ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มกราคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | อาชญากรรม |
เผยแพร่ |
ลุ้นระทึกกันทั้งโลก สำหรับปฏิบัติการช่วยเหลือสาว ซาอุฯ วัย 18 ที่หลบหนีจากครอบครัวขณะเดินทางไปคูเวต จับเครื่องบินมาไทย เพื่อต่อเครื่องไปยังออสเตรเลีย
หนีการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ หวังไปตั้งต้นชีวิตใหม่
แต่สุดท้ายกลับถูกล็อกตัวในไทย เตรียมส่งกลับ ด้วยเหตุผลไม่มีวีซ่า และตั๋วเครื่องบินขากลับ
แต่ด้วยการสู้ไม่ถอยของเด็กสาว ใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างทวิตเตอร์ฟ้องต่อโลกให้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น
จนกระทั่งแรงกดดันส่งถึงยูเอ็นเอชซีอาร์ ต้องเดินทางมารับตัวเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย
และให้สถานะผู้ลี้ภัยในที่สุด
ขณะที่ทางการไทย ก็ยืนยันทำตามกฎหมายที่จะต้องส่งกลับ แต่สุดท้ายก็จะไม่ตั้งข้อหาใดๆ และให้อยู่ในไทยได้จนกว่าจะไปประเทศที่สาม
เป็นเรื่องราวที่ชวนให้ติดตามจริงๆ
● สาวซาอุฯ ทวีตก้องโลก
เหตุการณ์นี้เป็นที่รับรู้ในสังคมเมื่อช่วงค่ำวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยสำนักข่าวบีบีซี และเอบีซี รายงานว่า น.ส.ราฮัฟ โมฮัมเหม็ด อัล-กุนัน หญิงสาวชาวซาอุดีอาระเบีย อายุ 18 ปี กำลังเผชิญหน้ากับการถูกส่งตัวกลับประเทศหลังจากหลบหนีจากครอบครัว ระหว่างเดินทางไปประเทศคูเวต
โดยพยายามขึ้นเครื่องบินโดยมีเป้าหมายที่ประเทศออสเตรเลีย
แต่ระหว่างจอดพักที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น เธอถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจตม.ควบคุมตัว โดยระบุว่าไม่มีวีซ่าเข้าประเทศไทย และเตรียมส่งกลับประเทศโดยสายการบินคูเวตแอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินเดียวกับที่หญิงสาวเดินทางมา
เรื่องราวดูเหมือนจะเป็นการผลักดันคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกลับประเทศปกติธรรมดา
แต่เรื่องราวก็ลุกลามใหญ่โต เมื่อ น.ส.ราฮัฟ โพสต์ขอความช่วยเหลือผ่านทวิตเตอร์ ทั้งรูปและคลิปวิดีโอ โดยระบุว่า ขอความช่วยเหลือโดยด่วน เพราะไม่มีอะไรจะสูญเสียแล้ว จึงจำเป็นต้องแชร์ชื่อจริงและข้อมูลจริงๆ ของตัวเอง
พร้อมระบุว่า “ฉันชื่อราฮัฟ โมฮัมเหม็ด มุตลัก อัล-กุนัน นี่คือรูปของฉัน ฉันกลัว ครอบครัวของฉันจะฆ่าฉัน”
ขณะที่สื่อต่างประเทศรายงานอีกว่า ราฮัฟหลบหนีการแต่งงานแบบคลุมถุงชน มีจุดหมายไปยังออสเตรเลีย และแวะเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศไทย โดยยืนยันว่ามีตั๋วเครื่องบิน และวีซ่าเข้าประเทศออสเตรเลีย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ทูตซาอุฯ ยึดไว้
