ตีแผ่จราจร ผังเมือง “ฮานอย” ที่อาศัยสัญชาตญาณของคน มากกว่าระเบียบ!-ระบบ

คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง โดย ปริญญา ตรีน้อยใส

จราจรบ้านเขา

 

ยังคงอยู่ที่ฮานอยครับ จากเมืองมาสู่บ้าน คงต้องต่อด้วยเรื่องการจราจร ให้ครบถ้วนกระบวนความ

นักวางผังเมืองตะวันตก หรือนักต่างๆ ที่เคยเรียนแต่ในประเทศตะวันตก รวมทั้งคนต่างถิ่น ดูจะกลุ้มใจกับสภาพการจราจรของฮานอยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท้องถนนเต็มไปด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์มากมาย

ในขณะที่รถไฟลอยฟ้าสร้างไม่แล้วเสร็จสักที ถนนหนทางก็แคบและคดโค้ง ไม่เป็นตาตารางหรือระบบใดๆ มีแต่ถนนหรือทางหลวงสายหลัก ที่กว้างใหญ่ แต่ก็มีแค่ขึ้นเหนือลงใต้ และวนรอบนอกเขตชุมชน

เมื่อจำนวนรถจักรยานยนต์มีมากกว่าจำนวนรถยนต์ ทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ถือความเป็นใหญ่ในการสัญจร อีกทั้งยังได้เปรียบเมื่อเลี้ยวเข้าสู่ถนนแคบ ตรอก หรือซอกซอยต่างๆ จึงพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปอย่างกล้าหาญและมุ่งมั่น

บวกกับระบบสัญญาณไฟจราจรมีไม่มาก ไม่ทุกทางแยก พอๆ กับป้ายต่างๆ และเส้นแบ่งช่องจราจรที่ไม่ชัดเจน ทำให้เอื้อต่อการขับขี่อย่างอิสระโดยไม่ต้องรับรู้ถึงกฎระเบียบจราจรใดๆ เพียงแค่ทุกคนที่มีจุดหมายอยู่ข้างหน้า ทุกคนขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ

ทุกคนควบคุมยานพาหนะของตนเอง และระแวดระวังยานพาหนะอื่น รวมทั้งคนเดินถนนตลอดเวลา

 

แม้สภาพจะดูวุ่นวาย สับสน อลหม่าน และน่ากลัว แต่ทว่าตลอดระยะเวลาที่อยู่ฮานอยร่วมอาทิตย์ กลับไม่พบเห็นปัญหาอุบัติเหตุระหว่างยานพาหนะหรือกับผู้คนบนท้องถนน ไม่มีข่าวการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้สัญจร ในหน้าหนังสือพิมพ์หรือจอโทรทัศน์ และเชื่อว่าไม่มีข่าวการชักปืนขู่วัยรุ่นขี่จักรยานยนต์ หรือดาราโมโหทำลายรถเหมือนในกรุงเทพฯ

คงจะมีแต่เรื่องเสียง เมื่อผู้ขับขี่ทุกคนทุกคัน พร้อมจะกดแตรตลอดเวลาและตลอดเส้นทางไม่ว่าจะมีเหตุหรือไม่มีเหตุ จนเป็นสภาวะเซ็งแซ่ อึกทึก และครึกโครม สร้างความจลาจลให้กับระบบจราจรมากยิ่งขึ้น

ในกูเกิล มีข้อแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินข้ามถนน แนะนำให้เดินหน้าไปช้าๆ โดยความระมัดระวังเท่านั้น ห้ามย้อนคิด ย้ำทำ หรือลังเลใดๆ ด้วยจะสร้างความงงงวยและปัญหากับผู้สัญจรอื่น

และระบุว่า เมื่ออยู่ฮานอย จงทำอย่างชาวฮานอย คือเดินข้ามถนนในทุกที่ ในทุกเวลา โดยไม่ต้องรอสัญญาณใด

แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกระแทกกระทั้นกับสิ่งใด คนใด หรือคันใด

