ยุคที่ใครๆ ใช้ Social Media เอาแต่เร็วเข้าว่า พร้อมทำตัวเป็นเป็น “สื่อ” เสียเอง

สัพเพเหระคดีปีใหม่

สวัสดีปีใหม่ครับ, กับบรรยากาศที่ยังอยู่ในห้วงเทศกาลแบบติดพัน เที่ยวนี้ขอนำเรื่องสัพเพเหระมาปรารภพูดคุยด้วยอีกสักหน อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ภาษาของสื่อในบ้านเรา ตามวัตรปฏิบัติอันเป็นปกติของผมกับพื้นที่ตรงนี้ในช่วงสี่ซ้าห้าปีให้หลัง ที่ใคร่หยิบยกเอาเรื่องนี้มาพูดถึงแบบนานทีปีหน

แต่ก่อนจะไปถึงไหนๆ ขอเรียนตรงๆ ครับ ว่ามองสื่อกับการใช้ภาษาทั้งพูดและเขียนแล้ว ยิ่งนับวันยิ่งมีท้อครับ

อีกไม่นานน่าจะเข้าสู่ภาวะทำใจ และคงพัฒนาไปเป็นวางเฉยในที่สุด

เพราะยิ่งเข้าสู่ยุคที่ใครๆ มี Social Media อยู่ในมือ ทุกคนก็พร้อมที่จะทำตัวเป็นสื่อเสียเอง สื่อหลักที่อยู่ในสนามไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกระจายเสียง และสื่อที่แพร่ภาพพร้อมเสียง นอกจากจะแข่งกันเองในแต่ละสาขาแล้ว ยังต้องแข่งกับสื่อที่อยู่ในสังคมออนไลน์ด้วย โดยเฉพาะในแง่ของความรวดเร็วด้านการนำเสนอ

และเพราะการแข่งกันแบบเอาเร็วเข้าว่านี่แหละครับ ที่ทำให้มักจะพบเห็นความเละเทะในเนื้อข่าวอยู่เนืองๆ

การทำตัวเหมือนสื่อของผู้คนในสังคมออนไลน์นั้น ยกไว้เถอะนะครับ แต่สื่อหลักที่พูดถึงข้างต้นนี่ ไม่น่าจะขาดความรับผิดชอบได้ เพราะบ่อยครั้งที่เห็นพาดหัวข่าวทำให้สนใจ ต้องกด (Click) เข้าไปอ่านเนื้อข่าว แล้วพบว่ามันหาได้มีอะไรเป็นอย่างที่น่าสนใจเหมือนพาดหัวเลย

หรือไม่บางข่าวอ่านสองสามตลบก็จับความอะไรไม่ได้ ด้วยตกๆ หล่นๆ จนไม่สามารถปะติดปะต่อหรือคาดเดาอะไรได้ อีกทั้งที่พบเห็นในแทบจะทุกๆ ข่าว ที่กดเข้าไปอ่านนั้น สะกดกันผิดๆ เกินกว่าจะนับคำได้

ผมเองปกติแล้วจะไม่ค่อยได้อ่านข่าวจากหน้าจอสักเท่าไรนักดอกนะครับ โดยเฉพาะกับหนังสือพิมพ์รายวันนั้น มักคุ้นกับการอ่านผ่านหน้ากระดาษพิมพ์มากกว่า แต่ละวันซึ่งอ่านอย่างน้อยๆ ก็มีสามสี่ค่าย บางวันได้อ่านถึงห้าหัวต่างกรรม ต่างวาระ ที่มีโอกาส ซึ่งน่าชื่นชมหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ที่ได้อ่าน เพราะใช้คำใช้ภาษาในแง่ของการสะกดพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ พบที่ผิดได้น้อยมาก

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแต่ละค่ายต่างก็มี “ทีมพิสูจน์อักษร” ที่แข็งแรงดี ถึงระดับดีมากๆ ในบางสำนักด้วยซ้ำ

