จรัญ มะลูลีม : “สถานทูตสหรัฐฯในนครเยรูซาเลม” เสียงประณามถึงผู้กระตุ้นความขัดแย้ง

จรัญ มะลูลีม

กงสุลสหรัฐเตือนเจ้าหน้าที่ให้หลีกเลี่ยงการเยือนเมืองเก่าหรือเวสต์แบงก์ และขอให้พลเมืองอเมริกันทั่วไปหลีกห่างจากสถานที่ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารมารวมตัวกันอยู่มากๆ

ในฐานะผู้สมัครประธานาธิบดี ทรัมป์ได้สัญญาว่าจะย้ายสถานทูตสหรัฐไปยังนครเยรูซาเลม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้นำสหรัฐคนก่อนๆ ได้พยายามเลื่อนเวลาการย้ายสถานทูตมายังนครเยรูซาเลมมาโดยตลอดหลังจากคลินตันได้ลงนามในกฎหมายการย้ายเมืองหลวงในปี 1995 ซึ่งระบุว่า สหรัฐจะต้องย้ายสถานทูตไปนครเยรูซาเลม นอกเสียจากผู้บัญชาการทหารยกเลิกคำสั่งดังกล่าวบนพื้นฐานของความมั่นคง

การที่ทรัมป์ยืนกรานให้นครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ท่ามกลางการเตือนจากทั่วโลกนั้นคาดกันว่าความตึงเครียดระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์จะไม่มีวันจบสิ้น

การยอมรับให้นครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลโดยทรัมป์ ท่ามกลางการเตือนที่มาจากภายในประเทศสหรัฐเองจะทำให้ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์เลวร้ายลงไปอีก

อิสราเอลสร้างอำนาจของตนในนครเยรูซาเลมตะวันตกมาอย่างยาวนาน และจากนั้นก็เข้ายึดครองนครเยรูซาเลมตะวันออกในสงคราม ปี 1967 และจบลงด้วยการผนวกเข้าเป็นดินแดนของตน

ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ยืนกรานให้นครเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงของตนในอนาคต

 

แม้จะมีมติจากสภาสหรัฐเรียกร้องให้เปลี่ยนสถานทูตของตนจากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลมมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม แต่ประธานาธิบดีสหรัฐก่อนหน้าการขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ทุกคนก็หลีกเลี่ยงที่จะทำเช่นนั้น อันเนื่องมาจากข้อพิจารณาทางกฎหมาย ศีลธรรมและการเมือง นอกเหนือไปจากการตกลงกันว่าด้วยการมีสองรัฐ

ด้วยการหยุดยั้งการลงความเห็นร่วมกันในการหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนสถานทูตของอิสราเอลจากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลมนี้ทรัมป์กลับให้การยอมรับการอ้างการยึดครองดินแดนนครเยรูซาเลมตะวันออกว่าเป็นของอิสราเอล

การตัดสินใจของทรัมป์จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของเขาในหมู่ผู้สนับสนุนชาวยิว (Jewish Lobby) ในวอชิงตันรวมทั้งกลุ่มชาวคริสเตียนโปรเตสแตนต์ (evangelical) ซึ่งเป็นฐานทางสังคมของทรัมป์ การกระทำของทรัมป์ย่อมเป็นที่ชื่นชอบของผู้ยึดครองดินแดนปาเลสไตน์อย่างอิสราเอล

แม้ว่าประเทศอาหรับจะออกเสียงคัดค้าน แต่ดูเหมือนว่าประเทศเหล่านี้มิได้แสดงการท้าทายการตัดสินใจของทรัมป์ออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

 

การเคลื่อนไหวของทรัมป์จึงนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการทูตของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันตกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

นอกเหนือไปจากการทำให้เกิดการหยุดนิ่งต่อกระบวนการสันติภาพแล้วการอ้างการครอบครองนครเยรูซาเลมของอิสราเอลยังได้รับการประกาศให้ไม่มีผลทางกฎหมาย (null and void) โดยมติที่ 478 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งขอให้ประเทศสมาชิกถอนตัวจากภารกิจทางการทูตออกไปจากนครเยรูซาเลมเนื่องจากเป็นการกระทำที่คัดค้านกับมติที่ 478 อย่างชัดเจน

