จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (15)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สำนักหญูหลังขงจื่อ : เมิ่งจื่อกับสวินจื่อ (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม แม้ปีชาตะและมรณะของสวินจื่อจะไม่แน่ชัด แต่ก็มีข้อมูลบางส่วนที่แน่ชัด ชั่วอยู่แต่ว่าคงเป็นไปอย่างประมาณการในเรื่องเวลา นั่นคือ สวินจื่อเกิดที่รัฐจ้าว ครั้นเติบโตขึ้นในราว 295-284 ปีก่อน ค.ศ. สวินจื่อก็เข้าศึกษาในชุมชนจี้เซี่ยที่รัฐฉี

ที่เรียกสถานที่ที่สวินจื่อได้รับการศึกษาว่า ชุมชน (community) พึงเท้าความไปถึงในบทที่ว่าด้วย “วันคืนก่อนจักรวรรดิ” ในช่วงกลางรัฐศึกที่ว่า เวลานั้นมีผู้นำรัฐทรงอิทธิพลหลายรัฐต่างก็ให้การอุปถัมน์ค้ำชูเหล่าวิชาธรไว้เป็นจำนวนมาก และฉีก็เป็นรัฐหนึ่งที่ตกอยู่ในกระแสนี้

จากเหตุนี้ ที่รวมเหล่าวิชาธรจำนวนมากจึงมิใช่สถานศึกษา หากอยู่อาศัยกันคล้ายชุมชน ดังนั้น การศึกษาที่สวินจื่อได้รับจึงเป็นไปตามสภาพแวดล้อมเช่นนี้

ครั้นระหว่าง 284-275 ปีก่อน ค.ศ. ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในรัฐฉี สวินจื่อจึงหลีกลี้ไปยังรัฐฉู่ และพอเหตุการณ์สงบลงจึงได้กลับมายังรัฐฉีอีกครั้งหนึ่ง

คราวนี้สวินจื่อได้ใช้เวลาร่วม 10 ปีในการฟื้นฟูชุมชนจี้เซี่ยจนกลายเป็นสถาบัน (academy) จากนั้นในช่วง 265-260 ปีก่อน ค.ศ. จึงได้เดินทางไปยังรัฐฉิน

ช่วง 260-255 ปีก่อน ค.ศ. ไปพำนักยังทำเนียบของมหาอำมาตย์แห่งรัฐจ้าว ช่วง 255-238 (17 ปี) ได้เป็นผู้พิพากษาประจำเมืองหลานหลิงของรัฐฉู่กระทั่งปลดเกษียณในตำแหน่งนี้

จากชีวิตและงานโดยสังเขปตามที่กล่าวมานี้ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มิอาจระบุเวลาที่ชัดเจนได้ ว่าเมื่อไรคือ สวินจื่อมีผู้ที่มาเป็นศิษย์อยู่ 2 คน

คนหนึ่งคือ หานเฟย ที่ต่อมาจะกลายเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียง

อีกคนหนึ่งคือ หลี่ซือ ที่ต่อมาจะได้เป็นมหาอำมาตย์แห่งรัฐฉิน และทำให้รัฐนี้สามารถมีชัยเหนือรัฐทรงอิทธิพลที่เหลืออีก 6 รัฐ แล้วสร้างจีนเป็นจักรวรรดิได้สำเร็จ

โดยในห้วงระหว่าง 219-218 ปีก่อน ค.ศ. หรือหลังจากที่รัฐฉินรวมจีนเป็นจักรวรรดิไปแล้วไม่กี่ปี หลี่ซือได้เชื้อเชิญให้สวินจื่อมาประจำยังทำเนียบของตน แต่สวินจื่อปฏิเสธ หลังจากนั้นข้อมูลเกี่ยวกับสวินจื่อค่อนข้างจะสับสน

คือบ้างก็ว่าสวินจื่อเสียชีวิตในราว 230 ปีก่อน ค.ศ. บ้างก็ว่าในราว 215 ปีก่อน ค.ศ.

ถ้าเป็นอย่างแรกก็แสดงว่าสวินจื่อเสียชีวิตในช่วงที่จีนยังมิได้เป็นจักรวรรดิ

ถ้าเป็นอย่างหลังก็แสดงว่าสวินจื่อเสียชีวิตหลังจากที่จีนเป็นจักรวรรดิไปแล้ว

ประวัติของสวินจื่อจากที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ทำให้เห็นว่า สวินจื่อคงมีศิษย์อยู่จำนวนไม่น้อยในชุมชนหรือสถาบันจี้เซี่ย

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เขากลับมีศิษย์อยู่ 2 คนที่ต่อมาได้หันไปสู่แนวทางนิตินิยม

โดยหานเฟยถึงขั้นที่มีปกรณ์ว่าด้วยปรัชญานิตินิยมเป็นของตนเอง

ข้างหลี่ซือนั้นพอถึง 213 ปีก่อน ค.ศ. ก็ถึงกับเสนอนโยบายให้เผาปกรณ์ของนักปราชญ์ในขณะนั้น อันรวมทั้งปกรณ์ของสำนักหญูที่เคยเป็นต้นสังกัดของเขา (ดังได้กล่าวไปแล้วในต้นบทนี้)

