ธงทอง จันทรางศุ : พระแก้ว

วันนี้มาพูดกันถึงเรื่อง “พระแก้ว” ดีไหมครับ

เกิดเป็นคนไทยชาวพุทธแล้วอย่างไรเสียก็ต้องเคยได้ยินคำว่าพระแก้วผ่านหูมาบ้างแล้วเป็นแน่นอน

ลำดับต้นพวกเราย่อมนึกถึงพระแก้วมรกตซึ่งถือกันว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง

มีนามเต็มอย่างเป็นทางการว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นที่เคารพกราบไหว้ของปู่ย่าตายายมาไม่รู้ว่ากี่ชั่วคนแล้ว

สำหรับพระแก้วองค์นี้ แม้จะปรากฏนามของท่านว่า “มรกต”

แต่ทุกคนก็เคยรู้จากตำราเรียนตอนเราเป็นเด็กแล้วว่า ช่างได้แกะสลักขึ้นจากหยกสีเขียวก้อนใหญ่ด้วยฝีมืออันประณีต จนสำเร็จเป็นพระพุทธปฏิมา มิได้แตกหักร้าวราน หรือบุบสลายไปในที่หนึ่งที่ใด อันควรถือเป็นเหตุมหัศจรรย์

เพราะลองนึกดูนะครับว่า เมื่อเจ็ดร้อยหรือแปดร้อยปีมาแล้วการที่จะหาก้อนหินหยกขนาดใหญ่ถึงเพียงนั้นมาได้ก็ยากเย็นแสนเข็ญแล้ว

ยังจะต้องมีช่างและเครื่องมือที่จะแกะสลักให้ได้ผลงานสุดท้ายงดงามถึงอย่างนี้ ยิ่งยากเข้าไปเป็นสองซ้ำสามซ้อน

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีตำนานปรากฏในภายหลังว่าเป็นฝีมือเทวดาสร้าง เพราะฝีมือเป็นงานชั้นเทพจริงๆ

เมื่อเราสิ้นกังวลสงสัยว่าพระแก้วมรกตท่านทำมาจากหยกแล้ว

ความสงสัยอาจเกิดขึ้นต่อไปว่าแล้วคำว่า “แก้ว” หมายถึงอะไร

เท่าที่สังเกตได้จากความเข้าใจของคนไทยทั้งหลาย เมื่อพูดถึงพระแก้วแล้วย่อมหมายถึงพระพุทธรูปที่สร้างหรือแกะสลักขึ้นจากหินธรรมชาติ ที่มีความงดงามและส่วนใหญ่มีความใส ไม่ขุ่นทึบ

แต่ก็มีพระแก้วบางองค์เหมือนกันที่เนื้อทึบแสง หากแต่สร้างขึ้นจากหินที่มีสีสวยงาม สีสม่ำเสมอ ก็เรียกว่าพระแก้วได้เหมือนกัน

พระแก้วทึบแสงเช่นว่านี้มีพระแก้วมรกตเป็นอาทิ

คำว่า “แก้ว” นี้เป็นคำภาษาไทย ใช้ในความหมายเดียวกันในหลายภูมิภาค ตั้งแต่ล้านนาเป็นต้นเรื่อยลงมา หมายถึงวัสดุหินธรรมชาติที่มีความสวยงามและมีสีสันหลากหลาย ทั้งหินกึ่งอัญมณี (Semi-Precious Stone) และหินสี (Colored Stone)

นอกจากการนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปแล้วยังนิยมนำมาทำเครื่องประดับร่างกายโดยความเชื่อว่าจะสามารถดลบันดาลให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ครอบครองด้วย

แต่ที่นิยมกันมากคือการนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ที่เรียกว่าพระแก้วนั้นแล

พระแก้วเป็นของวิเศษอย่างไรหรือครับ

ความวิเศษของพระแก้วนั้นขึ้นต้นอยู่ที่ความหายาก เพราะการที่จะได้หินธรรมชาติ มีขนาดก้อนใหญ่เล็กกำลังพอดีกับความต้องการ ไม่มีรอยแตกหักบุบสลาย เพียงนี้ก็เป็นของยากแล้ว

