ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มกราคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | เสฐียรพงษ์ วรรณปก |
เผยแพร่ |
วันนี้ขอพูดถึงวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า “คิดแบบคุณโทษและทางออก” เป็นวิธีคิดแก้ปัญหาได้ดีอย่างหนึ่งเพราะในกระบวนการคิดเช่นนี้ บุคคลจะได้ฝึกเป็นคนมองอะไรกว้างรอบด้าน และเห็นทางออกอันเป็นแนวปฏิบัติชัดเจน ไม่ตันว่าอย่างนั้นเถอะ
การให้การศึกษาอบรมตั้งแต่เด็กก็สำคัญ ถ้าพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ไม่เปิดโอกาสหรือไม่แนะให้เด็กรู้คิด คิดหลายๆ ทางแล้ว โอกาสที่จะพัฒนาการคิดแบบคุณโทษและทางออกค่อนข้างจะยาก
สมัยยังเด็ก (ความจริงไม่เด็กแล้วล่ะ) เรียนวรรณคดีไทย ผู้รู้ท่านได้กำหนดให้เรียนสิ่งที่เรียกว่า “วรรณคดี”
ครูบาอาจารย์ก็เอาหนังสือที่เขากำหนดมาให้เรียนนั้นมาสอนว่า หนังสือเรื่องนี้ดีอย่างไร เพราะอย่างไร ให้คติแง่คิดอย่างไร คนแต่งแต่งเก่งอย่างไร ล้วนแต่ดีๆ ทั้งนั้นเพราะว่าเป็นหนังสือ “วรรณคดี”
“วรรณคดี” ท่านให้คำจำกัดความว่า หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี เรียกว่าวรรณคดี ถ้าเป็นหนังสืออื่นที่ไม่ได้รับยกย่องตัดสินว่าแต่งดี ก็ไม่นับเป็นวรรณคดี ดูเหมือนจะเรียกรวมๆ ว่า “วรรณกรรม” อะไรทำนองนั้น
มีใครถาม หรือมีคนถาม แล้วมีใครตอบบ้างไหมว่า ที่ว่าแต่งดีนั้นใครเป็นคนกำหนด คำตอบก็คือ ผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มหนึ่ง (บางทีอาจจะเป็นคนเดียวด้วยซ้ำ) เห็นว่าหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้แต่งดี ความเห็นของท่านกำหนดให้คนอื่นๆ เห็นตามตนและบังคับให้เรียน
ถามต่อไปว่า สิ่งที่ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่าดีนั้น คนอื่นมีสิทธิเห็นแย้งบ้างไหมว่า ยังไม่ดีหรือดีไม่ถึงขนาด นั่นสิครับ น่าสงสัย
ถามต่อว่า จะให้มองเห็นแต่สิ่งดีๆ เท่านั้นหรือ
มันน่าสงสัยว่า การ “ผูกขาด ความคิดความอ่าน ผูกขาดการมองการตัดสินใจอย่างนี้มันดีหรือเปล่า
ถ้าตอบตามหลักการของพระพุทธศาสนานั้น ไม่ดีแน่ เพราะมิใช่แนวทางพัฒนาความคิดอ่านหรือพัฒนาสติปัญญาที่ถูกต้อง
แต่สังคมไทยก็มักจะยึดวิธีการให้การศึกษาแก่เด็กๆ แบบนี้ทำกันมาตั้งแต่พอรู้เดียงสากันเลยทีเดียว เข้าโรงเรียนประชาบาล ก็ให้อ่านนิทานอีสป มันก็สนุกดีดอก
แต่พอตอนจบก็จะบอกว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า” กำหนดให้รู้ตามนั้นอย่างเดียวไม่เปิดโอกาสให้เด็กคิดบ้างว่า มันสอนอย่างอื่นได้ไหม
ถามผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ท่านก็ว่าไม่ได้ดอก เด็กมันคิดไม่เป็น ถึงคิดออกมาก็ไม่เข้าท่า ให้ผู้ใหญ่คิดแทนเด็กน่ะดีแล้ว จะได้ไม่นอกลู่นอกทาง จริงหรือเปล่าครับ ที่ว่าเด็กน่ะคิดไม่เป็น สู้ผู้ใหญ่ไม่ได้ ถ้าสังเกตลูกหลานตัวเล็กๆ ของท่านดูจะรู้ว่าลูกหลานตัวน้อยๆ ของท่านนั้นมีวิธีคิดที่เฉียบคมมิใช่น้อย ถ้าได้รับการเอาใจใส่ประคับประคองส่งเสริมจากผู้ใหญ่ เด็กๆ เหล่านั้นจะโตมาพร้อมกับความเฉลียวฉลาดที่น่าทึ่งเป็นอย่างยิ่ง แต่น่าเสียดาย สังคมไทยได้สกัดกั้นทางแห่งสติปัญญาของเด็กเสียหมด
