จิตต์สุภา ฉิน : ใครมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย ให้เฟซบุ๊กส่องหาสัญญาณ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

พวกเราเกือบทุกคนน่าจะพอมีเพื่อนสักคนหรือสองคนที่มักจะโพสต์สถานะแปลกๆ บนเฟซบุ๊กอยู่เสมอ

อ่านทีไรก็ชวนให้รู้สึกหดหู่ สัมผัสได้ถึงความเศร้าเหงาลึกๆ

หรือในบางครั้งแม้โพสต์เหล่านั้นจะไม่บ่งบอกถึงอารมณ์ซึมเศร้าให้เราสามารถรับรู้ได้โดยตรง

แต่เราก็พอจะบอกได้ว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นกับชีวิตเพื่อนของเราคนนั้น

และบางครั้งกว่าเราจะรู้ตัวก็อาจจะสายเกินไปเสียแล้ว เราไม่สามารถยื่นมือไปช่วยคนคนนั้นได้ทัน หรือเราก็ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเขาต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า

เหตุการณ์การโพสต์อำลาก่อนฆ่าตัวตาย หรือการถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายบนเฟซบุ๊กไลฟ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งทำให้เมื่อปี 2017 เฟซบุ๊กออกมาประกาศว่าจะเริ่มโครงการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเข้ามาช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย

โดยที่จะตรวจหาสัญญาณที่บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ว่าผู้ใช้งานจะคิดสั้นและทำร้ายตัวเอง

ในตอนนั้นเฟซบุ๊กระบุว่า ทุกๆ 40 วินาทีจะเกิดการฆ่าตัวตายขึ้นเฉลี่ยหนึ่งครั้งทั่วโลก

และการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับที่สองของการเสียชีวิตของคนในช่วงวัย 15-29 ปี

ดังนั้น การที่เฟซบุ๊กออกมายืนยันเสียงแข็งว่าจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ก็ทำให้ได้รับคำชื่นชมสรรเสริญมากมาย

เวลาผ่านมาเกือบสองปี ข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายบนเฟซบุ๊กเริ่มมีให้ได้ยินน้อยลง หรือไม่ก็ไม่ได้กลายเป็นเรื่องที่ชวนให้คนช็อกเหมือนในตอนนั้นอีกแล้ว แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้เลยก็คือเฟซบุ๊กเดินหน้าทำตามคำพูดตั้งแต่วันนั้น

และจนถึงทุกวันนี้ เฟซบุ๊กก็ตรวจสอบเกือบทุกโพสต์ของผู้ใช้งานอย่างละเอียดเพื่อให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 1 ว่าผู้ใช้งานคนไหนที่มีแนวโน้มจะทำร้ายตัวเองมากที่สุด

 

วิธีการทำงานของเฟซบุ๊กเริ่มจากการใช้เทคโนโลยีเอไอช่วยตรวจสอบทุกโพสต์เพื่อหาความน่าจะเป็นที่เจ้าของโพสต์จะทำร้ายตัวเอง

โพสต์ไหนที่เข้าข่ายก็จะถูกส่งไปให้ทีมงานเฟซบุ๊กตรวจสอบซ้ำอีกครั้งเพื่อความแม่นยำ

หากใครจำได้เฟซบุ๊กเคยพูดถึงทีมงานเหล่านี้ไว้บ้างแล้วว่าเป็นทีมงานที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ

โดยใช้หลักสูตรการฝึกฝนที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญอัตวินิบาตกรรม

หากทีมงานรับรองซ้ำอีกครั้งว่าเป็นเนื้อหาที่เสี่ยงต่อการนำไปสู่การฆ่าตัวตายจริง ก็จะรับมืออย่างเร่งด่วน และอาจส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการต่อด้วย เฟซบุ๊กให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาได้ประสบความสำเร็จในการยื่นมือไปช่วยคนที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายได้แล้วหลายราย

อ่านมาถึงตรงนี้ก็เกิดคำถามขึ้นแล้วใช่ไหมคะว่า อ้าว แล้วโพสต์ของเราทุกวันนี้ถูกเฟซบุ๊กตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยหรือเปล่า

คำตอบที่เว็บไซต์ Business Insider ให้ไว้ก็คือตอนนี้เฟซบุ๊กจะไล่ตรวจสอบเฉพาะโพสต์ที่เป็นภาษาอังกฤษ สเปน โปรตุเกส และอาราบิก เท่านั้น

โดยยกเว้นประเทศในสภาพยุโรปหรืออียูเอาไว้ เพราะอย่างที่เราน่าจะรู้ๆ กันอยู่ว่าสหภาพยุโรปเข้มงวดกับบริษัทเทคโนโลยีมาก

และสำหรับพวกเขา สิทธิ เสรีภาพ ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของประชากรมาก่อนสิ่งใดเสมอ

โพสต์ไหนก็ตามที่ตรวจสอบแล้วคะแนนความเสี่ยงต่ำเกินกว่าที่จะอยู่ในขั้นอันตราย เฟซบุ๊กจะเก็บเอาไว้เป็นเวลา 30 วัน ก่อนที่จะลบทิ้ง แต่ก็ไม่ได้บอกว่าถ้าไม่มีความเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงแล้วทำไมถึงจะยังต้องเก็บไว้นานขนาดนั้น

 

คราวนี้ก็มาถึงคำถามว่า การที่เฟซบุ๊กทำแบบนี้ ดีหรือไม่ดีต่อผู้ใช้งานกันแน่

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ทุกปีมีคนฆ่าตัวตายเกือบ 800,000 คน คนที่ฆ่าตัวตายจำนวนไม่น้อยคือกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มประชากรที่อ่อนไหว อย่างเช่น กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น

