กรองกระแส / ประวิตร สมคิด 2 เป้า การเมือง เศรษฐกิจ ดิสเครดิต คสช.

กรองกระแส

ประวิตร สมคิด

2 เป้า การเมือง เศรษฐกิจ

ดิสเครดิต คสช.

 

ไม่ว่า คสช.จะต้องการให้มีการเลือกตั้งในวันใดนอกเหนือไปจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่ยิ่ง คสช.เคลื่อนไหว ยิ่งทำให้ คสช.ต้องกลายเป็นเป้าใหญ่ในทางการเมือง

เพราะทุกอย่างล้วนรวมศูนย์ไปยังการดำรงจุดมุ่งหมายในการสืบทอดอำนาจเด่นชัด

กลยุทธ์การเลื่อนการเลือกตั้งจากที่เคยให้สัญญาว่าจะต้องเป็นปี 2558 มาเป็นการเลือกตั้งที่ยังไม่แน่นอนในปี 2562 จึงดำเนินไปบนพื้นฐานแห่งยุทธศาสตร์อันนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สรุปอย่างรวบรัดยิ่งตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ว่า

“เขาอยากอยู่ยาว”

ยิ่งยื้อ ยิ่งถ่วง ยิ่งหน่วง ยิ่งรั้งและยิ่งดึงให้วันเลือกตั้งยาวนานออกไปมากเพียงใด ยิ่งทำให้ความคิดลอยตัวของ คสช.หมดความชอบธรรมลงไปเป็นลำดับ กระทั่งในที่สุดแล้วภายในยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจของ คสช.ก็จะนำไปสู่บทสรุป 2 แนวทาง

แนวทาง 1 คือการสนับสนุนต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. ขณะเดียวกัน แนวทาง 1 คือการไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.

นั่นก็คือ จะ “เอา” หรือจะ “ไม่เอา” คสช.

ความน่าสนใจอยู่ที่ภายในยุทธศาสตร์ของ คสช.ที่จะชู คสช. ชูตัวบุคคลที่โดดเด่นของ คสช.ได้ทำให้ประเด็นอันเกี่ยวกับ คสช.รวมศูนย์ไปยังเนื้อหาที่แหลมคม 2 เนื้อหาในการต่อสู้เพื่อสกัดขัดขวาง คสช.มิให้มีการสืบทอดอำนาจ

นั่นก็คือ กระหน่ำไปยัง “กล่องดวงใจ” ของ คสช.

 

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่ใช่ “กล่องดวงใจ”

 

ความเข้าใจโดยรวมทั่วไปล้วนมองเห็นว่าแก่นแกนสำคัญของ คสช.ย่อมเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้า คสช. และหัวหน้ารัฐบาล คือนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือบุคคลที่จะชูขึ้นในฐานะผู้นำ

ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าพรรคพลังธรรมใหม่ ไม่ว่าพรรคพลังชาติไทย ไม่ว่าพรรคพลังท้องถิ่นไท ไม่ว่าพรรค (พลัง) ประชาชนปฏิรูป ล้วนแสดงออกอย่างแจ้งชัดว่าจะให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

แต่หากติดตามบทบาทของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ อันถือว่าเป็นพรรคตระกูล “เพื่อ”

ทิศทางของการวิพากษ์และโจมตี คสช.อาจมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเป้า 1 แต่ที่สำคัญและแหลมคมยิ่งกว่านั้นกลับพุ่งไปยัง 2 บุคคล 1 คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ 1 คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

นั่นย่อมชี้ว่าตัวหลักและที่เป็นจุดอ่อนอย่างใหญ่หลวงของ คสช.มิได้อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หากเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

 

โจมตีเศรษฐกิจ

โจมตีการเมือง

 

เหมือนกับความสำเร็จของ คสช.นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา คือการสร้างความสงบ การจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น การพยายามพลิกฟื้นและสร้างสถานะทางเศรษฐกิจให้มีความรุ่งโรจน์ ประสบความสำเร็จ

คนที่รับผิดชอบทางเศรษฐกิจย่อมเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

คนที่รับผิดชอบทางการเมืองย่อมเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

แต่เสียงโอดครวญในเรื่องความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจากชาวบ้านกระทั่งบางพรรคการเมืองสรุปว่าสาหัสสากรรจ์ นับวันยิ่งสะท้อนความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ สะท้อนฝีมือและความสามารถของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และคณะ

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กลายเป็นตำบลกระสุนตกในทางการเมืองด้วยข่าวและความอื้อฉาวมากมายตั้งแต่ “อะโลฮา ฮาวาย” เรื่อยไปกระทั่ง “นาฬิกา ยืมเพื่อน”

แม้กระทั่งกองเชียร์ คสช.ก็รู้สึกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นตัวถ่วง

มีความพยายามตั้งแต่ก่อนเดือนธันวาคม 2560 มาแล้วที่จะให้มีการปรับ ครม.โดยลดบทบาทหรือตัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกไปเพื่อทำให้เป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของ คสช.ราบรื่น ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น

 

ประวิตร สมคิด

ตำบลกระสุนตก

 

ยิ่งขับเคลื่อนเข้าสู่โหมดแห่งการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้นเท่าใด ความเด่นชัดของยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงกันข้าม คสช. ฝ่ายที่จะยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. จะพุ่งเป้าไปยัง 2 เป้า

1 เป้าทางเศรษฐกิจโดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ 4 ยอดกุมารเป็นเหยื่อ

1 เป้าทางการเมืองโดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นจุดรวมศูนย์อย่างสำคัญในการขุดคุ้ยและโจมตี

จาก 2 คนนี้ในที่สุดปลายทางจะอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

   อาศัยการโจมตี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อาศัยการโจมตีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไปดับฝันการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช.