เจาะวิธีคิดธุรกิจ-การเมือง ‘โต้ง สิริพงศ์’ บทเรียนทำหนัง(ไทย)อย่างไรไม่ให้เจ๊ง! – ชูแก้กฎหมายเพิ่มเงินกระเป๋าชาวบ้าน

มีโอกาสสนทนา “เสี่ยโต้ง-สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” จากพรรคภูมิใจไทยทั้งทีต้องคุยกันหลายเรื่อง

เพราะว่าเจ้าตัวมีหมวกน่าสนใจหลายใบ

ทั้งนายทุนใหญ่สร้างหนังไทบ้านประสบความสำเร็จทุกภาค!

ไม่พอ เขายังเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ขายวิธีคิดมากกว่าสายฮาร์ดคอร์

และต่อไปคนอาจจะจดจำเขาในฐานะบุคคลสำคัญน่าจับตาของจังหวัดศรีสะเกษก็เป็นไปได้

เจาะวิธีคิดทำหนัง (ไม่ให้เจ๊ง)

สำคัญสุด ตอบให้ได้ว่า ลูกค้าคุณคือใคร?

อันดับแรกของการทำธุรกิจ เราต้องหาลูกค้าเราให้เจอว่าลูกค้าเราคือใคร?

จะทำของไปขายใคร? พอของเราเน้นกลุ่มคนอีสาน ก็มาดูตัวเลขจริงว่า ยอดซื้อบัตรชมภาพยนตร์ ถ้าเป็นหนัง Hollywood ฟอร์มยักษ์รายได้ของกรุงเทพฯ จะเป็น 2 เท่าของต่างจังหวัด

แต่ถ้าเป็นหนังไทย รายได้ต่างจังหวัดจะเป็น 2 เท่าของกรุงเทพฯ นั่นหมายความว่ารสนิยมการชมภาพยนตร์ของคน 2 ภูมิภาคต่างกัน

ฉะนั้น คำถามที่ว่าเราสร้างหนังอีสานขายใคร

1. แน่นอน เราจะขายคนอีสานทั้งหมดในถิ่นฐาน

2. เราจะขายคนอีสานที่อยู่ต่างถิ่น ที่ต้องออกมาทำงานในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออก

ทำเพราะรักที่จะทำ พร้อมรับความเสี่ยง

ตอนทำภาคแรก ยอมรับว่าเราคิดว่าหนังมีโอกาสขาดทุนสูง

แต่เราก็ถามตัวเองว่า ถ้ามันขาดทุนแล้วเราจะทำเพื่ออะไร?

สำหรับตัวผู้กำกับฯ เขาบอกว่าเขา “ต้องการจะบันทึกประวัติศาสตร์ของคนอีสานในช่วงหนึ่งของชีวิต”

ว่าเขามีวิถีแบบนี้ แต่สำหรับตัวผมในฐานะผู้ลงทุน ผมก็คิดว่าการลงทุนครั้งนี้อยากจะประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษให้คนทั้งประเทศได้เห็นว่าเป็นจังหวัดที่น่าอยู่ และเขาอยากจะมาเที่ยว มาจับจ่ายใช้สอย มาซึมซับดูวิถีชีวิตของคนอีสานจริงๆ

ประเด็นต่อมาสำหรับผมคือการให้คนอีสานที่ทำงานต่างถิ่นได้ดูได้เห็นหนังที่สะท้อนสภาพสังคมตัวตนของบ้านเกิดเมืองนอนเขาจริงๆ และเขามีความรู้สึกรักถิ่นฐานอยากจะกลับบ้าน ไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ อยากจะกลับไปดูใช้ชีวิต

หรือถ้าจะให้ได้ผลมากที่สุด คือการที่เขาคิดว่าวันหนึ่งจะกลับมาพัฒนาถิ่นฐาน

นี่คือหลักในการคิด เมื่อโจทย์มันตอบ เรารับความเสี่ยงได้ ที่เหลือคือเรื่องของความรักที่จะทำมันล้วนๆ

ยุคนี้ทำหนังอย่างไรไม่ให้เจ๊ง?

มีวิธีมากมายที่จะถ่ายทอดภาพยนตร์ดีๆ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ

ยกตัวอย่างไทบ้านภาค 1 ใช้เงินลงทุน 2 ล้านบาท ผมโยนโจทย์ให้เด็กๆ ที่ทำหนังว่าพื้นฐานในการคิดต้องคิดแบบคนไม่มีเงิน

เพราะถ้าคุณคิดแบบคนที่ไม่มีเงินคุณจะคิดได้รอบคอบกว่าคิดแบบคนมีเงิน เพราะคนมีเงิน ในหัวจะคิดว่าฉันมีปัญญาจ่าย ฉันจ่ายไหว จะมีอำนาจเท่าไหร่ก็ได้

