ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ปี 12 นักษัตร มาจากไหน?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ว่ากันว่าระบบการนับนักษัตรประจำปี ที่ประกอบไปด้วย ปีชวด (หนู), ฉลู (วัว), ขาล (เสือ), เถาะ (กระต่าย), มะโรง (มังกร หรืองูใหญ่), มะเส็ง (งูเล็ก-เมื่อเทียบกับมังกร), มะเมีย (ม้า), มะแม (แพะ), วอก (ลิง), ระกา (ไก่), จอ (สุนัข) และกุน (หมู) รวมเบ็ดเสร็จ 12 ราศีนั้น

มีหลักฐานว่าใช้กันอยู่ในหลากวัฒนธรรม และหลายชาติ

แต่ที่มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดนั้น พบอยู่ในอู่อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง “จีน” นี่เอง

จีนมีตำนานเรื่องกำเนิดของนักษัตรทั้ง 12 นี้อยู่มากมาย แต่ที่เชื่อกันอย่างแพร่หลายที่สุดตำนานหนึ่งนั้นก็คือว่า ปราชญ์ท่านหนึ่งในราชสำนักของจักรพรรดิเหลือง หรือหวงตี้ ผู้เป็นกษัตริย์ในตำนาน

ควบตำแหน่งวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของจีนนั้น เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้สำหรับการนับและลำดับเวลา

ในตำนานเรื่องนี้ยังระบุเอาไว้อีกด้วยว่า ที่นับปีชวดเป็นปีแรกสุดของลำดับนักษัตรนี้ก็เพราะว่า เป็นปีที่จักรพรรดิเหลืองประสูติ จึงตั้งไว้เป็นลำดับแรก นัยว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ชาวจีนจะมีเรียก 12 นักษัตรในสำเนียงซาวด์แทร็กแบบจีนแมนดารินว่า “หวงต้าวไต้”

เพราะถึงแม้ว่า คำว่า “หวง” ซึ่งโดยปกติจะแปลว่า “สีเหลือง” แต่ก็เป็นคำย่อที่หมายถึง “จักรพรรดิเหลือง” คือ “หวงตี้” ได้แบบไม่เคอะเขิน

ในขณะที่คำว่า “ต้าว” ในที่นี้หมายถึง “วิถี” ส่วน “ไต้” นั้นคือ “วัฏ”

รวมความแล้วจึงควรจะหมายถึง “วัฏวิถีของจักรพรรดิเหลือง” มากกว่าที่จะเป็น “วัฏวิถีสีเหลือง” ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงศรัทธาของชาวจีนที่ยกคุณงามความดีเกี่ยวกับการประดิษฐ์ระบบ 12 นักษัตรให้กับยุคสมัยและราชสำนักของวีรบุรุษในตำนานของพวกเขาอย่างจักรพรรดิเหลืองได้เป็นอย่างดี

 

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม ตำนานดังกล่าวก็ยังคงเป็นแค่เรื่องเล่าที่ถูกแต่งขึ้น เพื่อใช้อธิบายเหตุที่คนสมัยหลังไม่เข้าใจเท่านั้นอยู่ดี

เพราะถ้าระบบ 12 นักษัตรที่ว่านี้เพิ่งจะถูกแต่งขึ้นในราชสำนักของจักรพรรดิเหลืองจริงๆ แล้ว พระองค์นั้นจะทราบได้อย่างไรว่าตนเองประสูติเมื่อปีชวด เพราะพระองค์ย่อมประสูติมาก่อนที่จะมีระบบ 12 นักษัตรไม่ใช่หรือครับ?

เอาเข้าจริงแล้วจึงไม่มีหลักฐานระบุให้แน่ชัดได้เลยว่า เจ้าระบบ 12 นักษัตรที่ว่านี้กำเนิดขึ้นเมื่อไหร่แน่?

รู้ก็เพียงน่าจะเกิดขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้นแหละ

แต่การจะตอบคำถามดังกล่าวนี้ได้นั้น ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่มืดมนไปจนแปดด้านเสียทีเดียว

เพราะอย่างน้อยก็ยังมีร่องรอยพอที่จะสืบสาวให้ระบุได้อย่างคร่าวๆ ว่า แนวคิดเรื่องนักษัตรที่ว่านี้เก่าแก่แค่ไหนกันแน่?