ที่ผ่านมานครเยรูซาเลมตกอยู่ท่ามกลางกลเกมแห่งความวุ่นวายในปี 2000 เมื่อ Ariel Sharon อดีตผู้นำอิสราเอลผู้ล่วงลับไปแล้วได้ล่วงล้ำเข้ามาในบริเวณมัสญิดอัล-อักศอในส่วนที่เป็นเมืองเก่าจนนำไปสู่สถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงไปอีกและก่อให้เกิดการลุกฮือหรืออินฏิฟาเฎาะฮ์ (Intifada) ครั้งที่สองในที่สุด

ชาวปาเลสไตน์ในเวลานี้ก็มีแต่ความทุกข์โศกในขณะที่กระบวนการสันติภาพก็ไม่ไปทางไหน มีแต่คำว่าแผ่นดินเป็นของอิสราเอล (land for Israel) สันติภาพเป็นของปาเลสไตน์ (Peace for Palestine) ในขณะที่อิสราเอลค่อยๆ บีบเค้นผู้ถูกยึดครองและสร้างบ้านเรือนขึ้นมาใหม่อยู่ตลอดเวลา

กองกำลัง HAMAS เรียกร้องให้เกิดอินฏิฟาเฎาะฮ์หรือการลุกฮือในระยะยาว ทั้งนี้ มีความเชื่อในหมู่นักวิชาการบางกลุ่มว่าความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์จะได้รับการแก้ไขได้หลังจากมีข้อตกลงเรื่องสถานะของนครเยรูซาเลม

นครเยรูซาเลมไม่ได้เป็นของอิสราเอล โดยสหประชาชาติจะไม่แยกชาวปาเลสไตน์ออกจากนครเยรูซาเลม โดยหวังให้นครแห่งนี้เป็นนครของสามศาสนาที่มีคณะกรรมการร่วมกันดูแล

ด้วยเหตุนี้สหประชาชาติจึงไม่ยอมรับให้นครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

 

จนถึงบัดนี้การยึดครองนครเยรูซาเลมตะวันออกที่มีมัสญิดสำคัญคืออัล-อักศอของชาวมุสลิมตั้งอยู่ในผืนแผ่นดินแห่งนี้ด้วยนั้นได้ผ่านเลยมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษไปแล้ว โดยนครเยรูซาเลมตะวันตกได้ถูกขบวนการไซออนิสต์เข้าครอบครองมาตั้งแต่ปี 1948 ทั้งนี้ ชาวปาเลสไตน์ต้องกลายเป็นผู้อพยพที่ถูกบีบให้ออกไปจากผืนแผ่นดินของตัวเอง

แน่นอนว่าทั้งการผนวกดินแดนในนครเยรูซาเลมตะวันออกเป็นของอิสราเอลในปี 1967 และการย้ายสถานทูตจากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลมย่อมไม่ได้รับการรับรองจากประชาคมโลกเป็นส่วนใหญ่

แต่ก็เป็นที่ยอมรับเช่นเดียวกันว่าประชาคมระหว่างประเทศยังไม่สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายใดๆ

แม้ว่าจะมีมติของสหประชาชาติให้อิสราเอลถอนตัวออกมาจากดินแดนที่อิสราเอลยึดครองมาตั้งแต่หลังสงคราม 6 วันในปี 1976 มาแล้วก็ตาม

สิ่งที่ประชาคมโลกได้เห็นก็มีเพียงการวิพากษ์วิจารณ์และการประณามการยึดครองดังกล่าวให้เห็นเท่านั้น

 

การประกาศให้นครเยรูซาเลมหรืออัลกุดส์เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลก็เช่นกัน แม้ว่าจะได้รับการปฏิเสธจากประชาคมระหว่างประเทศและจากสมาชิกส่วนใหญ่ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่าการสนับสนุนอิสราเอลของสหรัฐทำให้มติต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่มีพลังเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้

แม้ว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะมีมติที่ 478 ปฏิเสธมิให้นครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเนื่องจากเป็นการละเมิดมติของประชาคมโลกก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่าทรัมป์จะยังคงเดินหน้าต่อต่อไปเพื่อให้สถานทูตอิสราเอลอยู่ในนครเยรูซาเลม ท่ามกลางกระแสคัดค้านส่วนใหญ่จากทั่วโลก

ในขณะที่มีการตื่นตัวขององค์กรระหว่างประเทศทั่วโลกเพื่อสนับสนุนการปลดปล่อยชาวปาเลสไตน์จากการยึดครองของอิสราเอลและการทำให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ทั้งในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐคนใดที่สร้างรอยร้าวและบาดแผลให้กับประเทศมุสลิมและโลกมุสลิมโดยรวมได้มากเท่ากับโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐคนนี้อีกแล้ว