่านบอกต้องรื้อทิ้งให้หมดเพื่อเปิดพื้นที่ให้เห็นหอไตรอย่างสง่างาม

แต่นักประโยชน์นิยมกลับมองว่าเสียดายค่าวัสดุก่อสร้างที่ลงทุนไปแล้ว

จะสามารถปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยให้เป็นอาคารอื่นใดได้บ้างหรือไม่
ชาวเชียงใหม่ต่อสู้กันมามาก ทั้งคัดค้านเรื่องการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ

การสร้างหอชมวิวบนดอยสุเทพ

การทวงคืนพื้นที่สีเขียวแถวโรงเรียนเรยีนาไม่ให้สร้างบ้านประชารัฐ

การค้านไม่ให้เอาพื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้ว (ทัณฑสถานหญิงเดิม) ไปสร้างพุทธมณฑล ฯลฯ

ดูเหมือนเราได้แต่ค้าน ค้าน และค้าน ค้านทีละครั้ง ค้านทีละเคส

ต่อจากนี้ไป จะมีมาตรการอะไรบ้างไหมที่จะช่วยป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ที่เราต้องออกไปค้านเช่นนี้อีกไม่ว่ากรณีใดๆ