ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 มกราคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | เสฐียรพงษ์ วรรณปก |
เผยแพร่ |
“คิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์” แหม ศัพท์เทคนิคทางพระเปี๊ยบเลย ฟังแล้วไม่เข้าใจ
อรรถ แปลว่า ความหมาย, ความมุ่งหมาย ธรรม แปลว่า หลักการ เพราะฉะนั้น อรรถธรรมสัมพันธ์ น่าจะแปลความชัดๆ ว่า ความสัมพันธ์กันระหว่างหลักการกับความมุ่งหมาย
คิดอะไรก็ตาม ถ้าคิดให้หลักการกับความมุ่งหมายสัมพันธ์สอดคล้องกัน ความคิดนั้นจะนำไปสู่การกระทำที่ประสบผลสำเร็จ
ไม่เขวออกนอกทาง
ขอยกตัวอย่างในทางพระศาสนา (ก็กำลังเขียนบทความทางพระศาสนา จะยกตัวอย่างนอกวัดก็ดูกระไรอยู่ ใช่ไหมครับ) คนที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ถ้าถามตัวเองว่า การบวชคืออะไร บวชทำไม
คำตอบอาจมีว่า การบวชคือ การสละโลกียวิสัย มาบำเพ็ญสมณกิจ หรือครองเพศบรรพชิต ฝึกฝนอบรมตนตามหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) หรือถ้าพูดตามภาษาสมัยใหม่ว่า “บวชเรียน” นี่คือ “หลักการ” ของการบวช
ถ้าคนบวชไม่สละ ไม่ละความเคยชินที่ฆราวาสเคยทำ ไม่ว่าจะเป็นกิริยามารยาท การนุ่งห่ม การกิน แม้กระทั่งการพูดการจา เคยประพฤติตามใจอย่างไรเมื่อสมัยยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ก็ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เรียกว่า ผิดหลักการของการบวช
ถ้าบวชมาแล้วอยู่เฉยๆ ไม่ใส่ใจฝึกฝนอบรมตนตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา เช้าก็บิณฑบาต บิณฑบาตมาแล้วก็ฉัน ฉันเสร็จก็พักผ่อน ไม่ทำอะไรเสียหายแก่พระศาสนาก็จริง แต่ก็ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรแก่พระศาสนา อย่างที่เขาพูดว่า “เช้าเอน เพลนอน เย็นพักผ่อน ค่ำจำวัด” อย่างนี้ก็ผิดหลักการของการบวช
ถ้าถามต่อไปว่า บวชเรียนไปเพื่ออะไร ก็จะเป็นการถามถึง “ความมุ่งหมาย” ของการบวชทันทีครับ
คนที่คิดไม่สัมพันธ์กันระหว่างหลักการกับเป้าหมาย จะเขว และออกนอกทางได้ง่าย
มีพระสูตรอยู่สูตรหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสไว้น่าสนใจมาก
ทรงเล่าเปรียบเทียบว่า มีบุรุษคนหนึ่งอยากได้แก่นไม้ แบกขวานเดินเข้าป่าเพื่อหาแก่นไม้ บังเอิญว่าแกไม่รู้จักแก่นไม้ แกไปเอากิ่งและใบไม้มา เข้าใจว่าเป็นแก่นไม้ นายคนนี้ก็ไม่ได้แก่นไม้ตามปรารถนา
คนที่สองแบกขวานเข้าป่าด้วยจุดประสงค์เดียวกัน เข้าใจว่าสะเก็ดไม้เป็นแก่น จึงถากเอาสะเก็ดไม้มา นายคนนี้ก็ไม่ได้แก่นตามประสงค์