ในหนังสือเก่าอีกเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “ลุ่นเหิง” ได้กล่าวถึงชื่อสัตว์ต่างๆ ที่ตรงกันกับ 12 นักษัตร เช่น บรรพอู้ซื่อ ในหนังสือเรื่องนี้มีข้อความระบุว่า

“…ยามหยินคือไม้ สัตว์ประจำของหยินคือเสือ ยามซวีคือดิน สัตว์ประจำของซวีคือสุนัข…ยามอู่คือม้า จื่อคือหนู ยามโหย่วคือไก่ ยามเหมาคือกระต่าย…ยามไฮ่คือสุกร ยามเว่ยคือแพะ ยามโฉว่คือวัว…ยามซื่อคืองู ยามเซินคือลิง…”

เช่นเดียวกับในหมวดเหยียนตู๋ ของหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ที่ก็มีข้อความระบุเอาไว้ว่า

“…ยามเฉินคือมังกร ยามซื่อคืองู…”

ดังนั้น จำนวนนักษัตรทั้ง 12 ที่ประกอบไปด้วยสิงสาราสัตว์ ทั้งที่มีอยู่จริง และมีอยู่ในปรัมปรานิยายอย่างมังกร จึงเป็นรูปเป็นร่าง คือมีระเบียบแบบแผน และมีลำดับรวมถึงสมาชิกภาพทั้ง 12 ที่ชัดเจน มาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ที่ได้มีการแต่งหนังสือลุ่นเหิงดังกล่าวนี้แล้วนะครับ

 

ส่วนหนังสือ “ลุ่นเหิง” นี้ เป็นผลงานจากภูมิปัญญาของ “หวางชง” หนึ่งในเมธีสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (พ.ศ.568-763) เพราะฉะนั้น อย่างน้อยที่สุด ระบบ 12 นักษัตรก็ต้องเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายแล้วในช่วงยุคสมัยที่ว่า และนั่นก็ทำให้นักวิชาการของจีนบางท่านเชื่อว่า เรื่องของ 12 นักษัตรนั้น ควรที่จะเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปก่อนช่วงราชวงศ์ดังกล่าวนี้แล้ว

ในวัฒนธรรมจีนโบราณ มีระบบการนับเวลา โดยแบ่งช่วงเวลา 1 วัน เป็น 12 ชั่วยาม ดังนั้น เวลา 1 ชั่วยามของจีนนั้นจึงอาจจะกำหนดได้คร่าวๆ ว่าเท่ากับ 2 ชั่วโมง ในระบบการนับเวลาอย่างปัจจุบันนั่นเอง

และเจ้าชื่อยามต่างๆ ที่ถูกระบุชื่อ อยู่คู่กับนักษัตรต่างๆ ในหนังสือลุ่นเหิงนั้นก็คือชื่อเรียกของช่วงเวลาต่างๆ ทั้ง 12 ชั่วยาม ในรอบ 1 วันของจีนนั่นแหละครับ

เอาเข้าจริงแล้วในวัฒนธรรมจีนนั้น จึงไม่ได้ใช้ระบบ 12 นักษัตรในการกำกับ หรือเรียกชื่อของรอบปีหนึ่งๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมถึงส่วนอื่นๆ ในโครงสร้างทางความคิดเกี่ยวกับเรื่อง “เวลา” ในจักรวาลวิทยาของจีนอยู่อย่างซับซ้อนอีกด้วย

ระบบปฏิทินของจีนนั้นได้รับการยอมรับว่าเก่าแก่ที่สุดระบบหนึ่ง และถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดระบบหนึ่งในโลก โดยเชื่อกันว่าใช้มาตั้งแต่เมื่อเฉียดๆ 5,000 ปีที่แล้วเลยทีเดียว

แต่ระบบปฏิทินของจีนไม่ได้มีวัฏจักร หรือวิธีคำนวณเพียงแค่รูปแบบเดียวเท่านั้น เพราะมีทั้งวิธีการคำนวณทางจันทรคติและสุริยคติ ที่ทำให้เกิดการเพิ่มอธิกมาส และอธิกวาร เป็นระยะ เพื่อให้เดือนทางจันทรคติสอดคล้องกับปีทางสุริยคติ ซึ่งจะทำให้บางปีมี 13 เดือน

