จัตวา กลิ่นสุนทร : 2497-2561 65 ปี “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลง

นั่งคิดนอนคิดใคร่ครวญอยู่หลายคืนหลังจากได้ยินข่าวนิตยสาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” จะปิดตัวลงตอนสิ้นปี พ.ศ.2561

แต่คิดว่าไม่น่าแปลกประหลาดอะไร ความเปลี่ยนแปลง คือ ความไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งหมายรวมถึงในอุตสาหกรรมการโฆษณา มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญจากการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลจำนวนมากหลายช่องจนน่าเรียกว่าเกินความต้องการ เกิดการช่วงชิงเม็ดเงินของการโฆษณาจนต้องชะลอตัวลง สื่อสิ่งพิมพ์เป็นอันดับแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจนแทบปรับตัวไม่ทัน ต้องล้มหายตายไปจากแผงหนังสือด้วยการปิดตัวเองลง แน่นอน บุคลากรทั้งหลายทั้งปวงย่อมตกงาน เปลี่ยนงาน หางานทำกันใหม่

จากการเสพสื่อ การติดตามความเคลื่อนไหวเป็นไปในวงการของสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์ รายเดือน รู้สึกใจหายที่หลายๆ แห่งค่อยๆ ปิดตัวเองลงไปโดยไม่สามารถจะยืนหยัดต่อสู้กับความขาดทุนอย่างไม่มีโอกาสจะฟื้นคืนกลับได้อีกต่อไป นอกจากต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคแห่งความร่วมสมัยของเทคโนโลยี

สิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่ยอดจำหน่ายสูงสักเพียงไหนย่อมสั่นสะเทือนทั้งนั้น เพราะเหตุว่าทุกวันนี้ประชาชนคนส่วนใหญ่ทั่วไปไม่อ่านหนังสือพิมพ์กันแล้ว ยังคงเหลือก็แต่เหล่าผู้สูงวัยเท่านั้น

 

นิตยสาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ปรากฏโฉมบนโลกสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 ภายหลังหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” ประมาณ 3 ปีกว่า-4 ปี โดยศาสตราจารย์ “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” ซึ่งกำลังโด่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในฐานะคอลัมนิสต์ผู้รอบรู้ กล้าหาญเฉียบคมในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งส่วนมากจะเป็นรัฐบาลทหาร เพราะท่านมีแนวนโยบายต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจอิทธิพล

นอกจากนั้น ท่านยังเป็นนักเขียน นักประพันธ์ ซึ่งมีความสามารถเขียนหนังสือได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่องสั้น การเมือง การปกครอง และ ฯลฯ ดังผลงานได้ปรากฏตกทอดเป็นที่รู้จักมาถึงยุคสู่ปัจจุบัน

แรกเริ่มเมื่อก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” และใช้สำนักงานอยู่เลขที่ 12 อาคาร 6 ถนนราชดำเนินเมื่อปี พ.ศ.2493 (68 ปี) ก็ได้ยืนหยัดสืบทอดกันมาสู่ปัจจุบันไม่ได้โยกย้ายไปที่ไหน นอกจากจะขยับขยายเพิ่มเติมส่วนโรงพิมพ์บ้างในพื้นที่ใกล้เคียงเพียงข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังบางยี่ขัน ซึ่งปัจจุบันอยู่แนบชิดกับเชิงสะพานพระราม 8

ปี พ.ศ.2493 สนามสำหรับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์เปิดไม่กว้างนัก เพราะฉะนั้น สยามรัฐรายวันจึงแออัดอื้ออึงไปด้วยนักเขียนระดับฝีมือประเภทแถวหน้าของเมืองไทยไปรวมกัน เพื่อต้องการได้สังสรรค์พบปะพูดจากับท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เนื่องจากท่านเป็นแม่เหล็กของสื่อฉบับนี้ พร้อมทั้งทุกท่านต้องการสนามเพื่อแสดงความคิดเห็น

สยามรัฐรายวันจึงไม่มีพื้นที่หรือหน้ากระดาษเพียงพอจะรองรับนักเขียนระดับฝีมือซึ่งเต็มไปด้วยคุณภาพ ส่วนต้นฉบับจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาจะถูกโยนทิ้งตะกร้าทิ้งไปเสียก็ใช่ที่ สาเหตุอันนี้กระมังจึงได้เกิดหนังสือ “รายสัปดาห์” ขึ้น โดยอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านเรียกว่า “สยามรัฐฉบับเบ่ง” (ไม่รู้ไปเบ่งกับใคร สงสัยจะเบ่งกับผู้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง) หรือนิตยสาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์”