แน่นอนว่าแบบนี้มีโอกาสเจ๊งสูง แต่ถ้าคิดแบบไม่มีเงิน เขาก็จะคิดมากขึ้นว่าสิ่งไหนควรเสีย สิ่งไหนไม่ควรเสีย

อย่างภาค 1 ที่ดังมาก เราไม่มีเงินจ้างไฟ ไม่มีคนถือโฟมจัดแสง การถ่ายทำฉากตี 4 ก็นั่งรอถ่ายเวลา 04:00 น. จริงๆ สามทุ่มคือสามทุ่ม เช้าคือเช้า เราไม่มีเงินแต่งหน้า ฉะนั้น ใครมีอะไรก็แต่งกันมา เราไม่มีเงินจ้างคอสตูม หนังไม่จำเป็นจะต้องมีชุดเป็นหมื่นเป็นแสน นางเอกก็ใส่เสื้อบอลนอน ซึ่งสิ่งที่คนดูหนังเขาบอกว่านี่เลยคือชีวิตจริงของเขา เพราะตอนนอนไม่ได้หน้าเด้ง ไม่เคยใส่ชุดนอนสวยๆ ก็ใส่เสื้อบอลนอนนี่แหละ

ที่ผ่านมาหนังอีสานที่คนกรุงเทพฯ ทำ เขาพยายามนำเสนอในมุมที่ว่าอยากจะให้คนกรุงเทพฯ เห็นอะไรมากกว่านำเสนอสภาพความเป็นจริง ที่เป็นอีสานจริงๆ เขาก็เลยเลือกมุมเสนอ แต่แนวคิดเราไม่ใช่แบบนั้น เราเสนอสิ่งที่เป็นตัวของเด็กเอง ความสนุกของหนังมันจึงเป็นความเรียลลิตี้

วิธีคิดหลังถูกเซ็นเซอร์ครั้งแรก

เป็นเรื่องของความอ่อนไหว เราถูกขอร้องจากทางกองเซ็นเซอร์ว่าขอให้ตัดฉากพระร้องไห้ฟูมฟายออก เนื่องจากว่าทางกระทรวงวัฒนธรรมจะค่อนข้างระวังเนื้อหาที่เกี่ยวกับศาสนา เราก็พยายามโต้แย้งไปว่าเป็นพระบวชใหม่เขาก็ย่อมมีความรู้สึกที่จะแสดงออกได้

แต่เขาให้เหตุผลเทียบกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวันว่าเป็นสิ่งที่เห็นในสังคมได้น้อยมากว่าคนที่ถือเพศบรรพชิตร้องไห้พอมี แต่ถึงขั้นฟูมฟายไม่เห็นในชีวิตประจำวัน ก็เป็นเหตุเป็นผลแล้วแต่มุมมอง แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน

สิ่งหนึ่งที่เราต้องสอนเด็กก็คือว่ากฎกติกาบางอย่าง แม้ว่ามันจะขัดกับความรู้สึก แต่เราก็จำเป็นที่จะต้องทำตามเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ เราต้องทำให้เกิดความสบายใจ เพราะไม่อย่างนั้นจะกระทบไปหลายส่วน ทั้งผู้สนับสนุน แฟนภาพยนตร์ เขาก็รอชมอยู่

รวมทั้งไม่ให้กระทบกับโปรแกรมหนังไทยเรื่องอื่นๆ ที่จ่อคิวรอฉาย เพราะกว่าหนังจะฉายได้แต่ละเรื่องเขาวางแผนนานมาก หนังไทยเรื่องดัง 2-3 เรื่องมาชนกันไม่ได้ เพราะว่าถ้าชนกันจะมีหนึ่งเรื่องเจ๊งแน่นอน ไม่มีใครอยากให้เกิดภาวะแบบนั้น ก็พยายามสับหลีกกัน

อนาคตไทบ้าน x BNK48

จักรวาลไทบ้านของเราก็จะมีภาคต่อไป ภาคย่อยของแต่ละคน ก็จะมีทั้งเกี่ยวกับสัปเหร่อเป็นหนังผี นำเสนอมุมมองผีในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นวิถีชาวบ้าน พิธีกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงๆ

แล้วก็มี Side Story มีตัวละครหนึ่งตัวที่มาทำธุรกิจในการก้าวเข้ามาสู่โลกธุรกิจในภาค 3 ที่สำคัญ จะมีโปรเจ็กต์พิเศษมาสอดแทรกคือไทบ้านกับ BNK48

เราอยากจะนำเสนอในมุมมองการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ระหว่างคนเมืองกับคนชนบท ว่าคนเมืองมีวิถีชีวิตในเมืองเมื่อต้องมาอยู่ในชนบทจะเป็นอย่างไร และเด็กชนบทที่ไม่รู้อะไรเลยต้องเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ

ยิ่งมาเจอกับกฎกติกาต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวของ BNK เขาจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไร?

