“นโยบาย” VS “แจกเงิน” ชาวบ้านจะเอาอะไร ?

ถ้าติดตามการประเมินสถานการณ์ปีหน้า 2562 ไม่ว่าจะระดับความเป็นไปของโลก หรือเฉพาะของประเทศไทยเรา

ความเห็นขอองทุกองค์กร สถาบัน หรือบุคคลที่มีบทบาทในด้านนี้มองไปในทางเดียวกันคือ “ปัจจัยทางเศรษฐกิจ” จะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปัญหาปากท้องมีแนวโน้มที่น่ากังวล”

ระดับโลกชี้ให้มองถึงการเปิดสงครามการค้าที่ขยายไปสู่การทำลายความสามารถของคู่ต่อสู้ในการแข่งขันการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ดำเนินมาถึงขั้นเล่นงานตัวบุคคลกันแล้ว อย่าง “ผู้บริหารหัวเว่ย” ของ “จีน” ถูกจับกุมที่แคนาดาโดยมีกระแสว่าเป็นการคอนโทรลจากสหรัฐ ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเล่นงานนักธุรกิจแคนาดา

มีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะถูกกดดันให้เลือกข้าง และส่อเค้าว่าจะตึงเครียด

ส่งผลในทางร้ายอันนำมาซึ่งความกังวลว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ลุกลามไปทั้งโลก

ในส่วนประเทศไทยเรา ผลจากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีในทางสร้างเครื่องจักรขึ้นมาทำงานแทนคน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของค่านิยมและวิถีชีวิตอันเกิดจากพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้ความต้องการพนักงานของบริษัทห้างร้านต่างๆ ลดลง

ผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงคนรุ่นใหญ่จบการศึกษามาแล้วหางานทำไม่ได้เท่านั้น แม้กระทั่งคนที่มีงานทำแล้ว ไม่สามารถหาความมั่นคงในชีวิตได้ ทั้งเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง และมองไม่เห็นความเจริญก้าวหน้าในชีวิต

จนมีการกล่าวกันว่า ปี 2562 ที่จะมาถึงนี้ เป็นปีใหม่ที่มองไม่เห็น “ความหวัง” มากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา

และเมื่อเป็นเช่นนี้ เสียงโหยหาความหวังจึงเป็นไปในทิศทางที่ต้องการโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความกังวลในปัญหาปากท้อง

“นิด้าโพล” สำรวจความคิดของคนวัยทำงานรุ่นใหม่ หรือที่เรียกว่า “Gen Y” อันหมายถึงอายุ “21-38 ปี” ในหัวข้อ “Gen Y กับการเลือกตั้ง 2562”

ผลสะท้อนที่ออกมาในคำตอบของคำถามที่ว่า “ท่านคาดหวังสิ่งใดมากที่สุด หลังการเลือกตั้งครั้งนี้” สะท้อนถึงแรงสะเทือนจากสถานการณ์ของโลกและประเทศที่ว่านั้นได้เป็นอย่างดี

ความหวังใน 5 อันดันแรกคือ ร้อยละ 58.70 คาดหวังว่าเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่ดีขึ้น ร้อยละ 12.03 ต้องการการส่งเสริมอาชีพ ลดการว่างงาน พัฒนาแรงงานให้มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 10.21 ต้องการพัฒนาด้านการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น ร้อยละ 9.41 หวังว่าประเทศจะเป็นประชาธิปไตย

แม้ว่าที่สุดแล้ว “การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง” ที่กำลังจะเกิดขึ้นเที่ยวนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ความต้องการของประชาชนมีบทบาทน้อยลงในการตัดสินว่าใครจะเป็นรัฐบาล เพราะ “อำนาจจากรัฐประหาร” ได้ก่อให้เกิดกติกาที่ลดบทบาทการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ลง

แต่แม้จะมีอำนาจในการเลือกตั้งรัฐบาลจะน้อยลง

แต่บทบาทที่จะกำหนดว่า “รัฐบาล” จะอยู่ได้หรือไม่ จะบริหารงานได้อย่างราบรื่นหรือเปล่า

อํานาจของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้ง ส.ส.เข้าไปทำหน้าที่ยังมีอยู่ล้นเหลือ

ดังนั้น การตัดสินใจของประชาชนจะเลือกพรรคไหน หรือเลือกใครเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาจึงยังสำคัญ

และนั่นหมายถึง “นโยบายที่ตรงกับความกังวลของประชาชน” จะยังเป็นเงื่อนไขสำคัญ

ไม่ใช่เฉพาะ “พรรคไหนมีภาพว่ามีเงินแจกมากกว่า” เท่านั้น