โดยมีคุณประหยัด ศ.นาคะนาท เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา

 

จําได้ว่าได้เคยเขียนรำลึกนึกถึงเป็นการไว้อาลัยแก่นักหนังสือพิมพ์อาวุโสรุ่นพี่ๆ จากค่ายสยามรัฐฉบับนี้แหละ ซึ่งได้จากไปตามอายุขัย ว่าต้องการเขียนเรื่องเก่าๆ จากความทรงจำมากกว่าไปค้นหาเอามาจากแหล่งอื่นซึ่งหาได้ไม่ยาก แต่คิดว่ามันไม่ได้อารมณ์และบรรยากาศเหมือนการย้อนรำลึกกลับไปยังความรู้สึกเก่าๆ ที่เคยได้เข้าไปมีประสบการณ์

เหมือนอย่างที่จะย้อนไปเก็บเอาเรื่องราวจากการบอกเล่าพูดคุยสืบต่อกันมา รวมทั้งที่ได้เข้าไปสัมผัสนิตยสาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” จนกระทั่งได้มีโอกาสรับหน้าที่เป็น “บรรณาธิการบริหาร” และทำการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาค่อนข้างมากทีเดียว แต่ไม่ได้เปลี่ยนจิตวิญญาณ หรือนโยบายอันเป็นรากฐานเดิมของนิตยสารฉบับนี้แต่อย่างใด นอกจากได้เพิ่มเติมสิ่งที่ขาดหาย เป็นการเติมเต็มลงไป อย่างเช่นเรื่อง “ศิลปวัฒนธรรม-เศรษฐกิจ” กระทั่งเรื่องของโชคชะตาราศี

แนวทาง หรือนโยบายของหนังสือสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ยังเน้นเป้าเรื่องการเมืองเป็นหลัก แต่การโจมตีส่วนมากจะออกมาในรูปของการเสียดสีแบบแฝงอารมณ์ขันอย่างมากมายหลายคอลัมน์ ทั้งการ์ตูนการเมือง ซึ่งต้องบอกว่าคุณภาพคับแก้วสุดยอดจริงๆ ถึงขนาดได้เป็นต้นแบบ เป็นแนวทางให้แก่นิตยสารรายสัปดาห์ที่มีแนวนโยบายการเมือง เศรษฐกิจทำนองเดียวกันที่ถือกำเนิดติดตามมา

สารคดีภาพถ่ายภาพที่เดินเรื่องด้วยภาพ เรื่องสั้น เรื่องยาว มีความจำเป็นต้องยกให้กับนิตยสารฉบับนี้ที่ได้สร้างนักเขียนเรื่องสั้น นักเขียนสารคดี และ ฯลฯ จนเกิดในโลกหนังสือ

วงการนักเขียนถึงขนาดกล่าวกันว่า “เรื่องสั้นของใครได้รับการตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เปรียบเสมือนว่าได้เรียนจบมหาวิทยาลัยทีเดียว”

 

นักเขียน “รางวัลซีไรต์” หลายคนแจ้งเกิดยังสนามริมถนนราชดำเนินแห่งนี้ อย่างเช่น “วัชระ สัจจะสารสิน” หรือ วัชระ เพชรพรหมศร ก็เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “ภาพฝัน” ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เมื่อปี พ.ศ.2538 ก่อนจะได้รับรางวัล “ซีไรต์” (S.E.A. WRITE AWARD) ประจำปี พ.ศ.2551 จากเรื่อง “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง”

“อัศศิริ ธรรมโชติ” เขียนเรื่องสั้น “ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” ตีพิมพ์ครั้งแรกกับนิตยสาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ซึ่งทำการปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ.2519 โดยได้ “พิจารณ์ ตังคไพศาล” เพื่อนพ้องจากจิตรกรรม ศิลปากร ของบรรณาธิการ เขียนภาพประกอบ

ใครจะนึกจะฝันว่านี่คือผลงานรางวัล “ซีไรต์” (S.E.A.WRITE AWARD) เรื่องหนึ่ง ประจำปี พ.ศ.2524 และต่อมาเขาได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” (สาขาวรรณศิลป์)