แต่สุดท้ายจีนก็หันไปนิยมใช้วิธีการแบ่งปีช่วงเวลาในแต่ละปีเป็น 24 ปักษ์ ตามปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติในแต่ละช่วง (เช่น ช่วงแรกคือ ใบไม้ผลิเริ่มต้น, ช่วงสองคือ ฝนจากฟ้า, สาม แมลงร้องขับ, สี่ กลางคืนกลางวันเท่ากัน เรื่อยไปจนถึงปักษ์ที่ยี่สิบสี่ อันเป็นปักษ์สุดท้ายที่ชื่อว่า หนาวเหน็บ)

ซึ่งก็คือความพยายามจัดปฏิทินตามสุริยคติ ด้วยการคำนวณว่า ดวงอาทิตย์ต้องโคจรโดยรอบ 360 องศา แต่ละปักษ์ หรือช่วงเวลา จึงจะมีการเริ่มต้นใหม่ทุก 15 องศาบนท้องฟ้า (แต่ละปักษ์จึงมีช่วงระยะเวลาที่เท่ากันคือ 15.2 วัน) เป็นต้น

แต่ที่วัฏจักรในระบบปฏิทินจีนที่เกี่ยวข้องกับ 12 นักษัตรอย่างชัดเจนมีอยู่ 2 วัฏจักรคือ วัฏจักร 60 ปี และทินจักร (คือ วัฏจักร 60 วัน) โดยแต่ละปี และแต่ละวันของวัฏจักรทั้งสองนั้น จะมีชื่อเรียกเป็นการเฉพาะที่ไม่ซ้ำกันเลยจนครบรอบวัฏจักรคือ 60 ปี หรือ 60 วัน

โดยชื่อของปีและชื่อของวันประเภทนี้จะเกิดขึ้นจากการนำหน่วยของคำ 2 ประเภทมาประสมกัน ได้แก่ คำเรียกกลุ่มดาว 10 คำ และชื่อนักษัตรอีก 12 คำ

ดังนั้น ทั้งชื่อของวันและชื่อของปี ในวัฏจักร 60 ปี และวัฏจักร 60 วันของจีนนั้น จึงมีชื่อของหนึ่งใน 12 นักษัตรปรากฏอยู่ในชื่อของทุกๆ วัน และทุกๆ ปี และเอาเข้าจริงแล้ว ระบบ 12 นักษัตรในวัฒนธรรมต้นกำเนิดอย่างจีนนั้น จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะของรอบปีเท่านั้นนะครับ แต่เป็นระบบเชิงปรัชญาที่ค่อนข้างซับซ้อน และเป็นนามธรรม ที่ใช้สำหรับการคำนวณ และลำดับวันเวลาต่างหาก

 

ถึงแม้ในโลกภาษาไทยจะใช้คำว่า “นักษัตร” ในการเรียกเจ้าหนู วัว เสือ และผองเพื่อน รวมทั้งสิ้น 12 ตัวนี้ แต่โดยรากที่แท้จริงแล้ว คำที่ยืมมาจากภาษาสันสกฤตคำนี้มีความหมายถึง “ดาวฤกษ์” (ซึ่งตามคติแขกมี 27 กลุ่มดาว) มาก่อนที่จะหมายถึง รอบวัฏจักร 12 ปี อย่างที่เราเข้าใจกันนะครับ เพราะเจ้านักษัตรทั้ง 12 ที่ว่านี้ ไม่ได้มีที่มาจากดวงดาวบนท้องฟ้าเลยเสียหน่อย

พวก “นักษัตร” ของจีนนี่ดูจะตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “zodiac” ที่มีรากมาจากภาษาละตินว่า “zodiacus” (อันเป็นคำยืมมาจากภาษากรีกอีกทอด) โดยมีความหมายว่า “วงโคจรของพวกสัตว์เล็กๆ” มากกว่าคำว่านักษัตร (ในขณะที่จักรราศีประจำเดือนทั้ง 12 ของฝรั่งก็ดูจะเข้ากับคำว่านักษัตร มากกว่า zodiac เพราะเป็นเรื่องของกลุ่มดาว มากกว่าเรื่องของสัตว์ไปเสียอย่างนั้น)

เพราะนักษัตรทั้ง 12 ของจีนนั้นเป็นเรื่องของสรรพสัตว์ล้วนๆ (ถึงจะไม่ได้มีขนาดเล็กทุกตัวก็เถอะ)

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจด้วยเช่นกันว่า อะไรคือที่มาของการนำเจ้าสัตว์เหล่านี้มารวมเข้าเป็นชุดเดียวกัน?

 

แน่นอนว่าผมเองก็ไม่ทราบคำตอบหรอกนะครับ แต่อยากจะตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ในหนังสือเก่าของจีนอีกฉบับที่ชื่อ “ไคเภ็ก” ซึ่งเป็นตำนาน (กึ่งพงศาวดาร) ว่าด้วยการกำเนิดของโลกตามคติอย่างจีนนั้นมีข้อความระบุว่า

“…เทียนอ่องสีเมื่อจะมาเกิดนั้นอายฟ้าอายดิน ทั้งสองกระทบสัมผัสกันแล้วเกิดเป็นศิลากลมก้อนหนึ่งใหญ่ แล้วแตกแปรไปเป็นก้อนเล็กๆ อีกสิบสองก้อน เกิดเป็นคนขึ้นสิบสามคน และก้อนใหญ่นั้นคือเทียนอ่องสี

และเทียนอ่องสีนั้นแปลว่าเจ้าแผ่นดิน มีสีอันขาวบริสุทธิ์ทั้งตัว ตัวสูงสามตึ่งห้าเชียคือสิบสองศอกคืบหน้านั้นมีสีนวลขาว สีปากนั้นแดงเหมือนชาด แต่คนสิบสองคนก็นับถือว่าเป็นพี่น้องกัน จึงได้คำนับเทียนอ่องสีเป็นเจ้าฮ่องเต้ มนุษย์ก็เกิดขึ้นด้วยธรรมดานิยม อุตุนิยมอุปปาติกกำเนิดเปรียบเหมือนเขาว่าคนเกิดขึ้นในดอกไม้ดอกบัว และเกิดขึ้นด้วยอายฟ้าอายดินอากาศ เป็นรูปหญิงรูปชายขึ้น จึงเป็นพืชพันธุ์ต่อๆ กันมาทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน

ครั้งนั้นยังไม่มีเดือนมีตะวัน มนุษย์ได้พึ่งแสงสว่างด้วยรัศมีพระและเทวดามาช่วยอุปภัมภ์อยู่

ขณะนั้นก็ยังไม่มีแซ่และชื่อ แล้วก็ต่างแยกย้ายกันไปอยู่ทุกทิศ

ครั้งกาลนานมา เทียนอ่องสีฮ่องเต้เรียกน้องชายทั้งสิบสองคนมาชุมนุมแล้วจึงว่า เราจะตั้งให้มีปีสิบสองปีบรรจบเป็นรอบหนึ่ง จะให้ท่านทั้งสิบสองคนเป็นชื่อปีกำกับทั้งสิบสองปี

น้องสิบสองคนได้ฟังพี่ชายคิดกระทำขึ้นดังนั้นก็มีความยินดียอมรับว่าควร แล้วต่างคนต่างไปที่อยู่ของตัวดังเก่า…”

ถึงแม้ว่าข้อความในหนังสือไคเภ็กจะไม่ได้พูดถึง 12 นักษัตรออกมาตรงๆ แต่ก็สังเกตได้อย่างไม่ยากเย็นสักนิดเลยนะครับว่า น้องชายทั้งสิบสองคนของเทียนอ่องสีฮ่องเต้ที่เกิดมาจากไอฟ้าไอดินเหมือนกันนี่แหละ ที่เป็น 12 นักษัตร (ถึงแม้จะไม่ใช่สัตว์ก็เถอะ) ชุดของสัตว์นานาชนิดทั้ง 12 นี้ จึงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญเท่ากับคุณค่าที่แท้ของนักษัตรทั้ง 12 ในฐานะ “ธาตุ” (element) ที่ใช้เป็นปัจจัยในการคำนวณเลขผานาทีตามคตินิยมอย่างจีนนั่นเอง