มาดามหลูหลี/ Sunshiny Asa : อาสะ…แสงตะวันยามเช้า

มาดามหลูหลี[email protected]

ละครญี่ปุ่นตอนแปดโมงเช้าเป็นละครที่เอาใจแม่บ้าน ซึ่งเนื้อหาละครส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวของผู้หญิงเก่งในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ยุคโชวะ, ยุคเอโดะ จนถึงยุคเมจิ เช่น โอชิน, ฮานาโกะ จนมาถึงอาสะ

เรื่องของอาสะ “Asa Ka kita” เป็นเรื่องปลายๆ ยุคเอโดะที่กำลังจะก้าวสู่สมัยเมจิ ที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เป็นช่วงปีสุดท้ายของโชกุนโทกุงาวะ ซึ่งกำลังจะหมดบทบาทและอำนาจที่เคยมีเหนือกษัตริย์ เหล่าซามูไรก็เริ่มลำบากเพราะไม่มีผู้อุปถัมภ์

แหล่งเงินกู้ที่ปล่อยกู้ให้พวกซามูไรจึงมีปัญหา เพราะซามูไรไม่มีเงินมาจ่ายคืน มีผลให้แหล่งเงินกู้ขาดเงินทุนหมุนเวียน

การเปลี่ยนแปลงในช่วงสมัยนั้นคงคล้ายกับการเปลี่ยนแปลงในสมัยนี้ คือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายๆ อย่าง เป็นยุคเริ่มต้นของการเกิดธนาคาร หรือสถาบันการเงิน

อิมาอิ อาสะ (ฮารุ) เกิดที่เมืองเกียวโต ในปลายสมัยของโชกุนโทกุงาวะ เธอเป็นลูกสาวคนเล็กของตระกูลอิมาอิที่ร่ำรวย อาสะเป็นเด็กแกร่งซน ไม่กลัวใคร ชอบเล่นซูโม่เหมือนเด็กผู้ชาย และมักมีคำถามว่า “ทำไม” จนแม่มักดุเธอให้ปิดปากห้ามถาม

มีเพียงคุณปู่ที่มักให้ท้ายอาสะ ให้ทำทุกอย่างที่อยากทำ และเชื่อว่าคนที่ถามว่า “ทำไม” คือคนที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และการพูดในสิ่งที่อยากพูดคือความสามารถที่ผู้หญิงมีมาแต่โบราณ

 

อาสะมีพี่สาวอิมาอิ ฮัทสึ (อาโออิ มิยาซากิ นางเอกดัง เรื่องนี้รับบทนางรอง) เป็นหญิงสาวเรียบร้อย ทั้งคู่ได้ถูกหมั้นหมายกับชายหนุ่ม ซึ่งมีฐานะเหมาะสมกัน เมื่อถึงเวลาอันสมควร ต่างต้องแต่งงานมีครอบครัว และย้ายไปอยู่ที่เมืองโอซาก้า ซึ่งเป็นเมืองแห่งการค้าขายใหญ่รองจากเมืองหลวงโตเกียว

ฮัทสึแต่งงานไปกับซอเบ มายุยามะ (ทะซูกุ อีโมโตะ) ลูกชายบ้านมายุยามะเจ้าของแหล่งเงินกู้ ซึ่งกำลังประสบปัญหา แต่ยังรักษาหน้าตาตัวเอง ยังคงปล่อยกู้ ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาขยายใหญ่ขึ้น

อาสะแต่งงานกับชินจิโร่ ชิโรโอกะ (ฮิโรชิ ทามากิ) แห่งบ้านคาโนยะที่มีลูกหนี้ค้างชำระเช่นกัน แต่อาสะได้อาสาไปตามทวงหนี้อย่างไม่เกรงกลัวใดๆ และยังคิดหาหนทางที่จะสร้างงานหรือธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการทำเหมืองถ่านหินที่ฟูกูโอกะ เพื่อช่วยให้บ้านคาโนยะอยู่รอดได้

การทำเหมืองถ่านหินเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น รวมทั้งผู้คนยังมองไม่เห็นถึงการใช้ประโยชน์ของถ่านหิน ที่นับว่าเป็นพลังงานอีกรูปแบบหนึ่ง