“รงค์ วงษ์สวรรค์ (เสียชีวิต) ศิลปินแห่งชาติ (สาขาวรรณศิลป์) หรือ “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร” เจ้าของผลงานมากมายหลายรูปแบบ เคยนั่งประจำทำงานอยู่กับนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ในฐานะของบรรณาธิการสารคดีภาพ และดูแลคัดเลือกเรื่องสั้นเพื่อนำลงตีพิมพ์

รวมทั้งเป็นเจ้าของคอลัมน์กวนๆ เต็มไปด้วยภาษาอันสวยงามแต่ดีดดิ้นล้นเหลือ หากชวนติดตามในทุกสัปดาห์

จำไม่ได้ว่าพบปะกับ “รงค์ วงษ์สวรรค์ (พี่ปุ๊) ครั้งแรกที่ไหน แต่คิดว่าคงไม่พ้นวงสุราแถวละแวกหน้าพระลาน หรือแถวๆ ถนนเฟื่องนคร แต่เป็นปี พ.ศ.2512 แน่ๆ เนื่องจากกำลังจะจบการศึกษา พี่ปุ๊ไปเปิดสำนักงานทำหนังสือขนาดกระเป๋ารายเดือน โดยเอาชื่อเดือนมาใส่นามสกุลประมาณนี้แหละ

เมื่อ “รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนใหญ่ระดับแนวหน้าเอ่ยปากชักชวนให้ไปช่วยเขียนภาพประกอบเรื่องสั้นในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ จึงควรต้องรับไว้เพราะได้รับค่าจ้างแม้ จะเป็นเพียงแค่ชิ้นละ 80 บาท ยังดีกว่าอยู่เฉยๆ

 

สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์มีนัดกับนักเขียนในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์เพื่อจ่ายค่าเรื่อง ค่าต้นฉบับ ทั้งเรื่องสั้น สารคดี ฯลฯ นอกจากนั้นได้ใช้เวลาตั้งวงสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สอบถามสารทุกข์ โดยมีเครื่องดื่มเป็นของมึนเมา ซึ่งกว่าจะได้เวลาแยกย้ายจากกัน ค่าต้นฉบับที่ได้รับอาจไม่มีเหลือกลับมาถึงบ้าน

ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเข้าสู่วงการอาชีพหนังสือพิมพ์ เนื่องจากเดินขึ้น-ลงสำนักงานสยามรัฐ สัปดาหวิจารณ์มานานหลายเดือนกระทั่งจบการศึกษา

วันหนึ่งได้พบกับท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งได้เคยพบกับท่านมาก่อนนั้น ท่านจำได้ ถามว่าเรียนจบแล้วใช่หรือไม่ มาสำนักงานนี้ทำไม จะไปทำงานที่ไหน

หลังจากทราบเรื่องราวแล้วจึงได้ชักชวนให้เข้ามาร่วมงานกับสยามรัฐ

ได้รับการฝากฝังไว้กับ “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร” โดยให้รับผิดชอบในการแก้ไขปรับปรุงรูปร่างหน้าตาสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนิตยสาร “ขาว-ดำ” มีหน้าปก “สีฟ้า-ดำ” ขนาด 8 หน้ายก หรือขนาดแท็บลอยด์ (Tabloid Size)

เมื่อได้เข้าไปประจำทำงานจึงได้ทราบว่าบรรดานักเขียน นักประพันธ์ใหญ่ๆ อย่างประมูล อุณหธูป (อุษณา เพลิงธรรม) ประหยัด ศ.นาคะนาท (นายรำคาญ) วิลาศ มณีวัต ฯลฯ รวมทั้งมือการ์ตูนระดับโลกอย่างท่านประยูร จรรยาวงษ์ ยังประจำทำงานที่นี่แทบทั้งสิ้น

เรื่องราวของ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ยังมีอีกเยอะแยะยืดยาวจากความทรงจำ แม้จะไม่ได้เรียงลำดับระยะเวลา แต่ได้พยายามเค้นความจำนำมาขีดเขียนเล่าขานสำหรับนิตยสารระดับตำนานที่กำลังรูดม่านปิดฉากลง

ขอนำเสนอต่อในสัปดาห์ถัดไป