บทวิเคราะห์ : ระบบ “ผู้ปกครอง” กรงขังเสรีภาพผู้หญิงซาอุฯ

ปีที่แล้วซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นสังคมอนุรักษนิยมมุสลิมสายเคร่ง ได้สร้างความฮือฮาให้กับโลก ด้วยการยอมเปิดทางให้ผู้หญิงในประเทศขับรถยนต์เองได้

มีการยกเลิกคำสั่งห้ามเด็กผู้หญิงเล่นกีฬาในโรงเรียน และให้ผู้หญิงเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลในสนามกีฬาร่วมกับผู้ชายได้

จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเคยเป็นการกระทำต้องห้ามตามกฎหมายของซาอุฯ มาโดยตลอด

การเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบเข้มงวดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงซาอุฯ ดังกล่าว ทำให้คณะผู้ปกครองซาอุฯ ได้รับเสียงชื่นชมและการขานรับถึงแนวทางการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจของประเทศที่ถูกระบุว่ามีเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุฯ เป็นผู้ผลักดัน

และจุดความหวังที่มีอยู่น้อยนิดให้บังเกิดขึ้นว่าผู้หญิงซาอุฯ จะมีสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมในสังคมมากขึ้น

 

ทว่ากรณีของ น.ส.ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนัน สาวซาอุฯ วัย 18 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยควบคุมตัวไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิและเตรียมจะผลักดันกลับประเทศ หลังจากสาวซาอุฯ รายนี้อ้างว่าเธอหนีจากครอบครัวมาเพราะถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเธอต้องการจะเดินทางต่อไปยังออสเตรเลียเพื่อขอลี้ภัย

แต่หลังจากเรื่องราวของ น.ส.ราฮาฟเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก จนเกิดกระแสสังคมโลกออนไลน์และนานาชาติกดดันหนัก ทำให้สถานการณ์พลิก ไม่มีการส่งกลับ น.ส.ราฮาฟ และให้เธออยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ในการเดินเรื่องขอสถานะลี้ภัยจากออสเตรเลียต่อไป กรณีนี้หากโดยข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างที่ น.ส.ราฮาฟกล่าวอ้าง ก็จะเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงในประเทศซาอุฯ ยังไม่ได้รับการยกระดับอย่างแท้จริง หากแต่ยังคงถูกกำกับควบคุมอยู่ภายใต้ “ระบบผู้ปกครองชาย” กลไกหนึ่งในระบบปกครองของซาอุฯ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือกดขี่สิทธิเสรีภาพของผู้หญิงซาอุฯ อยู่ต่อไป

“ระบบผู้ปกครองชาย” (Men guardianship system) ที่อยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายศาสนาของซาอุฯ ซึ่งได้มาจากการตีความตามบทในคัมภีร์อัลกุรอานตอนหนึ่งว่า

“ผู้ชายเป็นผู้ปกป้องดูแลผู้หญิง เพราะพระเจ้าทรงประทานความแข็งแกร่งให้ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง”

ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการให้อำนาจผู้ชายที่เป็นพ่อ พี่ชาย สามี หรือลูกชาย ในการกำหนดตัดสินใจแทนผู้หญิงซาอุฯ รายนั้นๆ ในการดำเนินชีวิตของตนเอง

โดยนอกเหนือจากข้อจำกัดสิทธิในการขับขี่รถยนต์ได้สำหรับผู้หญิงซาอุฯ จะได้รับการปลดปล่อยแล้ว ยังคงมีสิ่งต้องห้ามอีกหลายประการที่ผู้หญิงซาอุฯ ยังคงถูกจำกัดสิทธิอยู่

ซึ่งหากจะทำจะต้องขอความเห็นชอบยินยอมจากผู้ปกครองชายเสียก่อน เช่น เรื่องการศึกษา โดยเฉพาะการเรียนต่อในต่างประเทศ การทำงานนอกบ้าน การทำพาสปอร์ตหรือหนังสือเดินทาง การแต่งงาน การเปิดบัญชีธนาคาร การทำธุรกิจส่วนตัว การทำศัลยกรรม

และแม้กระทั่งการที่ผู้หญิงซาอุฯ รายนั้นๆ ถูกจับกุมจองจำ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด หากได้รับการปล่อยตัว ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากชายผู้ปกครองด้วย

นอกจากนี้ในระบบผู้ปกครอง ผู้หญิงชาวซาอุฯ ยังสามารถถูกจับกุมดำเนินคดีได้ หากไม่เชื่อฟังผู้ปกครอง

 