ก็เลยใคร่ขอว่าช่วยเจียดคนจากแผนกสิ่งพิมพ์ ไปช่วยดูแลข่าวที่ออนไลน์ของสำนักตัวเองบ้างได้ไหม เพราะวันใดที่ไม่มีโอกาสหยิบจับหนังสือพิมพ์แล้ว ต้องเข้าไปอ่านข่าวผ่านหน้าจอนี่ เป็นอย่างที่บอกไปข้างต้นนั้นมากบ้าง น้อยบ้าง เหมือนกันเกือบทั้งหมด

บางข่าวนอกจากจะอุดมไปด้วยคำผิด หรืออ่านไม่ได้ความ หรือไม่รู้เรื่องแล้ว ยังพาให้งงแบบ – เรื่องจริงมันยังไงแน่, อย่างไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวเหยียดผิวและทำร้ายร่างกายระหว่างสตรี เกิดขึ้นในรถไฟใต้ดินของประเทศทางตะวันตก ช่วงต้นๆ ของข่าวบอกว่าเป็นเหตุในประเทศอังกฤษ แต่ตอนท้ายของข่าวกลายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจของมหานครนิวยอร์กออกมาแถลงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ก็เป็นงงกันไปทั้งบางซีครับ, ท้ายข่าวในช่องให้แสดงความคิดเห็นก็เลยมีแต่คนเข้ามากระหน่ำถาม ว่าเหตุมันเกิดที่อเมริกาหรืออังกฤษกันแน่

อย่างไรก็ตาม บางคราวมันก็มีบางสิ่งที่บ่งบอกให้รู้ได้อยู่ในที ว่ากับบางข่าวของหนังสือพิมพ์ออนไลน์นั้น มีการอ่านตรวจทานก่อนขึ้นหน้าเพจ แต่ก็น่าสนใจตรงที่ว่าผู้ทำหน้าที่มีความแม่นยำต่องานแค่ไหน พูดง่ายๆ ก็คือ “รู้จริง” กับศัพท์แสงหรือคำที่ใช้หรือเปล่า เพราะบางทีกลายเป็น “ฤๅษีแปลงสาร” ประเภทหวังดีแต่ประสงค์ร้าย (หรือเปล่า) เอาดื้อๆ

กับเรื่องที่ว่านั่นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนนี่เอง วันหนึ่งไหว้วานน้องนุ่งมาล้างคอมพิวเตอร์ให้ เพราะตัวเองรู้จักแต่ใช้ นานทีประมาณปีสองปีหนก็มักจะได้เวลาเครื่องออกอาการเกเร จึงต้องอาศัยน้องเขานั่นแหละมาจัดการให้เข้าที่เข้าทาง ระหว่างที่รอให้เครื่อง Run ตัวเองในบางคราว น้องเขาก็มักจะใช้เวลากับแท็บเล็ตติดตัว ประสา “เด็กติดหน้าจอ” จะว่าไป, ก็ไม่ใช่เด็กแล้วล่ะครับ เพราะเดินผ่านหลักสี่มาไกลโขแล้ว แต่ด้วยความที่งานการประจำนั้นอยู่กับหน้าจอเป็นหลัก พอมีเวลาก็มักจะอดไม่ได้ต้องเข้าไปดูโน่น นี่ นั่น ตามเว็บไซต์หรือหน้าเพจต่างๆ ด้วยความเคยชิน

หนหนึ่งในห้วงเวลาดังว่า น้องเขาอ่านอะไรไม่ทราบได้ จู่ๆ ก็เปรยขึ้นเหมือนพูดกับตัวเองว่า – เออหนอ, เป็นคนอุทยานอยู่กับป่าแท้ๆ ยังเรียกช้างป่าเป็นเชือกๆ ได้, ผมได้ยินเข้าก็เลยถามว่าอะไรหรือ

น้องเขาบอกพี่ดูข่าวนี้สิ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่เขาใหญ่ประกาศผ่านเพจ บอกช่วงนี้ให้นักท่องเที่ยวระวังช้างป่าเชือกหนึ่ง ชอบออกมาอาละวาดใกล้ๆ น้ำตก ผมเห็นหัวข่าวเลยเข้าไปอ่าน กะว่าอ่านจบจะได้บอกพี่ เพราะเห็นช่วงนี้พี่ขึ้นเขาใหญ่แทบจะทุกเสาร์-อาทิตย์ ผมจึงถามอีกว่า อ่านจากหน้าเพจของอุทยานฯ หรือ

น้องเขาก็ยื่นแท็บเล็ตมาให้ดู เห็นแล้วปรากฏว่าเป็นหน้าเพจของหนังสือพิมพ์ออนไลน์หัวหนึ่ง ที่ไป “ลอกข่าว” มาจากหน้าเพจของอุทยานฯ เพราะแนบ Link ไว้ให้ด้วย ซึ่งจากที่ผมเข้าลิงก์ไปอ่านประกาศที่หน้าเพจของอุทยานฯ พบว่าเป็นการลอกข่าวแบบ “ป้ายดำแล้ววาง” หรือ Copy & Paste เพราะมาครบทุกตัวอักษร

แต่อ่านแล้วพบว่าของอุทยานฯ เขาก็บอกให้ระวังช้างป่า “ตัว” หนึ่งนี่นา พอมาที่หน้าเพจของหนังสือพิมพ์แล้วกลายเป็น “เชือก” อย่างนี้ ก็แสดงว่าไม่ได้ลอกมาเปล่าๆ ยังลอกแล้วอ่านในเชิงตรวจทานด้วย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่น่าชื่นชมครับ

แต่ด้วยความที่ไม่แม่นนั่นแหละครับ ลักษณะนามของช้างป่าก็เลยกลายเป็นช้างบ้านไป

เห็นตรงนี้แล้วทำให้ผมอดนึกย้อนไปเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อนไม่ได้ มีพิธีกรใหญ่รายหนึ่งซึ่งมีรายการทีวีเป็นของตัวเอง และออกจะมีคนติดตามมากในยุคนั้น ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านหน้าจอต่อข่าวหนึ่ง ทำนองว่าช้างนี่เขาเรียกเป็นเชือกนะครับ ไม่ใช่เรียกเป็นตัวเหมือนสัตว์อื่น

ซึ่งข่าวที่ว่านั้นเป็นข่าวเกี่ยวกับช้างป่าออกอาละวาด, หรือไรนี่แหละครับ ตรงนี้เลือนๆ ไปแล้ว

เท่านั้นก็เป็นเรื่องซีครับ เพราะอย่างที่บอก คือรายการของคุณเขามีแฟนๆ ติดตามเยอะ แต่มันก็ไม่ใช่ยุคข้อมูลข่าวสารที่ติดต่อกันถึงได้รวดเร็วเหมือนทุกวันนี้ จึงกว่าคุณเขาจะออกมายอมรับว่าพูดผิดไป ด้วยเข้าใจผิด ก็ต้องรอถึงรายการหนหน้าโน่นแหละครับ

พูดถึงทีวีแล้วขออีกสักเรื่องนะครับ เพราะได้ยินทีไรมันให้รู้สึกขัดหูทุกทีซีน่า อีกทั้งยังได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยเฉพาะกับช่วงรายการข่าวค่ำ ที่ผู้ประกาศไม่ว่าหญิงหรือชายแทบจะทุกคน ทุกช่อง มักจะแจ้งกำหนดการเผาศพด้วยคำว่า “ฌาปนกิจศพ” ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะพ่วงคำว่า “ศพ” เข้ามาด้วยทำไม เพราะ “ฌาปนกิจ” ก็หมายถึงการเผาศพอยู่แล้ว

แต่ก็มีบางรายนะครับ ที่บางครั้ง บางหน ใช้ได้ถูกต้อง แต่บางทีก็มีหลุดมีคำพ่วงติดมาด้วย เลยทำให้รู้ว่าแกก็น่าจะรู้ถูกผิดนะ เพียงแต่บางหนอาจจะหลุดด้วยความคล่องปากก็เป็นได้

และกับคำนี้ต้องขอชื่นชมหนังสือพิมพ์นะครับ ที่ใช้ในล้อมกรอบประกาศแจ้งความได้ถูกต้องกันถ้วนหน้า นานมากๆ ละครับ ถึงจะมีหลุดมาให้เห็นสักหน