ยังต้องประกอบด้วยฝีมือของช่างผู้มีความเชี่ยวชาญสมทบเข้าไปอีก

การที่จะสร้างหรือมีพระแก้วเกิดขึ้นหนึ่งองค์จึงยากนักหนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปเปรียบกับการสร้างพระพุทธรูปด้วยโลหะ ซึ่งสามารถหล่อให้มีขนาดใหญ่เล็กตามความประสงค์

พูดง่ายๆ ว่าเป็นพระพุทธรูปที่เกิดขึ้นจากศรัทธาและฝีมือของมนุษย์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

ขณะที่การสร้างพระแก้วมีปัจจัยที่อยู่เหนือความควบคุมอีกเป็นอันมาก

ผมสังเกตเองว่าพระแก้วรุ่นเก่าที่เรารู้จักกันมาแต่ก่อนนั้น ส่วนมากจะปรากฏขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิส่วนที่เป็นตอนบนของประเทศไทยปัจจุบัน เพราะหินธรรมชาติที่มีความสวยงามและสามารถนำมาแกะสลักเป็นพระแก้วได้ มักอยู่ทางด้านตอนใต้ของประเทศจีนต่อเนื่องมาจนถึงบางส่วนของประเทศเมียนมาและลาว ตลอดถึงตอนเหนือของประเทศไทยทุกวันนี้

แม้จนปัจจุบันนี้บริเวณดังกล่าวก็ยังเป็นแหล่งหินธรรมชาติสำคัญ ที่ยังสามารถหาหยกและหินควอตซ์สีต่างๆ ได้อยู่เสมอ

ลองนึกดูสิครับว่าแม้พระแก้วมรกตที่เราเคารพกราบไหว้อยู่นั้น ตามประวัติก็พบท่านเป็นครั้งแรกที่วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย

พุทธศิลป์นั้นก็เป็นงานฝีมือช่างแบบล้านนาแท้ๆ แต่เดิมประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ ต่อมาเกิดเหตุฟ้าผ่าเจดีย์พังทลายลง จึงปรากฏองค์พระแก้วมรกตขึ้นกับสายตาของชาวโลก

ต้องนึกนะครับว่าครั้งนั้นยังไม่มีประเทศไทยเป็นรัฐชาติแบบปัจจุบัน หากแต่ยังเป็นนครรัฐขนาดใหญ่น้อยต่างๆ เจ้าผู้ครองนครรัฐองค์ใดมีบุญวาสนาก็เชิญพระแก้วมรกตไปเป็นมิ่งเมือง

จนเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงครองเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็ทรงได้รับราชสมบัติทางเมืองหลวงพระบางด้วย เพราะพระชนกชนนีมีสายสัมพันธ์กับทั้งสองเมือง

จึงโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง

และย้ายไปที่เมืองเวียงจันทน์เมื่อตอนที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชองค์เดียวกันนี้ไปสร้างเมืองเวียงจันทน์

พระแก้วมรกตจึงไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์นานปี แล้วได้มาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี

และอัญเชิญมาเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมา

ที่แสดงประวัติพระแก้วมรกตมาโดยย่อนี้ เพื่อจะบอกว่าครั้งแรกที่พบพระแก้วมรกตนั้นพบที่จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน ซึ่งเป็นท้องถิ่นที่สามารถหาหยกขนาดใหญ่จากแหล่งธรรมชาติที่อยู่ไม่ไกลเกินไปนักได้

เช่นเดียวกันกับพระแก้วของเมืองเหนืออีกองค์หนึ่งที่คนไทยรู้จักกันดี คือพระเสตังคมณีหรือพระแก้วขาว ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่พระอุโบสถวัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่

พระแก้วองค์นี้มีตำนานว่า พระนางจามเทวีทรงนำมาจากเมืองละโว้เมื่อครั้งที่ทรงเดินทางมาครองเมืองหริภุญชัย ครั้นถึงพุทธศักราช 1824 พระเจ้ามังรายทรงยกพลเข้าตีเมืองหริภุญชัย