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อปี 2559 ระบุว่า ระบบผู้ปกครองของซาอุฯ มีการบังคับใช้โดยตรงและอย่างชัดเจน จนทำให้ผู้หญิงชาวซาอุฯ ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวท้าทายระบบกดขี่ดังกล่าว

แต่ก็ถูกจับกุมดำเนินคดีไปหลายราย

หนึ่งในนั้นเป็นกรณีของซามาร์ บาดาวี นักเคลื่อนไหวต่อสู้ด้านสิทธิที่ได้หนีออกจากบ้าน โดยอ้างว่าถูกพ่อทำร้ายในปี 2551 โดยหลังจากที่เธอถูกพบตัว เธอก็ได้เริ่มกระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อให้ถอดถอนสิทธิการเป็นผู้ปกครองของพ่อเธอ

แต่ซามาร์กลับถูกพ่อฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาไม่เชื่อฟังผู้ปกครอง

ในปี 2553 ศาลสั่งจำคุกซามาร์ในข้อหาดังกล่าว ซึ่งเธอถูกจองจำอิสรภาพอยู่นาน 7 เดือน

ก่อนที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิจะช่วยกันโหมกระพือเรื่องราวของเธอให้โลกได้รับรู้ จนอยู่ในความสนใจ

กระทั่งศาลสั่งยกฟ้องในคดีซามาร์

 

อีกกรณีเป็นกรณีของมาเรียม อัล-โอเทบี นักเคลื่อนไหวหญิงอีกราย ที่ถูกจำคุก 3 เดือนในปี 2560 หลังจากเธอถูกพ่อกล่าวหาว่าไม่เชื่อฟัง เหตุจากที่เธอหนีออกจากบ้านเพราะถูกพ่อและพี่ชายทำร้ายจากการที่มาเรียมออกมารณรงค์ต่อต้านระบบผู้ปกครอง

กรณีของมาเรียมได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา โดยปราศจากการได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครองชายในครอบครัวของเธอ ซึ่งกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชี้ว่านี่เป็นชัยชนะของมาเรียม

และอีกกรณีที่เป็นข่าวใหญ่โตเช่นกัน เป็นกรณีของดีนา อาลี ลาสลูม อายุ 24 ปี ที่ถูกทางการฟิลิปปินส์ควบคุมตัวไว้ที่สนามบินในกรุงมะนิลาในปี 2560

หลังจากที่เธอเดินทางหนีจากครอบครัวในซาอุฯ มาเพราะถูกบังคับให้แต่งงาน เพื่อหวังจะไปขอลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย

แต่โชคร้ายดีนาถูกส่งตัวให้กับครอบครัวเพื่อนำตัวกลับประเทศไป ซึ่งหลังจากนั้นชะตากรรมของเธอก็ไม่เป็นที่ล่วงรู้จากโลกภายนอก

 

การเดินหน้าท้าทายให้ยกเลิกระบบผู้ปกครองชายในประเทศซาอุฯ ยังคงมีการเคลื่อนไหวมาโดยตลอด แม้จะถูกยับยั้งปราบปราม

โดยในปลายปี 2559 มีการรวบรวมรายชื่อได้ราว 14,000 ราย ยื่นต่อราชสำนักซาอุฯ เพื่อให้ยกเลิกระบบผู้ปกครอง

และยังมีการโพสต์ข้อความติดแฮชแท็กในโลกออนไลน์ว่า ผู้หญิงซาอุฯ ต้องการให้ล้มระบบผู้ปกครอง# จนจุดกระแสรณรงค์ต่อต้านระบบนี้ครั้งใหญ่

แต่ความเคลื่อนไหวนี้ก็ถูกสกัดด้วยท่าทีจากอับดูลาซิซ อัล ชีค ประมุขสูงสุดทางศาสนาของซาอุฯ ที่ชี้ขาดว่า คำร้องเรียนดังกล่าวเป็นอาชญากรรมต่อต้านศาสนาอิสลามและยังเป็นภัยคุกคามที่มีอยู่จริงต่อสังคมซาอุฯ ด้วย

เมื่อสถานการณ์สิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นเช่นนี้ ก็คงได้แต่เอาใจช่วยและจับตาดูกันต่อไปว่า จะมีพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเชิงบวกเกิดขึ้นในสังคมซาอุฯ ได้หรือไม่

ในช่วงเวลาที่ซาอุฯ เองถูกประชาคมโลกเฝ้าจับตามองอย่างระมัดระวัง นับจากเกิดคดีฆาตกรรมจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวซาอุฯ อันสะท้านโลก!