บทวิเคราะห์ : พายุ”ปาบึก” ภาพสะท้อนวิกฤตโลกระดับใหญ่

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

พายุโซนร้อน “ปาบึก” เปิดประเดิมศักราชใหม่ปีหมูด้วยการบุกถล่มพื้นที่ภาคใต้อย่างจัง นับเป็นพายุลูกแรกในรอบ 55 ปี ที่มีเส้นทางผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช

โชคดีที่หลายฝ่ายเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพายุ “เกย์” ที่บุกโจมตีพื้นที่จังหวัดชุมพร

ในเวลานั้น มีผู้เสียชีวิตจากอิทธิฤทธิ์ของพายุเกย์หลายร้อยคน

บางสื่อบอกว่าอาจถึง 500 คน ส่วนความเสียหายด้านทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท

คราวนี้มีรายงานว่าชาวนครศรีธรรมราชตกเป็นเหยื่อพายุ 2 ราย นอกนั้นเป็นชาวประมงที่ปัตตานีออกเรือตั้งแต่วันสิ้นปี ระหว่างทางเจอพายุ คลื่นสูงซัดจนเรือพลิกคว่ำเสียชีวิตอีก 2 คน

ส่วนความเสียหายด้านทรัพย์สิน บ้านเรือน ถนนหนทาง คาดว่าไม่หนักหน่วงรุนแรงเท่ากับเหตุการณ์พายุ “เกย์”

 

จะว่าไปแล้ว ต้องขอบคุณผู้สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับเทคโนโลยีจนสามารถมองเห็นและจับเส้นทางพายุปาบึกที่ลอยเหนือแผ่นฟ้าได้แม่นยำราวกับตาทิพย์

เทคโนโลยีอันล้ำยุคทำให้การสื่อสารส่งข้อมูลให้กับผู้คนที่อยู่ในเส้นทางพายุผ่านได้อย่างรวดเร็วจนมีการเฝ้าระวัง การอพยพและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อย่างทันท่วงที

แม้พายุปาบึกผ่านไปแล้ว แต่แผนปฏิบัติการเช่นนี้ยังต้องมีให้พร้อมและเพิ่มความสมบูรณ์แบบให้มากยิ่งๆ ขึ้นเพื่อรับพายุลูกใหม่ๆ และปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศในอนาคตข้างหน้า

ทุกปีบ้านเราต้องเจอกับพายุอย่างแน่นอนเพราะตั้งอยู่ระนาบเส้นศูนย์สูตร มีมหาสมุทรขนาบอยู่ 2 ข้างซึ่งเป็นจุดกำเนิดพายุหมุนเขตร้อน ทั้งพายุไต้ฝุ่น โซนร้อน ดีเปรสชั่นและไซโคลน

เฉลี่ยพายุผ่านเข้าไทยปีละ 3-4 ลูก ส่วนใหญ่เคลื่อนตัวจากมหาสมุทรแปซิฟิก พัดผ่านตอนบนของประเทศทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ทางใต้จะมีพายุเข้าช่วงปลายๆ ปี

พายุที่มาจากฝั่งมหาสมุทรอินเดีย พัดเข้าทางด้านตะวันตก ภาคกลาง และภาคเหนือของประเทศไทย

ภาคใต้มีพายุใหญ่ๆ เข้ามาถล่มตรงๆ ไม่มากนัก อย่าง “ปาบึก” ก็เป็นลูกที่ 4 นับจากพายุโซนร้อนแฮเรียตที่พัดถล่มแหลมตะลุมพุก นครศรีธรรมราช เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2505

ต่อด้วยไต้ฝุ่นเกย์ในปี 2532 และพายุไต้ฝุ่นลินดา พัดใส่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2540

 

พูดถึงการแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศ ขณะนี้มีหลายพื้นที่กำลังเผชิญหน้า อย่างในฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา มีทั้งฝน หิมะ และกระแสลมแรงรุมกระหน่ำ

รัฐแอริโซนา เป็นพื้นที่ทะเลทรายและภูผาสูงชันเจอหิมะปกคลุมจนขาวโพลน ในเขตอุทยานแห่งชาติ อุณหภูมิลดวูบ -1 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ถือเป็นภาวะไม่ปกติ

รัฐแคลิฟอร์เนีย หลายพื้นที่ฝนตกหนัก ส่วนบนภูเขามีหิมะโปรยมาอย่างต่อเนื่อง

การเดินทางระหว่างเมืองเป็นไปด้วยความโกลาหลเพราะฝนตก หิมะก็โปรย ถนนลื่นมาก โอกาสเสี่ยงสูงเกิดอุบัติเหตุ

เช่นเดียวกับชายหาดทางภาคใต้ของอิตาลี เจอทั้งหิมะและกระแสลมแรง

ข้ามกลับมาทวีปออสเตรเลีย อากาศที่นั่นกลับร้อนอย่างสุดขั้ว บางวันอุณหภูมิพุ่งทำสถิติใหม่

รัฐทางตอนใต้ เช่น วิกตอเรีย ทัสมาเนียและเซาท์ออสเตรเลีย กลายเป็นเตาอบขนาดใหญ่

เมืองเมลเบิร์น อุณหภูมิทะลุขึ้นไปถึง 42 ํc

รัฐวิกตอเรีย อุณหภูมิเดือนมกราคม ปกติอยู่ที่ 40 ํc แต่ปีนี้คาดว่าจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10-16 ํc

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิที่เขตพิลบารา แหล่งผลิตแร่ขนาดใหญ่ทางภาคตะวันตกวัดได้ถึง 49.3 ํc ถือเป็น 1 ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนสุดของออสเตรเลีย

ส่วนสาเหตุอุณหภูมิในเขตพิลบาราพุ่งสูงเนื่องจากดวงอาทิตย์ทำมุมฉาก แสงอาทิตย์พุ่งตรงหัวพอดีเป๊ะ

ใครที่มีแผนเดินทางไปเที่ยวออสเตรเลียช่วงเวลานี้ ระวังรังสีดวงอาทิตย์ที่แผ่แรงเข้มข้น

เมื่ออากาศร้อนจัดๆ โอกาสเกิดไฟป่ามีความเป็นไปได้สูง ทางการออสเตรเลียจึงต้องออกคำเตือนให้ระวังไฟป่าและห้ามจุดไฟเผาหญ้าอย่างเด็ดขาด

 

ออสเตรเลียเผชิญกับความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศมานานหลายปี และรวบรวมสถิติไว้ตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา

เหตุเกิดในแต่ละครั้งมีความเสียหายอย่างมากมาย เช่น ไฟป่าทำลายทั้งพื้นที่เกษตร บ้านเรือน เกิดคลื่นความร้อนและฝนตกถล่มน้ำท่วมหนัก

รัฐบาลออสเตรเลียสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโลกร้อนรวบรวมข้อมูล ตรวจวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มาจัดทำเป็นรายงาน ชื่อว่า “State of the Climate” หรือถ้อยแถลงว่าด้วยภูมิอากาศออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2556

เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียออกรายงานใหม่ล่าสุดประจำปี 2561

เป็นรายงานบ่งชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนเกิดขึ้นย่างต่อเนื่อง เพิ่มระดับความรุนแรงในทุกด้าน มีผลกระทบในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม

รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น คราวหน้ามาว่ากัน