สงครามครั้งนั้นทำให้เกิดไฟไหม้ทั้งเมืองยกเว้นหอพระที่ประดิษฐานพระแก้วขาวภายในพระราชวังเพียงแห่งเดียวที่รอดพ้นจากเพลิงไหม้

พระเจ้ามังรายจึงทรงพระศรัทธาในพระแก้วขาวองค์นี้ และเชิญไปประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ตราบกระทั่งปัจจุบัน

สำหรับผมแล้ว พระแก้วขาวท่านจะมาจากเมืองละโว้จริงหรือไม่ ขอฟังหูไว้หูก่อนครับ

แต่อย่างน้อยเมื่อปรากฏเรื่องราวของท่านขึ้นชัดเจนนั้น ท่านมาอยู่ที่ลำปางและเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแดนดินถิ่นล้านนาที่มีความนิยมในเรื่องพระแก้วมาแต่ไหนแต่ไร

และอยู่ไม่ไกลกันนักกับแหล่งหินธรรมชาติดังที่ว่ามาแล้ว

นอกจากนั้นยังมีพระแก้วองค์สำคัญที่คนไทยรู้จักกันแพร่หลายอีกสององค์ องค์หนึ่งคือพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ซึ่งเป็นพระแก้วผลึกใสเนื้อขาวบริสุทธิ์ ศิลปะแบบล้านนารุ่นหลังราวพุทธศตวรรษที่ 20 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมาองค์นี้มาจากนครจำปาศักดิ์เมื่อพุทธศักราช 2354

มูลเหตุเนื่องจากเวลานั้นนครดังกล่าวเป็นเมืองในพระราชอาณาจักรเขตสยาม เมื่อเจ้าผู้ครองนครถึงแก่พิราลัย ทางกรุงแต่งข้าหลวงออกไปปลงศพ ได้พบเห็นพระพุทธรูปองค์นี้จึงปรารภกับท้าวพระยาของเมืองจำปาศักดิ์ ว่าพระแก้วผลึกองค์นี้เป็นของวิเศษไม่ควรอยู่ชายแดนพระราชอาณาจักรเพราะอาจเป็นอันตรายสูญหายไปได้

ท้าวพระยาทั้งหลายเห็นชอบพร้อมกันจึงมีใบบอกเข้ามาขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อทรงได้พระพุทธรูปมาเฉลิมพระบารมีแล้ว ได้ทรงกระทำสักการบูชาและเฉลิมฉลองเป็นอันมาก

ว่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระมนัสเลื่อมใสกอปรด้วยพระราชศรัทธาในพระพุทธรูปแก้วผลึกองค์นี้เป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสักการบูชาวันละสองเวลา เช้าและค่ำอยู่เสมอมิได้ขาด

พระพุทธบุษยรัตนองค์นี้ เป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลสืบเนื่องมาตราบจนกระทั่งปัจจุบัน

พระแก้วสำคัญอีกองค์หนึ่งของแผ่นดินไทย มีนามเรียกกันทั่วไปว่าพระแก้วมรกตองค์น้อย และมีนามทางราชการว่า พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร

ต้องระวังสังเกตให้ดีนะครับ นามของท่านแตกต่างกันกับพระแก้วมรกตองค์ใหญ่

องค์หนึ่งมีคำว่า มหา

อีกองค์หนึ่งไม่มีคำว่า มหา

โปรดอย่าสลับสับกัน

พระแก้วมรกตองค์น้อยนี้มีประวัติที่เป็นการเฉพาะแตกต่างจากพระแก้วองค์อื่น

กล่าวคือ เป็นพระแก้วที่มาจากประเทศรัสเซียครับ มาไกลกว่าพระแก้วองค์อื่น

เหตุการณ์เกิดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า พระราชวังดุสิตที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น ยังไม่มีพระพุทธรูปสำคัญสำหรับทรงกระทำสักการบูชาเหมือนอย่างที่มีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรในพระบรมมหาราชวัง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ช่างของห้างฟาแบร์เช่ (Faberge) ซึ่งเป็นช่างของหลวงเมืองรัสเซีย ที่ฝ่ายไทยเราคุ้นเคยมาตั้งแต่รัชกาลที่ห้า เพราะมีพระราชไมตรีอันสนิทสนมกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองมาแต่เดิม รับหน้าที่แสวงหาแก้วคือหินขนาดใหญ่พอที่จะแกะสลักเป็นพระพุทธปฏิมาได้