อาสะต้องแสดงความเข้มแข็งเพื่อสร้างบารมีและความเชื่อใจให้เหล่าคนงานที่เป็นผู้ชายยอมรับ รวมทั้งคนงานผู้หญิงให้รับรู้ถึงศักยภาพของผู้หญิงว่ามีพลังมากแค่ไหน อาสะปลุกใจคนงานให้ฮึกเหิมราวกับว่าการทำงานในเหมืองถ่านหินคือพลังที่สร้างญี่ปุ่นให้ก้าวหน้า

อาสะมักออกไปนอกบ้าน ไปสมาคมการค้าต่างๆ ที่มีแต่พวกผู้ชาย เธอต้องการเรียนรู้ ว่าโลกภายนอกนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด และจะมีสิ่งใดใหม่ๆ เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับชินจิโร่ ที่มักออกนอกบ้านเหมือนไปสังสรรค์ ราวกับว่าไม่สนใจธุรกิจของครอบครัว แต่ที่จริงแล้วชินจิโร่ได้สร้างสายสัมพันธ์กับคนภายนอกมากมาย กับเรียนรู้สิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคม และคอยแอบช่วยเหลือและสนับสนุนอาสะในทุกเรื่องราว

อาสะและฮัทสึสองสาวผู้เข้มแข็งแห่งตระกูลอิมาอิ ซึ่งต่างต้องเผชิญปัญหาชีวิต และต้องสอบให้ผ่านไปให้ได้ ต่างมีความพยายาม ทั้งไม่ยอมแพ้ มีความอดทน และมีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน

ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทั้งบ้านเมืองและการแต่งกาย รวมการแพทย์ เมื่ออาสะจะคลอดลูก เธอได้ให้หมอฝรั่งทำคลอด แทนที่จะเป็นหมอตำแยพื้นบ้านแบบดั้งเดิม

 

Sunshiny Asa หรือ Asa ga KitaZxu (ปี 2016) ละครจำนวน 156 ตอน ด้วยเรตติ้ง 23.5% สร้างจากนิยายเรื่อง “Shosetsu Tosaborigawa Josei Jitsugyoka Hirooka Asako no Shogai” ของนักเขียนชิเอโกะ ฟูรุคาวะ ตีพิมพ์เมื่อปี 1988 โดยทีมผู้กำกับฯ คือ ชินอิชิ นิชิทานิ, ชินโซ นิตตะ, โยชิฮารุ ซาซากิ, เรียวเฮย์ นาคาโนะ, ฮิโรคาซุ โอซากิ ละครได้คว้ารางวัลกรังด์ปรีซ์สูงสุดถึง 3 รางวัลจากงาน Tokyo Drama Award 2016

เรื่องราวของอาสะ (มีชีวิตอยู่จนถึงยุคไทโซ) สร้างจากชีวิตของหญิงสาวผู้เข้มแข็ง ที่มีความคิดแบบหัวก้าวหน้า เป็นตัวของตัวเอง รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก และต้องต่อสู้กับความคิดแบบเดิมๆ ของสังคมญี่ปุ่น เธอคิดทำสิ่งใหม่ๆ หลายอย่าง เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยหญิงแห่งแรกของญี่ปุ่น

ปัจจุบันนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังของผู้หญิง จากเดิมที่ผู้หญิงเมื่อแต่งงานมีครอบครัว ต้องออกจากงานมาเลี้ยงลูก และยากที่จะกลับเข้าสู่สังคมการทำงานได้อีก

นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ จึงคิดนโยบาย Womennomics ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ Wemennomics เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายใหญ่ที่เรียกว่า “อาเบะโนมิกส์” โดยออกมาตรการจูงใจหลายอย่างเพื่อสนับสนุนบริษัทต่างๆ ที่รับผู้หญิงเข้าทำงาน เพราะเชื่อว่าพลังของผู้หญิงจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่นดีขึ้น

ผู้หญิงซึ่งเหมือนดอกไม้สวยงาม จึงอาจเป็นแสงตะวันที่ให้ความหวังอนาคตใหม่อีกด้วย