คนมองหนัง : “ถึงคน..ไม่คิดถึง” มองความสัมพันธ์ “ไทย-พม่า” ในมุมใหม่ๆ

คนมองหนัง

“ถึงคน..ไม่คิดถึง” (From Bangkok to Mandalay) เป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ “ชาติชาย เกษนัส”

หนังเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครชาวเมียนมาและไทย ซึ่งได้เสียงตอบรับที่ดีในประเทศเมียนมา แต่สำหรับในไทย กลับได้โรงฉายไม่มากแห่งและไม่มากรอบนัก

ก่อนหน้านี้ “ถึงคน..ไม่คิดถึง” คล้ายจะต้องลาโรงไปอย่างเงียบๆ ทว่า กระแสปากต่อปากก็ส่งผลให้หนังสามารถยืนระยะต่อไปได้

จากการเป็น “ชายขอบ” ของโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ หนังเรื่องนี้จะได้รอบฉายที่โรงภาพยนตร์เฮาส์ ราม่า อาร์ซีเอ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

maxresdefault

หนังเรื่องแรกของชาติชายไม่ใช่ผลงานดีเลิศสมบูรณ์แบบ หากมีองค์ประกอบขาดๆ เกินๆ ปรากฏชัดอยู่มากพอสมควร อย่างไรก็ตาม หนังสามารถสื่อสารถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและถ่ายทอดบรรยากาศข้ามสังคม-ข้ามวัฒนธรรม ออกมาได้อย่างน่าสนใจชวนฉุกคิด

ถ้าให้เปรียบเทียบ หนังอาจมีความคล้ายคลึงกับ “October Sonata รักที่รอคอย” ของ “สมเกียรติ วิทุรานิช”

ทั้งในแง่ที่ทั้งคู่มีสถานะเป็นหนังรัก ซึ่งมิได้มีเนื้อหาและรูปลักษณ์ “ร่วมสมัย” มากนัก กรอบเวลาในหนังทั้งสองเรื่องกินระยะเวลายาวนานหลายทศวรรษเหมือนกัน แถมมีบทสรุปเป็นความพยายามที่จะยืนหยัดดำเนินชีวิตต่อไปของคนผู้มีชีวิตเหลือรอดจากโศกนาฏกรรมความรัก อย่างสอดคล้องกันอีก

และในแง่การเจือกลิ่นอายทางการเมือง เพราะแม้ว่า “October Sonata” จะมีความเป็น “หนังการเมือง” เต็มตัว ผิดกับ “ถึงคน..ไม่คิดถึง” ซึ่งมีลักษณะ “ปลอดการเมือง” ปรากฏอยู่ แต่หนังทั้งสองเรื่องก็ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมการเมืองยุคก่อน พ.ศ.2500 ไม่ต่างกัน

หนังของสมเกียรติอ้างอิงตนเองอยู่กับ “สงครามชีวิต” โดย ศรีบูรพา ขณะที่หนังของชาติชายก็มีฉากสำคัญ ซึ่งแสดงความเคารพต่อ “ปีศาจ” โดย เสนีย์ เสาวพงศ์

(จะอภิปรายถึงประเด็นนี้ในช่วงท้ายบทความ)

%e0%b8%96%e0%b8%b6%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%99-%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%84%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%96%e0%b8%b6%e0%b8%872

ที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ “ถึงคน..ไม่คิดถึง” มุ่งเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ไทย-พม่า/เมียนมา อย่างผิดแผกจากหนัง-ละครไทยส่วนใหญ่ (ไม่ว่าจะในสายเมนสตรีมหรืออินดี้) ซึ่งก่อนหน้านี้ (จนถึงปัจจุบัน) ผลงานเหล่านั้นมักถูกยึดกุมด้วยประวัติศาสตร์นิพนธ์ “ไทยรบพม่า” และมีเรื่องราวชายขอบของ “แรงงานพลัดถิ่น” แซมเข้ามาในระยะหลังๆ

หนังเล่าเรื่องราวความรักสองยุคสมัย ได้แก่ ความรักที่พลัดพรากของหนุ่มสาวชาวพม่าต่างชนชั้นในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ซึ่งสุดท้ายฝ่ายหญิงต้องเดินทางมาลงหลักปักฐานและมีชีวิตครอบครัวที่เมืองไทย

กับการเดินทางกลับไปเมียนมาเพื่อตามรอยรักเก่าของคุณย่า โดยหลานสาวชาวไทยของนางเอกในเรื่องราวยุคอดีต ก่อนที่สาวไทยจะค่อยๆ สานสัมพันธ์ “ปลายเปิด” กับชายหนุ่ม “ผู้นำทาง” ชาวพม่า

รายละเอียดหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากๆ ในหนังเรื่องนี้ ก็คือ การกำหนดให้ตัวละครหลักทุกรายต่าง “เก็บงำ” ความลับ/อดีตบางอย่างเอาไว้ ไม่ให้ใครอื่นรับรู้

เริ่มตั้งแต่นางเอกในยุคอดีต/คุณย่าในยุคปัจจุบัน ผู้มีอดีตรักยากลืมเลือน แต่ “ความรัก” ที่ว่าค่อยๆ กลายสถานะเป็น “ความลับ” เมื่อเธอมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศไทย

เช่นเดียวกับตัวละครพระเอกทั้งในยุคอดีตและยุคปัจจุบัน ซึ่งมีพฤติกรรมที่พยายามจะซุกซ่อนอัตลักษณ์จริงๆ ของตนเอง ขณะกำลังริเริ่มความสัมพันธ์กับหญิงสาวที่พวกเขาหลงรัก

กระทั่งนางเอกคนไทยในยุคปัจจุบัน ก็มีพฤติกรรมเก็บงำ “อดีตรัก” ที่จากไปไม่มีวันกลับเอาไว้ (พร้อมกับระลึกถึง “ชายผู้นั้น” อย่างเงียบๆ อยู่เกือบตลอดเวลา) โดยไม่เคยปริปากบอกเรื่องนี้กับหนุ่มพม่า ผู้แสดงอาการชื่นชอบเธออย่างเปิดเผย

ไปๆ มาๆ การพูดถึงสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ระหว่างประเทศ และระหว่างชาติสมาชิกร่วมประชาคมอาเซียน ผ่านประเด็นการเก็บงำซ่อนเร้นอะไรบางอย่างหรืออาการไม่รู้เขาไม่รู้เรา ก็มีเสน่ห์และดูจริงใจดี

นอกจากนี้ เมื่อหนังเลือกบอกเล่าความสัมพันธ์ไทย-พม่า ด้วยจุดเน้นที่แตกต่างออกไป ตัวละครในเรื่องจึงมิได้มีสถานะเป็น “มิตร” หรือ “ศัตรู” ขณะเดียวกัน พวกเขาบางส่วนก็ไม่ได้เป็นแรงงานพลัดถิ่นผู้ถูกกดขี่ขูดรีด หรือถูกกีดกันเป็น “คนต่างด้าว”

การเลือกทางเดินใหม่ ส่งผลให้ตัวละครนำหรือตัวละครสมทบบางคนใน “ถึงคน..ไม่คิดถึง” มีอัตลักษณ์ที่กำกวม ลื่นไหล ชวนขบคิด

เพราะหนังเรื่องนี้มีทั้งตัวละครชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในสังคมไทยนานเสียจนคนรุ่นหลังไม่รับรู้ว่าเธอเป็นคนพม่า

มีตัวละครเด็กสาวชาวไทยวัยเกิน 20 ปี ที่มีสายเลือดพม่า โดยเธอไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย

และมีตัวละครชายแก่เชื้อสายโยเดียที่อาศัยอยู่ในสังคมพม่านานเสียจนเขาไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าตนเองคิดถึงเมืองไทย

eq4dswt

อย่างไรก็ดี ประเด็นใหญ่จริงๆ ใน “ถึงคน..ไม่คิดถึง” น่าจะมีอยู่สองข้อ

ข้อแรก คือ การที่หนังตัดสินใจนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองประเทศ ผ่านความรักที่พลัดพราก ไม่สมบูรณ์ ปราศจากบทสรุปแน่ชัด

ระหว่างดูหนังของชาติชาย ผมนึกถึงคำอธิบายของ “โสโท กุลิการ์” ผู้กำกับฯ หญิงจากกัมพูชา ที่มีต่อหนังสั้น “Beyond the Bridge” ของตัวเธอเอง (เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์รวมภาพยนตร์สั้นเรื่อง “Reflections”)

โสโท กุลิการ์ อธิบายเหตุผลที่เรื่องราวความรักระหว่างชายชาวญี่ปุ่นกับหญิงชาวกัมพูชาจากสองยุคสมัย (“ก่อน” และ “หลัง” ยุคเขมรแดง) ในหนังสั้นของตนเองล้วนลงเอยด้วยความพลัดพรากว่า เป็นเพราะเธอต้องการสื่อให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับกัมพูชาที่จะดำเนินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ได้ยุติลง ณ จุดใดจุดหนึ่ง

หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าความรักที่ผิดหวัง กลับส่งผลให้ความสัมพันธ์ข้ามพรมแดน-วัฒนธรรมสามารถดำเนินต่อไปได้ไม่สิ้นสุด

คำอธิบายของคนทำหนังกัมพูชาดูจะต้องตรงกับแก่นเรื่องในหนังของชาติชายอยู่ไม่น้อย

เมื่อความรักในยุคอดีตของ “ถึงคน..ไม่คิดถึง” ต้องปิดฉากลงด้วยการลาจากและความรวดร้าว ก่อนที่มรดกรักจะถูกส่งมอบมายังคนรุ่นปัจจุบัน ทว่า สายสัมพันธ์ของสาวไทยและหนุ่มพม่าผู้เป็นคนรุ่นหลัง ก็ไม่ได้จบลงด้วยความรักอีกเช่นกัน หากเป็นเพียงความสัมพันธ์ปลายเปิด ที่ต่างฝ่ายต่างใช้ชีวิตและเดินตามความฝันของตนต่อไป

สายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า/เมียนมาในหนังเรื่องนี้ จึงไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยความรักที่สมบูรณ์ลงตัว แต่ถูกขับเคลื่อนด้วยความรักที่บกพร่อง ตกหล่น กะพร่องกะแพร่ง ระหองระแหง และไม่มีทางเติมได้เต็มต่างหาก

(ดังนั้น เราจึงต้องพยายามรักกันให้มากขึ้น)

%e0%b8%96%e0%b8%b6%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%99-%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%84%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%96%e0%b8%b6%e0%b8%87-1024x576

อีกข้อที่น่านำไปคิดต่อ คือ ภาวะ “ปลอดการเมือง” ในหนังไทย-พม่าเรื่องนี้

ยุคสมัยในหนังของชาติชาย เอื้อให้พูดถึงบทบาทของกองทัพที่ดำรงอยู่ในการเมืองพม่า (ตลอดจนปัจจัยทางการเมืองอื่นๆ เช่น ความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์)

แต่หนังกลับปลีกตัวออกจากประเด็นเฉพาะทางการเมือง แล้วเลือกบันทึกนัยยะ “บางๆ” เอาไว้อย่างแผ่วเบา ผ่านเหตุการณ์ที่บาทหลวงฝรั่งไม่สามารถอาศัยอยู่ในพม่าได้อีกต่อไป (โดยไม่ระบุเหตุผลแน่ชัด)

บางที “ถึงคน..ไม่คิดถึง” อาจเลือกเดินบนทางเส้นเดียวกับหนังกัมพูชาเรื่อง “Diamond Island” ของ “ดาวี่ ชู” ที่ผมเพิ่งเขียนถึงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

แม้หนังจากกัมพูชาจะเล่าเรื่องราวของสังคมปัจจุบันอย่างสมจริง เพื่อเชื่อมโยงไปยังความใฝ่ฝันถึงอนาคต ส่วนหนังของชาติชาย พาคนดูย้อนกลับไปยังอดีตในลักษณะพาฝัน

ทว่า ตรงบทสรุปสุดท้าย หนังเรื่องหลังก็พยายามคลี่คลายปมปัญหาของอดีต ณ จุดปัจจุบัน เพื่อจะก้าวต่อไปสู่อนาคตเช่นกัน (ไอเดียการส่งจดหมาย -ในฐานะความทรงจำหรือประวัติศาสตร์- ไปสู่โลกอนาคต ที่ปรากฏก่อนหนังจบ จึงมีความสำคัญมาก)

ถ้า ดาวี่ ชู ตัดสินใจไม่นำเสนอประเด็นว่าด้วยบาดแผลจากยุคเขมรแดงในหนังของเขา โดยอธิบายว่ารอยแผลทางประวัติศาสตร์นั้นเปรียบเสมือน “หน้ากระดาษว่างเปล่า” ของภาพยนตร์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ใฝ่ฝันถึงอนาคตแบบใหม่ๆ แล้วเก็บงำอดีตเอาไว้ในความทรงจำส่วนลึกของแต่ละปัจเจกบุคคล

ลักษณะ “ปลอดการเมือง” ของ “ถึงคน..ไม่คิดถึง” ก็อาจดำรงอยู่ด้วยเหตุผลชุดเดียวกัน

กล่าวคือ ชาติชายอาจกำลังพยายามบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองบางหน้าลงไปบน “แผ่นกระดาษอันว่างเปล่า” เพื่อเปิดโอกาสให้พันธกิจใหม่ ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ๆ และความใฝ่ฝันถึงอนาคต ได้ก่อตัวและโลดแล่นไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้กลับมีองค์ประกอบที่เป็น “การเมืองอย่างยิ่ง” อยู่จุดหนึ่ง

นั่นคือฉากเด็กสาวกำพร้าฐานะยากจนลุกขึ้นยืนปาฐกถาถึง “ปีศาจแห่งกาลเวลา” ต่อหน้ากลุ่มคนชั้นสูง ผู้เป็นเครือญาติ-มิตรสหายของชายคนรัก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์”

ด้านหนึ่ง นี่คงเป็นการแสดงความคารวะต่อนักเขียน ผู้เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำพม่า

อีกด้าน นี่อาจเป็นความพยายามจะปลุก “ความเป็นการเมือง” ขึ้นมาในหนังที่เกือบจะ “ปลอดการเมือง”

เพียงแต่ “การเมือง” ที่ถูกปลุกขึ้นมานั้น มิใช่ความขัดแย้งในบริบทเฉพาะของรัฐชาติใดรัฐชาติหนึ่ง

หากเป็นประเด็น “สากล” อันกว้างขวางอย่างเรื่อง “ชนชั้น” (ที่ถูกห่มคลุมไว้ด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “โศกนาฏกรรม-ความรัก-ความหวัง”) โน่นเลย