ดังนั้น การที่เทคโนโลยีสามารถถูกนำไปใช้เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้คนที่มีความเสี่ยงต้องเดินไปถึงจุดที่กระทำอัตวินิบาตกรรมจนสำเร็จก็น่าจะเป็นเทคโนโลยีที่คุ้มค่าที่สุดไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมาทำความเข้าใจกันนะคะว่าสิ่งที่เราอาจจะต้อง “แลกมา” นั้นน่าจะมีอะไรบ้าง

ตลอดปี 2018 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กไม่ได้ประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้ใช้งานอุ่นใจเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเลย

เพราะเฟซบุ๊กทำให้ข้อมูลของเรารั่วไหลออกไปอย่างไม่สมควรครั้งแล้วครั้งเล่า

ข้อมูลที่เฟซบุ๊กเก็บจากโพสต์ของเราและให้คะแนนระดับความอันตรายของสุขภาพจิตกำกับเอาไว้นั้นนับเป็นข้อมูลทางด้านสุขภาพ และข้อมูลสุขภาพคือข้อมูลที่มีความอ่อนไหวมาก หากหลุดออกไปได้ก็จะนำมาซึ่งความเสียหายอันใหญ่หลวง

ลองคิดดูว่าแค่ข้อมูลส่วนตัวอย่างชื่อ วันเกิด ที่อยู่ ภาพถ่าย ของเราหลุดออกไปได้เราก็รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ มากแล้ว

นี่คือข้อมูลที่ลงลึก ล้วงลึก เข้าไปถึงสภาพจิตใจข้างใน เราก็คงไม่อยากให้คนแปลกหน้าล่วงรู้หรือนำมันไปใช้ให้เป็นภัยต่อตัวเราใช่ไหมคะ

หากข้อมูลสุขภาพจิตของเราเป็นข้อมูลที่คนอื่นสามารถเข้าถึงได้โดยที่เราไม่ยินยอม สักวันหนึ่งเราอาจจะไปกันถึงจุดที่บริษัทสามารถเสิร์ชหาสถานะสุขภาพจิตของผู้สมัครงานกันก็ได้ง่ายๆ

ต่อให้เฟซบุ๊กไม่ทำข้อมูลหลุดออกไปด้วยตัวเอง ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าสักวันหนึ่งจะไม่มีแฮ็กเกอร์ฝีมือเก่งกาจที่สามารถเจาะเข้ามาในระบบและนำข้อมูลไปเผยแพร่ได้อยู่ดี เพราะความเป็นจริงคือไม่มีบริษัทไหนที่จะสามารถรับประกันความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนล้วนมีโอกาสพลาดด้วยกันทั้งนั้น

 

แม้ว่าเฟซบุ๊กจะยืนยันว่าการตรวจสอบทุกครั้ง ชื่อของเจ้าของโพสต์จะไม่ถูกรวมเข้ามาไว้ในโพสต์ด้วย

แต่หากลองคิดดูดีๆ ว่าโพสต์ไหนก็ตามที่ระบบปักธงเอาไว้แล้วว่ามีความเสี่ยงและจะต้องส่งต่อให้ทีมงานตรวจ ทีมงานที่ว่านี้ได้รับสิทธิเข้าถึงข้อมูลได้ลึกกว่า และการที่จะประเมินเพื่อให้คะแนนได้อย่างแม่นยำก็จะต้องย้อนกลับไปดูประวัติภาพรวมทั้งหมดของคนคนนั้น ว่าที่ผ่านมาเคยโพสต์อะไรไปบ้าง มีกิจกรรมอะไรบนเฟซบุ๊กบ้าง หรือก็คือน่าจะต้องเข้าไป “ส่อง” อย่างละเอียดนั่นเอง ไม่ว่าจะอย่างไรก็น่าจะหลีกเลี่ยงการต้องรู้ตัวตนของเจ้าของโพสต์ไม่ได้อยู่ดี

การที่ได้รู้ว่าเฟซบุ๊กตรวจสอบทุกโพสต์ของผู้ใช้งานอยู่เงียบๆ ก็ทำให้คนจำนวนมากที่เป็นห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอยู่แล้วรู้สึกไม่ปลอดภัย

ประกอบกับเฟซบุ๊กก็ไม่สามารถให้ความมั่นใจว่าจะสามารถเก็บข้อมูลผู้ใช้เป็นความลับได้ก็ยิ่งทำให้วิตกกันหนักเข้าไปใหญ่

ตัวแทนของเฟซบุ๊กบอกว่านี่ไม่ใช่บริการที่เราเลือกตั้งค่าได้ด้วยนะคะว่าจะให้เฟซบุ๊กอ่านโพสต์หรือไม่อ่านโพสต์ การที่เราใช้งานเฟซบุ๊ก ก็เท่ากับว่าเรายินยอมให้เฟซบุ๊กอ่านโพสต์ คอมเมนต์ ดูวิดีโอ ดูถ่ายทอดสดของเรา เพื่อหาสัญญาณความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายได้ไปโดยอัตโนมัติ

อันที่จริงแล้วคงไม่มีใครเถียงว่านี่คือเทคโนโลยีที่ทำประโยชน์ให้แก่มนุษย์ บางคนอาจจะไม่ต้องไปถึงขั้นทำร้ายตัวเองถ้าหากมีใครสักคนหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เขาได้ทัน และความสูญเสียที่ไม่จำเป็นก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการจะเก็บข้อมูลที่อ่อนไหวขนาดนั้นก็ควรมีมาตรการทำให้ผู้ใช้อุ่นใจได้ด้วย

ว่าสักวันหนึ่งข้อมูลเหล่านั้นจะไม่หลุดออกไปและกลับมาแว้งกัดเจ้าของเอาได้สักวันหนึ่ง