จึงดูเหมือนว่า การจราจรฮานอยนั้น เป็นไปตามสัญชาตญาณของคน มากกว่าตามระบบ ระเบียบ และระบบสัญญาณเทคโนโลยี ผนวกรวมกับสภาพเมือง อาคาร และถนน ทำให้อัตราความเร็วของยานพาหนะไม่มาก ดังนั้น แม้จะมีสภาพวุ่นวายเพียงใด แต่ก็ยังปลอดภัย

คล้ายกับข้อกำหนดให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย แต่สภาพหมวกที่เห็นนั้น ดูบอบบาง ไม่แข็งพอ และไม่ครอบคลุมทั้งศีรษะ แต่ก็ไม่มีปัญหาใด เพราะเมื่อไม่มีอุบัติเหตุ หมวกนิรภัยจึงเป็นแค่เครื่องประดับ หรือชุดแต่งกายในการเดินทางเท่านั้น

ในช่วงเวลาเช้าเย็น เมื่อปริมาณยานพาหนะเพิ่มมากขึ้นจนเต็มผิวจราจร การเลื่อนไหลจึงช้าลง ยานพาหนะไม่ว่าแบบไหนก็เคลื่อนได้ช้าๆ กลายเป็นความเสมอภาคอีกรูปแบบหนึ่ง

 

สําหรับระบบขนส่งมวลชน ฮานอยเลือกรูปแบบรถไฟลอยฟ้าแบบบ้านเรา คงเป็นเพราะสภาพธรณีวิทยาใต้ดินคล้ายกรุงเทพฯ อีกทั้งระบบรถไฟใต้ดินยุ่งยากกว่า ค่าใช้จ่ายสูงกว่าระบบรถไฟลอยฟ้าที่ง่ายกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า เพียงแต่จะสร้างได้เฉพาะถนนสายหลักที่กว้างพอเท่านั้น

เมื่อเปิดให้บริการในอนาคตข้างหน้า ก็จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง คงต้องวางแผน เรื่องจอดแล้วจร หรือ park and ride แต่ต้องคิดว่าเป็นรถจักรยานยนต์มากกว่ารถยนต์

รวมทั้งน่าจะพิจารณารถสองแถวไฟฟ้า ที่ปัจจุบันให้บริการเฉพาะพื้นที่ โดยขยายพื้นที่บริการและจัดระบบให้เหมาะสม จะดีกว่ารถโดยสารประจำทางคันใหญ่คับถนนเหมือนในปัจจุบัน เมื่อรวมกับกระแสมอเตอร์แท็กซี่ หรือแกร๊บไบก์ที่กำลังเป็นที่นิยม

ก็จะทำให้ระบบการสัญจรในฮานอยคล่องตัวขึ้น

 

สภาพอาคารบ้านเรือนที่แออัด การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน และถนนตรอกซอยที่ไม่เป็นระบบ รวมทั้งความนึกคิดของผู้คน สะท้อนออกมาให้เห็นบนถนนสายต่างๆ ของฮานอยที่คนต่างถิ่นไม่เข้าใจและไม่พอใจ แต่ไม่ใช่สำหรับคนพื้นถิ่น ที่เข้าใจและพอใจ

ขอเพียงผู้บริหาร นักวิชาการ และเทคโนแครต ที่นิยมตะวันตก อย่าได้นำเข้ามาตรการที่ขัดแย้งกับความเป็นไปของผู้คนและบ้านเมือง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น

เหมือนในเมืองที่ผู้เขียนคุ้นเคย มีซากป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ มีซุ้มปั่นจักรยานที่ไม่มีใครสนใจ มีบริษัทขนส่งมวลชนของรัฐล้มละลาย

ในขณะที่รถประจำทาง รถเมล์เขียว รถสองแถวแดง รถตู้ของเอกชน พร้อมให้บริการ แม้จะถูกขัดขวางจากหน่วยงานของรัฐอยู่เสมอ