กรณีทั้งสองนี้จึงชวนให้สงสัยไม่น้อยว่า อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้ศิษย์ทั้งสองของสวินจื่อหันเหแนวทางของตนออกไปจนสุดโต่ง ยิ่งถ้าหากสวินจื่อมีชีวิตจนทันได้เห็นปฏิบัติการเผาปกรณ์ต่างๆ ของหลี่ซือแล้ว เขาจะคิดเห็นหรือรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้

อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับหลักคิดของสวินจื่อในฐานะสาวกคนสำคัญของสำนักหญูที่เคียงคู่กับเมิ่งจื่อแล้ว ประเด็นหนึ่งที่นักปรัชญาในชั้นหลังต่างเห็นพ้องต้องกันก็คือ สวินจื่อกับเมิ่งจื่อมีหลักคิดในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

กล่าวคือ ในขณะที่เมิ่งจื่อเห็นว่ามนุษย์เกิดมาดีโดยธรรมชาตินั้น แต่สวินจื่อกลับเห็นตรงกันข้าม

ทั้งนี้ บทที่ว่าด้วย “ซิ่งเอ้อ” (ธาตุเลว) ในปกรณ์ สวินจื่อ ถือเป็นบทที่สะท้อนหลักคิดของสวินจื่อในเรื่องมนุษย์เลวโดยธรรมชาติที่ชัดเจนยิ่ง โดยตัวบทนำเสนอในรูปของวิวาทะที่เขามีต่อเมิ่งจื่อหรือบุคคลอื่น หรือไม่ก็ตอบคำถามที่มีการถามกัน (โดยไม่ระบุชื่อผู้ถาม) ในประเด็นอันเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์

ซึ่งโดยสรุปแล้วสวินจื่อเห็นว่า มนุษย์มีพื้นฐานที่จะเสพสุขและหาผลประโยชน์ใส่ตัวมาแต่เกิด พื้นฐานนี้ง่ายที่จะชักนำให้มนุษย์ทำความเลวได้

จากเหตุนี้ มนุษย์จึงมี “ธาตุเลว” หรือธรรมชาติที่เลว (Human nature is evil) ดำรงอยู่

ที่สำคัญคือ แม้มนุษย์จะมีธรรมชาติที่เลว แต่มนุษย์ก็มีมานะที่จะใฝ่ดีได้ มานะนี้ทำให้รีตและคุณธรรม (หลี่อี้) กับกฎหมายเกิดขึ้นมา

จะเห็นได้ว่า แม้หลักคิดของสวินจื่อจะเห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์เกิดมาเลว แต่เขาก็มิได้มองมนุษย์ด้วยความสิ้นหวังจนแก้ไขอะไรไม่ได้

ตรงกันข้าม สวินจื่อกลับเห็นว่ามนุษย์มีปัญญาที่จะเข้าถึงรีต คุณธรรม และกฎหมายได้

พ้นไปจากประเด็นธรรมชาติของมนุษย์แล้ว หลักคิดที่โดดเด่นอีกเรื่องหนึ่งของสวินจื่อก็คือ รีต โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ ธรรมชาติ และพิธีกรรม ซึ่งในบท “เทียนลุ่น” (ว่าด้วยสวรรค์) ในปกรณ์ สวินจื่อ ให้อรรถาธิบายว่า

“ดวงดาวร่วงตก แมกไม้ลั่นเสียง ผู้คนต่างหวาดกลัว ปุจฉา นี่หรือคือไฉน วิสัชนา หามีอันใดทั้งสิ้น หากคือการเปลี่ยนผันแห่งธรรมชาติ คืออนิจลักษณ์ของอินหยาง คือปรากฏการณ์อันเกิดน้อยครั้ง หากรู้สึกว่าประหลาดก็ควรอยู่ แต่หากรู้สึกหวาดกลัวก็มิควร ดังเกิดสุริยคราสจันทรคราสและภัยแล้ง ยังมิทันเซ่นไหว้ สุริยันจันทราและหยาดพิรุณพลันก็ปรากฏ การณ์เช่นนี้ใช่จักมิเคยอุบัติขึ้น

“ดังอริยกษัตริย์ยังรัฐกิจให้รุ่งเรืองก็เป็นการณ์อันเคยปรากฏ มิใช่การณ์ที่ยังซึ่งอันตราย ดังทุรกษัตริย์ยังรัฐกิจให้เสื่อมถอยก็ใช่เป็นการณ์อันไม่เคยปรากฏ หากคือการณ์ที่ยังประโยชน์ในแง่บทเรียน ดังนี้เอง ดาวตกป่าลั่นจึงคือธรรมชาติที่ผันเปลี่ยน สุริยคราสจันทรคราสจึงคืออนิจลักษณ์ที่เกิดน้อยครั้ง หากรู้สึกประหลาดก็ควร หากรู้สึกหวาดกลัวก็มิควร”

