บทวิเคราะห์ : ไม่อยากเลื่อนก็ต้องเลื่อน ดับฝันเลือกตั้ง 24 ก.พ. แนวรบเดิม ผลก็เช่นกัน

ไม่อยากเลื่อนก็ต้องเลื่อน ดับฝันเลือกตั้ง 24 ก.พ. กำเนิดใหม่วันเลือกตั้ง มี.ค. แนวรบเดิม ผลก็เช่นกัน

กระแสข่าวการเลื่อนเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562

แตกปะทุออกมาในช่วงรอยต่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้วยเหตุผลว่าการพิมพ์บัตรเลือกตั้งอาจเสร็จไม่ทันตามกำหนดเวลา

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยอมรับข้อเสนอของพรรคการเมือง ให้มีชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้ง ส่งผลให้ต้องกำหนดรายละเอียดลงในบัตรมากขึ้น

เบื้องต้นกระแสข่าวดังกล่าว ก่อให้เกิดความเห็นคัดค้านจากพรรคการเมืองจำนวนมาก มองว่าข้ออ้างจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่ทัน เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

เนื่องจากที่ผ่านมา กกต.ยืนยันว่าถึงจะต้องเพิ่มรายละเอียดหมายเลขผู้สมัครและโลโก้พรรค แยกเป็น 350 เขตลงในบัตรเลือกตั้ง ก็สามารถดำเนินการได้ทัน

การเลื่อนเลือกตั้งโดยปราศจากเหตุผลเพียงพอ ยังสร้างความเสียหายให้รัฐบาลและ คสช. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยให้สัญญาถึงวันเลือกตั้งไว้กับผู้นำประเทศต่างๆ หลายครั้ง แล้วก็เลื่อนมาตลอด

ล่าสุดกล่าวยืนยันกับนางเทเรซา เมย์ นายกฯ อังกฤษ ว่าไทยจะจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

การเลื่อนออกไปอีก จึงไม่เพียงส่งผลเสียหายต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ถูกมองเป็นผู้นำไม่น่าเชื่อถือ ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มีต่อไทย

ที่สำคัญยังอาจเป็นชนวนวิกฤตการเมืองรอบใหม่

ต่อกระแสข่าวเลื่อนวันเลือกตั้งเนื่องจากพิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่ทัน

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เพียงแต่ระบุวันเลือกตั้งเป็นดุลพินิจของ กกต. ซึ่งจะประกาศภายใน 5 วันหลังพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งทั่วไปมีผลบังคับใช้

โดยระยะเวลาที่กำหนดได้คือ ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 9 พฤษภาคม 2562 ส่วนเป็นวันใดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต. ถึงปัจจัยต่างๆ รวมถึงการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง

ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกรัฐบาลยืนยัน รัฐบาลยังยึดโรดแม็ปเลือกตั้งเดิม หากมีปัจจัยทำให้ต้องเลื่อนออกไป กกต.ต้องให้เหตุผลและอธิบายกับประชาชน

และแล้วท่ามกลางความสับสนทางการเมือง

ประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศก็ได้รับทราบข่าวอันเป็นมหามงคล ในวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2562 เมื่อสำนักพระราชวังประกาศว่า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ระหว่างวันที่ 4, 5 และ 6 พฤษภาคม 2562

จากประกาศสำนักพระราชวัง หลายฝ่ายมองว่าไม่มีผลต่อกำหนดจัดการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์

ในภาพรวมยังเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวยืนยันก่อนหน้านี้ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เป็นจุดสำคัญทำให้การเลือกตั้งต้องขยับไกลออกไป คือ

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไปจะยังไม่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ตามกำหนดวันที่ 2 มกราคม

การออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไปเป็นหน้าที่ของรัฐบาล หากขยายเวลาเพียงเล็กน้อย 2-3 วัน จะไม่มีผลกระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้ง

แต่หากขยายไปเกินสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2562 ก็จะทำให้กำหนดต่างๆ ในโรดแม็ปต้องขยับออกไป และไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ได้

จากสถานการณ์ปัจจุบันเข้าสู่ช่วงปลายสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม ยังต้องจับตาต่อไปว่า พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไปจะประกาศบังคับใช้เมื่อใด

“ที่แล้วมาในส่วนของพระราชบัญญัติเคยมีบางฉบับที่เกิดกรณีต้องถูกเก็บไว้ก่อน ยังไม่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในทันที เป็นสิทธิ์ที่ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายและธรรมเนียมประเพณี” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุ

และน่าจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกหลังการรัฐประหารปี 2557 ที่เคยเลื่อนมาแล้วหลายครั้งตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา

จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ใช่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามที่รัฐบาล คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัญญาไว้

ถึง กกต.จะยืนยันความพร้อมจัดการเลือกตั้ง โดยจะพิจารณากำหนดวันเมื่อ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

แต่การส่งสัญญาณจากรัฐบาล คสช.ว่าอาจต้องเลื่อนเลือกตั้งไปเป็นเดือนมีนาคม ได้นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านจากนักการเมือง นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย

รวมถึงเด็กนักเรียนที่ได้รับผลกระทบต้องเลื่อนสอบ GAT/PAT เพื่อเปิดทางให้จัดการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์

ในโลกโซเชียลผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์แสดงความเห็นคัดค้านอย่างกว้างขวาง แฮชแท็ก #เลื่อนแม่มึงสิ และ #ทวงคืนวันสอบ ขึ้นติดเทรนด์อันดับต้นๆ ในชั่วพริบตา

นางทิชา ณ นคร อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ www.change.org ร้องเรียนต่อ กกต.ไม่ให้เลื่อนเลือกตั้ง

กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว, นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ, นายเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง และนางพะเยาว์ อัคฮาด ฯลฯ

นัดรวมตัวชูป้ายข้อความ “ไม่เลื่อน” “ไม่เลื่อนเลือกตั้ง” พร้อมตะโกนส่งเสียง “ไม่เลื่อนเลือกตั้ง” ตลอดการชุมนุม โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาฯ พรรคอนาคตใหม่ และนายรังสิมันต์ โรม ผู้ช่วยเลขาฯ พรรค เข้าร่วมกิจกรรม

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดหมายรวมตัวคัดค้านแล้วหลายครั้ง บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 6 มกราคม บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 8 มกราคม บริเวณลานอนุสาวรีย์ย่าโม จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 มกราคม

กระแสต้านเลื่อนเลือกตั้งยังขยายไปยัง จ.เชียงใหม่ กลุ่ม Walk to Vote นัดหมายชาวเชียงใหม่ร่วมกิจกรรม “เดินรณรงค์ไม่เลื่อนเลือกตั้ง” วันที่ 9 มกราคม

กลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง โดยนายอนุรักษ์ เจนตวานิชย์ เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กกต. คัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งเช่นกัน

โดยกลุ่มคัดค้านส่วนใหญ่มองว่า รัฐบาลและ กกต.สามารถคงโรดแม็ป 24 กุมภาพันธ์ไว้ได้ โดยไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

การเลื่อนวันเลือกตั้งต่างหาก อาจส่งผลเสียหายมากกว่า

ถึงรัฐบาลจะยืนยันการเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้ง เป็นอำนาจพิจารณาของ กกต. แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ได้ให้คำแนะไว้ 2 ประเด็นหลัก

ประเด็นแรก การจัดเลือกตั้งและขั้นตอนหลังจากนั้น ไม่ว่าการประกาศผลเลือกตั้ง การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส.ว. การเสด็จฯ เปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก การเลือกประธานสภาผู้แทนฯ เลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล ไม่ควรทับซ้อนกับวันพระราชพิธี

เนื่องจากพระราชพิธีไม่ได้มีแค่วันที่ 4-6 พฤษภาคม แต่ยังมีรายละเอียดขั้นตอนก่อนพระราชพิธี 2 สัปดาห์ และหลังพระราชพิธีอีก 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดงานพระราชพิธี ในวันที่ 10 มกราคม ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้นทั้งในส่วนของหมายกำหนดการพระราชพิธี

และในส่วนของ กกต. ที่ต้องนำหมายกำหนดการดังกล่าวไปประกอบพิจารณากำหนดวันเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทับซ้อนกัน

ประเด็นถัดมา นายวิษณุแนะนำว่าการจัดเลือกตั้งและการประกาศผลเลือกตั้ง ควรทำให้แล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของ 150 วัน ในการจัดการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เพื่อหลีกเลี่ยงการยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญตีความภายหลังว่า 150 วันหมายรวมถึงการประกาศผลเลือกตั้งหรือไม่ ตามที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์ เปิดประเด็นไว้

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาฯ กกต. ยอมรับว่า ถึงแม้กฎหมายกำหนดให้ กกต.ต้องประกาศผลเลือกตั้งภายใน 60 วัน แต่ในอดีต กกต.เคยประกาศโดยใช้เวลาเพียง 30 วันด้วยเช่นกัน

เมื่อมาถึงจุดนี้ จึงแน่นอนแล้วว่าการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนมีนาคม ส่วนจะเป็นวันใดมี 3 ตัวเลือก คือวันที่ 10, 17 และ 24 มีนาคม

ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ กกต.จะเห็นเหมาะสม หรือกล่าวถึงที่สุดก็คือแล้วแต่รัฐบาล คสช.จะเคาะลงมา เหมือนการแบ่งเขตเลือกตั้ง และการคัดเลือก ส.ว.

ขณะที่ประชาชนยังคงเฝ้ารอการเลือกตั้งต่อไป ด้วยความเชื่อที่ว่าการเลื่อนไปอีก 1 เดือน ยังดีกว่าไม่มีเลือกตั้งเลย

และที่สำคัญ ไม่ว่าการเลือกตั้งจะมาช้าหรือมาเร็ว ก็ไม่มีผลต่อการลงคะแนนเลือกตั้ง นั่นเพราะว่าประชาชนได้ตัดสินใจไว้แล้วล่วงหน้า ตั้งแต่เมื่อเกือบ 5 ปีก่อน

จะเลือกฝ่ายไหนระหว่างประชาธิปไตย กับไม่ใช่ประชาธิปไตย