โดย น.ส.ราฮัฟได้แสดงความต้องการจะออกจากศาสนาอิสลาม ทำให้ถูกครอบครัวทำร้าย และเกรงว่าหากถูกส่งกลับ อาจถูกครอบครัวทำร้ายถึงขั้นเสียชีวิตได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ม.ค. น.ส.ราฮัฟโพสต์ทวิตเตอร์อีกครั้ง ระบุว่า “ตารางบินกลับไปคูเวตของฉันคือเที่ยวบินคูเวต 412 ได้โปรดช่วยฉัน หยุดเครื่องที่จะออกด้วย” พร้อมขังตัวเองไว้ในห้องพักโรงแรม ก่อนจะทวีตถี่ยิบว่าต้องการความช่วยเหลือจากยูเอ็น
ส่งผลให้กระแสโลกออนไลน์โพสต์ข้อความและติดแฮชแท็ก #saverahaf (ช่วยราฮัฟ) โดยชาวทวิตเตอร์จำนวนมากได้เรียกร้องให้มีการกดดันรัฐบาลไทย ไม่ให้ส่ง น.ส.ราฮัฟกลับซาอุฯ และให้ช่วย
น.ส.ราฮัฟไปสู่ประเทศที่สามอย่างปลอดภัย
เป็นพลังที่เข้มแข็งที่เกิดขึ้นจากโลกออนไลน์
● สตม.แจงเหตุคุมตัว
ขณะที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. เปิดแถลงข่าวด่วนที่ห้องศปก. บก.ตม.2 อาคารผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ระบุว่า น.ส.ราฮัฟเดินทางมาประเทศไทยโดยเที่ยวบิน เคยู 413 ขณะที่สถานทูตซาอุฯ ประสานมายังไทยว่า หญิงสาวคนดังกล่าวหนีจากการดูแลจากผู้ปกครอง เกรงว่าจะได้รับอันตราย จึงอยากให้ตม.ไทย ช่วยดูไว้
หลังจากที่ตม.รับทราบ ประกอบกับเมื่อหญิงสาวคนดังกล่าวยื่นขอวีซ่าเพื่อเข้าไทยต่อตม.ประจำสนามบิน แต่ไม่แสดงตั๋วเครื่องบินกลับ และไม่ได้วางแผนเดินทาง หรือที่พักในไทย จึงต้องปฏิเสธการเข้าเมือง ซึ่งถือเป็นไปตามหลักสากลทั่วโลก เนื่องจากถือว่าเป็นบุคคลต้องห้าม
จากนั้นจึงให้สายการบินเป็นผู้ดูแลต่อ ทั้งเรื่องที่พัก อาหาร จนกว่าจะได้ตั๋วเครื่องบินกลับไปยังประเทศต้นทาง
“ส่วนเรื่องการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือถูกยึดพาสปอร์ตนั้น เจ้าหน้าที่ตม.สนามบินไม่ได้ยึด เพียงแต่เก็บไว้จนกว่าผู้หญิงคนดังกล่าวจะมีตั๋วเดินทางกลับ ซึ่งเมื่อสายการบินคูเวตแอร์ไลน์ ซื้อตั๋วเครื่องบินให้เดินทางกลับเมื่อเช้าวันที่ 7 ม.ค. ตม.สนามบินก็คืนพาสปอร์ตให้ น.ส.ราฮัฟเรียบร้อย”
การดำเนินการหลังจากนี้นอกจากจะใช้หลักกฎหมายแล้ว ยังต้องใช้หลักสิทธิมนุษยชน เบื้องต้น น.ส.ราฮัฟระบุว่าที่ไม่ต้องการกลับประเทศเพราะเกรงจะถูกทำร้าย จึงประสงค์จะเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม
จากนี้จะประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้าพูดคุยสอบถามว่าจะขอลี้ภัยไปยังประเทศที่สามหรือเดินทางกลับประเทศ
ยืนยันว่าหากส่งตัว น.ส.ราฮัฟกลับประเทศแล้วทำให้เธอตาย ทางการไทยย่อมไม่ต้องการเช่นนั้นอย่างแน่นอน ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม จะไม่ส่งใครไปตายแน่นอน เราต้องระลึกถึงการรักษาความสัมพันธ์ทางการทูต
อย่างไรก็ตาม น.ส.ราฮัฟปฏิเสธที่จะขึ้นเครื่องกลับไปยังคูเวต โดยระบุว่า “พี่ชายและครอบครัวเค้าจะไปรอฉันอยู่ที่คูเวต พวกเขาจะฆ่าฉัน ชีวิตฉันอยู่ในอันตราย เพราะที่ผ่านมาครอบครัวของฉันก็เคยขู่จะฆ่าฉันมาหลายครั้งแล้วกับหลายๆ เรื่อง”
“ฉันคิดว่าเค้ากำลังต้องการจะหลอกให้ฉันกินอาหารที่นำมาให้เพื่อวางยาสลบ แล้วนำตัวฉันกลับไปคูเวต”
พร้อมยืนยันว่าจะหมกตัวอยู่ในห้องจนกว่ายูเอ็นจะมาช่วยเหลือ