คนที่สามแบกขวานเข้าป่าเช่นเดียวกัน ถากเอาเปลือกไม้มาด้วยเข้าใจว่านี้แหละคือแก่นไม้ล่ะ นายคนนี้ก็เหลวอีก ไม่ได้แก่นไม้ตามประสงค์
คนที่สี่แบกขวานเข้าป่าเช่นกัน ถากเอากระพี้มา ด้วยเข้าใจผิดว่านี่แหละแก่นไม้ล่ะ นายคนนี้ก็ไม่ได้แก่นไม้ตามประสงค์
คนสุดท้ายเดินเข้าป่าพร้อมขวานในมือ โค่นต้นไม้ตัดเอาแก่นไม้มา นายคนนี้ได้แก่นไม้ตามประสงค์
เรื่องที่ทรงยกมาเล่านี้ สมมติเอาเพื่อนำไปสู่ประเด็นที่ทรงต้องการสอนเท่านั้น มิใช่เรื่องเกิดขึ้นจริง เรื่องจริงคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักว่าแก่นไม้ดอกครับ
ทรงเปรียบกับคนที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา บางคนบวชมาเอากิ่งและใบของพระศาสนา บางคนบวชมาเอาสะเก็ดไม้ บางคนบวชมาเอาเปลือกไม้ บางคนบวชมาเอากระพี้ไม้ บางคนบวชมาเอาแก่นไม้บางคนบวชมาแล้วมีญาติโยมเคารพนับถือมาก นำเอาลาภสักการะมาถวาย ก็ยินดีเพลิดเพลินในลาภสักการะนั้น ภูมิใจที่ตนมีชื่อเสียง เป็นพระดัง ใครๆ ก็รู้จัก คนเช่นนี้เรียกว่าบวชมาได้ “กิ่งและใบของพระศาสนา”บางท่านไม่พอใจแค่นั้น ตั้งในการรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ได้รับยกย่องชมเชยจากประชาชนว่าเป็นพระที่เคร่งศีล เคร่งวินัยอย่างยิ่ง ชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว รู้สึกภาคภูมิใจในความมีศีลเคร่งครัดของตน ไม่มีพระรูปใดเท่า ท่านผู้นี้เรียกว่าบวชมาได้ “สะเก็ดพระศาสนา”
บางรูปไม่พอใจแค่ชื่อเสียง หรือความมีศีลเคร่งครัด พยายามบำเพ็ญสมาธิภาวนา จนได้ญาณระดับต่างๆ ท่านรูปนี้เรียกว่าบวชมาเอา “เปลือกพระพุทธศาสนา”บางรูปไม่พอใจแค่นั้น ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญสมาธิวิปัสสนาจนกระทั่งได้ “ญาณทัสสนะ” (การรู้เห็น) ระดับต้นๆ คือเป็นพระอริยบุคคลระดับพระโสดาบัน
ท่านผู้นี้เรียกว่าบวชมาได้ “กระพี้พระศาสนา”
การบวชมาฝึกฝนตน หรือบวชเรียน เรียกว่า “หลักการ” ของการบวช
บวชมาเรียนเพื่อความมุ่งหมายอะไรนั้นเป็น “ความมุ่งหมาย” ของการบวชเรียน
ถ้าผู้บวชมามองความมุ่งหมายไม่ชัด ไม่สัมพันธ์กับหลักการก็จะเขวได้ คือแทนที่จะบรรลุถึงเป้าหมายตามที่มุ่งหวังไว้ ก็จะออกนอกลู่นอกทางไป
ส่วนจะนอกทางไปใกล้หรือไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่ที่แต่ละคนมองความมุ่งหมายชัดหรือไม่ชัดแค่ไหน
คนที่มองว่าบวชมาเพื่อแสวงหาลาภสักการะและชื่อเสียงก็จะได้แค่ลาภสักการะและชื่อเสียง คนที่มองไกลกว่านั้น คือมองว่าบวชมาเพื่อรักษาศีล เพื่อได้ญาณ… ก็จะได้ศีล ได้ญาณ