เด็กจะคิดอะไรนอกเหนือจากที่ผู้ใหญ่คิดก็ถูกตวาด ห้ามคิด ห้ามพูด “แหกคอก” ห้ามซักโน่นถามนี่ ในที่สุดเด็กมันก็เลยไม่คิด ไม่ซัก ไม่ถาม
โตมาก็เลยเป็นผู้ใหญ่ที่ซื่อบื้อ คิดอะไรก็ไม่เป็น ดังเห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน
ผมมีเรื่องเล่าสองเรื่อง เรื่องแรกสั้นๆ พ่อกับลูกขับรถผ่านไปยังหมู่บ้านนอกเมืองแห่งหนึ่ง เห็นชาวบ้านกำลังโค่นต้นไม้ต้นหนึ่งอยู่ ลูกชายถามพ่อว่า “เขาตัดต้นไม้ทำไมพ่อ” พ่อตอบว่าคงเอาไปทำเฟอร์นิเจอร์มั้งลูก
“ลูกว่าไม่น่าจะใช่” ลูกชายขัดคอ
“หรือไม่ก็เลื่อยไปทำรั้ว ทำคอกหมูคอกม้าอะไรก็ได้” พ่อตอบเสียงชักบ่งความรำคาญที่จะตอบ
“ไม่ใช่อีกนั่นแหละ” ลูกว่า
คราวนี้พ่อชักโมโหย้อนถามว่า “มึงรู้แล้วถามหาหอกอะไร เขาตัดไปทำไมวะ”
ลูกชายตอบเสียงดังฟังชัดว่า “ตัดให้ขาดสิพ่อ”
คำพูดของลูกชายทำให้พ่ออึ้ง เออ จริงสินะ เขาตัดไม้ทำไม ก็ต้องตัดให้มันขาด ส่วนตัดขาดแล้วจะเอาไปทำอะไรต่อนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง
นี้แหละครับ เป็นเครื่องชี้บ่งว่า เด็กๆ นั้นบางครั้งก็มีความคิดที่เฉียบคมอย่างยิ่ง จนผู้ใหญ่คิดไม่ถึง
จากเรื่องนี้ ถ้าเรารู้จักคิด เราก็นำเอามาคิดต่อ เอามาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้ ปัญหาสารพัดในโลกเรานี้ ที่มันแก้ไม่ค่อยตก แก้ไม่ได้ บางทียิ่งแก้ยิ่งยุ่งนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการไม่รู้จักว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร เมื่อไม่รู้ว่ามันคืออะไรจริงๆ ก็แก้ไม่ได้
พระพุทธเจ้าท่านว่า ขั้นแรกก็ต้องรู้จักทุกข์ให้แน่ชัดเสียก่อนจึงจะแก้ทุกข์ได้ แปลไทยเป็นไทยก็คือ ต้องรู้จักปัญหาให้ชัด (รู้สภาพปัญหาและต้นตอของปัญหาด้วย) จึงจะแก้ปัญหาได้
เรื่องที่สองเคยเล่าไว้ในที่อื่นแล้ว เล่าอีกครั้งคงไม่ว่ากัน
ขงจื๊อขับรถม้าผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พบเด็กกำลังเล่นทรายอยู่หลายคน จึงร้องบอกให้หลีกรถ เด็กๆ ต่างวิ่งหนีด้วยความกลัว เหลือเด็กน้อยคนหนึ่งไม่หนีเหมือนเพื่อนๆ กลับยืนเอามือเท้าสะเอว จ้องขงจื๊อ
นักปราชญ์เฒ่าตวาดว่า “เจ้าเด็กน้อย ทำไมยังไม่หลีกรถอีก”
เด็กน้อยตอบว่า “พวกผมกำลังสร้างกำแพงเมือง ไม่เคยเห็นกำแพงเมืองที่ไหนมันหลีกรถได้”
ขงจื๊อนึกชมวาทะอันเฉียบคมของเด็กน้อย จึงลงรถมาคุยด้วยชวนให้ไปอยู่ด้วยกัน จะพาปกครองบ้านเมืองให้ “ราบเป็นหน้ากลอง” (ความหมายก็คือ ปกครองโดยยุติธรรม ประชาชนจะได้มีความสงบสุขทั่วหน้า)
เด็กน้อยแย้งว่า เป็นไปไม่ได้ ถ้าโลกมันราบเป็นหน้ากลอง น้ำก็ท่วมโลก คนและสัตว์จะจมน้ำตายหมด
ขงจื๊ออึ้ง ไม่นึกว่าเด็กน้อยตัวแค่นี้จะมีวาทะคารมคมคายขนาดนี้
เมื่อเห็นผู้เฒ่านิ่ง เด็กน้อยจึงถามว่า “ในทะเลมีปลากี่ตัว บนฟ้ามีดาวกี่ดวง”
“ถามอะไรไกลหูไกลตานัก หลานเอ๋ยถามใกล้ๆ หน่อยสิ” ผู้เฒ่าบอก พลันเด็กน้อยชี้หน้าท่านผู้เฒ่า ถามว่า “ถ้าอย่างนั้น ขนคิ้วท่านมีกี่เส้น” ครับใกล้หูใกล้ตาที่สุดแล้ว
ตกลงผู้เฒ่าตอบไม่ได้จึงถอดหมวกคำนับเด็กน้อย สั่งให้รถม้าหลีก “กำแพงเมือง” ของเด็กน้อยไป
ใครว่าเด็กๆ มันคิดอะไรไม่เป็น เด็กๆ ลูกหลานเรานี้แหละมี “แวว” ฉลาดมาแต่ต้นแล้ว หากแต่ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรจะเป็นเท่านั้น โตมาแล้ว “แวว” นั้นก็เลยฝ่อไปเลย เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักคิด หรือคิดไม่เป็น หลายต่อหลายคนกลายเป็นคน “สิ้นคิด” ไปก็มี
ตามปกติ คนเรามักคิดอะไรทางเดียว อย่างเก่งก็คิดแค่สองทางคือ ทางบวกกับทางลบ ใครคิดทางไหนก็ยึดอยู่แต่ทางนั้น ว่าตนเท่านั้นคิดถูก คนอื่นที่คิดไม่เหมือนตนผิด ตราบใดที่ไม่คิดเห็นแนวทางที่สาม ที่สี่ ที่ห้าแล้ว ไม่แคล้วต้องทะเลาะขัดแย้งกันอยู่ชั่วนิรันดร
ยกตัวอย่างเรื่องพื้นๆ ที่เห็นกันอยู่ชนบทห่างไกล เมื่อราชการตัดถนนผ่านมีน้ำ มีไฟฟ้า การคมนาคมสะดวกสบาย มีสินค้าบริโภคใหม่ๆ แปลกๆ เข้ามาเสนอขายมากมาย
ชีวิตของชาวชนบทได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมากมาย
ถ้ามองในแง่บวกหรือด้านดีจะเห็นว่า หมู่บ้านชนบทแห่งนี้เจริญขึ้น พัฒนาขึ้น สิ่งที่ไม่เคยมีก็มี ถนนหนทางที่ทันสมัย มีน้ำประปา ไฟฟ้า มีตึกรามใหญ่ๆ มีโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านมีงานทำเพิ่มขึ้น
เช่น ไปใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น
ถ้ามองในแง่ลบ หรือด้านเสียก็จะเห็นว่า ถ้าคำว่า “เจริญ” หรือ “พัฒนา” หมายถึงการมีเครื่องอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวก็น่าที่จะเรียกว่าเจริญ หรือพัฒนาจริง แต่ท่ามกลางการเข้ามาของวัตถุอำนวยความสะดวกเหล่านี้ ความ “ดีงาม” ที่เคยมีได้เลือนหายไปเช่นบรรยากาศที่สงบไม่อึกทึก พลุกพล่าน
– ไมตรีจิตมิตรภาพฉันเพื่อนบ้านที่ขอกันกินได้หรือแลกของกันกินได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินตราซื้อขาย
– การมีของอำนวยความสะดวกน้อย แต่ไม่มีหนี้สินด้วยการไปกู้สหกรณ์ เพื่อซื้อวัตถุอำนวยความสะดวกมาแข่งขันกัน
– ความพอใจในสภาพความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย แทนความฟุ่มเฟือยหรูหรา ตามแบบอย่างชาวเมือง
– การเห็นคุณค่าวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่เป็นมรดกมาแต่ปางบรรพ์ แทนการนำเอาวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามา แล้วดูหมิ่นวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ หายไปพร้อมกับการเข้ามาของการพัฒนาสมัยใหม่
คนที่มองแต่แง่บวกก็จะเห็นแต่ความดีงามของการพัฒนาแบบใหม่ คนที่มองแต่แง่ลบก็จะเห็นแต่ความเลวร้ายของการพัฒนาแบบใหม่ แต่ถ้าพิจารณาผลดี ผลเสียทั้งสองด้านแล้วอาจจะได้ทางออกว่าเราควรจะทำตัวอย่างไรต่อเรื่องนี้ ทางออกที่ได้เช่น
1) เป็นไปไม่ได้ที่จะปิดกั้นกระแสการพัฒนาทางวัตถุหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ สิ่งเหล่านั้นสักวันหนึ่งก็จะไหลบ่าเข้าไปยังท้องที่ห่างไกล
2) จำเป็นต้องยอมรับให้มีการพัฒนาทางวัตถุ ยอมรับการไหลบ่าเข้ามาแห่งวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมพื้นถิ่นดั้งเดิม
3) แต่ควรรับด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยการรู้ทัน รู้จักเลือกรับเฉพาะสิ่งที่ดีไม่เกิดโทษแก่ตนและท้องถิ่นของตน
หรือปรับให้เข้ากับพื้นฐานของตนโดยไม่เสียความเป็นตัวของตัว