แนวคิดการเมืองนำ ‘บุรีรัมย์โมเดล’ มาใช้แก้ปัญหาขนส่งสาธารณะ

เชื่อว่าทุกคนคงเซ็งกับปัญหาโบกแท็กซี่แล้วไม่ไป อ้างว่าก๊าซหมด ต้องส่งรถหรือพยายามหลีกเลี่ยงรถติดด้วยการใช้คำพูดต่างๆ

โดยผมมองว่า แนวคิด Sharing economy โดยเฉพาะเรื่อง Grab กับ Airbnb ที่คิดไว้ ต้องยอมรับว่า คนกรุงเทพฯ เป็นทุกข์มากกับการโบกแท็กซี่แล้วไม่ไป และไม่ว่าก๊าซจะขึ้นจะลง แท็กซี่ก็เรียกร้องจะขึ้นราคา

ที่สำคัญ เมื่อเราได้รับบริการที่ไม่ดีก็ไม่สามารถร้องเรียนเอาผิดกับใครได้เลย แต่พอ Grab หรือ Uber เข้ามา คนมีความรู้สึกว่าไปไหนมาไหนเขารู้เส้นทางได้ชัด ปลอดภัย ร้องเรียนบริการได้ ประมาณการราคาได้จริง ต่างจากระบบมิเตอร์ ถ้าแท็กซี่อ้อมหน่อยก็เสียแพงขึ้น

แต่ข้อจำกัดปัจจุบันคือยังขัดกับข้อกฎหมายป้ายขาวไม่สามารถรับ-ส่งสาธารณะได้ ใบขับขี่คนละประเภท ทั้งที่จริงในชีวิตประจำวันต้องยอมรับว่าคนขับป้ายเหลืองหรือป้ายขาวพฤติกรรมไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ แล้วข่าวที่เราเห็นคือมีการล่อซื้อ กลายเป็นว่ารับจ้างมีความผิด ถูกล้อม;”จับโดยกลุ่มแท็กซี่ ผมเข้าใจว่าทุกคนมีเหตุผลหมด อันนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องแก้ไขที่ตัวกฎหมาย

ในต่างจังหวัดก็เกิดอีกปัญหาหนึ่งด้านขนส่ง รายได้หลักของประเทศทุกวันนี้มาจากการท่องเที่ยว 13-14 เปอร์เซ็นต์ คำถามสำคัญก็คือว่า สาธารณูปโภค-ระบบขนส่ง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดพร้อมหรือไม่?

ตอบได้ทันทีเลยว่า ไม่พร้อม! สังเกตได้ว่า หากเราไปเที่ยว รถประจำทางไม่มีขึ้น รถไฟไปไม่ถึง แท็กซี่ก็มีน้อย ก็เลยมาคิดว่า ควรจะมี Grab หรือ Uber ในพื้นที่ให้เขาได้ใช้เพิ่มความสะดวกมากขึ้น

ยกตัวอย่าง จังหวัดอย่างศรีสะเกษมีแท็กซี่อยู่แค่ 10 คัน นอกนั้นมีสามล้อถีบ ที่แค่ออกเกินรัศมี 20 ก.ม. ก็ไม่ได้แล้ว

เราก็ไปดูโมเดลของบุรีรัมย์ ช่วงการจัดโมโตจีพี จะเห็นได้ว่าคนที่อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์สามารถรับแขกได้ ใช้รถอีแต๋น แสดงวิถีชีวิตของเขาและมีรายได้เสริม ก็คิดว่าไอเดียนี้ดี แล้วจะทำอย่างไรให้ถูกต้อง ก็ต้องไปแก้กฎหมาย เพื่อให้คนในจังหวัดทำมาหากินได้ถูกต้องมีรายได้เสริมเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

มันเลยเป็นที่มาของ Sharing economy คือทุกคนมีของที่เป็นต้นทุนอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้สามารถทำมาหากินได้ถูกต้องโดยใช้เทคโนโลยี

Airbnb โมเดลเช่นกัน เทรนด์การเที่ยวของโลกเริ่มเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวไม่อยากนอนโรงแรม

เขาไม่ได้มากับทัวร์ เขาต้องการที่นอน อยากได้ที่พักเล็กๆ เป็นส่วนตัวจริงๆ อยู่ในท้องไร่ปลายนาก็ถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากสำหรับเขา ก็ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมอีก

จากทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ก็ทำให้เข้าระบบ วางกรอบเรื่องความปลอดภัย มีระบบกล้องวงจรปิด ระบบการเงิน

เราจึงชูแก้กฎหมายที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการทำมาหากินของประชาชน ถ้าประชาชนได้ประโยชน์ ทุกนโยบายภูมิใจไทยจะทำ

ติดตามคลิปสัมภาษณ์เจาะแนวคิดโต้ง สิริพงศ์ ได้ที่