ที่สุดได้หินที่เรียกว่าหินหยกเนไฟรต์ (Nephrite) ซึ่งมีสีเขียวเข้มขนาดใหญ่ที่สุดที่จะหาได้ นำมาแกะเป็นพระพุทธรูปสำเร็จผลงดงามสมตามพระราชประสงค์

แกะเสร็จแล้วได้เชิญพระแก้วมรกตองค์น้อยนี้เข้ามาถึงพระนครและมีการพระราชพิธีพุทธาภิเษกและสมโภชเมื่อเดือนธันวาคมพุทธศักราช 2457

งานครั้งนั้นพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายสักการบูชาเป็นเวลาสามวัน

เป็นที่ครึกครื้นตื่นเต้นกันมาก

จนทุกวันนี้ก็ยังควรตื่นเต้นเลยครับ เพราะผู้ที่สนใจในงานศิลปะย่อมทราบดีว่างานของห้างฟาแบร์เช่นั้น เป็นงานฝีมือชั้นยอดของโลก

และพระแก้วมรกตองค์น้อยนี้ ก็เป็นของที่หาได้ยากควรมหัศจรรย์ใจจริงๆ ผมเคยได้พบกับผู้เชี่ยวชาญงานศิลปของห้างแห่งนี้ที่เข้ามาศึกษาค้นคว้าในเมืองไทย

เมื่อเขาได้เห็นพระแก้วมรกตองค์น้อยแล้ว ดูอาการก็บอกได้ว่าเขาอึ้งกันไปเลยทีเดียว

พระแก้วที่เป็นของหลวงมิได้มีเพียงแค่สองสามองค์ที่ออกนามมาแล้วเท่านั้น หากแต่ยังมีอีกมากมายหลายองค์ครับ

แม้ประชาชนคนทั่วไปก็สามารถมีพระแก้วได้ ไม่มีกติกาห้ามปรามหรือถือสูงต่ำแต่อย่างใด ทั้งเจ้านายข้าราชการและประชาชนแต่ก่อน ท่านก็ต่างแสวงหาพระแก้วมาไว้สำหรับสักการบูชา

ยิ่งสมัยนี้การคมนาคมไปมาสู่ระหว่างเรากับแหล่งหินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเมียนมาหรือจีนมีความสะดวกสบาย เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ทั้งเครื่องขุดเจาะหรือเครื่องแกะสลักก็ทันสมัยขึ้น

โอกาสจะสร้างพระแก้วที่แกะสลักจากหินธรรมชาติที่มีความสวยงามจึงไม่อยู่ไกลเกินเอื้อม

แต่ก็ยังไม่ใช่ของง่ายนะครับ ของพรรณนี้ต้องขวนขวายและอุตสาหะพยายามกันหน่อย

แฟ้มภาพ

ไม่ว่าท่านจะมีพระแก้วไว้สักการบูชาที่บ้านของท่านแล้วหรือยังก็ตาม ระหว่างนี้จนถึงวันที่ 27 มกราคม ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ทางราชการได้เชิญ “พระแก้ว” ที่รักษาอยู่ในคลังของพิพิธภัณฑ์จำนวนเก้าองค์ มาให้ประชาชนได้สักการบูชา แต่ละองค์มีพุทธลักษณะที่งดงาม พึงกราบไหว้เพื่อเจริญศรัทธาทั้งสิ้น

ขอเชิญขวนขวายไปกราบบูชาสักการะ และชื่นใจด้วยกันนะครับ