ความหมายในอรรถาธิบายดังกล่าวของสวินจื่อก็คือ การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติถือเป็นปรากฏการณ์ปกติที่มนุษย์พึงเข้าใจและรู้สึกประหลาดใจได้ แต่ไม่พึงที่จะไปหวาดกลัว และหากหวาดกลัวก็ถือเป็นเรื่องที่ผิด

จากนั้น สวินจื่อ ในบทเดียวกันนี้ก็อรรถาธิบายถึงปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ ธรรมชาติ และพิธีกรรมต่อไปว่า

“เซ่นสรวงขอหยาดพิรุณ พลันหยาดพิรุณก็ปรากฏ ด้วยเหตุใดหรือ หาใช่เหตุใดทั้งสิ้น การณ์เช่นนี้ก็ดังที่มิได้เซ่นสรวงขอหยาดพิรุณแต่หยาดพิรุณก็ปรากฏ ดังเกิดสุริยคราสจันทรคราสแล้วเข้าช่วยสุริยันจันทรา

ครั้นยามแล้งก็เซ่นสรวงขอพิรุณ ยามเกิดการณ์สำคัญก็เสี่ยงทายพยากรณ์ ทั้งปวงนี้หาใช่หวังได้ตามเซ่นเสี่ยง หากเสมอเพียงพิธีกรรม กษัตริย์ปฏิบัติพิธีอันเพริศพราย แต่ราษฎรไพล่คิดเป็นการณ์แห่งเทพปาฏิหาริย์ เหตุดังนี้ หากคิดเสมอเพียงพิธีเพื่อสิริมงคลย่อมนับว่าดี แต่หากไพล่คิดเป็นการณ์แห่งเทพปาฏิหาริย์ย่อมไม่ดี”

จะเห็นได้ว่า อรรถาธิบายนี้บ่งชี้ว่าสวินจื่อไม่สนับสนุนความเชื่อในเชิงไสยศาสตร์ ส่วนรีตเป็นเรื่องที่พึงมีอยู่อย่างมีขอบเขต คือไม่ขยายไปสู่ความเชื่อที่เหนือจริง

นอกจากประเด็นธรรมชาติของมนุษย์และรีตแล้ว ความเที่ยงแห่งนามหรือเจิ้งหมิงก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สวินจื่อหยิบยกขึ้นมาต่อยอด แต่ที่ดูออกจะพิเศษมากกว่าการต่อยอดก็คือ ในกรณีนี้เกิดขึ้นในขณะที่สำนักนาม (หมิงเจีย) กำลังอยู่ในช่วงที่มีบทบาทสูง

ดังนั้น อรรถาธิบายเรื่องความเที่ยงแห่งนามของสวินจื่อจึงมีประเด็นเกี่ยวกับตรรกะอยู่ด้วย ทั้งนี้เพื่อแยก “นาม” ในหลักคิดของขงจื่อออกจาก “นาม” ในนิยามของสำนักนาม อรรถาธิบายนี้ปรากฏอยู่ในบท “เจิ้งหมิง” ของปกรณ์ สวินจื่อ โดยตอนหนึ่งของบทนี้สวินจื่อได้อธิบายในแง่มุมตรรกะว่า

“สรรพสิ่งที่เหมือนกันก็ให้ชื่อที่เหมือนกัน ที่ต่างกันก็ให้ชื่อที่ต่างกัน ชื่อหนึ่งชื่อใช้เรียกสรรพสิ่งที่เหมือนกันด้วยชื่อเดียว มิอาจใช้เรียกสรรพสิ่งที่ต่างกัน หากพึงให้ชื่อที่เหมาะสม การเรียกขานชื่อสรรพสิ่งจึงมิควรกระทำให้สับสน”

ถึงแม้สวินจื่อจะมิได้เอ่ยนามผู้ที่ทำให้ชื่อสับสนตรงๆ แต่ก็เห็นได้ถึงการใช้ตรรกะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสำนักนาม จากเหตุนี้ ทัศนะเรื่องนามของสวินจื่อจึงไม่เพียงจะวิพากษ์สำนักนามเท่านั้น หากสำนักอื่นที่แม้จะมีอรรถาธิบายเกี่ยวกับนามไม่มากดังเช่นสำนักม่อของม่อจื่อ สวินจื่อก็วิพากษ์ด้วยเช่นกัน

ดังที่ได้วิพากษ์กรณีที่สำนักม่อยกเอาวาทะที่ว่า “ฆ่าโจรมิใช่ฆ่าคน” ขึ้นมานั้น สวินจื่อวิพากษ์ว่า โจรก็คือคนประเภทหนึ่ง เมื่อพูดถึงโจรก็ย่อมหมายถึงคนด้วย

จากเหตุนี้ หลักคิดเจิ้งหมิงที่ถูกต่อยอดโดยสวินจื่อจึงพิสดารไปจากที่ขงจื่ออธิบายแตกแรกเริ่ม คือเป็นการต่อยอดเพื่อที่จะวิพากษ์สำนักอื่นที่ใช้ “นาม” เสมือนโวหารที่สร้างความสับสน มากกว่าที่จะมีเนื้อหาสาระ