● ยูเอ็นให้สถานะผู้ลี้ภัย
อย่างไรก็ตามเมื่อมีความกดดันจากหลายๆ ทาง ในที่สุดช่วงหัวค่ำวันที่ 7 ม.ค. มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ UNHCR เข้าพบ น.ส.ราฮัฟ และให้ความคุ้มครอง ดำเนินการส่ง น.ส.ราฮัฟไปยังประเทศที่สามขณะที่ทางการไทยอนุญาตให้ น.ส.ราฮัฟเข้าประเทศระหว่างรอทำเรื่องส่งไปยังประเทศอื่น จากนั้นจึงพาตัว น.ส.ราฮัฟออกจากสนามบินสุวรรณภูมิอย่างปลอดภัย
ท่ามกลางความโล่งใจของคนทั้งโลก
Rahaf Mohammed al-Qunun, a Saudi woman who claims to be fleeing her country and family, is seen in Bangkok, Thailand January 7, 2019 in this still image taken from a video obtained from social media. TWITTER/ @rahaf84427714/via REUTERS THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. MANDATORY CREDIT. NO RESALES. NO ARCHIVES.
ขณะที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ พล.ต.ต.พฤทธิพงษ์ ประยูรศิริ ผบก.ตม.2 และนายกิตติพงศ์ กิตติขจร รอง ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมแถลงถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า น.ส.ราฮัฟ ที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ตัดสินใจขอมาพักอาศัยในประเทศไทยสักระยะ ก่อนยื่นเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัย และ ตัดสินใจจะเดินทางไปประเทศไหนภายใน 5 วัน และเนื่องจากไม่ได้เข้ามาในประเทศไทย จึงไม่มีข้อหาโอเวอร์สเตย์ และเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ต่อมาวันที่ 8 ม.ค. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์เข้าพบอุปทูตซาอุฯ ก่อนระบุว่า แนวทางที่ไทยดำเนินการ เป็นสิ่งที่รัฐบาลซาอุฯ พึงพอใจ โดยมีจุดประสงค์เหมือนกันเรื่องการดูแลความปลอดภัย เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือรัฐบาล ขณะที่ น.ส.ราฮัฟประสงค์ให้ยูเอ็นเอชซีอาร์มาดูแล ไม่ใช่ความประสงค์ของรัฐบาลไทย
ก่อนจะกล่าวว่าพ่อและพี่ชายของ น.ส.ราฮัฟกำลังเดินทางมาไทย ซึ่งตนจะประสานให้มีโอกาสพูดคุยกัน ให้ยูเอ็นเอชซีอาร์ได้รับข้อมูล 2 ด้าน
และเตรียมเสนอเพิ่มโทษสายการบินที่ไม่ตรวจสอบบัตรโดยสารตั๋วเครื่องบินเที่ยวกลับ จนทำให้เกิดเรื่องเช่นนี้
ทั้งนี้ สถานทูตซาอุฯ ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียไม่ได้ร้องขอให้นำตัว น.ส.ราฮัฟกลับประเทศ ไม่ได้ยึดหนังสือเดินทางไว้ เนื่องจากเป็นเรื่องภายในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม น.ส.ราฮัฟ ปฏิเสธที่จะขอพบครอบครัวที่ เดินทางมาไทย
ด้านทางการออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์รับรองสถานะของ น.ส.ราฮัฟว่าเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว โดยทางสำนักงาน ผู้อพยพของยูเอ็นประสานงานกับหน่วยงานของออสเตรเลียเพื่อขอให้รัฐบาลออสเตรเลียพิจารณาคำขอลี้ภัยของ น.ส.ราฮัฟ
เมื่อผลเป็นเช่นนี้ คนทั้งโลกก็โล่งใจ