การมีศีล มีญาณ ถึงจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามีแล้วถือตนว่ามีศีล มีญาณมากกว่าคนอื่น เอาความมีศีล มีญาณนั้นมาข่มคนอื่น ก็มิใช่เรื่องดีอะไร กลับจะทำให้ “ติด” อยู่เพียงแค่นั้นไม่มีทางพัฒนาไปกว่านั้น
หลักการของการบวชในพระพุทธศาสนา คือการสละโลกียวิสัย เพื่อความมุ่งหมายคือการบรรลุการสิ้นกิเลส ผู้บวชเข้ามาบางคนมองหลักการกับความมุ่งหมายเขวไป ไม่สัมพันธ์กัน จึงทำให้การบวชของเขาแทนที่จะดำเนินไปสู่จุดหมายนั้น กลับเห่อออกนอกทางไป ถึงกับกู่ไม่กลับ
ตัวอย่างมีมากมาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ในอดีตเช่นพระเทวทัต บวชเข้ามาในตอนแรกก็ดีอยู่ ต่อมาเมื่อเห็นญาติโยมไม่ค่อยสนใจตน เวลามาวัดก็มักจะถามถึงแต่พระเถระผู้ใหญ่อื่นๆ เช่น พระสารีบุตรอยู่ที่ไหน พระโมคคัลลานะอยู่ที่ไหน พระมหากัสสปะอยู่ที่ไหน ก็นึกไม่พอใจ เกิดทิฐิมานะขึ้นว่า ท่านเหล่านั้นเป็นใคร คนธรรมดาสามัญมาบวชแท้ๆ เราเป็นถึงขัตติยกุมารออกบวช จะมีใครให้ความสำคัญแก่เราสักคนก็ไม่มี
นี้คือจุดเขวจุดแรก คือแทนที่จะมั่นใน “ความมุ่งหมาย” ของการบวชว่า บวชมาฝึกฝนอบรมตนเพื่อบรรลุธรรมชั้นสูง มิใช่เพื่อการยกย่องสรรเสริญจากญาติโยม มิใช่เพื่อลาภสักการะ
เปลี่ยนความมุ่งหมายใหม่ว่า “ข้าจะต้องแสดงความสำคัญให้เขาเห็นว่า เทวทัตมิใช่พระกระจอก”
แล้วเทวทัตก็ไปเกลี้ยกล่อมอชาตศัตรูกุมารให้เป็นศิษย์ อชาตศัตรูกุมารยังเด็กเกินกว่าจะมองเจตนาอันเป็นอกุศลของเทวทัตออกจึงยอมมอบตนเป็นศิษย์ แล้วแต่ท่านอาจารย์จะสั่งสอนอบรม หรือสั่งให้ทำอะไรยินดีปฏิบัติตาม
จะโทษอชาตศัตรูก็ไม่ได้ เพราะเธอยังบริสุทธิ์เกินไป มี “ประสบการณ์ทางศาสนา” น้อยย่อมถูกหลอกได้ง่าย คนสมัยนี้ก็เถอะ อย่าไปนึกว่าจบเป็นบัณฑิต เป็นนักวิชาการทางโลกนี้ ปริญญาสูงๆ จะไม่ถูกอลัชชีหลอก คนพวกนี้หลอกง่ายกว่าโยมมีโยมมาธรรมดาๆ เสียอีก เพราะไม่มีประสบการณ์ทางศาสนา ไม่ค่อยรู้เรื่องศาสนาไม่มี “ภูมิคุ้มกัน” มากเท่ากับโยมมีโยมมา ซึ่งคลุกคลีอยู่กับวงการพระศาสนาตลอด ย่อมมองออกว่าอะไรเป็นอะไร ใครจะมา “ล้างสมอง” น่ะยาก ล้างสมองปัญญาชนง่ายกว่า
ในที่สุดเทวทัตก็ออกนอกลู่นอกทางไปไกลจน “สุดกู่” ประสบความวิบัติดังที่ทราบกันแล้ว นี้ก็เพราะมองหลักการไม่สัมพันธ์กับความมุ่งหมาย ไม่พยายามรักษาวิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้น
อลัชชีที่เป็นข่าวฉาวโฉ่ ถูกไล่ให้นุ่งเขียวนุ่งขาว บ้างก็เข้าคุก บ้างก็เผ่นหนีไปเป็นโรบินฮู้ดต่างแดนนั้น ล้วนแต่คนไม่รู้จักคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ทั้งนั้นแหละครับ